เชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศก็ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านโควิดเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และคาดว่าจะฉีดได้ครบ 70% ของประชากร ตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยบวกคือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบด้วย โครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 ยิ่งใช้ยิ่งได้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยลบได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ในระยะต่อไป ยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาส่งผลกระทบ คือ สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ ราคาน้ำมันในประเทศ มองว่า จะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปัญหาการเมืองในประเทศถือเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นได้ค่อนข้างมาก