Tuesday, 22 April 2025
POLITICS NEWS

เผย "อนุทิน" ไม่นิ่งนอนใจ ปม 3 อาม่าติดโควิด ก่อนเสียชีวิต 1 ราย ย้ำ! เข้าใจคนทำงาน แต่ก็ไม่อยากเห็นการสูญเสีย สั่งกรมการแพทย์ประสานกับกทม. บูรณาการแก้ไขปัญหาโดยด่วน

กรณีที่มีการปล่อยให้หญิงชรา 3 คน ซึ่งติดโควิด 19 ใช้ชีวิตตามลำพัง และล่าสุดได้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ก่อนจะมีการนำอีก 2 รายเข้ารับการรักษา จนเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ ของสังคม  ล่าสุด 23 เมษายน 2564 นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กล่าวว่า นายอนุทิน คณะผู้บริหาร และบุคลากรในกระทรวงทุกคนรู้สึกเสียใจ เวลาทราบข่าว ทุกคนผิดหวัง เพราะมั่นใจว่า ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว และมองว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรายึดนโยบายเดียวกันว่า จะต้องรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย เมื่อมีเคสเข้ามา จะทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่การระบาดรอบนี้ สถานการณ์รุนแรงกว่าทุกครั้ง พบผู้ติดเชื่อในจำนวนที่สูงขึ้น เนื่องจากเชื้อ เป็นคนละสายพันธุ์จากที่คนไทยเคยเจอ 

ขณะนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ สิ่งที่สำคัญมาก ทางกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มช่องทางการประสานทั้งขอคำปรึกษา และรับตัวผู้ป่วย ในส่วนของการรับตัวผู้ป่วยนั้น ทุกหน่วยงานพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เข้าถึงตัวผู้ป่วยอย่างเร็วที่สุด แต่หลายครั้ง ก็ติดปัญหา อุปสรรค ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป กรณีที่ผู้สูงอายุ ต้องอยู่โดยลำพังทั้งที่ติดโควิด 19 ถือเป็นบทเรียนการทำงานให้กับทุกคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งท่านอนุทิน รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ท่านไม่ได้โทษคนทำงาน เพราะทราบว่าทุกคน ทุกฝ่าย ทำงานกันอย่างสุดความสามารถ และนี่ไม่ใช่เวลาจะมาชี้นิ้วโทษใคร ท่านย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอว่าไม่ต้องหาคนผิด แต่ขอให้ช่วยกันทำงาน และขอให้ทุกคนช่วยเข้าไปหาทางปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น  

ส่วนที่มีการแชร์ภาพว่าสายด่วน 1668 ขาดแคลนเรื่องเครื่องมือในการทำงาน มีเพียงเจ้าหน้าที่ กับโทรศัพท์ ใช้ระบบจดด้วยมือแทนคีย์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์โดยตรง ขอเรียนชี้แจงว่า รูปแบบการทำงานนั้น จะให้เจ้าหน้าที่จดข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงจะไปประมวล และบันทึกในคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ปกติ จะทำงานกันตั้งแต่เวลา 8.00 – 22.00 น. แต่ปัจจุบันนี้ ทำงานกันจนถึงตีหนึ่ง ก็ไม่ได้หยุด เจ้าหน้าที่ทุ่มเทเสียสละอย่างยิ่ง 

นายอนุทิน และผู้บริหาร ได้เดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องการประสานงานแล้ว เป็นทีมประเทศไทย มุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด สายด่วน1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ บูรณาการหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยในเรื่องของการดูแลแก้ไข เรื่องการสื่อสารกับประชาชนในสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะ แบ่งเป็น 1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด-19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย 2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน 3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค และ 4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย รวมทั้งโทร.เยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุย จนกว่าจะเข้าใจตรงกัน ทางเจ้าหน้าที่จะไม่ถามคำ ตอบคำ แต่จะให้ความสำคัญกับทุกสายที่โทรเข้ามา โดยแต่ละวันมีประชาชนโทรเข้ามา 200 - 300 สาย จนทำให้คู่สายล้น ได้จัดให้มีการส่งต่อข้อมูล 

ขณะที่ ในส่วนของการรักษา ได้ปรับมาตรการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์จาก 5 แสนเม็ด เป็น 2 ล้านเม็ด พร้อมปรับเกณฑ์ การใช้ยาให้เร็วขึ้น ทุกคนใน กระทรวงสาธารณสุข ทำสุดความสามารถในการแก้ไขวิกฤติ สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชนคนไทย ขอให้ตั้งการ์ดให้สูงที่สุดใส่ หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง ทุกคนสามารถช่วยประเทศไทยได้

ศบค.เร่งจัดระบบรับข้อมูลติดเชื้อ แยกระดับรุนแรง วอนให้ปชช.รอติดต่อกลับ ขอโทษผู้ป่วยรอนาน รับ เตียงไอซียูอาจไม่พอ เร่งเบ่งเตียงขยายรองรับ เผย 1,423 คนในกทม. รอเตียงหวั่น หากติดเชื้อ 2 พันต่อวันน่ากังวล

วันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า กระทรวงสาธารณสุข รับทราบปัญหาเรื่องเตียง ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ โดยพยากรณ์เรื่องการใช้เตียงที่มีความน่าเป็นห่วงเรื่องเตียงไอซียู ของกรุงเทพฯมีจำนวน 262 เตียง ว่างอยู่ 69 เตียง และเป็นห้องความดันลบ มี 479 เตียง ใช้ไป 410 เตียง ว่าง 69 เตียง คาดการณ์ว่าถ้ามีการติดเชื้อประมาณ 1,500 รายต่อวัน จะใช้เตียงประมาณ 52 เตียงต่อวัน ถ้าใช้ต่อวัน 10-13 เตียงรองรับเต็มที่ 6-8วัน สำหรับเตียงทั่วประเทศเหลือประมาณ 1,000 เตียง ถ้าใช้ต่อวัน 52 เตียง จะรองรับได้อีกประมาณ 19 วัน หรือสามสัปดาห์ของทั้งประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผู้ติดเชื้อเกิน 2,000คน จะกระทบต่อระบบสาธารณสุข ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และเตียงผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน และศบค.มีแผนรองรับอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีผลกระทบแน่นอน เพราะยังไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร ในภาวะวิกฤตรุนแรงจะต้องทำอย่างไร ขณะนี้มีเตียงไอซียูรองรับในระยะหนึ่ง ยังไม่เพียงพอและต้องเพิ่มมากขึ้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง

กทม.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวง โรงเรียนแพทย์ มีการเบ่งเตียงคือเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ไอซียู ขยายกว้างขึ้นจากการปรับปรุงวอร์ดอื่นเพื่อรองรับคนไข้กลุ่มนี้เข้าไปอยู่ร่วม และกันคนไข้ที่ไม่เกี่ยวข้องออก 

นอกจากนั้นมีการพูดคุยเรื่อง ไอซียูสนาม ซึ่งจะมีความยุ่งยากและต้องปรับปรุงสถานที่ ทั้งนี้โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักจะเป็นผู้ขยายเตียงเพื่อรองรับเพิ่มเติมก่อน ยืนยันว่าเราพยายามทำเต็มที่เมื่อป่วยหนักจะรักษาและทุกคนทำงานเต็มที่เช่นกัน

เมื่อถามถึงระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อ มีข้อติดขัดอย่างไร เพราะมีเสียงสะท้อนว่าผู้ป่วยรอเตียงนานยังไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบ และบางรายเสียชีวิตในระหว่างรอรักษา นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องกราบขออภัยประชาชนทุกคนทุกสาย ที่โทรเข้ามา 1668 1669 และ 1330 ซึ่งพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผอ.ศปก.ศบค.มช.ได้แจ้งให้ที่ประชุมศบค.รับทราบว่ามีสายเข้ามาจำนวนมากและยังไม่เพียงพอ และได้ให้ปรับระบบคู่สายเพิ่มขึ้นมาหนึ่งทีม 50 คู่สาย  เพื่อรับข้อมูลจากทีมแรกที่รับสายเก็บข้อมูลที่สำคัญเบื้องต้นแลเวส่งต่อให้กับชุด 50 สายนี้เพื่อจะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปที่ผู้ป่วย โดยผู้ที่ทราบผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด ให้ฝากเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลที่สำคัญชุดตรวจเตรียมไว้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เวลานี้มีผู้ป่วยรอเตียงในระบบ 1,423 เพิ่มขึ้น 224 คน รับรักษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา 474 คน 

ทั้งนี้จะแยกผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง โดยผู้ป่วยสีเขียว ต้องแยกคนไข้กลุ่มนี้ก่อนเพื่อให้ได้มีที่อยู่และไม่แพร่เชื้อไปที่อื่น ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเตียงยังไม่พอต้องขอให้อดทน และบุคลากรของเราพยายามบริหารจัดการ ยืนยันว่าไม่มีใครที่มีเจตนาไม่ดีหรือทำไม่ดี และเวลานี้ต้องสร้างกำลังใจและสร้างโอกาสที่ดี เพื่อเราจะผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปด้วยกัน

จุรินทร์-นิพนธ์” นำคณะ เข้าคารวะ “จุฬาราชมนตรี” เนื่องในเดือนรอมฎอน

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ ห้องรับรอง สำนักจุฬาราชมนตรี เขตหนองจอก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาราเล่  ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมมอบกระเช้าอินทผาลัม และผลไม้ แด่ ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เนื่องในเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากท่านจุฬาราชมนตรีและคณะ โดยท่านจุฬาราชมนตรี ได้ขอพรพระอัลเลาะห์ ให้กับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะด้วย

‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ส่งทนายไล่ฟ้องดะ ‘เต้ มงคลกิตต์’ โดนคนแรก แถมพ่วงสื่อเครือเนชั่นตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ไปจนถึงพิธีกร ปมกล่าวหาเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อจนติดเชื้อโควิด

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่สภ.เมืองบุรีรัมย์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้มอบอำนาจให้นายทิวา การกระสัง ทนายความส่วนตัว เดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีที่ได้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊กชื่อ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนายมงคลกิตติ์ได้ระบุว่า นายศักดิ์สยามไปเที่ยวผับในย่านทองหล่อ เมื่อปลายเดือนมี.ค. ทําให้เกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อประมาณหมื่นกว่าคน ทำให้นายศักดิ์สยาม ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และมาตรา 16

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้ฟ้องเอาผิดกับ กลุ่มบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จํากัด รวมไปถึงระดับผู้บริหารอย่างประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร และอีก 2 พิธีกรจัดรายการชื่อ “เนชั่นทันข่าวค่ำ” ที่เผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ของเนชั่นทีวี และเว็บไซต์ยูทูป ช่อง NationTV22 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จมาว่านายศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ

ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มาตรา 16 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 ประกอบมาตรา 83,90 และ 91


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘บิ๊กป้อม’ ห่วงแรงงาน กระทบโควิด-19 ประชุม กพร.ปช. ยกระดับฝีมือแรงงาน คนพิการ/ผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงวัย ควบคู่เยียวยา สั่งเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการฯ เห็นชอบแผนพัฒนาศก.ฐานราก ฟื้นฟู ทั่วประเทศ

เมื่อ 23 เมษายน พ.ศ.2564  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้เวลา10.30น.  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพัฒนาแรงงาน และประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 3/2564 โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.รง. และ ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.รง. เข้าร่วมประชุม  ณ  ห้องประชุม 301  ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบความคืบหน้า การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ปีพ.ศ.2564-2570 โดย รง.ได้ทำการรวบรวมแผน/โครงการด้านการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมฯ จากหน่วยงานหลักของภาครัฐ รวมทั้งสิ้น 174 โครงการ มีจำนวนผู้ที่จะได้รับการพัฒนา 891,207 คน ซึ่งมีแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนที่สำคัญ ได้แก่การนำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และมาตรฐานอาชีพ 

เชื่อมโยงสู่ระบบการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและกำลังแรงงาน มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และรับทราบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ รองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ.2564-2570) จำนวน 69 โครงการ มีเป้าหมายรวม 186,613 คน พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้า การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตามมาตราการ "สร้าง ยก ให้" ช่วยแรงงานไทย ช่วยชาติ โดยมีเป้าหมายรวม 130,000 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา

จากนั้น คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ของทุกภาคส่วนในแต่ละจังหวัด อย่างเป็นระบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และนโยบายการขับเคลื่อนไปด้วยกัน

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับให้ รง. เร่งขับเคลื่อนแผนงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน ต่อการส่งเสริมทักษะฝีมือ คนพิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ โดยให้ประสานงานกับ พม. เพื่อรองรับการประกอบอาชีพ อย่างจริงจัง และทั่วถึง พร้อมขอให้ มท.,จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามนโยบายของรัฐบาล ต่อไป

'Sputnik V' วัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซีย กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัสเซียที่ชื่อว่า Sputnik V หลังจากที่ อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้พูดคุยในแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) โดยใช้ชื่อว่า Tony Woodsome เกี่ยวประเด็น ‘ฝ่าวิกฤตโควิด’ ซึ่งได้โชว์วิสัยทัศน์หลายด้านที่ประเทศไทยควรจะทำ โดยเฉพาะในด้านการจัดหาวัคซีน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปได้โดยเร็ว

และถัดมาเพียง 2 วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก บอกปิดดีลวัคซีนจากรัสเซียเรียบร้อย หลังจากสั่งการให้กระทรวงต่างประเทศไปเจรจาขอซื้อโดยตรง ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ

ข้อมูล : เพจ ซ.ต.พ. ซึ่งต้องพิสูจน์


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

"ธนาธร" โชว์วิสัยทัศน์โมเดลประคองธุรกิจพ้นวิกฤต หวังคนไทยไม่ตกงาน

เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊กเปิดตัวรายการ “คิดไปข้างหน้ากับธนาธร” ในหัวข้อ “สร้างพันธมิตร ประคองธุรกิจพ้นวิกฤต” แสดงวิสัยทัศน์แนะนำผู้ประกอบการในยุควิกฤตโควิด หวังนำไปสู่การประคองภาคธุรกิจเพื่อรักษาการจ้างงานให้ลูกจ้างทั่วประเทศ

โดยนายธนาธร ระบุว่าในเวลานี้วิกฤตโควิดกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ลดลง, กระแสเงินสดขององค์กรที่ลดลง ซึ่งหลายกรณีได้นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ภายใต้สภาวะเช่นนี้ หนึ่งในหนทางที่ภาคธุรกิจจะประคองตัวต่อไปได้ ตนขอเสนอความคิดเรื่องการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่ออุดรูรั่วที่เกิดจากวิกฤตนี้

***จากโลกสมมุติของ “ม้า” และ “รถลาก” สู่กรณีธุรกิจจริง แนะแนววิธีการเสริมทัพสู่ความยั่งยืน***
โดยนายธนาธร เปรียบเทียบว่าหากมีโลกอยู่ใบหนึ่งที่ไม่รู้จักแท็กซี่ มีเพียงม้ากับรถลาก ถ้าจะเริ่มต้นสร้างแท็กซี่ขึ้นมา จะมีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัท คือฟาร์มม้า กับบริษัททำรถลาก ได้อย่างไรบ้างเพื่อให้ทั้งสองบริษัทเติบโตร่ำรวยไปด้วยกัน

โดยสรุป นายธนาธรเปรียบเทียบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสององค์กรธุรกิจ สามารถมีได้ตั้งแต่การซื้อ-ขาย และให้เช่าเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุด ทั้งเจ้าของม้าซื้อรถลากมาทำแท็กซี่ หรือเจ้าของรถลากซื้อม้ามาทำแท็กซี่ แต่การซื้อ-ขายและให้เช่า เป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ได้มัดสององค์กรให้เหนียวแน่นเป็นพันธมิตรกัน สุดท้ายผู้ที่ทำแท็กซี่ได้สำเร็จจะนำปัจจัยกำลังซื้อจากลูกค้าใหม่ มากดราคาซื้อ-ขายกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ และทุกคนต่างก็อยากอยู่ในชั้นบนสุดของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) กันทั้งนั้น

จากปัญหาพ้นฐานนี้ องค์กรธุรกิจสององค์กรสามารถกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำให้การซื้อ-ขายหรือให้เช่าเป็นในลักษณะเฉพาะ (exclusive) เช่น ต้องซื้อ-ขายจากกันและกันเท่านั้น ห้ามไปซื้อ-ขายกับคนอื่น ซึ่งสามารถนำไปสู่รายได้คงที่ (fixed revenue) และอาจจะนำไปสู่การแบ่งปันกำไร (profit-sharing) ได้

ในกรณีที่บริษัทที่ต้องการไปสร้างพันธมิตรกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่เราไม่มี อีกรูปแบบหนึ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลายเรียกว่าการทำ Technology Licensing เช่น กรณีของวัคซีนโควิด มหาวิทยาลัย Oxford มีชื่อเสียงเก่าแก่ ได้รับการเคารพจากสังคม และมีสูตรยาที่จะสามารถผลิตเป็นวัคซีนโควิดได้ ส่วน AstraZeneca เป็นบริษัทยาใหญ่ระดับโลก ไม่มีสูตรแต่มีโรงงานผลิตและเครือข่ายการจำหน่ายระดับโลก เขาจึงจับมือกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Technology Licensing

อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คือการทำบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) หรือการที่องค์กรธุรกิจต่างคนต่างลงขันกันสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมา แบ่งกันถือหุ้น ทำให้การจัดสรรกำไรใน supply chain เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่อีกฝ่ายมากดราคาซื้อ ซึ่งอาจจะทำในลักษณะการถือหุ้นไขว้กัน (cross-shareholding) ได้ เพื่อให้เชื่อใจกันมากขึ้น แนบสนิทกันมากขึ้น ให้ผลประโยชน์ถูกแบ่งสรรกันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

และอีกรูปแบบหนึ่งที่ไปไกลกว่านั้น ก็คือการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) คือการที่องค์กรธุรกิจทั้งสองต่างยุบเอาบริษัทของตัวเองลงมารวมกันเป็นบริษัทใหม่บริษัทเดียว ต่างฝ่ายต่างเข้าไปถือหุ้นอยู่ในบริษัทใหม่ ผลประโยชน์ทุกอย่างจะถูกแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น
“ถ้าเราลองดูรูปแบบทั้งหมดที่มี ผมไล่มาให้ดูตั้งแต่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการผูกมัดกันน้อยไปจนถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการผูกมัดกันเยอะ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือรูปแบบการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ จะใช้กับกระบวนการไหน จะใช้กับธุรกิจแบบไหน ต้องอยู่ที่ผู้บริการตัดสินใจเอาเอง” นายธนาธรกล่าว

***ห่วงคนไทยตกงานเพิ่ม แนะภาคธุรกิจไทยปรับแนวทางใช้รักษาการจ้างงานให้คนไทย***
นายธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าในธุรกิจปกติ ไม่มีใครมีทุกอย่างครบ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป, ฐานลูกค้า, เงินลงทุน, เครือข่ายโลจิสติกต์, ช่องทางการขาย, ทีมผู้บริหารที่พร้อม, ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์, ชื่อเสียงของบริษัท ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดภาวะวิกฤติอย่างโควิด ทำให้งบประมาณในการลงทุนใช้จ่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทางธุรกิจแต่ละองค์กรน้อยลง การหาพันธมิตรจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อเอามาอุดรอยรั่วในสิ่งที่เราไม่มี

“ทั้งหมดนี้คือรูปแบบต่างๆที่จะช่วยประคับประคองธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องปลดคนงานทิ้ง หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์และนำความคิดตรงนี้กลับไปใช้ ในเวลาที่ยอดขายตกลงจากผลกระทบโควิด สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติมด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจของท่านมีความเจริญก้าวหน้าไป มีการจ้างงานมากขึ้น คนงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็หวังว่าเราจะช่วยกันประคับประคองระบบเศรษฐกิจไม่ให้ล้มเหลวไปกว่านี้ได้” นายธนาธรกล่าวทิ้งท้าย

นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยในคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) โชว์วิสัยทัศน์ด้านการจัดหาวัคซีน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดคุยในคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) โดยใช้ชื่อว่า Tony Woodsome ประเด็น ‘ฝ่าวิกฤตโควิด’ โดยพี่โทนี่ ได้โชว์วิสัยทัศน์หลายด้านที่ประเทศไทยควรจะทำ โดยเฉพาะในด้านการจัดหาวัคซีน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปได้โดยเร็ว

พร้อมกับได้กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในตอนหนึ่งว่า เราต้องเข้าใจ Nature ของท่านนายกฯ ท่านเป็นทหารมาทั้งชีวิต เน้นใช้งบประมาณ ไม่รู้วิธีหาเงินมาอุดหนุนงบประมาณ แล้วมาทำเศรษฐกิจ ยังไงก็ทำไม่ได้ ยังไงก็เป็นไปไม่ได้แน่นอน


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สตง. ติง 8 โครงการน่าสงสัยใช้เงินกู้ 1 ล้านล.

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังพบว่ามี 8 โครงการ รวมวงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ที่มีความเสี่ยงที่อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ยกเว้นโครงการเซฟตี้โซนของกรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ช้ากว่าแผน 

ทั้งนี้สศช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมครม. รับทราบแล้ว โดยมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการทั้งหมดรับข้อเสนอแนะของ สตง. ไปเร่งปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการโดยด่วน ที่ผ่านมาได้เสนอครม.เห็นชอบการติดตามใช้เงิน พบว่า มี 209 โครงการที่มีผลเบิกจ่าย ณ วันที่ 1 ก.พ.64 ต่ำกว่า 10% จึงเสนอให้เร่งดำเนินโครงการโดยเร็ว หากลงนามผูกพันสัญญา หรือจัดซื้อจัดจ้างช้า ไม่มีแผนใช้เงินที่ชัดเจนภายในวันที่ 30 เม.ย.64ก็ต้องยุติโครงการ และส่งคืนเงินกู้ต่อไป  

สำหรับโครงการทั้ง 8 คือ 1.โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 3,550 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน วงเงิน 4,787 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ของกรมส่งเสริมการเกษตร วงเงิน 169 ล้านบาท 4.โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว หรือเซฟตี้โซน ของกรมการท่องเที่ยว วงเงิน 15 ล้านบาท

5.โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วงเงิน 741 ล้านบาท 6.โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วงเงิน 1,080 ล้านบาท 7.โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ของกรมการปกครอง วงเงิน 2,701 ล้านบาท และ 8. โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วงเงิน 246 ล้านบาท

‘บิ๊กป้อม’ แจง จนท.ดูแลเรียบร้อย หลังมาเลฯผลักคนขาดวีซ่าเข้าประเทศ พร้อมมาตรการโควิด “เผย”รับทราบ ส.ส. สุโขทัยติดโควิดหลังร่วมงานเดียวกับสมศักดิ์

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคนไทยเดินทางกลับไทยหลังมาเลเซียขีดเส้นตายให้คนที่วีซ่าขาดออกจากประเทศก่อน วันที่ 21 เมษายน ว่า ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลเรียบร้อยแล้วร่วมทั้งได้มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนด ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลได้มีการคุมเข้มผู้กระทำความผิดลักลอบเข้าเมืองอยู่แล้ว 

ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามได้รับทราบรายงานแล้วว่านายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ติดเชื้อโควิด-19 หลังร่วมงานเดียวกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคนป่วยเขาต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข และคงไม่ต้องกำชับส.ส. เพราะเขารู้ตัวกันอยู่แล้ว เป็นถึง ส.ส.ก็ต้องดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกข้อกำหนดมา ทุกคนก็ระมัดระวังตัวเองอยู่แล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top