Sunday, 4 May 2025
ECONBIZ NEWS

แบงก์ชาติรอปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หลังโควิดยืดเยื้อ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. 2564 ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น โดยในวันที่ 29 ก.ย.64 ธปท. ประเมินผลกระทบว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจึงมาจะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จากขยายตัว 0.7% 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น 
ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจาก อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศที่รุนแรงขึ้น และ  การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ 

อย่างไรก็ดีหากดูการใช้จ่ายภาครัฐ ถือว่า ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน

ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ คลัง เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายออนไลน์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ประกาศให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e – Service) ของกรมสรรพากร ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8  ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 23 ในเดือนถัดไป

“ภาษี e – Service นี้ มีการดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายมากกว่า 2 ปี จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนก.พ. 2564 และให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้านี้ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วมากกว่า 50 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ให้บริการต่างประเทศมีความตื่นตัวและพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายภาษี e – Service ของไทยด้วยดี โดยไทยเป็นหนึ่งใน 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บภาษีประเภทนี้”

สำหรับธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์ ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกมส์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษี e – Service นี้ นอกจากทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e – Service จะเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่น่าจะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคต

อานิสงส์วัคซีน-โควิดเริ่มคุมอยู่ ทำดัชนีอุตสาหกรรมขยับดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค. 2564 พบว่า อยู่ที่ระดับ 91.41 ขยายตัว 5.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว คือ รถยนต์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ หลังจากมีความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว 35.40% คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 50.11% ทั้งเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 

นายทองชัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการยังมีแนวโน้มที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป และมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมถึงการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแผนการเปิดประเทศในครึ่งปีหลัง 

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ทั้ง การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป  

สศช. แนะรัฐทบทวนมาตรการช่วยค่าไฟบ้านเช่า-หอพัก ไม่ถูกเอาเปรียบ 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่พักอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ หอพัก ห้องเช่าและบ้านเช่า ได้ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในอัตราที่สูงเกินจริง ซึ่งสศช. เห็นว่า กรณีนี้ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน โดยทบทวนมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าทั้งหมด เพื่อให้ได้รับประโยชน์เท่าเทียมกับกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านหรือคอนโดมิเนียม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการมากำกับดูแล โดยเฉพาะกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าของผู้เช่า อย่างจริงจัง

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ อาจกำหนดให้ผู้ให้เช่าสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าได้ในอัตราที่ไม่เกินกว่าที่ผู้ให้เช่าจ่ายจริงให้กับผู้ให้บริการ ไฟฟ้า และแยกเก็บค่าส่วนกลางหรือค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการคำนวณเพิ่มตามระดับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหารือกัน เพื่อให้มีข้อกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้เช่าได้โดยที่ไม่กระทบกับผู้ให้เช่ามากนัก รวมถึงจะต้องมีกลไกตรวจสอบความเหมาะสมของค่าสาธารณูปโภคให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้เช่า 

ขณะเดียวกัน ผู้เช่าเองยังสามารถตรวจสอบและรักษาประโยชน์ของตัวเองได้ในเบื้องต้น โดยการตรวจสอบเลขใช้ไฟฟ้าที่มีการจดครั้งก่อน และเลขใช้ไฟฟ้าจดครั้งหลังในใบแจ้งหนี้กับเลขบนมิเตอร์ไฟฟ้าว่าตัวเลขนั้นมีความสอดคล้องกันหรือไม่ รวมถึงหากพบผู้ให้เช่ากำหนดอัตราค่าสาธารณูปโภคที่สูงเกินไป ก็สามารถร้องเรียนไปยังสคบ. ได้ทันที 

รฟม. ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 8.23 หมื่นล.

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ขณะนี้ได้มีการยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยการประกวดราคานานาชาติ เนื่องจากเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยออกออกเป็นหนังสือชี้แจงลงนามโดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีมูลค่าการลงทุน 8.23 หมื่นล้านบาท มีระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) เป็นทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กม. 10 สถานี และทางวิ่งยกระดับ 10 กม. 7 สถานี เป็นโครงการรถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับ กทม. ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการเข้าด้วยกัน 

เดิม รฟม. มีกำหนดจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา (ประมูล) ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-7 ต.ค.64 และกำหนดยื่นข้อเสนอ วันที่ 8 ต.ค.64 จากนั้นจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอทั้ง 3 ซองให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.64 และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 6 สัญญาภายในเดือน ม.ค.65 มีแผนเริ่มก่อสร้างปี 65 และเปิดบริการปี 70 โดยจากการเปิดจำหน่ายเอกสารการประมูล ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ถึงวันที่ 19 ส.ค.64 พบว่า มีผู้สนใจซื้อเอกสารการประมูลแล้ว 8 ราย แบ่งเป็น บริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย

ค้าชายแดน-ผ่านแดนรุ่ง ต่อเนื่อง! จุรินทร์ "ดันส่งออก" เดือน ก.ค. ทะลุ 90,101 ล้านบาท +41.70% 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงข่าวการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยเดือน กรกฎาคม 2564 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ช้ัน 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวแลขการค้าชายแดนผ่านแดน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออก ผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งมี 7 ประเทศ และการส่งออกผ่านการค้าชายแดนมี 4 ประเทศ คือมาเลเซีย เมียนมา ลาวและกัมพูชา ส่วนการส่งออกผ่านการค้าผ่านแดน คือ จีนเวียดนามและสิงคโปร์ รวมแล้วเป็น 7 ประเทศ โดยตัวเลขการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นบวกทุกตลาดทั้ง 7 ประเทศ โดยประเทศที่เป็นบวกสูงสุดคือจีน  +126.44% สินค้าส่งออกผ่านแดนไปจีนที่บวกมากที่สุดคือผลไม้สดและผลไม้แห้ง +348% มูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนมีมูลค่า 10,600 ล้านบาท มังคุด 4,700 ล้านบาท และลำไย 370 ล้านบาท เป็นต้น ตัวเลขภาพรวมการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนรวมกันในเดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 90,101 ล้านบาทเป็น +41.70% และภาพรวมการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน 7 เดือนรวม 591,051 ล้านบาทเป็น +37.88% สำหรับการส่งออกผ่านการค้าชายแดน 4 ประเทศรวมกันมีมูลค่า 40,416 ล้านบาท +10.55% การส่งออกผ่านการค้าผ่านแดนใน 3 ประเทศที่เหลือคือ จีน เวียดนามและสิงคโปร์รวมกันมีมูลค่า 49,685 ล้านบาท +83.84%โดยมาเลเซีย +17.95% เมียนมา +10.65% สปป.ลาว +8.08% กัมพูชา +5.12% จีน +126.64% เวียดนาม +1.63% และสิงคโปร์ +59.85%

" ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นบวกถึง 41.70% คือ  1.การทำงานร่วมกันอย่างหนักและต่อเนื่องของกรอ.พาณิชย์ที่ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือการเร่งเปิดจุดผ่านแดน ด่านทั้งหมดมี 97 ด่าน สามารถเปิดแล้วถึง 44 ด่าน จากปิดตัวไปเยอะตอนเจอโควิดใหม่ๆ 2.การจับมือกับเอกชนแก้ปัญหาทันทีเชิงรุกทั้งด่านรอบบ้านเราและด่านการค้าผ่านแดน เช่น ที่ด่านใหญ่สุดที่เราแก้ปัญหาก่อนเข้าจีนคือด่านโหย่วอี้กวน การส่งออกทุเรียน มังคุดแก้ไขหน้างานได้ทันทีเกือบทุกครั้ง นอกจากนั้นประสานทางการจีนโดยทูตพาณิชย์และทูตเกษตรฯ การช่วยเพิ่มช่องทางที่ด่านตงซิงช่วยให้ระบบการขนส่งผลไม้ของไทยคล่องตัวขึ้น และบางช่วงมีข่าวจีนจะระงับการนำเข้าผลไม้ไทย เช่น จะระงับการนำเข้าทุเรียนเพราะตรวจพบโควิดในตลาดจีนสุดท้ายผ่านการเจรจาของทูตพาณิชย์และทูตเกษตรฯของเรา จีนยกเลิกความคิดที่จะระงับการนำเข้าทุเรียนไทย ลำไยแม้ปรากฏข่าวว่าเจอเพลี้ยแป้ง จากการประสานงานใกล้ชิดระหว่างทูตพาณิชย์ ทูตเกษตรฯปัจจุบันจีนไม่ได้ระงับการนำเข้าและทั้งทุเรียน ลำไย 3.กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs ส่งออกซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำตัวเลขการส่งออกสินค้าข้ามแดนและชายแดนคือโครงการ “จับคู่กู้เงิน”สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยวันที่ 26 สิงหาคม EXIM Bank อนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้ SMEs ส่งออกแล้ว 151 รายเป็นเงิน 618 ล้านบาท ช่วยให้เกิดสภาพคล่องในการทำตัวเลขส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มขึ้น 4.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้นเช่น สินค้า Work from Home 5.ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ย 10% ช่วยให้เราสามารถแข่งขันในตลาดเพื่อนบ้านหรือตลาดจีนได้ดีขึ้น " นายจุรินทร์ 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่เป็นตัวถ่วงตัวเลขการค้าชายแดนเช่นสถานการณ์โควิดซึ่งมาเลเซียเข้มงวดการนำเข้าสินค้าชายแดนผ่านไทยเพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางและส่งผลต่อราคาน้ำยางในประเทศไทยอย่างไรก็ตามยางก้อนถ้วยยังราคาดีมากและดีกว่าหลายยุคที่ผ่านมา เพราะ 3-5 ปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 15 บาท แต่วันนี้ 24 บาทราคาอาจหย่อนลงไปบ้างและระบบการขนส่งโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งข้ามจังหวัดที่มีอุปสรรคตอนข้ามจังหวัดบ้างและระบบการขนส่งข้ามประเทศที่ต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอดทั้งจากไทยไปลาว ลาวไปเวียดนาม เป็นต้น หรือรวมทั้งข้ามฝั่งไปเมียนมาเพราะสถานการณ์การเมืองในเมียนมาเป็นปัจจัยตัวที่ทำให้การค้าชายแดนไม่คล่องตัวอย่างในภาวะปกติ

สำหรับด่านที่จะเร่งรัดเปิดต่อไปหลังจากเปิด 44 จาก 97 ด่าน 1.ตนมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเจรจากับจับมือกับเอกชนและจังหวัด ขณะนี้คืบหน้าใน 5 จังหวัดคือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนมและมุกดาหาร วันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุม 3 ฝ่ายมีข้อสรุปว่าจะทำแผนในการเปิดด่านกับฝั่งลาว เกือบเสร็จแล้วใน 5 จังหวัด 2.ด่านปากแซง นาตาล ที่อุบลราชธานี ที่ตนไปดูด่านด้วยตนเองประสานจังหวัดจัดงบประมาณทำทางลาดลงไป มีความคืบหน้าในการเจรจาอยู่ในขั้นตอนรายละเอียด คาดว่าน่าจะเป็นด่านแรกๆที่จะสามารถเปิดด่านได้ 3.ที่นราธิวาส ด่านตากใบ กับบูเก๊ะตาจะเร่งรัดต่อไปตนได้มอบอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศใช้โมเดลเดียวกับด่านชายแดนลาวประชุม 3 ฝ่ายคาดว่าสัปดาห์หน้าจะประชุมได้ เมื่อได้แผนเปิดงานแล้วจะเจรจากับมาเลเซียต่อไป ซึ่งต้องคุยทั้ง 3 ฝ่ายเศรษฐกิจโควิดและความมั่นคง ต้องคุยด้วยกันถึงจะเปิดด่านได้ เป้าหมายปี 64 ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านได้ตั้งเป้าว่าจะ +3-6% แต่ตอนนี้เกินเป้าแล้วเพราะตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2564 ตัวเลขเป็นบวกแล้ว 37.88%

ด้าน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญไปยังประเทศมาเลเซีย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยางพารา ประเทศกัมพูชา สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับ สปป.ลาว สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซลน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆและรถยนต์นั่ง ประเทศเมียนมา สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ประกาศปี 65-66 เป็น “ปีแห่งการประชุมในประเทศ"

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 65 ว่า ในปีหน้าอุตสาหกรรมไมซ์ยังมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มจะคลี่คลายลง โดยทีเส็บได้ประกาศให้ปี 65 – 66 เป็นปีแห่งการประชุมในประเทศไทย ผ่านการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ และการเร่งดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อดึงรายได้ของอุตสาหกรรมไมซ์กลับมาอีกครั้ง หลังจากในปี 62 ไทยเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน โดยมีรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้มมากถึง 5 แสนล้านบาท แต่เมื่อเกิดโควิดขึ้นทำให้ต้องสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปมากถึง 70% 

ทั้งนี้การประกาศปีแห่งการประชุมในประเทศไทยนั้น จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์การช่วงชิงโอกาสระดับสากล มุ่งเน้นการผลักดันไมซ์ไทยสู่เวทีโลก ผ่านการจัดทำแคมเปญตลาดเชิงรุกเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการต่อยอดจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค 2022 อีกทั้งจะเร่งดึงงานสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย ทั้งงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์โชว์ หรืองานประชุมองค์กรระหว่างประเทศ เช่น งานเวิลด์แบงก์ หรืองานแสดงสินค้าระดับท็อป 5ของโลก 

อีกทั้งยังมีกลยุทธ์การเสริมความแกร่งระดับชาติ เน้นยกระดับความพร้อมของจังหวัดที่มีศักยภาพ ก้าวสู่การรองรับกิจกรรมไมซ์ พร้อมกับการสร้างงานใหม่ และยกระดับกิจกรรมไมซ์ให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ รวมทั้งกระตุ้นและขับเคลื่อนองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมไมซ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญการสื่อสารจัดงานไมซ์ทั่วไทย ภูมิใจช่วยชาติ และสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า ซึ่งขณะนี้มีองค์กรและหน่วยงานได้รับการสนับสนุนแล้วกว่า 645 โครงการ และแสดงความจำนงมากกว่า 1,000 งาน

ส่วนกลยุทธ์สุดท้าย คือการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม สานต่อการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการไมซ์ และหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐในและต่างประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร มาตรฐานสถานที่จัดงาน และการพัฒนาหลักสูตรอบรมต่างๆ เพื่อให้ไมซ์ไทยก้าวทันความต้องการของโลกในยุคหลังโควิด รวมถึงส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่อง 

พาณิชย์ หาช่องส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ 1.8 แสนล.ในปีนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในงานความตกลงซื้อขายผลไม้ล่วงหน้า (MOP) ทางออนไลน์ ว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกผลไม้เพื่อทำรายได้เข้าประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 30% โดยผลไม้ไทยถือเป็นสินค้าเป้าหมายสำคัญในการส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งยอดส่งออกรวม 7 เดือนในปีนี้ มีการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปมีมูลค่าสูงถึง 131,166 ล้านบาท ขยายตัว 48.31% 

ทั้งนี้ในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้นั้น ได้วางแผนการจัดงานสำคัญ คือ 1.กิจกรรมจัดคู่เจรจาทางการค้าออนไลน์ OBM หรือ Online Business Matching 2.กิจกรรมการส่งเสริมการขายการบริโภคผลไม้ในห้างสรรพสินค้าและตลาดสำคัญในต่างประเทศ 3.กิจกรรมการจัด Thai Fruits Golden Months หรือเดือนทองของการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศต่างๆ 4.กิจกรรมขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆโดยเฉพาะแพลตฟอร์มสำคัญในระดับโลกเช่น bigbasket.com ของอินเดีย Tmall ของจีน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการการจัด Thai Fruits Golden Months ในประเทศจีน ได้จัดไปแล้วใน 8 เมือง ประกอบด้วย หนานหนิง ไห่หนาน ฉงชิ่ง ชิงต่าว เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ต้าเหลียน และฝอซาน สามารถทำรายได้ถึง 15,466 ล้านบาท และยังมีแผนงานที่เหลืออีก 5 เมืองคือ เซี่ยเหมิน หนานชาง คุนหมิง อู่ฮั่น และหนานหนิง คาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท รวมแล้วเฉพาะการจัด Thai Fruits Golden Monthsในจีน 13 เมืองทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท 

อีอีซี กระชับความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ให้เกิดเป็นรูปธรรม ย้ำเดินหน้าความร่วมมือ 5 สาขาหลัก อุตสาหกรรมEV, ดิจิทัล5G, สุขภาพ, Smart City และเศรษฐกิจสีเขียว เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน การประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง (High Level Cooperation Conference: HLCC) ครั้งที่ 1 หัวข้อ Stronger Strategic Synergy between GBA and the EEC for a Better Future โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายวีรชัย มั่นสินทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน (สภาอุตสาหกรรม) นายโจว ย่าเหว่ย สมาชิกถาวรพรรคคอมมิวนิสต์จีน นครกว่างโจว (เทียบเท่ารองนายกเทศมนตรีกว่างโจว) นายเถา หย่งซิน รองนายกเทศมนตรีเซินเจิ้น และนายจู เหว่ย รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกวางตุ้ง และสำนักงาน GBA เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล  

การประชุม HLCC ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยมณฑลกวางตุ้ง, ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่าง อีอีซี กับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

นายคณิศ แสงสุพรรณ ได้กล่าวถึง ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ให้แก่ทางมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี พร้อมความก้าวหน้าการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

โดยอีอีซี จะให้ความสำคัญกับ 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย (1) Digital and 5G (2) Smart Logistics (3) Health and Wellbeing ซึ่งมี BCG (Bio-circular-Green) เป็นแนวทางการลงทุนและประกอบธุรกิจสำหรับทุกคลัสเตอร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็น Net Zero Emission ในภาคอุตสาหกรรมของพื้นที่อีอีซี 

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่างอีอีซี และ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทาง อีอีซี จากแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคตผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป และโอกาสการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของอีอีซี ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ASEAN รวมถึงการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับ Belt & Road Initiative

นายคณิศ ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV (2) ดิจิทัลและ 5G (3) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (4) Smart City และ (5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Green and Circular Economy 

ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการร่วมประชุมฝ่ายไทย ได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Connectivity) ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups และการพัฒนา Smart City และ 5G  

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯ ได้รับรองความร่วมมือ 6 สาขา ที่ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (2) เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน (3) การเกษตร (4) วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ (5) การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น (6) ความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน 

โดยทั้งสองฝ่ายยินดียกระดับความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กับสำนักงาน GBA และเขตนำร่องการค้าเสรีของกวางตุ้ง และเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และมีการร่วมมือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยจะเจาะลึกถึงการลงทุนในกิจการและอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พิษโควิดทำคนรายได้หายแห่ยกเลิกจองรถยนต์เพียบ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค. 2564 ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยมีจำนวน 52,442 คัน ลดลง 11.62% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากทางศูนย์จำหน่วยรถยนต์ แจ้งว่า เริ่มเห็นลูกค้ายกเลิกการจองรถ รวมทั้งเลื่อนการรับรถออกไปเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้เป็นผลมาจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดข19 (ศบค.) ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ช่วงกลาง ก.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% จากช่วงปกติถูกปฏิเสธเพียง 5-10% เท่านั้น ขณะที่รถยนต์ราคาแพง รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าพบว่า ยังไม่กระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ประเมินว่า ในช่วงต่อไปนี้ หากรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ก็เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์การจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น 

สำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค.มี 122,852 คัน เพิ่มขึ้น 37.52% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะฐานต่ำในปีที่แล้วและต่ำสุดรอบปีนี้ หากไม่นับรวมเดือน เม.ย. 64 ที่มีวันหยุดจำนวนมาก เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่พบกับปัญหาขาดแคลนชิพเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนรถยนต์บางชิ้นในการผลิตจากผลกระทบโรงงานชิ้นส่วนทั้งในและเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น 

โดย 7 เดือนแรกปีนี้ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 967,453 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.11% ซึ่งหากการผลิตยังอยู่ระดับดังกล่าวผลกระทบต่างๆ ไม่รุนแรงขึ้นคาดว่าการผลิตรถยนต์ปี 64 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.55-1.6 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 800,000-850,000 คัน ผลิตเพื่อขายในประเทศ 750,000 คัน   


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top