Wednesday, 23 April 2025
POLITICS NEWS

‘บิ๊กตู่’ เมิน ปชป. ’ ยัน’ ไม่เปลี่ยนคำสั่งแบ่งงานโซนพื้นที่ ‘ขอร้อง’ ไม่ใช่เวลาการเมือง ‘ลั่น’ ทำทุกอย่างเท่าเทียมไม่สนคะแนนเสียงการเมือง

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการทำความเข้าใจกับทางพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่ไม่พอใจคำสั่งนายกฯที่ 85/2557 เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในระดับพื้นที่จังหวัด ที่ถูกมองว่า ยกพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ยืนยันว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งใดใดทั้งสิ้น ยังคงเป็นคำสั่งเดิม ทั้งนี้ตนได้ให้แนวทางไปว่า ให้ลองดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในพื้นที่ต่างๆซึ่งตนได้ให้แนวคิดไปแล้ว

“ วันนี้ยังไม่ได้ตกลงอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปให้เป็นข่าวจนเสียหาย วันนี้ไม่ใช่เวลาการเมือง เป็นเวลาของการทำงาน แล้วก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าจะให้พรรคใครได้ประโยชน์ ทุกพรรคที่อยู่ร่วมกับผม พรรคร่วมก็อยู่กับผมๆ ก็รับผิดชอบให้ท่านอยู่แล้ว ทำให้มันถูกต้องขึ้นมาผมก็ยินดี แม้กระทั่งในบางพื้นที่ที่เป็นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ผมก็ดูแลในทุกจังหวัด” นายรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นการทำงานวันนี้มีการสั่งการจากคณะรัฐมนตรีลงไป เป็นโครงการที่เป็นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในทุกกรณีลงไป การจัดทำแผนงานโครงการและการอนุมัติงบประมาณซึ่งเป็นการทำงานของรัฐบาล  อีกส่วนหนึ่งคือผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาแผนงานโครงการต่างๆในพื้นที่ 

“ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดก็ตามที่แต่งตั้งไปดูแลพื้นที่จังหวัดก็ให้ไปติดตาม แผนการโครงการที่อนุมัติไปแล้วว่าดำเนินการดีหรือไม่ดี ได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่ถ้าหากว่ายังเห็นว่ามีอะไรขาดเหลือต่างๆ รัฐมนตรีก็นำมาเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเข้ามาถึงผมให้นำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อจัดสรรโครงการลงไปใหม่เพิ่มเติม เราทำงานแบบนี้ไม่ใช่ต่างคนต่างไปรุมผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคงไม่ใช่และจากการสอบถามแล้วก็ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ก็มีหลายคนปล่อยข่าวออกมาแบบนี้ ก็ขอให้ทุกคน ทุกกระทรวง เคลียร์ด้วยก็แล้วกัน ขอให้เข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องบริหารทั้งสองทาง และไม่ได้ปิดกั้นรัฐมนตรีคนใดทั้งสิ้น ไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของการเมือง แต่เอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักในทุกพื้นที่ และทุกคนก็คือ ครม. คือรัฐบาลด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“เทพไท” แฉ รัฐบาลล้มเหลวใช้งบรับมือโควิดรอบ3 ด้านสาธารณสุขเบิกจ่ายแค่ 0-5% เหน็บ จาก ไทยชนะสู่หมอชนะจนหายนะ เสนอให้เร่งรัดใช้งบโดยเร็ว เชื่อโควิดจะอยู่ไปอีก 1-2 ปี

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊กว่า วันนี้จะขอเจาะเฉพาะการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วนของแผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูล 22 มี.ค. เป็นแผนงานหรือโครงการเพื่อการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล วงเงินที่ได้อนุมัติ 10,131.7369 ล้านบาท ไม่มีการเบิกจ่ายเลย ประกอบด้วย 13โครงการ ที่เป็นโครงการยอดงบประมาณระดับพันล้านบาท มี 3 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค สนง.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (รอบที่1) ครม.อนุมัติโครงการ 29 ธ.ค.63 วงเงิน 2,037.6917 ล้านบาท 2.โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ สป.สธ. ครม.อนุมัติโครงการ 29 ธ.ค.63 วงเงิน 1,927.8088 ล้านบาท  และ3.โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2029 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค สป.สธ.(รอบที่2) ครม.อนุมัติโครงการ 12 ม.ค. 64 วงเงิน 5,816.3631 ล้านบาท

นายเทพไท กล่าวอีกว่าส่วนอีก 10 โครงการเป็นโครงการเล็กๆใช้งบประมาณ 2.5-36 ล้าน ไม่ได้เบิกจ่ายเงินเลยเช่นกัน สำหรับแผนงานหรือโครงการที่เบิกใช้งบประมาณจำนวนน้อย ไม่เกิน 5% คือ 1. แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ และสาธารณสุข ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 17 โครงการ วงเงิน 2,706.2951 ล้านบาท เบิกจ่าย 111.9994 ล้านบาท (4.14%) และ2. แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา วงเงิน 1,496.5715 ล้านบาท เบิกจ่าย 55.5648 ล้านบาท (3.71%)

นายเทพไท กล่าวต่อว่าเมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดของการใช้เงินจากแผนงานหรือโครงการด้านสาธาสาธาณสุขแล้ว พบความล้มเหลวของการใช้งบประมาณในการเตรียมการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จริง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมการรับมือกับการรบาดของโควิดรอบ3 จึงล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สาเหตุอาจจะมาจากการบริหารงานผิดพลาด หรือตั้งอยู่บนความประมาท จึงทำให้เกิดความเสียหายตามมา เพราะความประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะ ดังนั้นการที่เชื้อโควิดระบาดในรอบ1 และระบาดในรอบ2 เราได้มีโครงการเราชนะ ได้มีแอปพลิเคชั่นไทยชนะ หมอชนะ จนมาเจอการระบาดรอบ3 เราได้เจอความหายนะของจริง จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการใช้งบประมาณในแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิดโดยเร็วที่สุด เพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 น่าจะยังคงอยู่กับเราอีกในระยะเวลา 1-2 ปี

"พีระวิทย์” วอน รพ.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประสานรับผู้ป่วยโควิด-19เข้ารับการรักษา พร้อมส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มียอดของผู้ติดเชื้อรายวันสูงเป็นจำนวนมาก ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้รับการติดต่อจากประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 หลายคนเพื่อขอให้ช่วยประสานติดต่อโรงพยาบาลให้เดินทางไปรับตัวเพื่อนำตัวไปรักษาตามขั้นตอน ซึ่งตนเข้าใจถึงความเดือดร้อนทุกข์ใจของผู้ติดเชื้อที่ต้องการได้รับการรักษาตัวอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้เชื่อแพร่กระจายออกไปสู่ผู้อื่น 

“อยากฝากถึงโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับการประสานจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ขอได้ช่วยเร่งประสานรับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา หรือหากเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอก็อยากให้ได้มีการประสานงานต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้ารับตัวผู้ป่วยโดยด่วน อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยต้องรออย่างไร้ความหวัง เพราะสุดท้ายเขาอาจจะตัดสินใจทำในสิ่งที่เราไม่คาดคิดได้” นายพีระวิทย์ กล่าว

นายพีระวิทย์ กล่าวอีกว่า ตนเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเป็นนักรบด่านหน้าในการคอยช่วยเหลือดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งตนทราบดีว่าในขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนเริ่มอ่อนล้า แต่ด้วยจิตวิญญาณของวิชาชีพก็ยังคงเต็มใจที่จะทำหน้าที่ต่อไป จึงอยากส่งกำลังใจไปให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนให้มีกำลังใจในการทำหน้าที่ดูแลรักษาพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยเราสามารถก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้

พท.อัด “ประยุทธ์” ทำคนไทยไร้เตียงรักษาจนตาย ตอก 1668 ไม่มีคนรับสาย แต่มีคนไล่จับปรับ ปชช.ไม่สวมแมสก์ สวนจะให้คนล็อกดาวน์แต่ไม่ช่วยลดค่าน้ำไฟเน็ต เย้ยไม่ได้อยู่บ้านหลวง

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีรัฐบาลยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ แต่มอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดตัดสินใจว่าจะล็อกดาวน์ในจังหวัดของตนเองหรือไม่ ระหว่างนี้ให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเองไปก่อน ว่า ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประเทศไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาฯ นายกฯ มาถึงจุดที่คนไทยต้องตายเพราะไร้เตียง โทรสายด่วน 1668 ไม่มีคนรับจนเสียชีวิตคาบ้านพัก มาตรการที่รัฐออกมาลูบหน้าปะจมูก แก้ปัญหาสะเปะสะปะ ลอยตัวเหนือปัญหา โยนเผือกร้อนไปให้ผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดตัดสินใจแทน

จึงได้เห็นการออกคำสั่งที่ลักลั่นทำให้ประชาชนสับสน เช่น ประกาศจับปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าขณะขับรถยนต์ส่วนบุคคล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ รัฐบาลจะให้ประชาชนช่วยล็อกดาวน์ตัวเอง แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ไม่ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ตให้ประชาชน ไม่นับรวมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ที่บางคนอาจหาไม่ได้จริงๆ ประชาชนไม่ได้นอนบ้านหลวง ใช้น้ำ ไฟ ฟรี เหมือนข้าราชการทหารเกษียณแล้วไม่ยอมย้ายออกบางคน ประชาชนโทร 1668 จนสียชีวิต ไม่มีคนรับ เพราะขาดเจ้าหน้าที่ แต่มีคนมานั่งจับปรับชาวบ้านจำนวนมากที่เขาไม่สวมหน้ากากอนามัย เขาอาจไม่มีจริงๆ ประชาชนจึงคับแค้นใจ จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าปรับ

“รัฐบาลล้มเหลวในการรับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แทบทุกด้าน แม้แต่ประชาชนที่เป็นความร่วมมือสำคัญในการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาด รัฐออกมาตรการจับปรับมากมายได้ แต่การช่วยเหลือประชาชนกลับไม่เป็นระบบ” นายอนุสรณ์ กล่าว

“จุติ” เมิน พปชร.ฮุบพื้นที่ใต้ ขออย่ามองเรื่องหยุมหยิมให้เดินหน้าแก้ปัญหา ปชช. ยามวิกฤติดีกว่า ออกตัวการแบ่งงานไม่ใช่เงื่อนไขอย่ามองการเมืองซับซ้อน

เมื่อเวลาวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจคำสั่งนายกฯที่ 85/2557 เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในระดับพื้นที่จังหวัดว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องงานที่ทำเพื่อประชาชน เชื่อว่าทุกคนที่กังวลนั้นเป็นเพราะเมื่อได้รับมอบหมายงานและเริ่มทำไปแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงก็กังวลเรื่องความต่อเนื่องของงาน เชื่อว่าทุกคนยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักก็จะไม่มีปัญหา เพราะนักการเมืองทำงานอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ เวลานี้เป็นเวลาวิกฤต คนที่ทำงานอยู่ต้องเปลี่ยนที่และติดตามงานใหม่คงต้องเสียเวลา คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน ตนไม่อยากมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เมื่อปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) และปรับคนดูแลพื้นที่ใหม่ก็อย่าดูให้ลึกกว่านั้น วันนี้บ้านเมืองต้องการความรักความสามัคคี และเดินไปในทิศทางเดียวกัน ตนมองว่าอย่าเสียเวลามองเรื่องหยุมหยิมแล้วทะเลาะกัน เดินหน้าแก้ไขปัญหาประชาชนสำคัญที่สุด

เมื่อถามว่าหากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนตามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง ก็จะมีปัญหากับการทำงานใช่หรือไม่ นายจุติ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคงไม่ใช่เงื่อนไขอะไรมาก ประเด็นอยู่ที่ว่า อะไรตรงไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เราจะเร่งทำเรื่องนั้น และอยากให้ทุกคนพุ่งความสนใจไปที่วิกฤตที่ต้องแก้ และเดินหน้าให้ได้เมื่อถามว่ามีการแจ้งการปรับเปลี่ยนไปยังพรรคประชาธิปัตย์แล้วหรือไม่นั้น นายจุติ ระบุว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคจะคุยกันหรือไม่ และตนไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค โดยวันนี้ที่มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เพื่อจะรายงาน การดำเนินงาน ของกระทรวงพม.ให้นายกฯรับทราบ และช่วยแก้ไขปัญหาที่ติดขัด พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องการแบ่งงาน แต่เป็นเรื่องของคนไข้ที่ต้องหาพื้นที่ให้คนไข้อยู่

รมต.อนุชา สั่ง กรมประชาสัมพันธ์ เปิด 10 คู่สาย ให้ประชาชน โทรประสานรับการรักษาโควิด-19 วอน ร่วมเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 หลายรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ ประสบปัญหาการประสานงานขอรับการรักษาพยาบาล เนื่องจากสายด่วนหลัก เช่น 1668 , 1669 , 1330 มีผู้ติดต่อเป็นจำนวนมาก ว่า ตนมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์ สร้างช่องทางการประสานงาน ส่งต่อ และติดตามการให้ความช่วยเหลือระหว่างประชาชนกับสถานพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ประชาชนสามารถติดต่อประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านรายการ NBT รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน ในช่วง “NBT รวมใจ สู้ภัย COVID-19” ได้แล้ว ซึ่งพบว่ามีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาเพื่อสอบถาม เพื่อขอความช่วยเหลือ และขอคำแนะนำต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทางสถานีได้ดำเนินการประสานผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา รวมถึงประสานเตียงและรถพยาบาล เป็นผลสำเร็จแล้ว จำนวน 23 ราย

นายอนุชา กล่าวว่า ประชาชนสามารถติดตามชมรายการสด “NBT รวมใจ สู้ภัย COVID-19” ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-11-30 น. ทางช่อง NBT2HD สามารถสอบถามข้อมูลและประสานขอความช่วยเหลือผ่านทาง โทร. 02-275-4225 (10 คู่สาย) ตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ รัฐบาลพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อลดการสูญเสียและช่วยเหลือประชาชนให้ทั่วถึง ขอให้ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้อีกครั้ง และขอให้ประชาชนร่วมเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทุ่มเท เสียสละ ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่ย่อท้อ ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

เปิดวาระ ครม. 27 เม.ย. จับตาข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference วันที่ 27 เมษายน 2564 นี้ มีวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งจะออกเป็นกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ส่วนกระทรวงพลังงาน เสนอร่างกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเชื่อมประกอบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งเสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ในด้านการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษี และการกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร และกระทรวงพาณิชย์ ยังเสนอการเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานีเมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา ด้านกระทรวงยุติธรรมเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง

“เสกสกล”ย้ำ ฝ่ายค้าน อย่าใช้การเมืองกล่าวหารัฐบาล อย่าเพิ่งไล่ลาออก-ยุบสภาฯ ชี้ เป็นต้องช่วยกันให้สถานการณ์คลี่คลาย ขอบคุณพรรคการเมืองตั้งศูนย์ประสานงาน หนุนช่วยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรี ศบค.บุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมและทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด ดังนั้นทุกภาคส่วนร่วมถึงฝ่ายการเมืองต้องร่วมมือกัน และต้องขอบคุณหลายพรรคการเมืองที่ตั้งศูนย์ประงาน และนำข้อเสนอที่ดีให้กับนายกฯและรัฐบาลนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน เชมั่นใจว่านายกฯพร้อมรับฟัง 

นายเสกสกล กล่าวว่า ขอร้องฝ่ายการเมืองว่าในขณะที่บ้านเมืองกำลังวิกฤต ควรให้กำลังใจซึ่งกัน อย่ากล่าวโจมตี กล่าวหา นายกฯ รัฐบาล และบุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคนเหล่านี้ทำงานหนักตลอดเวลาเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่านำประเด็นทางการเมืองมาตีกิน เรียกร้องให้นายกฯลาออก หรือยุบสภาฯเพราะอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ และในต่างประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด ไม่เห็นมีประชาชน ส.ส.ในประเทศ ขับไล่นายกฯ หรือประธานาธิบดี  หรือไล่รัฐบาล เหมือนพรรคฝ่ายค้านในประเทศไทย เวลานี้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้  เอาชีวิตความปลอดภัยประชาชนเป็นตัวตั้งจากนั้นค่อยว่ากัน อย่าหาเสียงหาคะแนนให้พรรคตนเอง แต่นักการเมืองทุกคนควรเสียสละ ใส่ใจความเดือดร้อนประชาชน ในภาวะเช่นนี้ต้องการกำลังใจ อย่าไล่นายกฯอย่าเรียกร้องให้มีการยุบสภา แต่ต้องจับมือกันความสุขคืนกลับสู่คนไทยทุกคน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เกี่ยวกับเสียงสะท้อนจากหมอหน้างาน 4 ประเด็นที่รัฐบาลควรรับฟังว่า...

เมื่อคืนนี้ (26 เม.ย. 64) ผมได้ประชุมหารือกับคุณหมอที่มีปฏิบัติงานอยู่หน้างาน เพื่อสรุปปัญหา และความกังวลต่อชีวิตของประชาชน ในมุมมองของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่หน้างานอย่างเต็มกำลัง เต็มความสามารถ

ทุกเรื่องที่ได้หารือ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งนำไปพิจารณา และปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข และลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตของประชาชนลง ซึ่งผมได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงบวก เสนอต่อรัฐบาลโดยเปิดผนึก ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1: ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยข้ามสังกัด

ถ้าพิจารณาเรื่องปัญหาการหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่เป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ จะพบว่า “กรุงเทพมหานคร” จะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด จนประชาชนรู้สึกเดือดดาลต่อรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ กทม. ดูเหมือนจะเป็นพื้นทีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร เครื่องมือแพทย์ โรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพด้านระบบสาธารณสุขสูงกว่าต่างจังหวัดมาก

ปัญหาการจัดการเตียงที่เกิดขึ้นที่ กทม. เป็นเพราะ โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. มีอยู่หลากหลายสังกัด ทั้งของ กทม. เอง (เช่น รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.วชิรพยาบาล ฯลฯ) ของกรมการแพทย์ (รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน ฯลฯ) ของมหาวิทยาลัย (รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ฯลฯ) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รพ. ตำรวจ) กรมแพทย์ทหารบก (รพ.พระมงกุฎ) กรมแพทย์ทหารเรือ (รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า) กรมแพทย์ทหารอากาศ (รพ.ภูมิพล) ฯลฯ และในแต่ละเขตทั้ง 50 เขต ของ กทม. ก็ไม่มี รพ. ในทุก ๆ เขต

ปัจจุบัน รพ.แต่ละแห่งใน กทม. ต้องรับมือกับการระบาดของโรค โดยเน้นการจัดการภายในสังกัดของตัวเองเป็นหลัก ทั้งการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีสมรรถนะในการรักษามากกว่า

อย่างบริการรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน ก็ยังต้องจัดการกันเองภายในสังกัดของตัวเอง อย่าง ศูนย์เอราวัณ ของ สำนักการแพทย์ กทม. ก็จะเน้นส่งผู้ป่วยให้กับ รพ. ในสังกัดของ กทม. เป็นหลัก หรือศูนย์นเรนทร ของกรมการแพทย์ ก็จะเน้นส่งผู้ป่วยให้กับ รพ. ในสังกัดของกรมการแพทย์ หากเตียงของ รพ. ในสังกัดเต็ม ก็จะเน้นการหาเตียงใน รพ. อื่นในสังกัดเป็นหลัก การหาเตียงให้กับผู้ป่วยใน รพ. อื่นข้ามสังกัด ทำได้ยากมาก ๆ ไม่มีระบบในการประสานงานเพื่อให้เกิดการจัดการอย่างบูรณาการ

การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้น ก็จะเน้นส่งต่อไปยัง รพ. ในสังกัดเท่านั้น ต่อให้คุณหมอรู้ทั้งรู้ว่า รพ. อีกแห่งหนึ่งมีสมรรถนะในการรักษาที่สูงกว่า และพอที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ แต่การส่งต่อก็เป็นเรื่องที่ยากทั้ง รพ. ที่จะส่ง และ รพ. ที่จะรับ หากว่าอยู่กันคนละสังกัด

ขนาด รพ. ในสังกัดกรมการแพทย์ หากเกิดปัญหาเตียงเต็ม จะส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไปยัง รพ.ประจำจังหวัดที่อยู่ติดกับ กทม. ก็ยังยาก ทั้ง ๆ ที่สังกัดภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน เพราะ รพ.ประจำจังหวัด นั้นไม่ได้สังกัดกรมการแพทย์ แต่สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ต้องยอมรับว่า การบริหารการจัดสรรเตียงใน รพ. ในต่างจังหวัดวันนี้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคในด้านความพร้อม แต่มีระบบในการจัดการที่ดีกว่า กทม. มาก โดยแต่ละจังหวัดจะใช้วิธีบริหารโดยสาธารณสุขจังหวัด โดยมีผู้ตรวจการประจำเขตสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมประมาณ 4-5 จังหวัด ทำหน้าที่จัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย โดยกระจายผู้ป่วยไปยัง รพ.อำเภอ และ รพ.ประจำจังหวัด ในเขตสุขภาพอย่างบูรณาการ ถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่ก็ไม่มีความอลหม่าน จัดการอย่างลำดับความสำคัญผิด และให้ รพ. แต่ละแห่งจัดการกันเองอย่างเดียวดาย อย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรจะให้มี “ศูนย์กลางในการประสานงานจัดหาเตียง และส่งต่อผู้ป่วย” ที่ รพ. ทุกสังกัดใน กทม. บูรณาการร่วมกัน มี Call Center กลางเพียงเบอร์เดียว ที่ทำหน้าที่ประสานงานได้ทุกสังกัด เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และพะว้าพะวงกับการโทรไปหลายๆ เบอร์ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการตัดสินใจ โดยลดบทบาทของ ศบค. ลง

2.) ควรจัดหา และดัดแปลงพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีที่จอดรถจำนวนมาก เช่น ศูนย์จัดการแสดงสินค้า หรือ รัฐสภา เพื่อจัดตั้งเป็น “โรงพยาบาลแรกรับ” ที่มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยัง รพ. ที่มีสมรรถนะเหมาะสมกับอาการของผู้ติดเชื้อแต่ละคน ถ้า รพ. ไหน เตียงเต็ม ก็ให้ส่งผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลแรกรับก่อน แล้วค่อยส่งต่อในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยไปรอคอยเตียงอย่างสิ้นหวังที่บ้าน โดยที่ทำได้แค่บอกให้ผู้ติดเชื้ออย่าหมดหวังในการโทร ในขณะที่อาการของผู้ป่วยทรุดลงทุกวัน

3.) เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเร่งจัดหาเครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) เพิ่มเติม จากที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้กรุณาพระราชทานให้กับ รพ. ต่างๆ ไว้แล้วในเบื้องต้น เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) ได้รับการยอมรับจากแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่า มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการช่วยชีวิตประชาชน โดยสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยให้คำแนะนำเอาไว้ว่า การใช้เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) สามารถช่วยรักษาและประคับประคอง อาการหายใจเหนื่อยจากโควิด-19 ลงปอดได้ โดย หาก ICU ยังเต็มอยู่ ไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ อาจจะใช้เครื่อง High Flow Oxygen Cannular (HFNC) ในการรักษาไปก่อน ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการเข้านอนไอซียูลงได้ ส่งผลให้ผู้ป่วย ICU น้อยลง และที่สำคัญสามารถใช้งานนอกห้อง Isolation room ได้ เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการฟุ้งกระจาย (High Risk Aerosol Generating Procedure)

 

ประเด็นที่ 2: ผลตรวจช้า เบิกยาไม่ได้ พอรู้ผล อาการก็ลุกลามแล้ว

ปัจจุบัน อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจลดต่ำลง สะท้อนว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่บุคลกรทางการแพทย์กำลังรับภาระอย่าง Overload

สาเหตุหนึ่งมาจาก ปัจจุบันการส่งตรวจ RT-PCR มีจำนวนเพิ่มขึ้น กว่าจะทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ในบางกรณี ต้องรอถึง 2 วัน ระหว่างที่รอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ แม้ว่าแพทย์จะมีดุลยพินิจจากอาการ ที่เชื่อได้ว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถจ่ายยา Favipiravir ได้ กว่าจะทราบผลตรวจ ก็พบว่า อาการของผู้ติดเชื้อแย่ลง ทำให้การรักษายากขึ้น ผู้ป่วยบางรายพบเชื้อลามไปที่ปอด จนมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรที่จะปรับปรุงกระบวนการให้ออกผลตรวจจากห้องปฏิบัติการให้เร็วขึ้น หรืออาจเปิดทางเลือกให้ตรวจหาเชื้อในรูปแบบอื่น ที่ออกผลตรวจได้เร็วขึ้น เช่น Rapid Antigen Test ในระหว่างที่การตรวจแบบ RT-PCR ยังคงล่าช้าอยู่

2.) ควรพิจารณาอนุญาตให้แพทย์ สั่งจ่ายยา Favipiravir ได้ เมื่อวินิจฉัยจากอาการ หรือผลตรวจแบบ Rapid Antigen Test แล้วเชื่อว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อโควิด-19

3.) กระทรวงสาธารณสุข ควรจะสำรองยาทางเลือกอื่นนอกจาก Favipiravir เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับประชาชน อาทิ Remdesivir (เป็นยาฉีดที่ขึ้นทะเบียน อย. แล้วแต่ขาดแคลนสต๊อก) Monoclonal (ยาที่มีการวิจัยยืนยันว่า สามารถลดการแบ่งตัวของไวรัสได้ และป้องกันภาวะไวรัสลงปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ) Bamlanivimab ของ Eli Lilly (ขึ้นทะเบียนกับ FDA ที่อเมริกาแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียน อย. ที่ประเทศไทย) นอกจากกระทรวงสาธารณสุขควรจะกระจายความเสี่ยงในการรจัดหารวัคซีนแล้ว ยังควรต้องกระจายความเสี่ยงในการจัดหายารักษาด้วย

 

ประเด็นที่ 3: ถ้าละเลยชุมชนแออัดใน กทม. การระบาดจะแพร่กระจายต่อเนื่องเกินควบคุม ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม. มีชุมชนแออัด อยู่เป็นจำนวนมาก และ ณ ขณะนี้ การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ระบาดเข้าไปในพื้นที่ชุมชนแออัดหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เข้าใจดีอยู่แล้ว่า การอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนแออัด หนึ่งหลังคาเรือมีผู้อยู่อาศัยร่วมกันหลายคน นอนติดกันโดยไม่มีฉากกั้น ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งมีความเสี่ยงขั้นสุดต่อการแพร่ระบาด

และอีกปัญหาหนึ่ง ที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นแรงงานต่างชาติ ซึ่งมักจะอยู่อาศัยรวมกันอย่างแออัด ที่วันนี้ถูกละเลย และหากยังคงปล่อยปละละเลยต่อไป ไม่เข้าไปดูแลรักษา และกักกันโรค ก็มีโอกาสสูงมาก ที่จะนำมาซึ่งการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ข้อเสนอแนะ:

1.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) การเคหแห่งชาติ และ กทม. ควรร่วมกันจัดหาพื้นที่ให้กับประชาชนในชุมชนแออัด ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ออกมาจากในชุมชน เพื่อกักตัวรักษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

2.) กทม. ควรต้องเร่งจัดสรรพื้นที่ในการกักตัวรักษาให้กับแรงงานต่างชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ประเด็นที่ 4: ถ้าไม่แก้กฎหมาย ไม่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน อาจฉีดวัคซีนไม่ได้ตามเป้า ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบัน ได้กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ 3 ประเภทเท่านั้น ที่จะสามรรถปักเข็มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ ซึ่งได้แก่ แพทย์ พยาบาล และหมออนามัย (ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์) ซึ่งต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน ทั้งแพทย์ และพยาบาล ต้องรับภาระอย่างหนักมาก ในการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น ถ้าหากไม่แก้ไขกฎหมายข้อนี้ เมื่อวัคซีนมาแล้ว รัฐบาลจะมีบุคลากรที่เพียงพอต่อการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน ได้อย่างไร และต่อให้มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อวัคซีนมาถึง แล้วจะฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่อื่นมีทักษะในการฉีดวัคซีนทันได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะ:

1.) ควรแก้ไขกฎหมาย โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรประเภทอื่นที่ได้รับการฝึกอบรม ให้สามารถทำหน้าที่ฉีดวัคซีนได้

2.) ควรเร่งจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อม ระหว่างที่รอการส่งมอบวัคซีน เพื่อให้เมื่อวัคซีนมาถึง จะได้มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการฉีดวัคซีนได้ทันที

3.) รัฐบาลควรวางระบบในการจองคิวฉีดวัคซีน โดยให้ประชาชนจองคิวเข้าฉีดวัคซีนที่ทั้งระบุวัน และช่วงเวลา มีการทำ Online Checklist มาก่อนล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ ต้องมาที่สถานที่ฉีดวัคซีนแบบเสียเที่ยว เมื่อมาถึงมีระบบในการจัดแถวคอยที่มีประสิทธิภาพ พยายามวางจุดบริการที่ให้ประชาชนบริการตนเองให้มากที่สุด เช่น การลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน การรับบัตรคิว การชั่งน้ำหนัก การวัดความดันโลหิต เพื่อลดภาระของบุคลกรทางการแพทย์ลง เป็นการทำให้กระบวนการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต้องเร่งเตรียมการไว้ตั้งแต่วันนี้ได้แล้ว จะรอให้วัคซีนมาก่อนแล้วค่อยเตรียมไม่ได้

4.) ปัจจุบันคาดว่ามีประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 140,000 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขควรสรุปให้ประชาชนทราบว่า จากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ทั้งหมด ประเมินได้ว่า มีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนครบ คิดเป็นร้อยละเท่าใด เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac จากการฉีดจริง

ข้อเสนอแนะทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นเสียงสะท้อนจากคุณหมอหน้างาน ที่มีความหมายมากๆ ผมพยายามที่จะเขียนสรุปด้วยข้อความเชิงบวก พยายามหลีกเลี่ยงการติติงโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องสะท้อนความรู้สึกให้รัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน และความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจริง ๆ

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเล็งเห็นถึงความปรารถนาดีของผม และเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนของคุณหมอด่านหน้า ที่ผมได้อาสาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอรัฐบาล โดยเปิดผนึกให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมรับทราบด้วย

‘ธนกร’ ซัด ‘ธนาธร’ บิดเบือนงบเยียวยาฟื้นฟูสู้โควิด หลังโบ้ย ‘บิ๊กตู่’ แจกงบให้รัฐมนตรีไปคุมฐานเสียง

หลังจากวันก่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เรื่องนี้เรื่องใหญ่จริง ๆ นะครับ เวลาที่ประเทศต้องการทุกกำลัง ทุกทรัพยากร มาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน มาหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลกลับนำงบที่ขออนุมัติสภา ด้วยเหตุผลเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟู มาให้รัฐมนตรีไปดูแลฐานเสียงตามแต่ละจังหวัดของตนเอง โดยอำพรางว่าเป็นงบฟื้นฟูที่ลงไปแต่ละจังหวัด”

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมากล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ใช้งบแจกรัฐมนตรีคุมฐานเสียง ทั้งที่ประเทศเจอวิกฤติโควิดยังแจกพวกพ้องว่า...

ประเทศเจอวิกฤติโควิด นายธนาธรยังตั้งหน้าตั้งตาเอาเรื่องเท็จมาใส่ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ ตนขอยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยจัดสรรงบประมาณไปให้กับรัฐมนตรี เพื่อไปดูแลฐานเสียง แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูให้กับทุกจังหวัด ซึ่งงบดังกล่าวยังไม่ผ่านครม. ที่สำคัญตนมองว่า นายธนาธรแกล้งโง่ บิดเบือนข้อมูลโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่านายธนาธรไม่รู้ขั้นตอนการใช้เงิน ตนขอทำความเข้าใจให้เข้าใจขั้นตอนการใช้เงินโดย...

1.) สภาพัฒน์ฯ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

2.) จากนั้นจะเสนอโครงการผ่านรัฐมนตรีที่ดูแลกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ แค่ให้ดูโครงการ

3.) ส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบ

4.) ส่งต่อให้สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์โครงการ

5.) เสนอครม.อนุมัติ

6.) ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ

7.) เบิกจ่ายตามระเบียบกรมบัญชีกลาง และ

8.) ตรวจสอบโครงการโดย สตง. / ป.ป.ช. / ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ไม่มีตรงไหนเลยที่จะให้รัฐมนตรีไปจัดการ หรืองบอยู่ในมือรัฐมนตรี ทุกอย่างมีขั้นตอน มีการตรวจสอบ การอวดฉลาดของนายธนาธรครั้งนี้จึงไม่ฉลาดเท่าไหร่นัก

นายธนกร กล่าวอีกว่า ตนบอกหลายครั้งแล้วว่า นายธนาธรเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางด้านความน่าเชื่อถือ จงใจทำลายรัฐบาลอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชน การที่พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูแลกลุ่มจังหวัด ก็เพื่อทำงานในเชิงรุกให้กับประชาชน มีการรับผิดชอบพื้นที่ เพื่อสร้างความเจริญให้ทุกจังหวัด ซึ่งมีการดูแลทั้งประเทศ นายธนาธร กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เอาเงินไปดูแลประชาชน แต่เอาไปแบ่งให้รัฐมนตรีใต้อาณัติ ตนขอประนามนายธนาธร หากเล่นการเมืองแบบนี้ระวังจะสูญพันธุ์ และระวังว่าแกล้งโง่บ่อย ๆ จะสมองกลวงเอาเข้าจริงสักวัน พล.อ.ประยุทธ์ดูแลประชาชนทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม ไม่จัดสรรงบให้จังหวัดที่เลือกพรรคตัวเองเหมือนนักการเมืองบางคน อย่างไรก็ตาม นายธนาธรได้แสดงธาตุแท้ออกมาให้เห็นแล้ว ดังนั้น ประชาชนอย่าไปให้ค่าคนแบบนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top