Monday, 21 April 2025
POLITICS NEWS

"แรมโบ้" โต้ "หญิงหน่อย" ทำประโยชน์เพื่อชาติ-ปชช. ซัด! อย่าใช้ปากโจมตีคนทำงาน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่านายกรัฐมนตรี ไร้ประสิทธิภาพบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และวัคซีน และให้หยุดโทษประชาชน พร้อมทบทวนการทำงานตัวเอง ว่า นายกฯไม่เคยกล่าวโทษใคร ไม่เคยโทษประชาชน ซึ่งการแก้ไขปัญหานอกจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้ว จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน นักการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ใช่คอยซ้ำเติม จ้องโจมตีทำลายล้างโดยไม่สนใจจะแก้ไขปัญหาช่วยกัน

นายเสกสกล กล่าวว่า คุณหญิงสุดารัตน์ ควรมีข้อเสนอแนะที่ดีมาช่วยรัฐบาล ยืนยันว่านายกฯให้ความสำคัญกับประชาชน ไม่เหมือนบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน รวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์ พรรคไทยสร้างไทย ที่ออกพูดกล่าวโจมตี ไม่ให้กำลังใจการทำงานนายกฯ รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหาเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจิตใจของบุคลากรที่ทำงานทุ่มเทอย่างหนัก ซึ่งคุณหญิง เคยเป็นอดีตรมว.สาธารณสุข ต้องออกมาช่วยเหลือประเทศ อะไรที่สามารถลงมือทำได้ก็ขอให้ลงมือทำบ้าง ไม่ใช่ใช้ปากพูด กล่าวโทษคนอื่นอย่างเดียว การติติงนายกฯและรัฐบาลไม่ได้ห้าม แต่การกล่าวหาใส่ความทุกเรื่องทำให้ตนต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพราะบางเรื่องไม่เอาความจริงมาพูด แต่กล่าวหาใส่ความเพื่อให้ประชาชนเกลียดชังนายกฯและรัฐบาล อย่างนี้ถือเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ได้หรือไม่

“ศรีสุวรรณ” เตรียมร้อง "บิ๊กตู่” เอาผิดจริยธรรม ผช.รมต.ยุติธรรม หลังคน พปชร.แฉ ส่งคนสอบแทน

เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม (ผช.รมต.) เกิดความขัดแย้งกันกรณีออกมาเปิดโปงว่ามี ผช.รมต.ให้คนไปเรียนภาษาอังกฤษและให้สอบแทน ตามหลักสูตร ป.เอก ของสถาบันภาษา ม.รามคำแหง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โดยมีการเผยแพร่หลักฐานเป็นเอกสารทางราชการจากสถาบันภาษา ม.รามคำแหงด้วย 

ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แม้เป็นเรื่องภายในของพรรคพปชร.และผช.รมต.คนดังกล่าวไม่ได้เป็น ส.ส. ดังนั้น การสอบสวนเอาผิดจะต้องดำเนินการตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง 2551 เป็นหลัก ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนหลายข้อ อาทิ ข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ที่กำหนดไว้ขัดเจนว่า ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม ทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน วางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ประมวลจริยธรรมดังกล่าวกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กํากับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการการเมืองท่ีนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบในกรณีที่พบว่ามีการประพฤติ ปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ดําเนินการลงโทษเพื่อสร้างบรรทัดฐานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มิได้เป็น ส.ส.ต่อไป โดยจะไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

"ศุภชัย" เผย! พรรคภูมิใจไทย ทำหนังสือแจ้ง กกต.เลื่อนประชุมสามัญใหญ่ 64 ที่ชาติชายฮอลล์แล้ว ป้องกันแพร่ระบาดโควิด - 19

เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือที่ 04/011/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 เรื่องขอเลื่อนประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของพรรคภูมิใจไทย แจ้งกับนายทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยระบุว่า คณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยเห็นชอบให้จัดประชุมสามัญใหญ่ประจำปี 2564  ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 08.00 - 13.30 น. ที่อินดอร์ สเตเดียม (ชาติชายฮอลล์) โดยเชิญคณะกรรมการบริหารพรรค รัฐมนตรีหัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรค รวม 1,500 คน เข้าร่วมงาน 

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยขณะนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัดทั่วประเทศ การจัดประชุมใหญ่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างได้ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกพรรค และไม่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ให้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม พรรคภูมิใจไทยจึงขอเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ออกไปก่อน และหากสถานการณ์คลี่คลายลง พรรคภูมิใจไทย จะได้เร่งจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคทันทีในโอกาสแรก เพื่อเป็นไปตาม มาตรา 39 มาตรา 43 และมาตรา 61 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ต่อไป

'ทิพานัน' ตอกเพื่อไทยความคิดตื้นเขิน ยัน 'บิ๊กตู่' ทำงานทุกวัน เน้นทำมากกว่าพูด ไม่ออกสื่อไม่ใช่ไม่ทำงาน จี้ 'อนุสรณ์' หยุดดูถูกประชาชน ฝ่ายค้านควรยกระดับมาตรฐานตรวจสอบรัฐบาลอย่างมีหลักการ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศตามหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้มาทำงานสั่งการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอ้างว่านายกฯ หายไปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 ว่า ไม่ทราบว่านายอนุสรณ์เอาตรรกะหรือหลักฐานใดมากล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำงาน หากเป็นเรื่องของการที่ไม่ได้ออกมาแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยตนเองแล้วนำมาสรุปว่า ไม่ได้ทำงานนั้น ก็สะท้อนถึงความคิดที่ตื้นเขินของนายอนุสรณ์อย่างเห็นได้ชัด เป็นการทำการเมืองแบบเก่าที่จ้องทำลายและดิสเครดิตคนทำงาน ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ถนัดทำมากกว่าพูด การทำงานในรูปแบบของศูนย์บริหารสถานการณ์มีการสั่งการที่รวดเร็ว เด็ดขาด  และยังปรับเปลี่ยนตามวิถีนิวนอร์มอล

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เฝ้าติดตามสถานการณ์และห่วงใยใส่ใจพี่น้องประชาชนตลอด โดยตลอดเวลามีการสั่งการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ ศบค. ที่ท่านสวมหมวกเป็นผู้อำนวยการศูนย์อยู่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้กำหนดเรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 16 เม.ย.นี้ เวลา 13.30 น. แบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์  โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณารายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ส่วนที่น่าจับตาคือศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่จะมีการเสนอยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของศปก.สธ. พร้อมเตรียมจะออกประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สรุปและประเมินถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ ในแต่ละสถานการณ์เพื่อให้ได้มาตรการที่ดีที่สุดต่อสุขภาพอนามัยและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน 

“ขอให้นายอนุสรณ์ หยุดดูถูกพี่น้องประชาชน  หากไม่สามารถจับประเด็นที่เป็นสาระหลักๆและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติมาวิจารณ์ได้ ก็จะรบกวนอยู่เฉยๆ แต่ที่ต้องหยิบยกมาพูดถึง เพราะอยากให้พรรคเพื่อไทยยกระดับการสื่อสารต่อสาธารณะ และมีมาตรฐานในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีหลักการมากขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว

พรรคประชาธิปัตย์ ห่วงสถานการณ์โควิด เลื่อนประชุมใหญ่ จากเดิมกำหนด วันที่ 25 เมษายน 2564

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการประชุมใหญ่สามัญประจำปีว่า จากที่ได้มีการกำหนดนัดประชุมใหญ่ประจำปี 2564 ในวันที่ 25 เมษายน 2564 นั้นพรรคเห็นว่าเนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดโค-วิด19 มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดความเสี่ยงและเกิดความยากลำบากในการเดินทางมาของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์ประชุมเพราะในหลายจังหวัดมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวดเป็นอย่างมาก และการรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนหลายร้อยคนจะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้ 

ทางพรรคจึงขอเลื่อนการประชุมประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ต้องจัดภายในเดือนเมษายน 2564 ออกไปก่อนและจะได้ทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19คลี่คลายลงจะได้กำหนดนัดประชุมใหญ่ต่อไป

นายราเมศกล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ได้นัดประชุมในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 ก็ได้เลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน

รองโฆษก ประชาธิปัตย์ เตือนสติ "ดร.อานนท์" ไม่กล่าวหาใครแบบไม่มีที่มา ก่อนถูกด้อยค่าเป็นนักวิชาเกิน

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ นิด้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงพรรคในหลายประเด็น โดยใช้คำเรียกแทนว่าเป็นพรรคเก่าแก่ และล่าสุดในวันที่ 14 เมษายน 2564 ได้ออกมาให้ความเห็นอีกครั้งด้วยการคาดเดานั้น ในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกพรรคจึงจำเป็นต้องตอบโต้ เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด

โดยนางดรุณวรรณ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองเป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่ง การที่อยู่ดีๆ มีคนมากล่าวหาพรรคของตนเอง เปรียบเสมือนมีใครสักคนมายืนตะโกนด่าที่หน้าบ้าน หากไม่ลุกขึ้นมาตอบโต้หรือชี้แจงก็คงเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย โดยเฉพาะคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายมากล่าวหาแบบลอย ๆ อ้างอิงเพียงแค่การใช้คำว่าข่าวกรองเพื่อหวังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนฟัง และสร้างความเกลียดชังให้กับผู้ถูกกล่าวหาบนตรรกะที่เป็นเรื่องผิดเพี้ยน

“ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าในสถาบันเดียวกันกับที่อาจารย์เป็นผู้สอน ได้ถูกปลูกฝังให้ยึดถือในค่านิยม Wisdom for Change หรือการมีปัญญาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้ที่มีปัญญาย่อมจะไม่ทำในสิ่งที่โง่เขลา และควรมีจิตสำนึกที่ดีในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม… เฉกเช่นเดียวกับการเป็นนักวิชาการที่จะไปเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือการพูดจาหรือนำเสนอสิ่งใด ๆ จึงต้องมีเอกสารหรือหลักฐานอ้างอิง ไม่กล่าวหาใครแบบลอย ๆ และหากมีหลักฐานใดที่พิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาของ ดร.อานนท์ เป็นความจริง ก็ควรนำมาแสดง เพื่อไม่ให้ข่าวกรองถูกด้อยค่าเป็นได้แค่ข่าวลือ แบบเขาเล่าว่า หรือ ใครบอกมาอย่างที่นักวิชาเกินส่วนใหญ่ชอบทำกัน” นางดรุณวรรณ กล่าว

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวเสริมในตอนท้ายด้วยว่า อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณ ดร.อานนท์ ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด พรรคเป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่อยู่มา 75 ปี และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 76 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้สั่งสมประสบการณ์และผลงานมาตลอดระยะเวลานาน จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้ใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืนในการสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ส่วนตัวยังเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์และ ดร.อานนท์ ยังมีจุดร่วมที่ตรงกันหลายประเด็นในการมุ่งเน้นทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยมีประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงอยากให้เปิดใจ ไม่ใช้อคติในการตัดสิน และพรรคพร้อมยินดีน้อมรับคำตำหนิติชมจากทุกฝ่าย แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

‘บิ๊กตู่’ กังวลโควิด แพร่ไม่หยุด เรียกถก ศบค.ขุดใหญ่พรุ่งนี้ เตรียมออกมาตรการชั้นสูงสุดป้องกัน หวั่น หลังสงกรานต์คนกลับจากภูมิลำเนาขยายวงกว้างอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระรอกเดือนเมษายน ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความกังวล จะเกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่อง ได้มีการพูดคุยและหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. เตรียมกำหนดมาตรการเข้มงวดและประกาศใช้โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการประชุม วาระแรกเป็นการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 4/2564 จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และที่น่าจับตาคือศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในการระบาดระลอกเมษายน 2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 ของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11), ประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ , การประกาศ เรื่อง การให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ที่ 4/2564   เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ในช่วงท้าย การประชุม กองบัญชาการกองทัพไทย จะเสนอแนะแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ตามแนวชายแดน

"กรณ์" ชี้ ยังมีงบหลายแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ แนะรัฐบาลโยกมาเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการ และซื้อวัคซีน ‘วรวุฒิ’ ย้ำ ตั้งสภาเอสเอ็มอี ต่อลมหายใจผู้ค้ารายย่อย 4 ล้านรายทั่วประเทศ "จาตุรนต์" ร่วมวงแจมคลับเฮ้าส์ แลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 64 เวลาประมาณ 19.30 น. พรรคกล้า ได้เปิดพื้นที่ ระดมสมองแบบคนต่างวัยต่างมุมมอง ผ่านแอปพลิชัน “คลับเฮ้าส์” (Clubhouse) แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “ถ้าเป็นรัฐบาลจะรับมือคิดรอบนี้อย่างไร” โดยมี ผู้บริหารของพรรคกล้า นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค , นายวรวุฒิ อุ่นใจ , นายพงษ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมด้วยสมาชิกพรรค คนเจนกล้า และคนทั่วไป โดยมีนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย  

นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาโควิด ขณะนี้มีหลายระดับมาก ตั้งแต่ผลกระทบเศรษฐกิจ จนถึงเรื่องของวัคซีน ตลอดจนความชัดเจนในการให้ความรู้กับประชาชนว่ากลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อนั้นต้องไปตรวจที่ไหน โดยมีน้องคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ไปที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตรวจได้ สุดท้ายต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้รับแจ้งว่าตอนนี้ยุติการตรวจแล้ว แต่อีกสองวันต่อมา ดาราชื่อดังโชว์ผลตรวจว่าตัวเองไม่ติดโควิด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่น้องคนนั้นไปขอเข้ารับการตรวจแต่ได้รับการปฏิเสธ เกิดเป็นประเด็นกระทบความรู้สึกกัน ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่ต้องการจากรัฐคือ ต้องให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนบ้างที่รับหรือไม่รับตรวจ และถ้าไม่รับก็ต้องชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่รับ สถานพยายาลทุกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งกรณีติดเชื้อแล้ว ตามกฎหมายคือกักตัวเองไม่ได้ ต้องในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัญหาคือ บางโรงพยาบาลไม่ตอบรับ กลายเป็นว่าต้องไปอาศัยระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบมีปัญหา และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ

"การโหลดแอป หรือการเช็คอิน ก็ไม่ได้มีข้อมูลเตือนว่าใครเสี่ยง ใครติด และไม่มีสัญญาณเตือนอะไร จนมีข่าวว่าผู้ติดโควิดขึ้นเครื่องบินไปลงที่ จ.นครศรีธรรมราชได้ สร้างความกังวลให้กับผู้ร่วมเดินทาง  ตอนนี้รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจน และที่สำคัญคือการชี้แนะให้กับกลุ่มเสี่ยงว่าจะต้องไปตรวจที่ไหนบ้าง ถ้าตรวจแล้วติดต้องไปรักษาที่ไหน และถ้าไม่ติดต้องไปกักตัวที่ไหนได้บ้าง เพื่อลดความสับสนและความกังวลให้กับประชาชนที่ไม่รู้จะหันไปถามใคร ขณะเดียวกันในแต่ละจังหวัดมีมาตรฐานเหมือนกันหรือไม่ ผู้ว่าของทุกจังหวัดก็มาจากกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน นโยบายจากส่วนกลางให้อำนาจาผู้ว่าฯ แค่ไหน ถ้าให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ผมก็ว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้เอกชน สามารถซื้อวัคซีนมาฉีดได้เองว่า เท่าที่ดูข้อมูลประเทศอื่นยังไม่มีระบบนี้ ทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนให้กับประชากรของเขา มีที่เดียวที่ถกกันเรื่องนี้คือประเทศมาเลเซีย แต่เขาก็ยังไม่ยอมให้เอกชนหรือประชาชนที่มีเงินสามารถซื้อวัคซีนได้ มองในมุมหนึ่งคือลดภาระของรัฐ ที่ไม่ต้องไปแย่งวัคซีนกับคนที่เงินไม่พอที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เอง แต่มองอีกมุม เมื่อวัคซีนมีจำกัด การจัดสรรก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของประเทศเพียงพอที่จะผลักดันหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าสามารถช่วยให้ประชาชนดีขึ้น ตนเห็นด้วย แต่ก็ต้องไปดูงบที่ยังมีอยู่ด้วยว่า ได้ถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง

“งบฟื้นฟูที่กันไว้สี่แสนล้านนั้น วันนี้ใช้ไปนิดเดียว เท่าที่ทราบตอนนี้มีเหลืออยู่สองแสนกว่าล้าน ตอนนี้ควรจะโยกมาก่อน แทนที่จะนำไปใช้กับโครงการตามระบบราชการ ตามสภาวะปกติ แต่ให้นำมาใช้เพื่อเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประชาชน และการซื้อวัคซีน ซึ่งหากรัฐบาลบอกว่าซื้อไม่ได้ ก็จะมีคำถามว่า แล้วที่บอกว่าจะเปิดให้เอกชนไปซื้อ เขาไปซื้อจากไหน อยากเรียนว่า ฐานะทางการคลังของประเทศขณะนี้ยังไม่มีปัญหา ถ้างบฟื้นฟูหมด ก็ยังมีงบฉุกเฉินแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้  และงบกระทรวงสาธารณสุขที่กันไว้ห้าหมื่นกว่าล้านเพิ่งใช้ไปนิดเดียว จากเดิมที่เราคิดว่าเรารอวัคซีนได้ เราจะซื้อที่เราจองไว้ รวมกับที่เราจะผลิตได้เอง จึงไม่ได้รีบร้อนเพราะคนไทยติดเชื้อน้อย แต่วันนี้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วใช้เงินนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการฉีดวัคซีน และเยียวยาประชาชน” นายกรณ์ กล่าว

ด้านนายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิดว่า การทำแอปพลิเคชันรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อขอรับการเยียวยาจากภาครัฐบาล ในทางเทคนิคไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ว่าหน่วยงานภาครัฐยินดีที่จะแชร์ข้อมูลด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำหน้าที่ได้ดีคือ กระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากมีกลไก อสม. ที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ถ้ามีสภาเอสเอ็มอีของแต่ละจังหวัด ก็จะคล้ายกับ อสม. ที่มีหน่วยงานไปประสานงานในพื้นที่ได้ การทำฐานข้อมูลก็จะเป็นรูปธรรม การเยียวยาผู้ประกอบการก็จะง่ายขึ้น และเสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้เอาสินค้าเกษตรกรเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น เวลานี้ เกษตรกร เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ เป็นจำนวนมากที่ใช้ออนไลน์ไม่เป็น ถ้ารัฐใช้โอกาสนี้ เชื่อว่าทุกคนจะขายของออนไลน์กันเป็นทั้งประเทศ  เนื่องจากเริ่มคุ้นชินกับการใช้แอพกระเป๋าตังมาแล้ว แต่ถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็จะเกิดปรากฏการณ์โดมิโน่เอฟเฟกต์ หากรายย่อยเจ๊ง ธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงรายใหญ่ก็จะทยอยเจ๊งลงไปเรื่อย ๆ

นายพงษ์พรหม รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า มาตรการการตรวจคัดกรองของภาครัฐขณะนี้ มันทำหน้าที่ตรงไหน หลายคนใช้ชีวิตปกติทั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง บางคนที่ตรวจพบว่าติดโควิด โทรหาโรงพยาบาลเพื่อให้ส่งรถมารับ แต่โรงพยาบาลบอกไม่มีรถ และบอกแค่เพียงให้ปฏิบัติตัวอย่างไร ในโรงพยาบาลมีการแยกการตรวจหาเชื้อโควิดกับโรคอื่น ๆ หรือไม่แค่ไหน มาตรการความปลอดภัยเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การดูแลเยียวยาประชาชน ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรายได้ของภาครัฐในรูปของภาษีน้อยกว่ารายจ่ายประจำ งบประมาณที่จะต้องนำไปใช้คือต้องเป็นเรื่องของการลงทุน หากผิดวัตถุประสงค์ก็เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญได้ ส่วนเรื่องวัคซีน ขณะนี้ประเทศไทย ตกขบวนติดอันดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีทั้งผู้มีประสบการณ์ตรงในภาครัฐ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่อยู่วงนอกที่อยากรู้ โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ประเด็นเฉพาะหน้า ถ้าต้องกักตัว กักที่ไหน ถ้าป่วยรักษาที่ไหน จึงอยากให้ภาครัฐทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และขยายการตรวจให้กว้างขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งกลายเป็นสถานที่เสี่ยงไปโดยปริยายโดยทุกคนยอมรับว่า แม้จะมีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลสนามก็ตาม แต่หากบุคลากรทางการแพทย์ยังคงที่ การดูแลก็ไม่มีทางทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างภูเก็ตโมเดล ทำให้เอกชนกดดันเพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือ จนนำไปสู่นโยบายการเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 1 แสนราย และสิ่งที่ถกกันมากที่สุด คือถ้าต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานรัฐบาลจะทำอย่างไร การให้ข้าราชการ work from home ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี ธุรกรรม นิติกรรม หลายอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ บางคนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เอื้อต่อการรับมือวิกฤต

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯห่วง สถานการณ์โควิด-19 แบ่งโซนจังหวัดเร่งฉีดวัคซีน  จี้ ทุกหน่วยงาน เข้มมาตรการ - วอน ประชาชน มีสติ อย่าประมาท เดินทาง ช่วงวันหยุดที่เหลือ

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. นายอนุชา  บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการเดินทางของประชาชน ตลอดช่วงวันหยุดที่ผ่านมาด้วยความห่วงใย พร้อมสั่งทุกหน่วยงานให้ดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น  ทั้งการจัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม และเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  ที่ได้เพิ่มเติมมาอีกจำนวน 1,000,000 โดสในเดือนนี้

สำหรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน  1 ล้านโดสในเดือนเมษายนนี้  มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่สีแดง และกระจายให้กลุ่มเป้าหมายใน 77 จังหวัด ประกอบด้วย 9 จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา  บุรีรัมย์  อุบลราชธานีและนครศรีธรรมราช   13 จังหวัดขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เชียงราย นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด สกลนคร สุรินทร์  ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานีและสงขลา และ  56 จังหวัดขนาดเล็ก อาทิ แม่ฮ่องสอน ลำพูน  นครนายก ลพบุรี เลย บึงกาฬ เป็นต้น 

แบ่งเป็น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า  จำนวน  599,800 โดส  ควบคุมโรคระบาด พื้นที่สีแดง 100,000 โดส ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส  ตำรวจ ทหาร ด่านหน้า จำนวน 54,320 โดส รวมทั้งสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน 98,680 โดส   จนถึงวานนี้ (13 เมษายน 64 ) มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว 579,305 โดส เป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน  505,744 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มสอง จำนวน 73,561 ราย

นายอนุชา กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรียังเสียใจต่อการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ที่เกิดจากอุบัติเหตุจากการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งยังคงเป็นยานพาหนะที่มีอุบัติเหตุสูงสุด โดยฝากความห่วงใยมาถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ให้มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน  ไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน ตรวจสภาพรถยนต์ และสภาพอากาศทุกครั้งก่อนออกเดินทาง  เมาไม่ขับ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ในช่วงวันหยุดที่เหลืออยู่ พร้อมชื่นชมพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการสาธารณสุข ลดการรวมกลุ่ม หลีกเลี่ยงการเดินทาง เน้นทำงานที่บ้าน หรือ work from home   มั่นใจว่า ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 ได้อย่างรวดเร็ว"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top