Tuesday, 22 April 2025
POLITICS NEWS

ผช.โฆษก ศบค. เผย พบ 6 ราย มีอาการหลังฉีดวัคซีน ไม่ใช่โรคอัมพฤกษ์ แจง “คล้ายอัมพฤกษ์” หรือสโตรก กล้ามเนื้ออ่อนแรง-รู้สึกชา แนะ ฟังข่าวรอบด้าน อย่าเชื่อโซเชียล บางข่าวไม่จริง

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า กรณีที่ปรากฎข่าวหลังการฉีดวัคซีน พบว่ามีคนไทย6คนมีอาการอัมพฤกษ์ ในข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข มีการรายงานเคสที่มีผลตามมาจากการฉีดวัคซีนแล้ว และมีคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรแพทย์โรคสมองโดยเบื้องต้นที่มีการรายงานในเช้าวันนี้พบว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ แต่ใช้คำว่ามีอาการคล้ายอัมพฤกษ์หรือสโตรก เป็นเรื่องของกล้ามเหนืออ่อนแรง รู้สึกชาหรือประสาทสัมผัสไม่รู้สึก อย่างไรก็ตามพบว่าในเช้าวันนี้ทุกคนที่มีอาการฟื้นตัวดีขึ้น

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอให้ติดตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการบริโภคข่าวขอให้ตั้งคำถามเสมอ เพราะทุกข่าวที่ปรากฎและมีการแชร์ไปในโลกโซเชียลอาจจะไม่ใช่ข่าวจริง บางท่านอาจจะเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ เป็นคุณหมอที่เราเคารพนับถือ แต่ขอให้ตรวจสอบและอยากให้ฟังรายงานรอบด้านเพราะกระทรวงสาธารณมีการสอบสวนและนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเป็นหลักฐานมายืนยันไอ้ติดตามในช่วงการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในบ่ายวันเดียวกันนี้

โพลพระปกเกล้า เผย ปชช. ต้องการแก้ไขรธน. พร้อมหนุนให้ส.ส.ร.ดำเนินการ เชื่อเหมาะสมสุด ขณะที่ปชช.ส่วนใหญ่ บอกไม่รู้จัก "แอปฯหมอพร้อม"

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 22,830 ตัวอย่าง กระจายตามเพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษา ระหว่างวันที่ 1-19 เม.ย.ที่ผ่านมา  ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในสัดส่วนร้อยละ 77.5 มีความต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ขณะที่ร้อยละ 22.5 บอกว่าไม่ต้องการแก้ไข โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลา และไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก 

เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่า คณะบุคคลที่มีความเหมาะสมให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ร้อยละ 39.1  รัฐสภา ร้อยละ 30.8 คัดเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 13.6 ขณะที่ประชาชนร้อยละ 12.7 และ 2.6 เสนอให้เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตามลำดับ 

การสำรวจยังสอบถามความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการไปลงประชามติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93.2 บอกว่าจะไปออกเสียงประชามติแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ตอบว่า ไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเวลา ไม่สนใจ และเบื่อการเมือง 

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในครั้งนี้ ยังได้สอบถามถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ที่รัฐบาล กำลังประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อนเริ่มใช้จริง ผลปรากฏว่ามีประชาชนร้อยละ 19.7 เท่านั้นที่บอกว่ารู้จักและใช้แอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ร้อยละ 4.3 บอกว่า รู้จัก แต่ไม่ใช้ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 76 บอกว่า ไม่รู้จักแอปพลิเคชันนี้

‘วรรณวรี ก้าวไกล’ ถามดัง ๆ ถึง ‘ประยุทธ์’ คนไทยจะฉีดวัคซีนครบเมื่อไหร่ SMEs กำลังจะไปไม่รอดแล้ว พ้อไม่อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบาลที่จัดการวัคซีนได้แย่ที่สุดในโลก

กรณีที่ภาคเอกชนกว่า 40 องค์กร มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเรื่องการจัดหาวัคซีนล่าช้า วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส. เขตยานนาวาและบางคอแหลม กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแต่เจ้าสัวที่พูดแล้วทำทันที แต่ให้ช่วยฟังเสียงธุรกิจรากหญ้าและ SMEs ที่ส่งเสียงมาตั้งนานแล้วด้วย

“การที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าสัว CP หรือกลุ่ม CEO บริษัทชั้นนำออกมาพูดเรื่องวัคซีนล่าช้า คงสะท้อนให้เห็นกันแล้วว่าวิกฤตครั้งนี้ คนเดือดร้อนไม่ใช่แค่คนรากหญ้า แต่ผลกระทบได้ขึ้นไปถึงคนระดับกลางและระดับบนด้วย แต่ก็รู้สึกน้อยใจอยู่นิด ๆ ที่รัฐบาลออกมาขานรับในการจัดหาวัคซีน Pfizer เพิ่มทันทีเมื่อมีเสียงจากคนระดับบนเคลื่อนไหว ขณะที่เสียงจากคนเล็กคนน้อยและเศรษฐกิจรากหญ้าที่เดือดร้อนสะท้อนมาตั้งนานแล้วกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ”

วรรณวรี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลควบคุมโควิดไม่อยู่จนเกิดการระบาดระลอก 3 จากธุรกิจที่คิดว่าจะดีขึ้นในปีนี้จึงกลับแย่ลงไปอีก ทุกวันนี้หากเดินไปตามห้าง ตลาดสด ตลาดนัด ย่านการค้าต่าง ๆ สิ่งที่เห็นคือการค้าขายเงียบมาก เพราะกลุ่มคนที่เคยมีกำลังซื้อ เริ่มกลัวการออกมาจับจ่าย และเริ่มระวังการใช้เงินมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าสถานการณ์โควิดจะแย่ต่อเนื่องไปอีกนานเท่าไหร่ จึงต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

“มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ออกมาเพิ่มเติมถือว่าดีขึ้น แต่ก็ยังกังวลว่าการขยายวงเงินสินเชื่อนั้นจะไม่กระจายไปถึงผู้กู้รายใหม่และคนที่เดือดร้อนย่างแท้จริง สำหรับมาตรการ Softloan รัฐบาลทำให้เห็นชัดมากว่ากระบวนการช่วยเหลือล่าช้าและไม่ทันการ SMEs ในรอบปีที่ผ่านมาจึงมีหลายกิจการล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือตายไปตั้งแต่ระลอก1-2 แล้ว ถึงแม้รัฐบาลจะมีการออก พ.ร.ก. Softloan ฉบับใหม่ออกมา มีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มวงเงินสินเชื่อ และให้มีการปล่อยกู้รายใหม่ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอซึ่งเสนอมาแล้วเกือบปี

แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ธนาคารยังอยากปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหญ่มากกว่าอยู่ ส่วนรัฐก็ยังไม่สามารถขอความร่วมมือจากธนาคารได้ ขณะที่ธนาคารรัฐเองอย่าง SME Bank ที่ควรเป็นความหวังของ SMEs ก็ไม่มีกำลังพอที่จะประคองหรือเป็นความหวังให้ SMEs ได้เลย”

วรรณวรี ระบุต่อไปว่า มาตรการ Asset warehousing หรือโครงการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ เอาเข้าจริง คนที่ได้ประโยชน์คือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัยพ์ โรงแรม หรือผู้ประกอบการที่มีสินทรัพย์ไปค้ำ แต่คนค้าขายทั่วไป เช่น พ่อค้าแม่ค้าขายของในห้าง เขาจะเอาทรัพย์สินอะไรไปค้ำ มาตรการช่วยเหลือจึงยังตกหล่นบุคคลเหล่านี้

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีออกมาบอกให้ชัดเจนว่าวัคซีนจะกระจายถึงมือคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเมื่อไหร่ เพื่อให้คนทำธุรกิจวางแผนได้ถูกต้อง สำหรับภาคธุรกิจ ตอนนี้เราคิดว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเป็นเรื่องรอง แต่เราอยากเห็นความชัดเจนจากรัฐบาลเพื่อให้เราสามารถรู้ได้ว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเมื่อไหร่ จะอีก 3 เดือน 6 เดือน หรือปีหน้า เรื่องเหล่านี้มีผลต่อการวางแผนธุรกิจทั้งสิ้น จะได้ประเมินว่าต้องมีกระแสเงินสดในมือเท่าไหร่เพื่อพยุงธุรกิจ ต้องจัดการสต็อกสินค้าในช่วงนี้อย่างไร หรือต้องปิดกิจการไปก่อนแล้วไปรอเปิดใหม่อีกที ตอนนี้ความหวังของทุกคนจึงอยู่ที่วัคซีน แต่สิ่งที่ดิฉันและคนไทยหลายคนไม่อยากเห็น คือเรากำลังจะมีรัฐบาลที่จัดการวัคซีนได้แย่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก” วรรณวรี กล่าว


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

"บิ๊กป้อม" ประชุมคกก.แม่น้ำโขงแห่งชาติ ไทยเจ้าภาพเตรียมจัดประชุมสุดยอดผู้นำ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ยืนยันท่าทีไทย/ปชช. ได้รับประโยชน์สูงสุด สั่งเดินหน้า 24 โครงการ ร่วมพัฒนาลุ่มน้ำโขงยั่งยืน เร่งบรรเทาผลกระทบ ปชช.8 จ.ว.ริมโขง

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่าวันนี้ เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564  ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบสถานการณ์แม่น้ำโขง  จากปัญหาภาพรวม การผันผวนของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ 1 ม.ค 64 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนของไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง ในการดำเนินชีวิต อาทิ การเลี้ยงปลาในกระชัง การเดินเรือขนาดเล็ก เป็นต้น ต่อมากระทรวงการต่างประเทศ และ สทนช. ได้ประสานงานร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน เพื่อแก้ปัญหา และได้รับความร่วมมือด้วยดีกระทั่ง ระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่ มี.ค.64 และได้รับทราบ ผลการประชุมคณะมนตรีฯแม่น้ำโขงเมื่อ 26 พ.ย.63 เห็นชอบกรอบความร่วมมือ ทั้งการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น 

จากนั้น คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบเรื่องสำคัญ ได้แก่การเตรียมจัดการประชุมสุดยอด ผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4  การประชุมคณะมนตรีครั้งที่ 28 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรีกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนาครั้งที่ 26 ในฐานะไทยเป็นประธานคณะมนตรีฯปีพ.ศ.2564 ประมาณช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ covid-19 ด้วย และเห็นชอบให้ทำการศึกษาการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง โดยให้ สทนช.ร่วมกับ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เร่งประสานงานกับ สปป.ลาว รวมถึงเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการระดับประเทศ (พ.ศ.2564-2568) จำนวน 24 โครงการ เพื่อบริหารจัดการแม่น้ำโขง อย่างยั่งยืน สอดคล้อง แผนแม่บทบริหารทรัพยากรน้ำ 20ปี

พล.อ.ประวิตร ยังได้สั่งการ สทนช. และกำชับ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการตามแผนงาน ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว โดยขอให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมาย อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด ภายใต้กรอบความร่วมมือ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศให้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่งจะต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน จากผลกระทบ ของพี่น้องประชาชน 8 จังหวัด ริมแม่น้ำโขงของไทย อย่างรีบด่วน

"ราเมศ" สอน "วิโรจน์" ไปศึกษาคำว่า “จิตสำนึก” จี้ใจดำ กลับกลอกกลิ้งออกนอกใบบัว

นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมากล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย กล่าวว่ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่รอให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดให้ครบก่อน เพราะเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง ว่า

การอธิบายสิ่งต่างๆให้นายวิโรจน์ ฟัง ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ตอบคำถามที่นักข่าวได้ถามว่า ส่วนตัวได้ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง นายชวน ตอบว่ารอให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนให้ครบก่อนทุกคน ไม่เช่นนั้นจะหาว่า นักการเมืองเอาไปก่อน ขณะที่บุคลากรผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อยังไม่ได้ฉีด ตนจึงรอให้เขาเรียบร้อยก่อน คำพูดที่นายชวนตอบ คือความตั้งใจของนายชวน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เห็นได้ชัดว่าบุคลากรทางการแพทย์คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงและทุ่มเททำงานหนักมากที่สุด 

ส่วนในเรื่อง ส.ส.ที่ได้รับแจ้งให้ไปฉีดวัคซีนนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้มีการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข มี ส.ส.หลายคนที่ไปฉีดมาแล้ว ก็ไม่ได้ผิดกฎเกณฑ์กติกาอะไรสามารถทำได้ เช่นกลุ่มนายวิโรจน์ แต่ที่ทุกคนสับสนคือ ก่อนหน้านี้ยืนยันปั้นหน้าหล่อชัดเจนว่า”ตราบใดที่วัคซีนมีจำกัด จะให้ไปแย่งประชาชนฉีดได้อย่างไร” อีกวันกลับกลอกพูดอีกอย่างว่า “เมื่อมีหมายให้ไปฉีด ก็ต้องไปฉีดตามหมายตามวัคซีนที่ทางการจัดสรรให้เพื่อให้เป็นไปตามแผน” ทุกคำพูดของนายวิโรจน์จะเป็นคำอธิบายได้ดีที่สุดว่าเป็นคนแบบไหนแล้วอย่าพยายามบิดเบือนคำพูดนายชวนเพื่อลบการกระกลับกลอกของตน

แต่ต้องขอชื่นชม ส.ส.หลายคนที่มีเจตนาเช่นนายชวน ที่มีความเป็นห่วงสถานการณ์การฉีดวัคซีนที่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดก่อน ทั้งๆที่สามารถไปฉีดวัคซีนได้นายวิโรจน์คงต้องกลับไปศึกษาความหมายของคำว่า “จิตสำนึกที่ดี” เพื่อประกอบการทำงานการเมือง ซึ่งมีความสำคัญกว่าการพูดที่กลับกลอก กลิ้งไปกลิ้งมาจนหลุดจากใบบัว ลงไปอยู่ในโคลนตม

“ศักดิ์สยาม” รอตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกรอบหลังแพทย์ให้กลับบ้านได้ ย้ำต้องยกการ์ดสูงแม้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว ขอให้เชื่อมั่นสาธารณสุข​ไทย รอ “อนุทิน” หารือกรมควบคุมโรคยังต้องฉีดวัคซีน​เข็มที่ 2 หรือไม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการรักษาอาการจากการติดเชื้อ​โรควิด-19 ว่า ขณะนี้​แพทย์อนุญาตให้กลับมาพักและกักตัวที่บ้าน ที่ จ.บุรีรัมย์​ และอีก 2-3 วัน จะต้องไปรับการตรวจหาเชื้อแบบ Swab และเจาะเลือดตามมาตรฐานสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูจำนวนเชื้อที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามมาตราฐาน​ของสาธารสุข ก็สามารถ​ใช้ชีวิตตามปกติได้ และพร้อมเข้าปฏิบัติงาน​ที่กระทรวง​คมนาคม​ ซึ่งภายหลังที่ตนเองติดเชื้อโควิด-19 นั้น ได้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อที่กระทรวง ห้องทำงาน และตรวจหาเชื้อไม่พบว่ามีใครติดเชื้อโควิด-19 

เมื่อมีการตรวจหาเชื้อรอบที่ 2 เมื่อประมาณ 3 วันที่ผ่านมาพบมีเพียงแม่บ้าน 1 ราย ที่ติดเชื้อ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาล​สงกรานต์​ ไม่ได้ไปทำงานที่กระทรวง ทั้งนี้ เมื่อทราบทางทีมงานตนเองได้ประสานไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อนำตัวเข้ารับการรักษาต่อไป โดยเบื้องต้น ทราบว่าแม่บ้านที่ติดเชื้ออยู่กับครอบครัว​จำนวน 8 คน จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อจากที่ใด แต่ยืนยันว่า ไม่ได้ติดเชื้อจากสถานที่ทำงานแน่นอน และขณะนี้ได้สั่งการให้พ่นยาฆ่าอีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจ

นายศักดิ์​สยาม​ กล่าวว่า ตามมาตราฐานสาธารณสุข​ แม้ตนจะรักษาอาการหายแล้ว ร่างกายสร้างภูมิกัน แต่วันนี้โรคโรควิด-19 ยังเป็นโรคใหม่สามารถกลายพันธุ์​ได้ตลอดเวลา ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการ​สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด​ โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์​ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัย​ เนื่องจากเห็นได้จากตนเองที่ยกการ์ดสูงมากยังติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นกระบวนการสาธารณสุข​ของไทย 

เมื่อพบว่าป่วยต้องรีบไปรักษาจะไม่มีปัญหาอะไร และขอให้ยึดตามมาตรฐานสาธารณสุข​เป็นหลัก ให้ประชาชนเชื่อมั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ตนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วเข้ารับการรักษา​ตามกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยหรือไม่ป่วยก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุข จะคิดเอาไม่ได้ว่าแข็งแรง หรือฉีดวัคซีน​แล้วจะไม่ติดเชื้อ และทางผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาบอกแล้วว่า แม้ฉีดวัคซีน​มีภูมิคุ้มกัน​ โอกาสการติดเชื้อก็ยังมีอยู่ เพราะไม่ได้มีเชื้อสายพันธุ์​เดียว

ส่วนการรับวัคซีนชิโนแวค เข็มที่ 2 ยังคงต้องรับอีกหรือไม่ เพราะติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เพื่อให้สอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ​กับกรมควบคุมโรค ว่จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากทางแพทย์​ที่ให้การรักษาตนบอกว่าร่างกายมีภูมิ​คุ้มกันโรคแล้ว แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ จึงต้องนำทุกเคส ทุกวิธีการรักษา​มาพิจารณา เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้ในการต่อสู้กับเรื่องนี้ในอนาคต

"ศรีสุวรรณ" ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ​ "วีรศักดิ์-ยลดา" ปม หนี้หาย 1.1.หมื่นล้าน​ แถมรวยขึ้นในเวลาแค่ 2 ปี

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่าในส่วนของนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา(นายก อบจ.) คู่สมรสของนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม แจ้งบัญชีทรัพย์และหนี้สินในการเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 มีความผิดปกติ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้สินของนายวีรศักดิ์และภรรยา ที่เคยมีรวมกันทั้งสิ้น 11,138,404,713 บาท 

เมื่อเทียบกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายวีรศักดิ์ ที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. เมื่อ 22 ส.ค.62 ซึ่งระยะเวลาผ่านไปเพียงประมาณ 2 ปี หลังจากนายวีรศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ หนี้สินประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทหายไปเกือบทั้งหมด​ เหลืออยู่เพียงประมาณ 35.5 ล้านบาทที่เป็นเงินเบิกเกินบัญชี ขณะที่นางยลดา มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 150,147,276 บาท ส่วนนายวีรศักดิ์ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 211,469,361 บาท รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 361,616,637 บาท เป็นไปได้อย่างไร ดังนั้นทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องที่ผิดปกติดังกล่าว โดยจะไปยื่นในวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย.64 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี

"พีระศักดิ์" เผย เห็นด้วยกับการแก้ม.272-กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ชี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมาหาข้อยุติในสภา

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ส.ว. ว่า เนื่องจาก ส.ว. ค่อนข้างเป็นอิสระ เพราะไม่ได้เป็นพรรคการเมือง จึงไม่ได้มีการหารือกันเป็นกิจลักษณะ หรือเป็นมติของวิปคงทำไม่ได้ จึงเป็นเรื่องความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มว่าจะคิดเห็นกันเช่นไร

เมื่อถามว่ามีส.ว.บางท่านเห็นด้วยกับการแก้มาตรา 272 ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพราะเป็นคนเสนอนโยบายต่อประชาชนในตอนเลือกตั้ง ว่ามีนโยบายอย่างไรหรือเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเห็นด้วยกับการแก้ประเด็นนี้มานานแล้ว แต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกตนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาเลือกพล.อ.ประยุทธ์ แต่หลังจากนี้ให้กำหนดในรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ว่าให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร 

เมื่อถามว่ามองว่าหลังจากนี้เสียงโหวตของส.ว.ในการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับตนโหวตเห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น แต่เมื่อโหวตครั้งที่ 2 เกิดปัญหาข้อกฎหมายว่าแก้ได้หรือไม่ ตนจึงงดออกเสียง แต่หลักการแล้วเมื่อพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลและภาคประชาชนเสนอแก้ฉะนั้นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรที่พรรคฝ่ายค้านเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเป็นบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อยุติ ตรงนี้เป็นในส่วนของรายละเอียด สำหรับตนเคยเสนอแก้ไขเปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบเหมือนเดิม เพราะเป็นการรอนสิทธิ์ของประชนชนจากเดิมที่สามารถใช้สิทธิ์เลือกได้ทั้งพรรคและตัวบุคคล ประเด็นใดที่เปิดโอกาสให้ประชาชนก็ควรจะทำ 

เมื่อถามว่าการแก้ไขรายมาตรามีโอกาสจะสำเร็จมากกว่าการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างใหม่ใช่หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เดินไปในทางการแก้ไขรายมาตราอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของส.ว. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส.ว.แต่ละท่าน ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องต้องการให้ยกร่างใหม่มากกว่า ซึ่งเป็นความเห็นของแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตามต้องมาหาข้อยุติสุดท้ายในสภา ว่าทั้งส.ส.และส.ว.จะเห็นด้วยอย่างไรกับกติการัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้ 

เมื่อถามว่าการแก้รายมาตราหรือการยกร่างจะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของส.ส.และส.ว. อยู่แล้วในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชนที่จะต้องฟังกระแสสังคม และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประชาชน ขอให้ประชาชนสื่อสารกันมาเยอะๆ เพราะหลักประชาธิปไตยคือต้องเปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็น อย่าจำกัดสิทธิ์ประชาชนมาก อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ต้องใช้กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ก.แรงงาน ขานรับข้อห่วงใยนายก เร่งเยียวยาผู้ประกันตนที่ทำงานกลางคืนจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขานรับข้อห่วงใยนายกรัฐมนตรี กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 และนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยดูแลพี่น้องแรงงานที่ทำงานกลางคืนให้เหมือนคนในครอบครัว 

ภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากคนทำงานภาคกลางคืน เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยากรณีนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กรณีเหตุสุดวิสัยโควิด -19 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไปให้ความคุ้มครองกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค 

นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน 
ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป และสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th

เทพไท แจงเหตุผลตัดงบ สัมมนาดูงาน ก่อสร้าง ซื้ออาวุธ ได้เงิน 4 แสนล้าน สู้โควิด

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว มีข้อความว่า จากกรณีที่ผมได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565  โดยขอเสนอให้ตัดงบประมาณใน 4 ส่วน ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

1.งบประมาณการจัดสัมมนาซึ่งเห็นว่างบประมาณส่วนนี้ไม่ควรที่จะดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะการสัมมนาเป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

2.งบประมาณด้านการศึกษาดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ควรมีงบประมาณส่วนนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะการศึกษาดูงานเป็นเพียงการเปิดวิสัยทัศน์และเพิ่มประสบการณ์ให้กับข้าราชการในการทำงาน ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์เช่นนี้ และยังไม่มีประเทศใดเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศในสถานการณ์โรคไวรัสโควิดกำลังระบาดอยู่

3.งบประมาณด้านการก่อสร้างที่เป็นโครงการใหม่ ทั้งการก่อสร้างถนน และอาคาร ซึ่งยังไม่มีความจำเป็น และไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอโครงการก่อสร้างออกไปได้หนึ่งปี จะไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

4.งบประมาณด้านการทหารในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และการก่อสร้างอาคาร ค่ายทหาร ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับการสู้รบในโลกปัจจุบัน ที่มีการสงครามทางโลกไซเบอร์มากกว่า และการก่อสร้างในค่ายทหารก็ได้รับงบประมาณในช่วงรัฐบาล คสช. มากกว่าทุกรัฐบาล

 ถ้าหากรัฐบาลดำเนินการตัดงบประมาณทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวนี้ จะมีเม็ดเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันและเยียวยา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้ครบวงจร โดยนำเม็ดเงินงบประมาณทั้งหมดไปจัดทำงบประมาณโครงการดังนี้ คือ

1.) จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเชิงรุก เป็นการป้องกันโรคในเบื้องต้น

2.) จัดซื้อวัคซีนเพื่อใช้ฉีดป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงครบทุกคน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนในประเทศ

3.) จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการพยาบาลให้กับ อสม.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการบริการประชาชนในชนบท

4.) จัดเป็นงบประมาณส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจรายย่อยหรือ SME เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก

5.) จัดเป็นงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ให้กับประชาชนทุกสาขาอาชีพ 

ถ้ารัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแล้ว ก็สามารถจะแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และความเดือดร้อนของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาปรับลดงบประมาณ หรือจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีขึ้นมาใหม่ เหมือนที่ผ่านมา และเป็นการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ4หรือรอบ5 ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

สำหรับปีนี้ ผมไม่มีโอกาสได้อภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิ์ผู้แทนนอกสภา เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านสื่อมวลชนไปถึงรัฐบาลด้วยความจริงใจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top