"รองโฆษก ปชป." ประนามผู้ไม่หวังดี หยุดปั้นเฟคนิวส์ สร้างความหวาดกลัวตระหนกตกใจในสถานการณ์โควิด-19
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ประเทศอยู่ในวิกฤตสาธารณสุขและหลายครอบครัวต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจไปอย่างควบคู่กัน เป็นที่น่าเสียใจว่าในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันเร่งแก้ปัญหา กับมีบุคคลบางกลุ่มไม่หวังดี ซ้ำเติมประเทศชาติในรูปแบบของ Fake News ที่ล้วนแต่สร้างความเสียหายและทำให้สังคมสับสน และนำไปสู่การสร้างความตื่นตระหนกและทำให้สถานการณ์บางอย่างเลวร้ายไปกว่าเดิม ซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้นไปอีก
โดยนางดรุณวรรณ ได้กล่าวต่อว่าแม้การระบาดได้เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม กลุ่มคนที่ไม่หวังดีก็ยังมีพฤติกรรมในการสร้าง Fake News คือข้อมูล ข้อความ หรือข่าวอันเป็นเท็จหลอกลวงหรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริงมาโดยตลอดตัวอย่างล่าสุดเช่นเรื่องการปล่อยข่าวลวงเรื่อง ศบค. ประกาศเคอร์ฟิว เวลา 23.00 – 04.00 น. ในพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด หรือการแพร่ระบาดบริเวณร้านอาหารย่านเยาวราช มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่เป็นจำนวนมากทำให้มีผู้ที่หลงเชื่อแชร์ข่าวต่อกันไปอีกเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีเฟคนิวส์รูปแบบต่าง ๆ เช่นการพาดหัวข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด การเขียนข่าวหรือทำคอนเทนต์โดยจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด การมโนที่มา อ้างอิงไปยังบุคคลหรือแหล่งข่าวด้วย ทั้ง ๆ ที่เขียนโดยคิดหรือมโนขึ้นมาเอง หรืออ้างว่าเป็นข่าวลือในองค์กรที่น่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการปลอม หรือตัดต่อ หากไม่สังเกตให้ดีจะดูไม่ออก เพราะการตัดต่อรวมถึงการตัดต่อภาพ เสียง วิดีโอ หรือแม้กระทั่งการเอาโลโก้ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือมาใส่ แต่ขั้นที่รุนแรงที่สุดของ Fake News คือการมโนทุกอย่าง ปลอมข่าวขึ้นมา เช่น ปลอมเป็นเว็บสำนักข่าวดัง ถือว่าร้ายแรงมาก เนื่องจากทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นสำนักข่าวนั้น ๆ
“ขอประนามผู้ที่กระทำไม่ว่าจะทำขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ถือเป็นผู้ที่ผู้ไม่หวังดีกับประเทศชาติ และสมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะการปล่อย Fake News ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ ช่วยติดตามสอดส่องอย่างเข้มข้น และที่สำคัญที่อยากฝากไว้สำหรับทุกคนคือ #ไม่แชร์ถ้าไม่ชัวร์ คือไม่ควรแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่ชัวร์ ที่ตัวเองไม่มั่นใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่มีแหล่งข่าวอ้างอิงปรากฎชัดเจน ที่สำคัญคือหากรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่ยังส่งต่อข้อความนั้น กฎหมายก็กำหนดให้ “ผู้ส่งต่อ” มีความผิดและได้รับโทษเช่นเดียวกันกับผู้นำเสนอข่าวเท็จดังกล่าวด้วย” นางดรุณวรรณ กล่าว
นางดรุณวรรณ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในส่วนของประชาชนก็ควรมีส่วนในการตรวจสอบข่าวปลอมร่วมกันกับภาครัฐด้วย ข้อมูลใดที่ไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบได้ผ่านแหล่งข้อมูลของภาครัฐ หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของประเทศไทย สำหรับข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ควรเสพสื่อหรือฟังข่าวจากหน่วยงานที่เป็นผู้ให้ข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งภาครัฐเองในปัจุบันโดย ศบค. ก็ได้มีความพยายามในการสื่อสารข่าวด้วยความรวดเร็ว ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันหากประชาชนได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว แม่นยำ ก็จะช่วยลดความตระหนกตกใจ ไม่กังวล จนทำให้ต้องไปแสวงหาข้อมูลด้วยตนเองด้วยเช่นกัน
