Wednesday, 2 July 2025
POLITICS NEWS

'ศิริกัญญา' ยัน 'ก้าวไกล' สนับสนุนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่ช่วยผู้ประกอบการ-พัฒนาทักษะแรงงาน

ศิริกัญญา ยืนยัน ก้าวไกลสนับสนุนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่ช่วยผู้ประกอบการ-พัฒนาทักษะแรงงาน-ลดค่าครองชีพ ย้ำต้องการแก้ทั้งระบบ หวังให้นายจ้างอยู่รอด ลูกจ้างอยู่ได้

(9 ธ.ค. 65) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป ว่าหลังจากได้ฟังคำอธิบายของผู้เสนอนโยบายคือพรรคเพื่อไทย ทำให้ทราบว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนเริ่มต้นสำหรับปริญญาตรีที่ 25,000 บาท เป็นเป้าหมายที่ผู้เสนอนโยบายต้องการทำให้ได้ภายในปี 2570 โดยมีสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแต่วิธีการที่ใช้แตกต่างกัน

“วิธีการที่พรรคก้าวไกลเสนอไปก่อนหน้านี้ คือให้แก้ที่ระบบการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีฐานให้พูดคุยกันในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อกำหนดเลยว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไหร่ เราจึงเสนอให้แก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ว่าต้องปรับขึ้นอัตโนมัติและปรับขึ้นทุกปี โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ คือจีดีพีโตเท่าไหร่ และคำนึงถึงค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ปัจจัยอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่าก็นำปัจจัยนั้นมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้นในแต่ละปี ที่จะพูดคุยบนโต๊ะของบอร์ดค่าจ้าง ก่อนให้บอร์ดฯ ตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ตามค่าครองชีพ และปรับขึ้นทุกปี เพราะหากปรับขึ้นคราวละมาก ๆ ภายในครั้งเดียว เราก็เข้าใจความรู้สึกของฝั่งผู้ประกอบการ” ศิริกัญญากล่าว

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ตามที่พรรคก้าวไกลประกาศ ศิริกัญญากล่าวว่า ย้อนกลับไปปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ก็เสนอแนวทางเดียวกันคือไม่ได้แข่งกันที่จำนวนเงินว่าควรปรับเพิ่มเป็นเท่าไหร่ แต่พูดถึงการแก้ไขที่ระบบ และทำให้ดูว่าจากปี 2555 ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท มาจนถึงวันนี้ หากคำนวณตามวิธีของพรรคก้าวไกล ค่าแรงจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมต่อทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง

“เราเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่เห็นใจฝั่งลูกจ้างมากกว่า เพราะต้องยอมรับว่ามีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ยังไม่นับว่าองค์ประกอบภายในบอร์ดค่าจ้างซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีประกอบด้วย ฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ตัวแทนฝั่งลูกจ้าง 5 คน มาจากการคัดเลือกกันเองภายในองค์กรคือมาจากสหภาพ และในประเทศไทย ก็มีจังหวัดเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีสหภาพ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกจ้าง ด้วยการกำหนดในกฎหมายคือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่พรรคก้าวไกลเสนอ ว่าค่าจ้างต้องปรับอัตโนมัติขึ้นไปทุกปี” ศิริกัญญาระบุ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การที่นายจ้างต้องปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 450 บาท อาจเป็นตัวเลขที่เยอะ พรรคก้าวไกลจึงมีแผนช่วยเหลือ เช่น สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รัฐจะเยียวยา 6 เดือนแรกที่มีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ รวมถึงช่วยเหลือเงินประกันสังคมที่จะให้งดจ่ายเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อชดเชยส่วนของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราภาษีใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เริ่มที่ 10% ไต่ระดับขั้นบันได ต่างจากปัจจุบันที่เริ่มต้นที่ 15%

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ในฝั่งลูกจ้างก็จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและทักษะ เพราะการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แม้มีความจำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีความยั่งยืนหากทักษะแรงงานไม่ได้รับการยกระดับ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีโครงการ Upskill และ Reskill สำหรับทักษะพื้นฐาน จะมีการเรียนออนไลน์ ส่วนทักษะขั้นสูง อาจมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร สามารถขอเพิ่มค่าแรงจากนายจ้างได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แรงงานในปัจจุบันสามารถหางานใหม่ได้หรือเพิ่มค่าจ้างง่ายขึ้น ยังช่วยให้เด็กจบใหม่ทุกคนได้งานดีๆ ไม่ว่าเขาเรียนจบด้านใด สามารถปรับทักษะได้ตลอด

'ชลน่าน' แจงนโยบายค่าแรง 600 บาท ชี้ เป็นวิสัยทัศน์ + ภาพฝัน ที่ตั้งเป้าภายในปี 70

(8 ธ.ค. 65) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่กังวล สิ่งที่ประกาศเป็นวิสัยทัศน์ คือภาพที่เราฝันให้เป็นจริงที่ตั้งเป้าเอาไว้ภายในปี 2570 ว่า คนไทยและประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เช่น คนที่ทำงาน ควรที่จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน คนเรียนจบปริญญาตรีควรได้เงินเดือน 25,000 บาท

เมื่อเป็นวิสัยทัศน์และมีกระบวนการการจัดทำนโยบายต่าง ๆ เสร็จแล้ว หากจะประกาศเป็นนโยบายที่จะใช้รณรงค์หาเสียง ก็ต้องแจ้งไปที่กกต. เพื่อให้ทราบถึงแหล่งเงิน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด

'กิตติรัตน์' ยันค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้จริง ชี้!! เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อตอน 300 บาท

(8 ธ.ค. 65) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า... 

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในปี 2570 คนที่รู้จริงจะสนับสนุนและชื่นใจกับเรื่องนี้

การที่ภาคธุรกิจ กำลังแบกรับสภาพความไม่เติบโต และต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่ค่าจ้างค่าแรงสูงกว่าที่ควรมายาวนาน เพราะรัฐบาลด้อยคุณภาพ บริหารไม่เป็นจึงอาจทำให้กังวลว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในอัตราที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น เป็นภาระหนักหนา

ผมเห็นใจผู้ประกอบการ ธุรกิจ นายจ้าง ที่ต้องทนอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ แบบที่เป็นอยู่ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมายอดขายไม่เพิ่มขึ้น (หรือหลายรายลดลงอีกด้วย) อยากถามว่าเป็นเพราะความผิดพลาดไร้ฝีมือในการบริหารงานของรัฐบาลนี้หรือเปล่า

ต้นทุนการประกอบการที่ไม่ใช่ค่าเงินเดือน ค่าจ้าง ที่สูงและสูงขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายที่สูงหลายรายการเป็นเพราะรัฐบาลบวกภาระภาษีเข้าไปในอัตราที่สูง เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้าที่แพง เพราะความผิดพลาดและไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลเอง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก ต้องจ่ายสูงกว่าอัตราที่ควร (ขอให้สังเกต อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยที่รายใหญ่จ่ายอยู่ ว่ามีความเป็นธรรมให้กับผู้กู้รายกลางและรายเล็กที่ทำมาหาเลี้ยงธนาคารอยู่หรือไม่

พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลที่ดี มีความสามารถบริหารเศรษฐกิจให้เติบโต อย่างมีวินัยทางการเงินการคลัง อย่างที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยเป็นไม่สร้างภาระไปทิ้งให้คนในอนาคตต้องแบกรับ การดูแล ผู้ประกอบการ ให้ขายสินค้าและบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในประเทศ หรือตลาดส่งออก เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ดี ซึ่งเพื่อไทยจะทำและทำสำเร็จมาแล้ว (ต่างจากผลงานของรัฐบาลชุดนี้ไหมลองพิจารณาดูนะครับ)

เมื่อปี 2555 เราเคยผลักดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนทั้งระบบอย่างเป็นผลสำเร็จด้วยดี (แม้เพิ่งจะเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่) ไม่มีกิจการที่ไม่สามารถอยู่รอด หรือปรับตัวไม่ได้จากนโยบายนี้ ในทางกลับกันผู้ประกอบการต่างเติบโต และจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงาน ลดจาก 0.7 เหลือ 0.6 ในปีถัดไป เราจะทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง ลดภาระที่ไม่จำเป็นลง และสามารถจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูง(ขึ้น) และสูงขึ้นให้กับคนที่ทำงานให้ท่านได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับ นายจักรพงษ์ แสงมณี คณะทำงานด้านยกเครื่องเศรษฐกิจ และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กล่าวไว้ด้วยว่า “เราเคยผลักดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จาก 212 บาทเป็น 300 บาท และอัตราเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เมื่อปี 2555 อย่างเป็นผลสำเร็จด้วยดี อัตราการว่างงาน ลดจาก 0.7 เหลือ 0.6 ในปีถัดไป”

'ทิพานัน' ซัด 'เพื่อไทย' หยุดวาทกรรมเศรษฐกิจไม่ดี แนะหยุดนโยบายขายฝันแค่ไหน ซ้ำรอยอดีต 'พ่อ-อา'

(8 ธ.ค. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรจะชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาของประชาชนมากกว่าและควรชัดเจนในเรื่องที่ควรจะชัดเจน น.ส. แพทองธาร ต่างหากที่ต้องชัดเจนว่า การเข้ามาการเมืองเพื่อพาพ่อกลับบ้าน หรือเพื่อประชาชน เพราะสิ่งที่สังคมสังสัยคือมาเพื่อประโยชน์ของครอบครัวตนเอง ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและคนไทยทุกคน ไม่เคยเอาประชาชนมาเป็นหมากในเกมการเมือง ดังที่หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยมองการทำงานเพื่อบ้านเมืองเป็นแค่เกมแย่งชิงอำนาจการเมืองเท่านั้น

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ต้องขอชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่า ความสำเร็จของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในด้านการพัฒนาและยกดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อเนื่องย่างยั่งยืนไม่ฉาบฉวยจนเป็นที่ประจักษ์จาก UN โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับ 'สูงมาก' (Very High) และต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งต่างจากปี 2554-2557 อยู่ในระดับสูง (High)  และระหว่างปี 2544-2549 อยู่ในระดับ ปานกลาง เท่านั้น 

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์  ได้นำพาชาติฝ่าวิกฤตโควิด 19 มาตั้งแต่ช่วง 2562 ที่ทั่วโลกประสบปัญหากันอย่างหนัก รัฐบาลตระหนักถึงการประคองเศรษฐกิจไปพร้อมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งก็ผ่านพ้นมาด้วยดีจนได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ประจำปี ค.ศ. 2021 ณ เมืองดูไบ โดยเป็นรางวัลชนะเลิศจากผลงานหัวข้อ 'Intelligent and Sustainable Public Health Emergency System in Thailand' โดยรางวัล UNPSA เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติระดับนานาชาติที่สหประชาชาติมอบให้องค์กรระดับประเทศหรือท้องถิ่นที่มีผลการดำเนินงานภาครัฐที่เป็นเลิศ  

จะเห็นได้ว่า หลังได้รับการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือน วิกฤตโควิด19 ได้กระทบทุกประเทศทั่วโลก ในช่วงปี 2562-2564 จึงเป็นความท้าทายอย่างหนักที่จะทำให้ภาคธุรกิจเสียหายน้อยที่สุด รัฐบาลจึงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้ยาแรงเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด จึงมีโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับครัวเรือน เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการฯซื้อของร้านธงฟ้า รวมถึงมาตรการสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านแรงงาน เรารักกัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถพยุงเศรษฐกิจให้รอดพ้นวิกฤตมาได้ 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมุ่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ถนนมอเตอร์เวย์ไปยังทุกภาค ขนส่งรถไฟฟ้า รวมถึงเศรษฐกิจ EEC ที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่ขณะนี้เติบโตต่อเนื่อง ในส่วนภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่นบ้านจัดสรร คอนโด ก็เติมโตมีกำไรทุกไตรมาส ที่สำคัญภาคการท่องเที่ยวก็มีอนาคตสดใสเช่น ในปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวทะลุ 10 คนเข้ามาในไทย  

“ขณะเดียวกันในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังดีขึ้นนี้ รัฐบาลไม่รอช้าต่อพี่น้องแรงงานทุกคน จึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 ขึ้นค่าแรง 354 - 328 บาท ที่มาจากการหารืออย่างรอบคอบทั้ง 3 ฝ่ายคือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นเร็วขึ้น ประเทศชาติสงบ ไม่มีอะไรมาทำให้สะดุด ก็จะนำข้อมูลหารือให้รอบด้านทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อขึ้นค่าแรงให้กับพี่น้องแรงงานได้อีกในไม่ช้านี้แน่นอน” น.ส. ทิพานัน กล่าว

‘นิติพล ก้าวไกล’ ร่วม ‘ทวงคืนชายหาด’ ยืนยัน ‘กำแพงกันคลื่น’ ต้องทำ EIA

คืนวานนี้ (7 ธ.ค.65) นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล เดินทางไปร่วมให้กำลังใจ พร้อมรับฟังข้อเรียกร้อง #ทวงคืนชายหาด จากกลุ่ม Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ที่เคลื่อนขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อมาปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ  

นิติพล กล่าวว่า เรื่องชายหาดที่หายไปเพราะโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของพี่น้องประชาชนในบางพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่กำลังสูญเสียทรัพยากรอันมีค่า เพราะชายหาดเป็นทั้งระบบนิเวศของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน ตนจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนรวมถึงชาวกรุงเทพ มาร่วมกันเรียกร้องหลักการที่ถูกต้องในการดูแลชายหาดไม่ให้ถูกทำลายไปเพียงเพราะความต้องการใช้งบประมาณมาก ๆ จากโครงการใหญ่ ๆ โดยไม่สนใจผลกระทบที่ตามมา ซึ่งโครงการเหล่านี้มักอ้างถึงความจำเป็น ยกเฉพาะข้อมูลวิชาการฝั่งตัวเองทั้งที่ยังมีข้อโต้แย้งในหมู่นักวิชาการ และที่สำคัญคือการไม่ยอมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA (Environmental Impact Assessment ) ด้วยการอ้างถึงความเร่งด่วน

“กำแพงกันคลื่นเป็นเหมือนโรคระบาดของชายหาดไทย หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วนของท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จึงยกเว้นให้การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA ในปี 2556 เป็นต้นมา แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่า เห็นหาดตรงไหนว่าง หาดตรงไหนยาวก็ทำ โดยไม่สนว่าพื้นที่นั้นมีปัญหาหรือไม่ เพราะเป็นช่องให้ใช้เงินได้ง่าย ๆเหมือนเป็นขนมหวานของกรมโยธาฯ เป็นตัวอย่างของเอาปัญหาของพื้นที่เร่งด่วนมาใช้เป็นข้ออ้างแบบหว่านแหในการใช้งบประมาณโดยไม่ดูตามบริบทจริง ซึ่งจะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นรอยโหว่นี้ไม่ได้ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรเคยมีการอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นปัญหานี้หลายครั้ง พวกท่านที่อยู่ในรัฐบาลจึงรับรู้และรับทราบรูโหว่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างดี”

นิติพล กล่าวต่อไปว่า ข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนในครั้งนี้ คือขอให้มีมติคณะรัฐมนตรีใน 3 เรื่องได้แก่ 1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น  2. กำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA และ 3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น  ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยและต้องมีการพิจารณาอย่างเร่งด่วน 

“เดิมทีการยกเว้นการทำ EIA เพื่อเปิดทางให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหาทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างรวดเร็วเป็นหลักการที่พอรับฟังได้ แต่ไม่ใช่จะยกเว้นกันตลอดกาลโดยเฉพาะเมื่อเห็นความไม่ปกติเกิดขึ้น เพราะ EIA คือหลักประกันต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ว่าจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจากโครงการที่ใส่เข้าไปในพื้นที่ หรือหากมีก็จะต้องได้รับการป้องกันเเก้ไข พูดง่าย ๆ ก็คือต้องมีผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ กระบวนการ EIA ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดกลไกรับฟังความเห็นและข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การตัดออกไปจึงเท่ากับการยัดเยียดโครงการที่พื้นที่อาจไม่ต้องการก็ได้โดยปล่อยผลกระทบไว้กับคนที่อยู่ตรงนั้นรับกรรมและประเทศก็สูญเสียงบประมาณมหาศาลไปกับโครงการไร้ประโยชน์”

นิติพล ยังได้ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังการยกเว้นการทำ EIA โรคระบาดกำแพงกันคลื่นก็ติดเชื้อไปทั่วและรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา โดย กรมโยธาฯ อยู่ภายใต้การดูแลของ หนึ่งใน 3 ป.ที่เงียบที่สุด แต่ดูเหมือนจะอิ่มที่สุดจากโครงการต่างๆของกระทรวง นั่นคือ พล.อ.อุนพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 

“เราต้องตั้งคำถามให้ชัดว่า เรื่องนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือตำน้ำพริกละลายทะเลไม่ เพราะการทำโครงการกำแพงกันคลื่นใช้งบประมาณที่สูงขึ้นอย่างมากจาก 10 ล้านบาท/กิโลเมตร ในปี 2534 เพิ่มเป็น 117 ล้านบาท/กิโลเมตร ในปี 2561 ซึ่งเราพบว่าตั้งแต่หลังปี 2561 เป็นต้นมา การสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแบบอัตราเร่ง ดังนั้น เรื่องนี้มองจากนอกโลกก็เห็นชัดว่า การยกเว้นการทำ EIA เป็นการเปิดช่องให้ใช้งบประมาณอย่างไม่ปกติ คำถามนี้จึงต้องย้อนกลับไปยัง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยว่า ท่านไม่สงสัยเลยหรือว่าโครงการเหล่านี้กำลังแลกมาด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และท่านมีหน้าที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดมัน หรือพอเห็นว่าเป็นหน่วยงานในการดูแลของ 3 ป. ก็ไม่แตะต้อง เกรงใจสุด ๆ ไม่มีท่าทีคึกคักกล้าหาญเหมือนตอนเอากฎหมายไปไล่ประชาชนออกจากป่าทั้งที่การพิสูจน์สิทธิต่างๆยังไม่ชัดเจน แต่พอกับผู้มีอำนาจ ความกล้าหาญในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมหายไปไหน หรือชายหาดไม่ใช่สิ่งแวดล้อมในนิยามของท่าน 

‘อุ๊งอิ๊ง’ ยัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ‘ทำได้’ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ชี้!! ต้องรอให้เศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อมก่อน

พรรคเพื่อไทย นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท 

แพทองธาร กล่าวว่าตนเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงแสดงวิสัยทัศน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ถ้าเราปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน เหมือนสมัยที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเคยปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน 10 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นต่ำยังปรับขึ้นมาแค่ 54 บาท จึงเป็นเหตุให้เกิด รวยกระจุก จนกระจาย คนได้ประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ คือคนกลุ่มเล็ก ๆ บนยอดสามเหลี่ยม 

แต่ฐานรากคือคนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนเดือดร้อน คนใช้แรงงานยังไม่ได้รับเกียรติไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอื่น อีกทั้งหากภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งประเทศดีขึ้น แรงงานมีรายได้มากขึ้นจะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจทั้งระบบ ดังนั้น การเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น เติบโตได้ทุกโอกาส สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้ การคิดเล็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’

“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” แพทองธาร กล่าว

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กล่าวว่า จุดยืนหรือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทยคือ สร้างรายได้ ขยายโอกาส แต่ปัญหาขณะนี้คือหนี้ เราจึงต้องแก้หนี้ด้วยการสร้างรายได้ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ไปกู้ กู้แล้วก็ขยายเพดานหนี้จึงทำให้ค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ประเทศรายได้ก็ต่ำ ความเหลื่อมล้ำก็สูง เราจึงต้องใช้นโยบายหลายเรื่องราวที่แถลงเมื่อวานเรียงร้อยและผลักดันไปพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น คือต้องสร้างรายได้ใหม่ไปพร้อมกัน 

การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคีคือ เห็นพ้องร่วมกันระหว่างรัฐ - ผู้ประกอบการ - ประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน - โบนัส แรงงานได้ ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่น ๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน - สนามบิน - การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จึงมีความมั่นใจว่าเราคิด ทำ และขับเคลื่อนทั้งระบบได้อย่างแน่นอน

ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ

1. ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะสมไหม และทำได้หรือไม่? ประเด็นนี้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเลย ถ้าผู้นำมองประเทศไทยแค่เป็นลูกจ้างผลิตกินค่าแรงราคาถูก ก็ผลิตแต่แรงงานไร้ฝีมือ แต่ถ้าเป็นเพื่อไทย จะยกระดับการผลิตไปอีกขั้น จากผลิตตามคำสั่งเป็นการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม จากการเกษตรตามยถากรรรม จะเป็นการเกษตรที่กำหนดราคาได้ จากเป็นบริการราคาถูก จะเป็นภาคบริการชั้นสูง คู่แข่งเราต้องไม่ใช่เวียดนาม แต่ต้องเป็นสิงคโปร์และประเทศพัฒนาแล้ว นี่คืวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองต่างก็จะนำไปสู่ราคาค่าแรงที่ต่าง

'เสี่ยเฮ้ง' กล่าวถึงส่วนหนึ่งของนโยบายหาเสียงจากพรรคเพื่อไทย

ถ้ามั่นใจว่าจะทำได้จริง
ให้ช่วยทำกับบริษัท
ในเครือข่ายของท่านก่อน
ลองทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

คุณอุ๊งอิ๊งเกิดมาก็รวยเลย
ไม่รู้หรอกว่ากว่าที่บริษัท
เขาจะเติบโตกันขึ้นมาได้
เขาต้องผ่านปัญหา
อุปสรรคอะไรมาบ้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
ให้สัมภาษณ์กับ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565

'อุตตม' เห็นต่าง 'เพื่อไทย' เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ชี้!! ควรยึดที่ประสิทธิภาพของแรงงาน เชื่อ ได้ประโยชน์ทั้งตัวแรงงานและผู้ประกอบการ

เมื่อไม่นานมานี้ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เผยแพร่ข้อความ โดยระบุว่า...

สวัสดีครับ ช่วง 2 วันที่ผ่านมา กระแสสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้ความสมดุลใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตในปัจจุบัน 2.ปรับขึ้นค่าแรงต้องไม่กระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากวันนี้ในภาพรวมผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่หายบาดเจ็บจากโควิด และเชื่อว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะฟื้นตัว

ผมอยากเชิญทุกท่านร่วมกันคิดหาทางออกว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำบนพื้นฐานของความสมดุลควรทำอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า เราต้องใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยพื้นที่ใดค่าครองชีพสูงก็ได้ค่าแรงสูง ค่าครองชีพต่ำก็ได้ค่าแรงต่ำ เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะตอบโจทย์ความเป็นไปในสถานการณ์ปัจจุบัน และการพัฒนาประเทศในโลกอนาคตมากกว่า

วันนี้ประชากรในวัยแรงงานของไทยมีประมาณ 38 ล้านคน แบ่งเป็นภาคบริการและการค้า 18 ล้าน ภาคเกษตร 10 ล้าน และภาคการผลิตอุตสาหกรรม 10 ล้าน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) นับเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ จึงควรได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มที่

ทั้งนี้เราควรกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยแบ่งตามประเภทแรงงานแล้วยึดเอาประสิทธิภาพหรือทักษะของแรงงานเป็นตัวกำหนดอัตราค่าแรง คือ หากเป็นประเภทแรงงานเข้มข้นหรือแรงงานที่ไม่มีทักษะก็กำหนดค่าแรงอัตราหนึ่ง ที่สามารถอยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีพอ แต่หากเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะเพิ่มก็ควรได้รับอัตราค่าแรงที่สูงกว่า ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อให้แรงงานขั้นพื้นฐานสามารถยกระดับขึ้นไปขั้นที่สูงกว่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับของประเทศสิงคโปร์ ตัวอย่างอาชีพแม่บ้านที่นั่นหากเป็นแม่บ้านทั่วไปก็จะได้ค่าแรงราคาที่ต่ำกว่าแม่บ้านที่ทำงานสถานที่บริการหรือในสถานที่ราชการ เพราะถือว่าต้องใช้ทักษะการบริการด้วย หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนให้แรงงานเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

ตัวตนของคนชื่อ 'อนุทิน'

อุณหภูมิการเมืองช่วงนี้ร้อนแรง แต่ละพรรคการเมืองออกอาวุธทิ่มแทง เตะตัดขากันสารพัด แต่กลับกันกับ 'เสี่ยหนู' นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ที่วันนี้ดูจะไม่ยี่หระกับสงครามการเมืองในรูปแบบใด แถมออกมาพูดถึงจุดยืนและตัวตนของตัวเอง แบบไม่แคร์การเมืองว่าจะตีรวนกันแรงแค่ไหนเสียด้วย!!

โดยไม่นานมานี้ เจ้ากระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวไว้ดังนี้ ว่า...

ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นคนที่มีความอดทนอดกลั้นต่อแรงกดดันต่าง ๆ ได้มาก ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้ชอบ และเกลียดมากด้วย

แต่พอโตขึ้นมา สิ่งนี้ก็กลายเป็นข้อดีติดตัว แล้วก็จะไม่มีวันเลือนหายไปจากจิตวิญญาณของเรา เพราะทำให้เราสามารถเติบโตมาได้ถึงวันนี้ 

'อุ๊งอิ๊ง' เชื่อคนเห็นด้านดี-ไม่ดี 'บิ๊กตู่' มาแล้ว ไม่ต้องว่ากัน ส่วนตนขอทำหน้าที่และนโยบายให้ดีที่สุด

'อุ๊งอิ๊ง' เผยประชาชนรู้ดี 'ประยุทธ์' อยู่มานานเห็นทั้งด้านดี ไม่ดี ท่องคาถาขอนำเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสินใจ มากกว่ามุ่งต่อสู้-ต่อว่ากัน

(7 ธ.ค. 65) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหลือเวลาอีก 2 ปีสำหรับเส้นทางการเมือง จะเป็นเรื่องที่ดีกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ว่า ไม่สามารถตัดสินใจแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่พรรคมีความพร้อมและมีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ความชัดเจนที่เกิดขึ้นมากที่สุดของประเทศ คือประชาชนเดือดร้อน ดังนั้น ควรจะชัดเจนในเรื่องที่ควรจะชัดเจนมากกว่าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน

ถามว่า รู้สึกอย่างไรที่จะได้สู้กับพล.อ.ประยุทธ์ในสนามการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คิดว่าการแข่งขันทางการเมืองคือเป็นการเมืองอย่างหนึ่งที่เราจะต้องแข่งขันเพื่อให้ประชาชนเลือก คือการแข่งขันสำหรับตน ซึ่งการแข่งขันอื่น ๆ มันไม่ใช่การแข่งขัน มันคือการที่ต้องทำนโยบายที่ต้องทำให้ประชาชนมากกว่า เราโฟกัสตรงนั้น เกมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นนอกเหนือจากการเลือกตั้ง คิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ความสำคัญ ความสำคัญคือนโยบาย และปัญหาของประเทศ ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองจะหวนนึกถึงอดีตหรือไม่ ถ้าเรามัวแต่นึกถึงอดีตเราก็จะไปข้างหน้าไม่ได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top