'สวอพ แอนด์ โก' เริ่มบริการสลับเปลี่ยนแบตฯ มอเตอร์ไซค์ กระตุ้นไทยใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือ EV
การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในทิศทางกระแสโลกสืบเนื่องจากที่ผ่านมากิจกรรมของมนุษย์ได้ก่อมลพิษจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ซึ่งพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ “ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)” แต่ก็มีความท้าทายโดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จพลังงานที่ยังไม่แพร่หลายเหมือนสถานีบริการน้ำมัน หรือแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาชาร์จนานกว่าการเติมน้ำมัน ซึ่งมีความพยายามในการแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าว ดังกรณีของ “สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go)” ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม ปตท. ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
นายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด เผยว่า สวอพ แอนด์ โก เป็นบริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งปกติผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะต้องคอยชาร์จแบตเตอรี่อยู่เป็นระยะ ๆ โดยการชาร์จแต่ละครั้งอาจต้องรอเวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะเต็ม ดังนั้นบริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้สามารถใช้รถได้ต่อเนื่องมากขึ้น เพราะการสลับแบตเตอรี่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
อีกทั้งเป็นบริการที่ใช้งานง่าย เพียงใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนสแกน QR Code เพื่อแสดงตนที่ตู้แบตเตอรี่ ก็จะสามารถเปิดออกให้สลับแบตที่ใช้งานแล้วกับแบตก้อนใหม่ได้ทันที ทั้งนี้ EV หรือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และไม่มีการเผาไหม้ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นมลภาวะ ซึ่งพาหนะที่ใช้น้ำมันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อีกทั้งยังทำให้เมืองเงียบสงบด้วยเพราะไม่มีเสียงเครื่องยนต์รบกวน โดย สวอพ แอนด์ โก มีสถานีให้บริการ หรือ สวอพสเตชั่นอยู่มากกว่า 20 จุดทั่วกรุงเทพฯ และมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต
“ในไอเดียของเราคร่าว ๆ เราอยากจะให้ขั้นต่ำของจำนวนสวอพสเตชั่นของเราเท่ากับสถานีบริการน้ำมัน นั่นหมายถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ในการใช้งานรถไฟฟ้าจะไม่ต่างจากใช้น้ำมันเลย ความสะดวกสบายจะต้องเทียบเคียงกัน เพราะเราอยากให้การใช้พลังงานเป็นเรื่องง่าย ๆ” นายชยุตม์ กล่าว
นายชยุตม์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญของ สวอพ แอนด์ โก คือผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถหยุดรออะไรได้นานเพราะเวลาที่มีอยู่คือโอกาสการสร้างรายได้ เช่น กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร ที่มีบทบาทเด่นในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ลำพังการไปต่อคิวซื้ออาหารก็ใช้เวลามากแล้ว คงไม่อยากเสียเวลาไปกับการชาร์จแบตเตอรี่อีก ทำให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม
อนึ่ง ข้อดีอีกอย่างของ EV คือประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการชาร์จพลังงานนั้นถูกกว่าการเติมน้ำมัน และยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเมื่อดูกรณีศึกษาในต่างประเทศ จะพบบางประเทศถึงขั้นใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันสู่รถใช้ไฟฟ้า และมีอย่างน้อย 20 ประเทศที่มีแผนยุติการจำหน่ายรถใช้น้ำมันในอนาคต หรือมีบางเมืองไม่อนุญาตให้นำรถใช้น้ำมันเข้าไปในบางพื้นที่แล้ว จึงหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะไปในทิศทางนั้นเพื่อให้เมืองมีความสะอาดต่อไป
แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นายชยุตม์เล่าถึงสารพัดคำถามเมื่อไปนำเสนอในองค์กรต่าง ๆ เช่น EV วิ่งได้ระยะทางไกลเท่าไร ทำความเร็วได้เท่าไร ชาร์จพลังงานได้ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำถามเหล่านี้ ไม่ต่างจากเมื่อร้อยปีก่อนที่คนเริ่มเปลี่ยนจากการใช้รถม้ามาเป็นรถยนต์ ส่วนปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันรถยนต์มีทั่วไปแล้ว ก็จะต้องขยายสถานีชาร์จสำหรับรถใช้ไฟฟ้าให้มีมากขึ้น เพื่อคลายความกังวลของลูกค้า
“จริง ๆ องค์ประกอบหลัก ๆ ของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คือ 1.) เรื่องของข้อมูล ถ้าเขาไม่เข้าใจก็คงไม่หันมาใช้อยู่แล้ว 2.) ราคารถ ถ้าดูราคาของรถ EV บ้านเรากับรถที่เป็นน้ำมัน ถ้าเป็นรถ 4 ล้ออาจจะยังมี Gap ค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งรถ 2 ล้อ Gap มันเริ่มน้อยลงก็จริง แต่ก็ยังมี 3.) โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จ สถานีสลับแบตเตอรี่ ที่ปัจจุบันไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนก็พยายามช่วยกันเพื่อขยายให้ครอบคลุมการใช้งาน
ส่วนเรื่องสุดท้าย ผมคิดว่ามันยังขาดตัวกระตุ้นอยู่ ถ้าเราเห็นความสำเร็จหลาย ๆ ประเทศที่เปิดรับการใช้ EV จะต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดในช่วงปีแรก ๆ พอหลังจากนั้นคนก็จะเริ่มใช้เป็นนิสัยกันแล้ว ตอนนี้ผมคิดว่าถ้าประเทศของเรามีตัวกระตุ้นพวกนี้เข้ามาเสริม ก็จะทำให้การรับรู้ การใช้งานเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดเราไม่กระตุ้นวันนี้ เขาไปซื้อรถน้ำมัน ก็แปลว่ากว่าที่เขาจะกลับมาซื้อรถคันใหม่อีกรอบหนึ่ง ก็ประมาณ 5-10 ปี ถ้าอยากจะเปลี่ยนก็ต้องมีคนกดคลิกให้มันเริ่ม” นายชยุตม์ ระบุ
กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สวอพ แอนด์ โก ทิ้งท้ายในประเด็นมาตรการกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเป็นรถใช้ไฟฟ้าว่าต้องเริ่มจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ผลิตยานพาหนะอาจจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องจัดให้มีโครงสร้างที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานอย่างเพียงพอ ส่วนภาครัฐสามารถใช้กลไกภาษีสนับสนุนได้ ดังที่เคยใช้มาแล้วกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายต่าง ๆ
ส่วนเป้าหมายของ สวอพ แอนด์ โก คือการส่งเสริมให้คนใช้ EV หรือยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ที่ใช้งานได้สะดวกไม่ต้องกังวลทั้งสถานที่ชาร์จและเวลารอชาร์จ สามารถสลับแบตเตอรี่แล้วใช้รถต่อได้อย่างรวดเร็ว ตามนิยามการดำเนินงานของบริษัทคือ “สลับแบตไว..ไปได้เร็ว” เพราะหากการใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ในอนาคตผู้คนย่อมเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น นำไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน ไม่ส่งต่อผลกระทบให้กับคนรุ่นหลัง