Tuesday, 22 April 2025
POLITICS NEWS

ศบค. จ่อ เพิ่มมาตรการเข้ม แบ่งพื้นที่โซนสี-ล็อคดาวน์ หมอเบิร์ท ให้จ้บตา ศบค.เคาะอย่างไร ใน1-2 วันนี้

เมื่อวันที่ 26 เทษายน 2564 ที่ศบค.ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ จะมีการระงับการ ให้เดินทางเข้าประเทศหรือไม่ ว่า การเดินทางจากต่างประเทศนั้นยังมีระบบการออกใบอนุญาต ให้เดินทางเข้าประเทศโดยกระทรวงการต่างประเทศและเมื่อเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องแล้วก็ได้รับการดูแลอยู่ใน สถานกักตัวที่รัฐจัดให้ และสถานกักตัวทางเลือก ในเรื่องของการชะลอการออกใบอนุญาตเข้าประเทศนั้น ในที่ประชุม ศบค.มีการทบทวน และอยากให้ทุกคนติดตามว่าการประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นอย่างไร  

ส่วนกรณีกลุ่มคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น อินเดีย ปากีสถาน จะต้องกัดตัว 14 หรือ 21 วัน กันแน่ นั้น เรื่องดังกล่าวทางศบค. ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนไทยจะเดินทางกลับบ้าน เพียงแต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ออกมาจากระบบการกักตัว ทั้งนี้จากการรายงานก่อนหน้านี้ของศบค. ถึงศักยภาพการรองรับการกักตัว ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบของฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาลสนามบ้างแล้วซึ่งก็ต้องขอขอบคุณในข้อเสนอแนะและความเป็นห่วงที่ทุกคนส่งมา แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนได้ติดตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ อย่างใกล้ชิดในระยะนี้เนื่องจากมีการพูดคุยหารือใกล้ชิดกันอยู่

มีการพูดคุยถึงเรื่องการกักตัว ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพราะจากการรายงานเรายังพบผู้ติดเชื้อได้ในระยะหลัง 10 วัน เช่น 11 วัน 13 วัน บางคนมีรายงานว่าหลังจากที่ผู้ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล 14 วันแล้ว ออกมาจากโรงพยาบาลแล้วก็มีรายงานยืนยันว่าติดเชื้อได้ยาวถึง 21 วันเป็นต้น ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ และมีการติดตามรายงานอย่างใกล้ชิดจึงอยากเน้นยามผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ในช่วงนี้ด้วยว่าหลังจากที่ ผู้รับการรักษากลับบ้านไปแล้ว ยังจะต้องแยกกัก ไม่ไปสัมผัสผู้อื่นหรือแม้แต่คนในครอบครัวอีกเป็นระยะเวลา 14 วัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ในประเทศขณะนี้มาตรการกักตัวอยู่ที่บ้านของผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะเป็นอย่างไร พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การที่พี่น้องประชาชนรอเตียงนั้นขอเรียนว่าไม่มีใครสบายใจ และในหลายหลายครั้งหลายคนยอมรับว่ามันเกิดขึ้นกับตัวเรา คนรอบข้างเรา พวกเราจึงพยายามช่วยกันหาเตียง แต่ในแง่ของการจัดการเตียงอย่างที่เรียนให้ทราบว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยกลับบ้านได้จำนวน 170 ราย  ก็จะมีกระบวนการทำเรื่องให้กลับบ้าน และจะต้องดูแลอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์ได้เล่าให้ฟังว่าการทำเรื่องให้บุคคลกับบ้านนั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอนมากๆ 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า และการจะรับผู้ป่วยใหม่นั้นไม่สามารถทำได้ปุบปับ ทันทีแต่จะต้องมีการเตรียมพื้นที่เต็มเตียงเพื่อที่จะรับผู้ป่วยใหม่ดังนั้นจึงเกิดการรอเตียง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าการอยู่บ้านรอเตียง โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาได้หรือไม่ ทางศบค. มีการทบทวนอยู่ทุกวัน แต่มีการรายงานบางเคสเกิดความไม่สบายใจ เพราะเริ่มต้นวันที่หนึ่งอาการยังปกติดี เข้าสู่ระบบแล้วแต่ได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่ายังจำเป็นต้องรอเตียง จากนั้นเราจะเห็นอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือ การที่สภาพบ้านไม่เอื้ออำนวย ซึ่งเราเน้นย้ำว่าการแยกกักอยู่ที่บ้านนั้นจะต้องมีการแยกพื้นที่กับบุคคลในครอบครัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน พยายามไม่ใช้ห้องน้ำเดียวกัน ไม่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ก็พบว่าทำได้ยาก ทำให้เราได้เห็นข่าวในตลอดว่า ในกรณีผู้ป่วยหนึ่งราย เกิดการติดเชื้อไปยังบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็กติดเชื้อ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ยังไม่สามารถระบุว่า ให้ประชาชนกักตัว หรือแยกกักรอเตียงอยู่ที่บ้าน ยังถือว่ามาตรฐานยังเป็นอันตรายอยู่

เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่จะล็อคดาวน์พื้นที่บางจังหวัด พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เรื่องล็อกดาวน์นั้น ในวันพฤหัส ที่ 29 เม.ย. จะมีการทบทวนมาตรการในเรื่องของพื้นที่ โดยจะพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มมาตรการอย่างไร จะล็อกดาวน์หรือไม่ วันนี้ทางกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับศบค. และในช่วง 1-2 วันนี้คงจะได้เห็นมาตรการการปรับความเข้มข้นมากขึ้นในบางพื้นที่แต่ละกิจการกิจกรรม แต่ละจุด จึงขอให้ทุกคนได้ติดตาม อย่างใกล้ชิดด้วย ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายโดยเฉพาะสื่อมวลชนที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ ภาคสาธารณะสุขได้ แต่ขอให้ชี้แนะรวมไปถึงการให้กำลังใจบุคลากรในการทำงานด้วย อย่างไรก็ตามประชาชนอาจเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจมีความไม่พอใจ มีการตำหนิติเตียน แต่ถ้าดูที่มาที่ไปก็เพราะเรามีความเป็นห่วงประเทศไทยมีความรักในครอบครัวอาม่า ครอบครัวคุณอัพ ซึ่งก็เหมือนกับครอบครัวเรา เพราะฉะนั้นการที่เราอาจจะส่งเสียงทะเลาะกันบ้างในวันนี้เพราะเรามีความมุ่งมั่นเดียวกัน ต้องการทำให้ระบบดีขึ้น ขอให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันจับมือกันและร่วมมือกัน ถูกเถียงกันได้บ้างแต่ถึงอย่างไรเราก็ร่วมมือกัน

‘บิ๊กตู่’ ยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด บูรณาการทำงานระหว่างรัฐ-เอกชน ตั้งเป้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 วันละ 3 แสนโดส หวังคนไทยได้ฉีดวัคซีน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้

เมื่อเวลา 12.45 น.วันที่ 26 เม.ย. พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัวถึงการยกระดับการกระจายวัคซีน ว่า

“เช้าวันนี้ ผมได้หารือทีมที่ปรึกษา เรื่องยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายดังนี้ครับ

1.) ผลักดันให้มีการจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง โดยมีเป้าหมาย 10-15 ล้านโดสต่อเดือน จากวัคซีนที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน

2.) ปรับโครงสร้าง มีการจัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวหน้าในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก เพื่อแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลและสาธารณสุข

3.) จัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก โดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุมฯ ศูนย์กีฬา โรงแรม เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลัก และสาธารณสุข ที่ต้องรองรับ ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ

4.) ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวัน หรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้หรือเร็วกว่า

นอกจากนี้ ผมยังได้สั่งการให้มีการปรับปรุงการคัดกรอง และระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้าย ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ไอเดียกระฉูด เสนอใช้ห้องพักส่วนตัวส.ส.ในรัฐสภา ที่ยังปล่อยว่าง นำมาใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่พอ

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวเสนอให้ใช้รัฐสภาเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เนื่องจากเห็นกันอยู่แล้วว่าอาคารโดยรวมของรัฐสภามีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นและยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานอีกมาก อย่างน้อย ๆ ห้องพักส่วนตัวของ ส.ส. จำนวน 500 ห้อง ซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดใช้งานก็สามารถใช้เป็นห้องพักผู้ป่วยได้เลย แต่ตนไม่ทราบว่า ส.ว. มีห้องพักส่วนตัวหรือไม่ แต่ถ้ามีห้องพักส่วนตัวเหมือนกันก็จะได้เพิ่มอีก 250 ห้อง รวมเป็น 750 ห้อง รวมทั้งพื้นที่โดยรอบทางด้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังสร้างเป็นสนาม ซึ่งอากาศถ่ายเทสะดวกนั้นก็สามารถตั้งเต็นท์ได้จำนวนมาก

นางอมรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีบริเวณห้องโถงในส่วนของสำนักงานที่ไม่ได้ใช้งานเต็มพื้นที่ สำหรับในส่วนที่ใช้งานแล้วก็สามารถที่จะไปใช้งานรวมกันแล้วเสียสละพื้นที่ให้ผู้ป่วยได้ อีกทั้งรัฐสภายังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่อาคารสถานที่อยู่แล้ว ไม่ต้องเปลืองงบประมาณเพื่อสร้างอะไรขึ้นมาใหม่อีกด้วย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

"ศรีสุวรรณ" ร้องสอบ ผอ.กกต.ปทุมธานี เพิกเฉยต่อหน้าที่กรณีเลือกตั้งเทศบาล หลังชาวบ้านร้องเรียนซื้อเสียง

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนหรือเอาผิดทางวินัยและจริยธรรม ผอ.กกต.ประจำจังหวัดปทุมธานี กรณีเพิกเฉยต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 หลังมีการร้องเรียนว่ามีการซื้อเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาลเมืองลาดสวาย 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กกต.ประจำเทศบาลเมืองลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้จัดให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลาดสวายและนายกเทศมนตรีเมืองลาดสวาย กรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระในวันที่ 28 มี.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีประชาชนนำความไปร้องเรียนต่อ ผอ.กกต.ประจำจังหวัดปทุมธานี พร้อมพยานหลักฐานว่า มีหัวคะแนนของผู้สมัครบางรายนำเงินไปซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้าน ชุมชน อันถือเป็นเหตุอันควรสงสัยที่ควรเชื่อได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการฝ่าฝืน มาตรา65 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ซึ่งชอบที่ ผอ.กกต.ประจำจังหวัดจะต้องรีบรายงานให้ กกต.กลางทราบโดยเร็ว ตาม มาตรา106 วรรคสาม เพื่อที่กกต.จะได้ดำเนินการไต่สวนโดยพลันหรือสั่งการให้เป็นไปตาม มาตรา106 วรรคสี่ และวรรคห้า แต่ทว่า ผอ.กกต.ประจำจังหวัดปทุมธานี กลับเพิกเฉยเสีย อีกทั้งยังกล่าวหาบุคคลอื่นต่อหน้าผู้ไปร้องเรียนให้เสียหายอีกด้วย

การกระทำดังกล่าว นอกจากจะไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 แล้ว ยังอาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ กกต.ประจําจังหวัดและพนักงานของสํานักงาน กกต. 2551 อีกด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนเอาผิดทางวินัยและจริยธรรมตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล 2547 ต่อไป

นอกจากนั้น กกต. ต้องรีบดำเนินการไต่สวน กรณีตามคำร้องเรียนของผู้สมัครเลือกตั้งโดยพลัน ถ้าผลการไต่สวนปรากฏว่ามีมูล จะได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เว้นแต่การฝ่าฝืน หรือความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ได้คะแนนในลำดับที่จะได้รับเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้ต้องดำเนินการเพื่อให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ซื้อเสียงดังกล่าวต่อไปโดยเร็ว

"ชวน" ชี้สภาฯ ยังต้องเดินหน้ทำงานต่อ แต่ปรับมาตรการประชุมใช้ระบบซูมร่วม ยันถึงเวลาจะชี้แจงการทำงานช่วงเปิดสมัยสามัญ 22 พ.ค.นี้ เผย “เลขาสภาฯ”รายงานในสภาฯมีผู้ติดเชื้อโควิด 1 คน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลภายนอกติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้ามาประชุม และมาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง จะกระทบกับการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้หรือไม่ว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาชี้แจงกรณีการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญ แต่จะมีการชี้แจงหลังจากนี้อีกครั้ง

ส่วนงานประชุมอื่นๆของรัฐสภา ตอนนี้ยังคงเป็นไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ หรือ ใช้แอปพลิเคชั่นซูม เพื่อไม่ให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้า เช่นการประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาหรือก.ร. วันนี้(26 เม.ย.)จะมีบุคคลร่วมประชุมจากที่รัฐสภา 8 คนและประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 9 คน ซึ่งยอมรับว่าการทำงานในสถานการณ์นี้จะต้องมีการปรับตัว โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในรัฐสภา 1 คน ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ให้กักตัว 14 วัน โดยรัฐสภาเข้มงวดในเรื่องนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ก่อนการประชุมก.ร.วันนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งกำชับเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างกับผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า ผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของสมาชิกวุฒิสภ(ส.ว.) จำนวน 5 คน  และข้าราชการที่ไปร่วมกิจกรรมแจกอาหารและสิ่งของจำเป็นให้ผู้เดือนร้อนจากวิกฤตโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ผลตรวจยังไม่ออกมา และกำลังติดตามอยู่

ปชป. ตั้งชุด DEM Call Team ช่วยประสานผู้ป่วยโควิด-19 ตกค้าง หลังเปิดศูนย์ฯ มีผู้ขอความช่วยเหลือต่อเนื่อง

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 พรรคประชาธิปัตย์ --นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่าหลังจากที่พรรคได้แถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดไปเมื่อวานนี้ พบว่ามีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และแกนนำชาวบ้านในชุมชนติดต่อผ่านเข้ามาในช่องทางต่าง ๆ ของพรรคอย่างต่อเนื่อง และได้ช่วยเหลือประสานให้มีสถานพยาบาลมารับตัวไปรักษาแล้ว 2 ราย

โดยศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ของพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าไปรับข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยประสานส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล ในฐานะที่ตนเองเป็นหัวหน้าทีมรับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อในพื้นที่ กทม. พบว่าหลังจากเปิดศูนย์ฯ ได้มีผู้ประสานงานร้องขอความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันเวลา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงประสานกับพรรคตั้งชุด DEM Call Team ที่มีทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีต ส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส. อดีต ส.ก และทีมยุวประชาธิปัตย์เข้ามาเสริมทีม โดยพยายามให้มีตัวแทนครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งกรุงเทพโซนเหนือ โซนตะวันออก โซนตะวันตก และกรุงเทพชั้นใน เพื่อให้สะดวกในการประสานและติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากตนเองแล้วยังมีพลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ นายชนินทร์ รุ่งแสง นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล  นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ดร.อนันตชาติ บัวสุวรรณ และทีมยุวประชาธิปัตย์อีกหลายท่าน

“เป็นที่น่ายินดีว่า เราสามารถช่วยผู้ป่วยติดเชื้อที่ตกค้างให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้แล้ว 2 รายหลังจากที่รอเตียงมาหลายวัน ขอบคุณทุกท่านที่มาช่วยกัน ทุกคนเป็นจิตอาสา มาช่วยด้วยใจ เต็มใจ อยากเห็นบ้านเมืองก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปได้ นาทีนี้ไม่มีพรรค ไม่มีพวก มีแต่คนไทยทุกคนที่ต้องช่วยเหลือกันและกันในยามที่ยากลำบาก” นางดรุณวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ DEM Call Team มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐโดยช่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่สามารถเข้าระบบสาธารณสุขได้ที่จะส่งข้อมูลผ่านมาจากช่องทางทั้งแบบออฟไลน์คือ อดีต ส.ส. อดีต ส.ก และบุคลากรของพรรคในพื้นที่ กทม. และออนไลน์ 2 ช่องทางหลักคือ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH เพื่อส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ภายใต้แนวทางของภาครัฐต่อไป

‘บิ๊กตู่’ ถกวงเล็กเร่งกระจายวัคซีน

ด้านความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26 เมษายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้า ปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมหารือวงเล็บเกี่ยวกับเรื่องการกระจายวัคซีนที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสมช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ

ปลัดสปน. สั่งเข้ม เพิ่ม เวิร์ก ฟรอม โฮม เป็น 95% - ขยายเวลาถึง 14 พค.

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการปฏิบัติงานภายในที่พักและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) มีการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยยังคงส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

นายธีรภัทร กล่าวว่า ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้กำหนดให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 16 - 30 เมษายน 2564 (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90) นั้น เมื่อรัฐบาล และ ศบค. ได้ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ โดยพบว่าสาเหตุสำคัญ คือการติดเชื้อในที่ทำงาน จึงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) และใช้การประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของ ศบค. และตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

นายธีรภัทร กล่าวว่า จึงขอให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) อย่างต่อเนื่องสูงสุด (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95) ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2564 โดยให้ดำเนินการ คือ ให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์ ตรวจสอบ และสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในที่พักอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง รายงานผลการปฏิบัติงานให้ กองการเจ้าหน้าที่ทราบทุกวัน เพื่อประมวลผลรายงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทราบตามแนวทางที่ได้ปฏิบัติมา

นายธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับงานบริการประชาชน การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามกฎหมาย ขอให้พิจารณาดำเนินการประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ทุกการประชุม , งานรับเรื่องราวร้องทุกข์และการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ดำเนินการผ่านช่องทางทั้งโทรสายด่วน 1111 การส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์และระบบออนไลน์ที่กำหนดไว้

นายธีรภัทร กล่าวว่า ให้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และข่าวสารที่เกี่ยวข้องจาก ศบค. ทุกวัน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับคนในครอบครัวและญาติมิตร อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง , ขอให้ปฏิบัติงานอยู่ในที่พักเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการเดินทาง สำหรับบุคคลที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมที่เสี่ยง ขอให้เน้นย้ำมาตรการกักกันตนเอง (Self Quarantine) อย่างเคร่งครัด หากมีอาการน่าสงสัย ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลในพื้นที่ทันทีและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย

นายธีรภัทร กล่าวว่า สปน.สนับสนุนการปฏิบัติงานของศบค. ในการติดตามสถานการณ์และควบคุมการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยประสานงาน ติดตามและสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด ผ่านระบบการประชุมทางไกล แล้วนำข้อมูลที่ได้เสนอ ศบค. เพื่อบูรณาการและสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายธีรภัทร กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่จะร้องทุกข์และเสนอแนะความคิดเห็น และผู้ขอขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านโทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) รวมทั้งส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์ และไลน์ อีกทั้งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ยกระดับการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกสาขา เพื่อติดตามในภาพรวมของสถานการณ์และแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ราเมศ เผย จุรินทร์ ย้ำ! ทุกภาคส่วนของพรรค ลุยช่วย ปชช สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า
ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้สั่งการให้บุคลากรของพรรคทุกคน ในทุกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ดูแลผู้ที่ลำบากในสถานการณ์ขณะนี้ ประชาชนจะสะดวกและคุ้นเคยกับบุคลากรของพรรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว หากเมื่อต้องการความช่วยเหลือแล้วได้หาทางช่วยกันก็จะช่วยแบ่งเบา คลี่คลาย ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างมาก 

ด้วยพรรคมีบุคลากรครบทุกพื้นที่ มี ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ผู้สมัคร สาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำแต่ละเขตทั่วประเทศ จะร่วมประสานกันทำงานกับส่วนกลางและรัฐมนตรีของพรรคที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเต็มรูปแบบ ขณะนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ 
หัวหน้าพรรคได้ย้ำให้ทุกองคาพยพของพรรคขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าวเต็มที่ ติดขัดส่วนไหนให้ประสานหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบแต่ละภาคได้ทุกคน

เมื่อวานนี้พรรคนำโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ได้เปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะทำงานร่วมกันกับทุกพื้นที่ ที่ทำการพรรคส่วนกลางยังเปิดทำการไม่มีวันหยุด เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือประชาชน ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลา

นายราเมศกล่าวต่อว่า จากที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายโดยพรรคได้เปิดศูนย์บริการกฎหมายสู้ภัยโควิด 19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ขณะนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ ประชาชนยังใช้บริการช่องทางนี้อยู่ ผ่านทางโทรศัพท์สายตรงกับนักกฎหมายของพรรค โดยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางคนต้องถูกเลิกจ้างถูกพักงานเนื่องจากกิจการได้ปิดลงชั่วคราวหรือถึงขั้นไม่ได้ผ่อนจ่ายในภาระต่างๆจนถูกฟ้องคดี มีปัญหาหนี้สินที่จะถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว รวมถึงการมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิต่างๆของรัฐที่ประชาชนพึ่งมีพึ่งได้ หรือบางรายมีหนี้สินเมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องการประนอมหนี้หรือชะลอคดีไว้ก่อน และการช่วยร่างสัญญาต่างๆที่เร่งด่วน รวมถึงการสอบถามข้อปฏิบัติตนในพื้นที่ต่างๆ สิทธิที่พึงจะได้รับ ปัญหาข้อร้องเรียนอิ่นๆที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก 

ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือ ประชาชน และทุกคนมีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้ทุกคน โดยการปฎิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้ คนไทยจะสามัคคีมีวินัย จับมือกันก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

เทพไท ชื่นชม รัฐบาลใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท แจกเงินเยียวยาได้หมด 100% ดีกว่าใช้เงินป้องกันโควิด-19

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ว่าตนได้ติดตามและตรวจสอบ เรื่องการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างใกล้ชิด และได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทต่อประชาชน แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีคำชี้แจงใดๆจากฝ่ายรัฐบาล จึงได้ติดตามขอข้อมูลจาก ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตามการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท 

ได้พบความจริงว่า ในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านนี้ ประกอบด้วย 3 แผนงาน หรือกลุ่มโครงการ คือ 1.แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้าน 2.แผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกร จำนวน 600,000 ล้าน และ 3.แผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภค จำนวน 355,000 ล้าน 

ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือเงินกู้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปกว่า 20,000  ล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียงกว่า 5,000 ล้านเท่านั้น (25%) แต่โครงการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินอนุมัติ 170,000 ล้าน เบิกจ่าย 159,077 ล้าน (93.58%) แต่แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงินอนุมัติ 9,408 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 735 ล้าน (7.82%)

อยากจะตั้งข้อสังเกตการเตรียมการความพร้อมด้านสถานพยาบาลและการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน(โควิด-19) ที่ได้รับวงเงินอนุมัติราว 11,500 ล้าน แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 55 ล้านเท่านั้น นับว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการใช้เงินกู้เพื่อรองรับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง

เมื่อติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะพบข้อเท็จจริงว่า 
1.) งบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ใช้รับมือกับโรคไวรัส โควิด-19 มีการเบิกจ่ายน้อยมาก รัฐบาลตั้งอยู่ในความประมาท ประเมินผิดพลาดคิดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอีก จึงชะล่าใจไม่มีการเร่งรัดการใช้เงินให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

2.) งบประมาณด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเร่งรัดจ่ายเกือบครบ 100% แสดงว่ารัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินดังกล่าวในการหาเสียงสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล จึงมีการระดมเงินแจกเงินให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว 

3.) งบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย รัฐบาลทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการใช้เงิน ให้นำเม็ดเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดมาใช้ในการซื้อเครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด และซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top