Wednesday, 23 April 2025
LITE

8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ครบรอบ 8 ปี ‘BLACKPINK’ เดบิวต์อย่างเป็นทางการ เกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก

หากเอ่ยชื่อ แบล็กพิงก์ (BLACKPINK) เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะนี่คือเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้สังกัด YG Entertainment ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 4 คน คือ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า นั่นเอง

BLACKPINK เดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พร้อมกับซิงเกิลอัลบั้ม Square One โดยมีซิงเกิลเปิดตัวอย่าง ‘Whistle’ และ ‘Boombayah’ ขึ้นถึงอันดับ 1 บน Gaon Digital Chart ในเกาหลีใต้ และ Billboard World Digital Song Chart ตามลำดับ ทำให้วงคว้ารางวัล Golden Disc Awards และ Seoul Music Awards สาขาศิลปินหน้าใหม่แห่งปี 2016

หลังจากนั้นก็ได้ปล่อยผลงานเพลงฮิตออกมามากมาย อาทิ Playing with Fire, Stay, As If It's Your Last และ Ddu-Du Ddu-Du รวมถึงได้ร่วมร้องกับนักร้องต่างประเทศชื่อดังอย่าง Selena Gomez ในเพลง Ice Cream, Dua Lipa ในเพลง Kiss and Make Up และ Lady Gaga ในเพลง Sour Candy

ทั้งนี้ ชื่อวง BLACKPINK นั้นสื่อความหมายถึงธรรมชาติของสมาชิกในวงที่มีความหลากหลายทางมิติ ทั้งความงามของหน้าตา บุคลิกลักษณะ และความสามารถที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนที่จริงจัง

นอกจากนี้ สมาชิกทุกคนต่างมีความเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทางค่ายและวงจึงตัดสินใจว่าจะไม่มีหัวหน้าวง อีกทั้งชื่อแฟนคลับอย่างเป็นทางการของ BLACKPINK คือ BLINK (บลิงก์) ที่เป็นการรวมกันของคำว่า BLACK และ PINK ซึ่งมีความหมายว่า คนที่รักและปกป้อง BLACKPINK เสมอ

ปัจจุบัน BLACKPINK เป็นหนึ่งในเกิร์ลกรุ๊ปที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 วันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ’ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 ทรงมีพระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์

ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พระราชโอรสไปศึกษายังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2428 คราวนั้นเสด็จไปพร้อมกัน 4 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)

เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย ทรงปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ ทรงตรวจชำระสะสางกฎหมาย ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรก ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาซึ่งทำหน้าที่ศาลสูงสุดของประเทศ ทรงตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น เมื่อพ.ศ.2443 สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ลายมือที่กรมตำรวจในปัจจุบัน จนได้รับพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่  7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 จึงกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปีเป็น ‘วันรพี’ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการของพระองค์ต่อวงการกฎหมายไทย

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ‘สหรัฐอเมริกา’ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่ม ‘เมืองฮิโรชิมะ’ โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 79 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ของสหรัฐอเมริกา ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

โดยอาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้นับเป็นโศกนาฏกรรมที่โลกไม่เคยลืม

‘หญิงแย้’ แจง หลังรับสมัครเลขา ค่าจ้าง 17,000 ภาระงานครอบจักรวาล ชี้!! เป็นเพียงเงินเดือนเริ่มต้นช่วงทดลองงาน หากมีหน้าที่มากขึ้นจะปรับให้

(5 ส.ค. 67) เรียกว่าเจอดรามาถล่มไม่น้อยเลยทีเดียว หลังจากอินฟลูฯ คนดัง ‘หญิงแย้ นนทพร’ ออกมาโพสต์รับสมัครงานเลขา เงินเดือน 17,000 แต่คุณสมบัติและหน้าที่คือจัดเต็ม ควบหลายตำแหน่ง จนชาวเน็ตทั้งอึ้งทั้งทึ่งไปตาม ๆ กัน ทำงานจิปาถะ ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ ทำกราฟิกดีไซน์ ดูแลโซเชียล เป็นแอดมินได้ ช่วยแพ็กของ ส่งของต่าง ๆ

งานนี้ หญิงแย้ เลยเจอทัวร์ลง หลายคนมองว่างานขนาดนี้ ทำหลายตำแหน่ง แต่ให้เงินเดือน 17,000 หนักไปไหม หน้าที่ครอบจักรวาลสุด ๆ เรื่องจริงหรือคอนเทนต์กันแน่ ทำไมให้เงินเดือนน้อยขนาดนี้ เมื่อเทียบกับหน้าที่ ความรับผิดชอบตามตำแหน่งงาน

ก่อนที่ล่าสุด หญิงแย้ จะออกมาโพสต์ชี้แจงแบบละเอียดยิบ เกี่ยวกับลักษณะงานของเลขา ที่เจ้าตัวรับสมัคร ว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง พร้อมทิ้งท้ายว่า “เป็นเพียงเงินเดือนเริ่มต้นในช่วงทดลองงาน หากมีภาระหน้าที่ที่มากขึ้น ก็จะมีการปรับเงินเดือนให้” โดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

“จากที่แย้ได้ลงประกาศรับสมัครเลขาส่วนตัว 1 ตำแหน่ง เงินเดือน 17,000 บาท จนทำให้เกิดกระแสดรามาต่าง ๆ เรื่องการจ้างงานแย้ออกไปนะคะ

ก่อนอื่นแย้ต้องขออภัยและกราบขอโทษที่ทำให้ทุกคนที่ได้อ่านโพสต์ของแย้แล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แย้ต้องขออภัยที้ไม่ได้แจ้งอย่างชัดเจนให้ทุกคนรับทราบ ในลักษณะงานของน้องเลขาใหม่ที่แย้ต้องการค่ะ

ก่อนอื่นแย้ต้องขอชี้แจงว่า ปกติแย้จะมีน้องเลขาดูแล 1 คน มีพี่ผจก.ดูแลแย้อีก 1 คน

และในส่วนงานคอนเทนต์ แย้จะเป็นคนครีเอทงานเกือบทั้งหมด ในส่วนของงานคลิปวิดีโอ ตัดต่อคลิป งานกราฟิก แย้จะทำเอง และให้เลขาแย้ช่วยทำ และจะมีจ้างฟรีแลนซ์มาช่วยบ้าง

ถึงตรงนี้ต้องขออธิบายเพิ่มว่าในส่วนงานใช้กล้อง ถ้าเป็นงานที่ลูกค้าต้องการความเป็นส่วนตัว หรือ Real แย้ใช้แค่กล้องเล็กหรือมือถือ แย้จะใช้เลขาหรืออุ๋งที่ไปด้วยกันช่วยถ่ายให้

แต่ถ้าเป็นงานลูกค้าที่ต้องการทีมใหญ่ แย้จะใช้ทีมตากล้องถ่ายงานและส่งงานให้ทีมฟรีแลนซ์ตัดต่อคลิปวิดีโออีกทีนึงค่ะ

แต่เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ ทุกคนที่ติดตามแย้อาจจะได้ทราบว่า แย้ได้มีการทำธุรกิจใหม่แตกออกมาเพิ่มนอกจากงาน influencer ทำให้งานของน้องเลขาและพี่ผู้จัดการเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ แย้เลยได้มีการปรึกษากับ พี่ ผจก.ว่าเราควรรับคนเพิ่ม โดยไหน ๆ ก็จะรับคนใหม่ละ แย้อยากได้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ให้มาแบ่งงานในส่วนTikTok ให้ช่วยมาดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ โดยสามารถทำคอนเทนต์สั้น ๆ ถ่ายคลิปสั้น ๆ บนมือถือลง TikTok เพื่อมาช่วยแย้ดูแลงานในส่วนช่อง TikTok ได้

ส่วนที่แย้แจ้งว่า คุณสมบัติดูแลหลังบ้าน Fb Ig TikTok Line OA ต้องยอมรับว่า ทุกคนในบริษัทแย้ที่ผ่านมา 10 ปี เราทำงานกันแบบครอบครัวที่รัก เข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน สนิทกันมาก ๆ ทั้งพี่ผจก. ทั้งน้องเลขา แย้ และอุ๋ง ที่ผ่านมาเราจะช่วยกันตอบคอมเมนต์ และตัวแย้เองจะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์และช่วยกันดูแลหลังบ้านในสื่อต่าง ๆ ของแย้ได้ทั้งหมด เรียกว่าทุกคนสามารถเป็น Admin ได้จากสิทธิ์ที่แย้ไว้วางใจให้ดูแลได้ค่ะ

และในส่วนการแพ็กของ จะมีบางช่วงเวลาที่แย้ Live ขายสินค้าของตัวเองบ้าง วีคละครั้ง หรือ เดือนละครั้ง โดยทั่วไปแย้และแม่บ้านและน้องเลขาจะเป็นคนช่วยแพ็ก

ซึ่งตรงนี้แย้ขอโทษและยอมรับผิดที่รีบโพสต์จนไม่ได้อธิบายทุกอย่างให้ละเอียด แย้อยากให้ทุกคนเข้าใจ ให้ความรักและเอ็นดูแย้เหมือนที่ผ่านมานะคะ ไม่อยากให้เข้าใจเจตนาแย้ผิดพลาดไป กราบขออภัยทุก ๆ คนอีกครั้งนะคะ

ทั้งนี้ ปัจจุบันแย้ยังเปิดรับเลขาให้เข้ามาทดลองงานอยู่นะคะ และขอบพระคุณทุกท่านที่สมัครกันเข้ามากันมากมาย แย้จะรีบตอบกลับให้ไวที่สุดค่ะ แย้ต้องการคนรุ่นใหม่เก่งพร้อมจะมาทำงานให้กับแย้ สร้างโอกาสให้ตัวเองใครที่พร้อมจะเติบโตและรับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคตกับแย้ส่ง Resume แนะนำตัวเองเข้ามานะคะ รักและเคารพทุก ๆ คนมาก ๆ ค่ะ

ในส่วนของเงินเดือนที่หลายท่านมองว่าน้อยไปสำหรับเลขาคนใหม่ของแย้ เป็นเพียงเงินเดือนเริ่มต้นในช่วงทดลองงาน หากมีภาระหน้าที่ที่มากขึ้น ก็จะมีการปรับเงินเดือนให้ค่า”

‘หลานม่า’ โดนใจผู้ชมนานาชาติ คว้ารางวัล ‘Audience Award’ ในงานเทศกาลหนัง ‘New York Asian Film Festival 2024’ สหรัฐฯ

(5 ส.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2567 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ สนับสนุนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลและสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

“เมื่อเร็วๆ นี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ร่วมสนับสนุนภาพยนตร์ไทย จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ หลานม่า, แดนสาป, เพื่อน (ไม่) สนิท, สมมติ, Pattaya Heat ปิดเมืองล่า และ Operation Undead (ช.พ.1 สมรภูมิคืนชีพ) เข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก (New York Asian Film Festival) (NYAFF) ซึ่งปรากฏว่าภาพยนตร์ไทยที่เข้าร่วมเทศกาลดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งเป้าหมายในการผลักดันภาพยนตร์ไทยเพื่อโปรโมตผลงานภาพยนตร์ไทยและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ฯ ถือว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ถือกำเนิดมายาวนานต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์จากเอเชีย สู่การรับรู้ของผู้ชมทางฝั่งตะวันตก ที่สำคัญคือหนังไทยที่เป็น Soft Power ของประเทศเรานั้น ไม่เคยห่างหายจากเทศกาลระดับโลกนี้เลย สำหรับ NYAFF ปีนี้ มีหนังทั้งเก่าและใหม่นำมาเข้าฉายให้ชมกันกว่า 60 เรื่อง เพื่อเผยแพร่ความเป็นเอเชียในภาพยนตร์ให้ออกสู่สายตาชาวโลกมากขึ้นทั้งยังเปิดโอกาสให้หนังเอเชียเข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว    

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ที่ได้รับการสนับสนุนครั้งนี้แต่ละเรื่องมีความโดดเด่นและน่าสนใจเฉพาะตัว เช่น ‘หลานม่า’ ที่สะท้อนความอบอุ่นและความสัมพันธ์ในครอบครัว, ‘แดนสาป’ ที่เล่าเรื่องราวลึกลับในดินแดนห่างไกล, ‘เพื่อน (ไม่)สนิท’ ที่เน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในกลุ่มเพื่อน ‘สมมติ’ การนำเสนอเรื่องราวที่มีความลึกซึ้งและสร้างสรรค์ การใช้ภาพและเสียงที่มีความละเอียดอ่อนเพื่อสื่อถึงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครระหว่างโลกแห่งความจริงและจินตนาการ ‘Pattaya Heat ปิดเมืองล่า’ ภาพยนตร์แนวแอคชั่นที่เล่าเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในเมืองพัทยาซึ่งมีฉากแอคชั่นที่ตื่นเต้นและการไล่ล่าที่มันส์สะใจ และ ‘Operation Undead (ช.พ.1 สมรภูมิคืนชีพ)’ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญและแอคชั่นที่เล่าเรื่องราวของการต่อสู้กับซอมบี้ในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยอันตราย สยองขวัญและการต่อสู้ที่ตื่นเต้น เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความลุ้นระทึกและการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เลวร้าย

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก เนื่องจากได้รับรายงานว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ได้คว้ารางวัล Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival ซึ่งถือว่าภาพยนตร์ไทยโดยคนไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลดังกล่าวจากเทศกาลภาพยนตร์ New York Asian Film Festival 2024 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ภาพยนตร์ในเทศกาลที่ได้รับการโหวตจากผู้ชมมากที่สุด จากภาพยนตร์ที่เข้าร่วมฉายในเทศกาลนี้มากกว่า 100 เรื่อง

“ในอนาคต วธ. มีแผนที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอีกหลายแห่ง เช่น เทศกาลภาพยนตร์ลอคาร์โน สวิตเซอร์แลนด์, เทศกาลภาพยนตร์เวนิส อิตาลี, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต แคนาดา, เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซบาสเตียน สเปน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ยังมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอีกหลายมิติ เช่น การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ไทย การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการสนับสนุนให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในการแข่งขันในตลาดโลก เพราะการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไม่เพียงแต่เป็นการโปรโมตวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล แต่ยังเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณกล่าว

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนนายร้อย จปร.’ มุ่งมั่นผลิตนายทหารที่มีคุณลักษณะตามกองทัพต้องการ

‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานกำเนิดเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ณ บริเวณพระราชวัง สราญรมย์ ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากมีผู้นิยมเข้าเรียนจำนวนมากและสถานที่เดิมคับแคบ จนกระทั่งปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก ด้วยเหตุที่สถานที่ตั้งเดิมแออัด ประกอบกับสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการฝึกศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งนี้ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ยังความปลาบปลื้มแก่บรรดานักเรียนนายร้อย ศิษย์เก่า และกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง เริ่มแรกใช้ชื่อว่า ‘คะเด็ตสกูล’ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เหมาะสม ได้แก่ โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนสอนวิชาทหารบก โรงเรียนทหารบก โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก จนกระทั่ง 1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’ ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้พระราชทานตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้เป็นตราประจำโรงเรียน และยังให้ใช้เป็นเครื่องหมายเหล่าและสังกัดของนักเรียนนายร้อยด้วย

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับยุคสมัย นับตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญและวิชาทหารหลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนโปลีเทคนิค ประเทศฝรั่งเศส 5 ปี หลักสูตรตามแนวทางของโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ปอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 5 ปี ต่อมาในปี 2544 ได้ปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของกองทัพบก และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพบกใช้ชื่อหลักสูตรว่า ‘หลักสูตรนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พุทธศักราช 2544’ ต่อมาหลักสูตรนี้ได้ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต 9 หลักสูตร หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 6 หลักสูตร และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 3 หลักสูตร การจัดการศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาวิชาการ วิชาทหาร และการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำ

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจะได้รับพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา พิธีพระราชทานกระบี่ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีนาคม 2471 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่และรางวัลการศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนินนอก นับตั้งแต่นั้นมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานกระบี่ขึ้นเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้ 

ต่อมาเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ามุ่งมั่นผลิตนายทหารสัญญาบัตรหลักที่มีคุณลักษณะตามที่กองทัพต้องการ มีความเป็นสุภาพบุรุษ นักรบ นักพัฒนา เป็นผู้นำที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ เทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มุ่งพัฒนากองทัพและประเทศชาติ พร้อมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย

4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ‘ในหลวง ร.5’ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดกำเนิดกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ ‘การไปรษณีย์ไทย’ ด้วยการจัดตั้ง ‘กรมไปรษณีย์’ ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

โดยปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกัน ควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสีย เพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิด ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ระยะ 2-3 พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชาวกรุงฯ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของ คนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดี ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้

2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ‘Tower Subway’ รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ที่กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway) รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ซึ่งมี 2 สถานีคือ ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower hill) และ ไวน์ เลน (Vine lane) โดยรถไฟใต้ดินสายนี้ได้ชื่อมาจาก ‘หอคอยแห่งลอนดอน’ (Tower of London)

ทั้งนี้ อุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead) ส่วนเปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow) และมีลูกชายของบาร์โลว์คือ ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์(Peter W. Barlow Jr.) เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิก ลึกประมาณ 18 เมตรใต้ผืนดิน ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที

หลังจากเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือน ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคับแคบและไม่สะดวกของสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า ต่อมาในที่สุดทางการจึงปรับปรุงใหม่ นำลิฟต์มาแทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีผู้โดยสารกว่า 2 หมื่นคนต่อสัปดาห์ ก่อนจะคลายความนิยมไปหลังจากมีการก่อสร้างสะพาน ’ทาวเวอร์ บริดจ์‘ (Tower Bridge) ในปีพ.ศ. 2437 เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินเหมือนรถไฟฟ้า ไม่นานก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานในปีพ.ศ. 2441

‘ลิซ่า’ ร่วมซีนโอน้อยออกกับ ‘เจ๊เกล-แม่ชม-ต้าเหนิง’ ล้อมวงสุ่มอาร์ตทอย ‘เนียวตะ’ จากค่าย POP MART

(1 ส.ค.67) ฮือฮาทั้งโลกโซเชียลเมื่อศิลปินสาวชื่อดังก้องโลก ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ 'ลิซ่า BlackPink' ได้อัปเดตเรื่องราวผ่านภาพถ่ายโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัว ‘@lalalalisa_m’ ที่มีผู้ติดตาม 104 ล้านฟอลโลเวอร์ พร้อมใส่แคปชันเป็นอีโมจิรูปหัวใจ 

แต่งานนี้ชาวเน็ตมาสะดุดที่รูปของ 'ลิซ่า' ที่นั่งล้อมวงโอน้อยออกกับแก๊งซุป'ตาร์เมืองไทย ชมพู่ อารยา, ต้าเหนิง กัญญาวีร์, พลอย ชวพร เลาหพงศ์ชนะ พร้อมด้วยซุป'ตาร์ตัวน้อยอย่าง 'เจ๊เกล' หรือ 'น้องแอบิเกล' นั่นเอง จากนั้นต้าเหนิง กัญญาวีร์ ก็ได้คอมเมนต์ด้วยว่า "เกลคิดถึงพี่ลิซ่าแล้ว"

ซึ่งสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากเพราะเรียกได้ว่าเป็นการโคจรมารวมตัวกันของแก๊งตัวแม่ ตัวมัม ที่ทำให้อาร์ตทอยฮิตระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง เรียกได้ว่านี่คือ สมาคมแก๊งกล่องสุ่มย่อมๆ เลยก็ว่าได้ นับว่านี่คืออีกหนึ่งโมเมนต์น่ารัก ๆ ที่แฟนคลับหลาย ๆ คนรอคอยให้มาเจอกัน

ซึ่งกล่องสุ่มอาร์ตทอยที่ทั้งหมดกำลังนั่งล้อมวงอยู่นั้นคือ 'น้องเนียวตะ' (Nyota) เป็นหนึ่งในอาร์ตทอยจากค่าย POP MART นั่นเอง โดย 'น้องเนียวตะ' นั้นเป็นเด็กที่มีบุคลิกแบบ INFT (ผู้ไกล่เกลี่ย) มีนิสัยขี้อาย อ่อนไหวง่าย มีเพื่อนคู่ใจเป็นน้องแมว เห็นน้องเป็นคนเงียบ ๆ แบบนี้ แต่ก็เป็นเด็กที่ชอบจินตนาการนะ จะเรียก Nyota หรือ Tata ก็ได้ ส่วนศิลปินที่สร้างน้องยังไม่มีการเปิดเผยชื่อออกมา

'พชร์ อานนท์' แจงปม!! บ๊ายบายรายการ ‘ทัวร์มาลง’ ยัน!! ไม่เกี่ยวเรื่อง 'รักลุงตู่-เงินดิจิทัล' แค่ช่องอยากปรับแนว

(1 ส.ค. 67) งานเข้าทันทีเมื่อพิธีกรและผู้กำกับดังอย่าง ‘พชร์ อานนท์’ ได้โพสต์ภาพตนเอง พร้อมกับเขียนแคปชัน บ๊ายบาย ทัวร์มาลง เพราะว่าแฟน ๆ หลายคน เดากันไปว่าสาเหตุที่ผู้กำกับดังถูกปลดออกจากรายการ เพราะพูดแซะเรื่องการเมืองแน่นอน

ร้อนถึงผู้กำกับดัง ต้องมาโพสต์คลิปชี้แจงถึงสาเหตุที่ตนเองออกจากรายการทัวร์มาลง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เพราะรายการเขามีการปรับรูปแบบรายการว่า…

“เมื่อวานที่บ๊ายบายรายการทัวร์มาลง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเลย มันเป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว เพราะครั้งก่อนที่พี่ออกจากรายการ บันเทิง 108 พี่ก็ลาแฟนคลับอย่างนี้ ก็ให้มาเจอกันในไอจี เฟซบุ๊ก คุยกันได้ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเหมือนที่หลายคนคิด แล้วอีกอย่างทางโมโนเขาอยากปรับให้รายการทัวร์มาลงสนุกมากขึ้น เป็นการอ่านข่าวมากขึ้น เขาเลยปรับพิธีกรออก

พี่ก็บ๊ายบายเป็นธรรมเนียม เพราะว่าพี่มีเอฟซี ไม่มีเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่เกี่ยวกับ คิดถึงลุงตู่ ไม่เกี่ยวกับเงินดิจิทัล อย่างที่หลาย ๆ คนคิด ที่ออกเพราะว่าทางโมโนเขาอยากปรับเปลี่ยนรายการให้สนุกมากขึ้น

กราบขอโทษด้วย ถ้าไปทำให้ใครรู้สึกไม่สบายใจ ที่ออกด้วยว่ามีการปรับเปลี่ยน ตอนนี้พี่เองก็ยังทำหนังให้กับโมโน 2 เรื่องก็คือ วัยเป้ง 2 และโคกะโหลก ขอโทษทางโมโนด้วย ที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าไล่พี่พชร์ออกเพราะการเมือง แค่รายการมีการปรับเปลี่ยนให้สนุกมากขึ้น

พร้อมเขียนแคปชันว่า รบกวนบอกต่อ ๆ กันด้วยนะครับ เพราะหลายคนคิดว่าออกเพราะเรื่องการเมือง ต้องกราบขอโทษทางโมโนด้วยที่ทำให้ทุกคนเข้าใจผิดนะครับ รักทุกคนนะครับ ขอบคุณที่เป็นห่วงกันจบนะ

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

✨ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
✨ประจำวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

🟢 รางวัลที่ 1 รางวัลละ 6,000,000 บาท : 407041

🔴 รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 รางวัลละ 100,000 บาท : 407040  407042

🔴 รางวัลเลขหน้า 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท : 408  579

🔴 รางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลละ 4,000 บาท : 622  070

🔴 รางวัลเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2,000 บาท : 46

🔴 รางวัลที่ 2 รางวัลละ 200,000 บาท : 127568  596170  848197  046930  921155

🔴 รางวัลที่ 3 รางวัลละ 80,000 บาท : 

886522  425170  276960  596654  896753  
035144  959249  965402  903093  671891  

🔴 รางวัลที่ 4 รางวัลละ 40,000 บาท : 

833716  882210  826992  530296  752270  
035968  850728  589909  569499  778445  
103673  183977  441518  045979  620895  
032672  131358  249786  995056  364292  
617316  722232  437269  711936  504956  
198095  479152  221674  327395  032522  
260923  714996  299412  683038  010963  
287763  456445  372782  677746  091060  
245874  675283  815229  391855  826151  
125521  717786  871559  838773  392305 

🔴 รางวัลที่ 5 รางวัลละ 20,000 บาท

384313  762033  537178  505983  441314  
652086  550754  402386  621644  273118  
693983  978436  454902  424316  420684  
716670  560688  391308  576125  495195  
430621  433998  704917  073908  765466  
538706  260608  422419  474794  869761  
040499  138968  595563  090261  750476  
472240  848018  797602  003432  148657  
364392  324037  129375  143999  929798  
579622  576498  413630  363503  618923  
485673  505561  815447  113168  771325  
006659  509512  411886  085935  764120  
899355  506299  322329  932253  115861  
702536  535118  601570  801730  129655  
579346  442947  819244  862786  858314  
383004  412516  096708  293479  220421  
183513  103768  655309  272603  714066  
782158  763222  286079  177889  143744  
002795  979012  734542  994883  250011  
192800  894902  227344  423982  178309

1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินี และพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่ 1 ของเดือนสิงหาคมปี 2567 นี้ หากย้อนกลับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบ ๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก

11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ‘เมย์ รัชนก’ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศไทย คว้าแชมป์โลกแบดมินตันหญิงอายุน้อยที่สุด ณ ประเทศจีน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ‘เมย์ รัชนก อินทนนท์’ นักกีฬาแบดมินตันหญิงขวัญใจชาวไทย ลงสนามแบดมินตันชิงแชมป์โลก 2013 (Wang Lao Ji BWF Championships 2013) ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน พบกับของ ‘แข็ง หลี่ เสี่ยวเล่ย’ มืออันดับ 1 ของโลกจากจีน โดยผลปรากฏว่า เมย์ รัชนก โชว์ผลงานกระหึ่มโลก ด้วยการเฉือนเอาชนะเต็งหนึ่งของรายการ ไปแบบยิ่งใหญ่ 2-1 เกม 22-20,18-21,21-14 ส่งผลให้เธอคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ และยังเป็นนักแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 18 ปี ที่คว้าแชมป์โลก หญิงเดี่ยวมาครอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับประวัติของเธอนั้น เมย์ รัชนก เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดยโสธร เป็นบุตรของวินัสชัย อินทนนท์ ชาวจังหวัดยโสธร และคำผัน สุวรรณศาลา ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีน้องชาย 1 คนคือ รัชพล อินทนนท์ เมื่ออายุ 3 เดือน เมย์ รัชนก ย้ายเข้ากรุงเทพมหานครตามบิดา และมารดา ซึ่งมาทำงานที่โรงงานทำขนมบ้านทองหยอด และได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น นับแต่นั้น เมย์ รัชนก ยังมี ‘กมลา ทองกร’ เจ้าของโรงงานบ้านทองหยอด เป็นมารดาบุญธรรมอีกด้วย

โดย เมย์ รัชนก เริ่มเล่นกีฬาแบดมินตัน เมื่ออายุได้ 6 ปี เนื่องจาก กมลา ทองกร เกรงว่าเธอจะวิ่งเล่นซุกซนภายในโรงงานจนเกิดอุบัติเหตุได้ จึงได้นำเธอมาหัดเล่นแบดมินตัน ตั้งแต่บัดนั้น หนึ่งปีต่อมาเธอได้ลงแข่งขันเป็นครั้งแรก ในรายการอุดรธานี โอเพ่น และได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรก

เมย์ รัชนก สำเร็จการศึกษา ระดับมัธยมตอนต้นจากโรงเรียนกสิณธรอาคาเดมี่ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

‘หนุ่ม สุรวุฑ’ ขอบคุณ ‘เปิ้ล หัทยา’ จ่ายค่าตัวครบทุกบาททุกสตางค์ พร้อมวอน ‘ชาวเน็ต’ คอมเมนต์ด้วยความสุภาพ อย่าระรานถึงครอบครัว

(31 ก.ค. 67) จากกรณีที่ 'หนุ่ม' สุรวุฑ ไหมกัน นักแสดงชื่อดังโพสต์ข้อความฝากถึงบุคคลปริศนา ที่เจ้าตัวเคยมีโอกาสได้ร่วมงานละครด้วย และแม้ว่าละครเรื่องดังกล่าวจะจบไปเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่จนถึงตอนนี้เจ้าตัวก็ยังได้เงินค่าตัวไม่ครบ จนเป็นเหตุให้ต้องใช้พื้นที่อินสตาแกรมระบายความรู้สึกอัดอั้น โดยระบุว่า "เลื่อนยิ่งกว่าไส้เลื่อน ก็เงินค่าตัวกรูนิล่ะ ละครจบไปจะเป็นปีละ รวมเวลาถ่ายทำอีก รวม ๆ 5 ปีแล้ว ยังได้ค่าตัวไม่ครบ"

ต่อมา ‘เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง’ ได้ยอมรับว่า “ผู้จัดที่หนุ่ม สุรวุฑ พูดถึงเป็นตนเอง แต่หนุ่มเขาไม่ได้เอ่ยชื่อ ต้องเล่าก่อนว่า ตัวพี่เองได้เข้ามาช่วยดูละครเรื่องปาฏิหาริย์กาลเวลา ในตอนท้าย ๆ หลังจากที่พี่ตั้วเสียชีวิต ทำให้ตัวพี่เองรู้ข้อมูลน้อยมาก ไม่รู้ว่าตอนนี้มีนักแสดงคนไหนได้เงินยังไม่ครบ หรือว่าได้ครบแล้ว”

ล่าสุด 'หนุ่ม สุรวุฑ' ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านทางติ๊กต็อกส่วนตัว ‘noommaikan’ ออกมาขอบคุณ เปิ้ล หัทยา ได้จ่ายเงินค่าตัวนักแสดงที่ยังเหลือค้างอยู่ให้เรียบร้อยแล้วว่า…

“วันนี้พี่เปิ้ลได้มีการชำระค่าตอนที่เหลือให้ผมมาเรียบร้อยแล้ว ครบทุกบาททุกสตางค์ ขอบคุณพี่เปิ้ลด้วย ขอบคุณทุกการซัพพอร์ต ขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่เสนอข่าว”

หนุ่ม สุรวุฑ ระบุอีกว่า “อยากฝากไปบอกคนที่เข้ามาคอมเมนต์ใช้ข้อความที่สุภาพแล้วกัน ที่สำคัญที่สุด พยายามอย่าไปพาดพิงครอบครัวพี่เปิ้ลเขา โดยเฉพาะลูก ๆ เขา น้อง ๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ตกลงกันทางธุรกิจ”

ซึ่งก็มีเหล่าชาวโซเชียลเข้ามาให้กำลังใจทั้งสองฝ่ายกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับหนุ่ม สุรวุฑ ที่ได้รับค่าตัวครบแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top