Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

โฆษกรัฐบาล เผย โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เปิดจองโรงแรม/ที่พักแล้ววันนี้! พร้อมเพ็คเกจ “ทัวร์เที่ยวไทย” 1 ล้านสิทธิ เริ่ม Check-In วันแรก 15 ต.ค. เป็นต้นไป 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 พร้อมเปิดให้ประชาชนจองโรงแรม/ที่พักแล้ว หลังจากที่มีการเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา จำนวน 2 ล้านสิทธิ โดยประชาชนสามารถจองโรงแรม/ที่พักได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 23 ตุลาคม 2564 เข้าพักได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 มกราคม 2565 โดยโครงการเราเที่ยวด้วยกัน  รัฐบาลจะสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน ทั้งนี้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อห้องต่อคืน จำกัดสิทธิคนละไม่เกิน 15 ห้อง หรือ 15 คืน พร้อมสนับสนุนส่วนลด e-voucher คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวมูลค่า 600 บาท ต่อห้องต่อคืน เมื่อเข้าพัก Check-In ที่โรงแรม

โดยคูปองอาหาร/ท่องเที่ยว สามารถใช้ได้ที่ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ ประชาชนชำระ 60% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 40% ผ่านการตัดเงินจากคูปอง ทั้งนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิผู้โดยสาร ต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง 40% ของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อผู้โดยสาร พร้อมมีสิทธิเพิ่มเติมสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินเท่ากับ 40% ของราคาตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อผู้โดยสาร เมื่อเดินทางท่องเที่ยวไปยัง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับโครงการทัวร์เที่ยวไทย มีบริษัททัวร์สมัครลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 366 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2564) โดยประชาชนสามารถเริ่มจองแพ็คเกจทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยวโดยตรง ใช้ได้ 1 สิทธิต่อ 1 คน จองแพ็คเกจก่อนเดินทางล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว 40% ไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ จำนวน 1 ล้านสิทธิ 

‘รมว.ท่องเที่ยว ยัน 1 พ.ย. เปิดกทม.และ 4 จังหวัด รับต่างชาติ พร้อมตั้งธงปี 65 คืนชีพรับนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คาดการณ์เป้าหมายรายได้รวมของภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย เกิดการเดินทาง 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งหากประเมินในแง่รายได้ของตลาดรวมจะคิดเป็น 50% ของปีปกติก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ อยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งระบบ อาทิ โรงแรม ขนส่ง บริษัทนำเที่ยว นวดสปา ซึ่งคิดเป็น 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวหายไป ทั้งตลาดไทยเที่ยวไทย และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจากข้อมูลพบว่า การเดินทางของคนไทยหายไป 84.75% ส่วนต่างชาติหายไปกว่า 99.98% กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ ททท. ในการจัดทำแผนขับเคลื่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยบวกคือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

กรมบัญชีกลางเปิดผลเบิกจ่ายงบปี 64 อยู่ที่ 98.89%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้เร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564) โดยมีผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,249,520 ล้านบาท คิดเป็น 98.89% แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,652,607 ล้านบาท คิดเป็น 98.92% และรายจ่ายลงทุน 596,913 ล้านบาท คิดเป็น 98.78% สำหรับผลการใช้จ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 202,975 ล้านบาท คิดเป็น 99.07% 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และในวาระที่กรมบัญชีกลางครบรอบ 131 ปี กรมบัญชีกลางมีแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการเงินการคลังภาครัฐ ให้มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทของความถูกต้องและเป็นธรรม 

อธิบดีกรมสวัสดิ์ ฯ ยัน ช่วยเหลือลูกจ้าง บ.บริลเลียนท์ เต็มที่ ทั้งเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาและดำเนินคดีนายจ้าง 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่พนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด และตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทยผู้ประกอบกิจการผลิตชุดชั้นในสตรี จ.สมุทรปราการ ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย ได้ไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนการจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ผ่านนายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย.- 11 ส.ค.64 ให้แก่ลูกจ้าง 1,231 คน รวมเป็นเงิน 22,321,856 บาท ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินประกันการว่างงาน 65,540,768 บาท และกรมการจัดหางาน จัดตำแหน่งงานว่างรองรับ 1,834 ตำแหน่ง 

นายนิยม กล่าวต่อว่า รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยใส่ใจพี่น้องแรงงานทุกคน ทุกกลุ่ม และได้สั่งการให้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยเร็ว วันนี้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินประกันการว่างงานของประกันสังคม ท่านสุชาติ ยังได้ดำเนินการให้มีการแก้ไขระเบียบให้สามารถจ่ายเงินประกันสังคมได้ก่อนที่จะจบกระบวนการศาล ซึ่งแต่เดิมการที่จะจ่ายเงินประกันการว่างงานให้กับผู้ใช้แรงงานในกรณีที่มีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลจำเป็นจะต้องให้กระบวนการศาลจบเรียบร้อยก่อน 

ออมสิน พักหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้เจอน้ำท่วม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า  ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทของธนาคาร โดยให้พักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน (ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจวงเงินเกิน 100 ล้านบาท) ที่มีที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือสถานประกอบธุรกิจอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีประกาศของทางราชการให้เป็นพื้นที่ประสบภัย รวมถึงลูกค้าที่พักชำระหนี้มาตรการอื่น ๆ ของธนาคารอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบน้ำท่วมครั้งนี้ สามารถขอเข้ามาตรการดังกล่าวนี้ได้ โดยให้ติดต่อสาขาธนาคารออมสินที่มีบัญชีสินเชื่ออยู่ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

ทั้งนี้ หลังครบกําหนดผ่อนผันพักชำระหนี้ 3 เดือนแล้ว ให้ชําระเงินงวดตามสัญญาเดิม หากยังไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ ขอให้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือเข้ามาตรการอื่นที่ธนาคารมีอยู่ได้ ซึ่งธนาคารได้มีการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานกาณ์ต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19             

รัฐบาลสั่งเตรียมพร้อมฟื้นท่องเที่ยว เร่งจัดกิจกรรมหนุนคนเดินทาง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งเตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ทั้งรับนักท่องเที่ยวในประเทศและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงไฮซีซั่น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 64 และไตรมาสแรกของปี 65 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และททท. ได้จัดโครงการเที่ยวบินพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางภายในประเทศ โดยร่วมกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย นำคณะภาครัฐและเอกชน เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ และขยายไปยังพื้นที่อื่นๆที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะที่ 2 ซึ่งนอกจากเชียงใหม่แล้วยังมี กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) และชลบุรี (พัทยา บางละมุง สัตหีบ) ต่อไป และตั้งแต่กลางเดือนต.ค.64 เป็นต้นไปสายการบินแอร์เอเชียจะเพิ่มเที่ยวบินไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น หลังโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทยเริ่มแล้ว

กบง.อุ้มดีเซล ตรึงราคาไม่ถึง 30 บ./ลิตร ลดจัดเก็บเงิน B7 เข้ากองทุนน้ำมันฯ เหลือ 1 สตางค์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือกบง. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ว่า จากความกังวลของประชาชนในส่วนของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องซึ่งเกิดจากดีมานด์ที่มีเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ทำให้กำลังการผลิตหายไปบางส่วน บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจึงทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นซึ่งรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยที่ประชุมกบง. ได้มีการประชุมหารือ เพื่อลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานแพงตามภาวะตลาดโลก และมีมติเข้ามาดูแลในระยะสั้นจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

โดยที่ประชุม กบง. มีมติดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งน้ำมันพื้นฐานบี 10 และน้ำมันบี 7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน โดยจะดำเนินการ 3 ส่วน คือ 

1.) ปรับลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บจากบี 7 อัตรา 1 บาทต่อลิตร เหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร

2.) ลดค่าการตลาดกลุ่มดีเซล จาก 1.80 บาทเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร ลดลง 40 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้ ราคาบี 6 จะอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร โดยมีผลวันที่ 5 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2564 หากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่อยู่ที่ 76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันก็จะเข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อให้ประชาชนที่ใช้งานอยู่ประมาณ 10 ล้านคัน ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

3.) ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงจากเดิมที่ผสมอยู่ในสัดส่วน 10% หรือบี 10 และ 7% หรือ บี 7 ให้เหลือ 6% หรือบี 6 เป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ราคาน้ำมันบี 6 อยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร โดยเป็นมาตรการระยะสั้นให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งจากมติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564 จะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียว คือ บี 6 โดยใช้เงินอุดหนุนส่วนนี้เดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจะมีเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันดูแลได้อยู่ ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท

สศค. เปิดยอด 'คนละครึ่ง' สั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่วันแรกเฉียด 12 ล้านบาท

5 ต.ค. 64 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2564 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 24.52 ล้านราย จากผู้เข้าร่วมโครงการรวม 27.31 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 72,726 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 37,004.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 35,721.7 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิจำนวน 78,451 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 496,336 ราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งหมด 2,444 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 1,911 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 208 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายส่วน e-Voucher 102 ล้านบาท 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (4 ตุลาคม 2564) ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ (โครงการฯ) สามารถใช้สิทธิซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มได้เป็นวันแรก ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 2 ราย ได้แก่ Grab และ LINEMAN และมีผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการฯ สามารถขายอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มแล้วกว่า 47,000 ราย จากผู้ลงทะเบียน 57,000 ราย โดยประชาชนสามารถใช้บริการ เวลา 06.00 - 20.00 น. ของทุกวัน ตามขั้นตอนดังนี้

1.) เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่

2.) กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้ 

3.) หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน 

4.) ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาที

ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ในพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลงทุน 10 ปี กว่า 3 แสนล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563) จำนวน 15,836 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ดังนี้...

1.) การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2564 - 2573) ประกอบด้วย...

>> นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
>> นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
>> นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
>> นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล
>> นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top