Tuesday, 22 April 2025
LITE

5 กันยายน พ.ศ. 2336 ‘ยุคแห่งความเหี้ยมโหด’ เริ่มต้นขึ้นใน ‘ฝรั่งเศส’ เมื่อ ‘สภาแห่งชาติ’ หนุนก่อการร้ายเพื่อผลักดันการปฏิวัติฝรั่งเศส

วันนี้ในอดีต 5 กันยายน พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) การปฏิวัติฝรั่งเศส: สภาแห่งชาติเริ่มต้นสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว เมื่อสภาลงมติสนับสนุนการก่อการร้ายซึ่งได้ปราบปรามและสังหารศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่เป็นเวลาสิบเดือน

เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ หรือ ‘The Terror’ (la Terreur) เป็นสมัยแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้น โดยถูกกระตุ้นจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแยกทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน คือ ฌีรงแด็ง (Girondins) และฌากอแบ็ง (Jacobins) 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 'สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว'

-มีการประหารชีวิต 'ศัตรูแห่งการปฏิวัติ' จำนวนมาก ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ในหลักหมื่น โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน 16,594 คน และอีก 25,000 คน ถูกประหารชีวิตอย่างรวบรัดทั่วฝรั่งเศส

-'กิโยติน' กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์การปฏิวัติ ซึ่งมีการประหารชีวิตบุคคลสำคัญจำนวนมาก เช่น มารี อ็องตัวแน็ต และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทั้งผู้สนับสนุนการปฏิวัติ ฟิลิปป์ เอกาลีเต (หลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 2 ดยุคแห่งออร์เลอองส์) มาดามโรลองด์และกลุ่มฌีรงแด็ง มีอีกหลายคน อาทิ อ็องตวน ลาวัวซีเย นักเคมีบุกเบิก ที่ต้องมาสังเวยชีวิตด้วยเช่นกัน 

-ระหว่าง ค.ศ. 1794 ฝรั่งเศสสมัยปฏิวัติถูกรุมเร้าด้วยการคบคิด โดยศัตรูทั้งในและนอกประเทศ 

-ภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าว ถูกชนชั้นสูงฝรั่งเศสคัดค้าน หลังจากสูญเสียเอกสิทธิ์ที่ได้รับสืบทอดมา 

-นิกายโรมันคาทอลิกโดยทั่วไป ที่คัดค้านการปฏิวัติ ถูกเปลี่ยนนักบวชเป็นลูกจ้างของรัฐและบังคับให้ต้องปฏิญาณความจงรักภักดีต่อชาติ 

-สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ต้องสู้รบในสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เจตนาทำลายการปฏิวัตินี้เสียเพื่อป้องกันมิให้ลุกลาม

-การขยายของสงครามกลางเมือง และการรุกคืบของกองทัพต่างด้าวต่อดินแดนของชาติ ได้ก่อวิกฤตการณ์การเมืองและเพิ่มการแข่งขันระหว่าง ฌีรงแด็ง กับ ฌากอแบ็ง ซึ่งหัวรุนแรงกว่า โดยฝ่ายหลังนี้ ต่อมาได้รวมกลุ่มในกลุ่มแยกรัฐสภา เรียกว่า Mountain และพวกเขาได้การสนับสนุนจากประชากรกรุงปารีส 

-สภาฝรั่งเศสตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1793 เพื่อปราบปรามกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติภายในประเทศและเพิ่มกำลังทหารฝรั่งเศสเพิ่มเติม ผ่านศาลปฏิวัติ 

-ผู้นำสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวใช้อำนาจเผด็จการอย่างกว้างขวาง และใช้ประหารชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากและการกวาดล้างทางการเมือง โดยมีการปราบปรามเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ค.ศ. 1794 ซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า 'la Grande Terreur' (the Great Terror) 

นสุดลงด้วยรัฐประหารวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 ซึ่งนำไปสู่ปฏิกิริยาเดือนแตร์มีดอร์ (Thermidorian Reaction) ซึ่งผู้สนับสนุนสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวหลายคนถูกประหารชีวิต รวมทั้ง มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์...

จากภาพ: การประหารชีวิตรอแบ็สปีแยร์

4 กันยายน พ.ศ. 2351 วันพระราชสมภพ ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์แห่งสยาม ผู้มีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน

วันนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เป็นวันพระราชสมภพของ ‘สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4

เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าจุฑามณีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ทรงโปรดวิทยากรสมัยใหม่แบบตะวันตกหลายด้าน ทรงพระปรีชาหลายด้าน ทรงสร้างปืนใหญ่ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อใช้ป้องกันบ้านเมือง ทรงสร้างเรือกลไฟเป็นลำแรก เป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ และผู้บังคับบัญชาทหารเรือไทยเป็นพระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าน้อย' เสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 หลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเจ้าฟ้าน้อย จึงได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชชนนี มาประทับในพระบรมมหาราชวัง และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น 'สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑามณี' หรือ 'เจ้าฟ้าอสุนีบาต'

เมื่อเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม และประทับที่นี่จนถึงปี พ.ศ. 2394

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การทหาร การช่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การละคร การดนตรี และด้านวรรณกรรมอีกทั้งทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศอีกด้วย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนแตกฉาน และทรงมีพระสหาย เป็นชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถช่วยราชการด้านการต่างประเทศได้เป็นอย่างดีโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ

หลังจากที่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น 'พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว' เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงมีศักดิ์สูงเสมอพระมหากษัตริย์เป็น 'พระเจ้าประเทศสยามองค์ที่ 2' ได้ทรงย้ายมาประทับ ณ พระบวรราชวัง (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) จนสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

3 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกระฟ้า’ รำลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ บิดาแห่งตึกระฟ้า สถาปนิกชาวอเมริกันผู้วางรากฐานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

วันที่ 3 กันยายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันตึกสูงระฟ้า’ หรือ Skyscraper Day เพื่อเป็นการระลึกถึง ‘หลุยส์ ซัลลิแวน’ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 1856 โดยหลุยส์ ซัลลิแวน เป็นนักทฤษฎี นักคิด และเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงของสัญชาติอเมริกัน

ทั้งนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นหุ้นส่วนกับ ดังก์มาร์ แอดเลอร์ (Dankmar Adler) วิศวกรชื่อดังแห่งยุค คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดย หลุยส์ ซัลลิแวน เป็นคนวางรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน จนทำให้ หลุยส์ ซัลลิแวน ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งตึกระฟ้า หรือ บิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (โมเดอร์นิสม์)

นอกจากนี้ หลุยส์ ซัลลิแวน ยังเป็นศาสตราจารย์ผู้มีอิทธิพล และเขายังสอน แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) ปรมาจารย์สถาปนิก ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ปัจจุบันแม้ หลุยส์ ซัลลิแวน จะจากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี 1924 แต่เวลาในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2021 นวัตกรรมต่าง ๆ ก็เจริญรุดหน้าไปมาก ความสร้างสรรค์ความครีเอตของสถาปนิกก้าวไปไกลมาก จนกระทั่งวันนี้โลกเรามีตึกที่สูงจากพื้นดินเกิน 800 เมตรไปแล้ว

2 กันยายน พ.ศ. 2385 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' เสด็จวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้าง ‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’

‘พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี 

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย 

นอกจากนี้ พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่ตั้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท

1 กันยายน ของทุกปี รำลึกถึง ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้เสียสละเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

หากกล่าวถึงเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ นั่นคือ ‘สืบ นาคะเสถียร’ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยเขาได้เขียนข้อความในจดหมายไว้ว่า ‘ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น’

หลังจากนั้นวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสืบ นาคะเสถียร เพื่อระลึกถึงความเสียสละ และที่สำคัญเพื่อให้ทุกคนหวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์สืบต่อมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันครบรอบ 34 ปี ที่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้จากโลกนี้ไป

สำหรับประวัติของ สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า ‘สืบยศ’ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม โดยสืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ซึ่งสืบเป็นบุตรชายคนโต สำหรับชีวิตส่วนตัว สืบได้สมรสกับนางนิสา นาคะเสถียร มีทายาท 1 คน คือ น.ส.ชินรัตน์ นาคะเสถียร

ด้านการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สืบได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

เมื่อเรียนจบสืบสามารถสอบเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ได้ แต่เขาเลือกทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี

ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโทอีกครั้ง ในสาขาอนุรักษวิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก British Council โดยสืบสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ.  2524

31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ‘เจ้าหญิงไดอานา’ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ สิ้นพระชนม์ ในวัย 36 ปี สร้างความเศร้าโศกแก่ประชาชนชาวอังกฤษ และชาวโลกต่อเหตุการณ์นี้

‘เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ มีพระนามเดิมว่า ‘ไดอานา ฟรานเซส’ สกุลเดิม ‘สเปนเซอร์’ เป็นพระชายาองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์

โดย ไดอานา ถือกำเนิดในตระกูลขุนนางที่สืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์อังกฤษในสมัยกลางและทรงเป็นญาติห่าง ๆ กับ แอนน์ บุลิน เป็นบุตรีคนที่ 3 ของพระชนกจอห์น สเปนเซอร์ ไวเคานต์อัลธอร์พ และพระชนนีฟรานเซส โรช ในวัยเด็กไดอานาพักอาศัยที่คฤหาสน์พาร์กเฮาส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน ตำหนักซานดริงแฮม ไดอานาเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เข้าศึกษาต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนการเรือน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุได้ 14 ปี ไดอานาได้รับบรรดาศักดิ์ ‘เลดี’ เมื่อบิดาสืบทอดฐานันดรศักดิ์ เอิร์ลแห่งสเปนเซอร์ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่อเป็นเข้าพิธีหมั้นหมายกับเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ใน พ.ศ. 2524

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างไดอานา สเปนเซอร์ และเจ้าชายแห่งเวลส์ จัดขึ้น ณ อาสนวิหารนักบุญเปาโล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 โดยมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีและมีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากกว่า 750 ล้านคนทั่วโลก ไดอานาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ดัชเชสแห่งรอธเซย์ และเคาน์เตสแห่งเชสเตอร์ หลังจากพระราชพิธีอภิเษกสมรสได้ไม่นานก็มีพระประสูติการเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสพระองค์แรก และเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสพระองค์ที่สองในอีก 2 ปีถัดมา ทั้งสองพระองค์อยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองและสามแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในระหว่างที่ทรงดำรงพระอิสริยศเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินออกปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายแทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 รวมทั้งเสด็จเยือนต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ พระกรณียกิจที่สำคัญในบั้นปลายพระชนม์ชีพ คือ การรณรงค์ต่อต้านการใช้ทุ่นระเบิด นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานโรงพยาบาลเด็กเกรทออร์มันด์สตรีท และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการและมูลนิธิอื่น ๆ มากกว่าหลายร้อยแห่งจนถึง พ.ศ. 2539 

ตลอดพระชนม์ชีพของไดอานา ทั้งก่อนอภิเษกสมรสและภายหลังหย่าร้าง สื่อมวลชนทั่วโลกต่างเกาะติดชีวิตของไดอานาและนำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระองค์อยู่ตลอดเวลา และพระองค์ทรงหย่าขาดจากพระสวามีในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2539 

จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ภายหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในอุโมงค์ทางลอดสะพานปองต์เดอลัลมา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิท และอ็องรี ปอล คนขับรถ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ เทรเวอร์ รีส์-โจนส์ ผู้ทำหน้าที่องครักษ์ 

ขบวนช่างภาพปาปารัสซีที่ติดตามไดอานาตกเป็นจำเลยสังคมทันที เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวว่าช่างภาพปาปารัสซีเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ แต่การสืบสวนของหน่วยงานยุติธรรมของฝรั่งเศสซึ่งใช้เวลานานกว่า 18 เดือน สรุปผลว่า นายอ็องรี ปอล อยู่ในอาการมึนเมาขณะขับรถยนต์และไม่สามารถควบคุมรถซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงได้ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในคืนนั้น อ็องรี ปอล นั้นเป็นรองหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยโรงแรมริตซ์ และก่อนเกิดอุบัติเหตุเขาได้ท้าทายกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่คอยอยู่หน้าโรงแรม เจ้าหน้าที่นิติเวชยังตรวจพบยาต้านอาการทางจิต และยาต้านโรคซึมเศร้าในตัวอย่างเลือดของอ็องรี ปอล และอีกหนึ่งข้อสรุปก็คือ กลุ่มช่างภาพปาปารัสซีไม่ได้อยู่ใกล้รถเบนซ์ในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 โมฮัมเหม็ด ฟาเยด บิดาของโดดี และเจ้าของโรงแรมริทซ์ กล่าวอ้างว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคืนนั้นเป็นแผนลอบสังหาร ซึ่งปฏิบัติการโดยหน่วยสืบราชการลับ MI6 ตามคำพระบัญชาของพระราชวงศ์ แต่คำกล่าวอ้างของโมฮัมเหม็ดขัดแย้งกับผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส และปฏิบัติการแพเจต ของตำรวจนครบาลอังกฤษ พ.ศ. 2549

2 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีการเบิกความคดีการสิ้นพระชนม์อีกครั้งหนึ่งโดยผู้พิพากษา สกอต เบเกอร์ ณ ศาลอุทธรณ์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่องมาจากครั้งแรกใน พ.ศ. 2547

7 เมษายน พ.ศ. 2551 คณะลูกขุนแถลงคำตัดสินปิดคดีว่า การสิ้นพระชนม์ของไดอานาและการเสียชีวิตของโดดีเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของอ็องรี ปอล และความประมาทอย่างร้ายแรงกลุ่มช่างภาพปาปารัสซีที่ไล่ติดตาม นอกจากนี้คณะลูกขุนยังระบุถึงปัจจัยอื่นเพิ่มเติมที่มีส่วนให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ 1) คนขับรถบกพร่องในการตัดสินใจเนื่องจากตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์แอลกอฮอล์ 2) ข้อเท็จจริงที่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจเป็นเหตุหรือมีส่วนทำให้ถึงแก่ความตาย 3) ข้อเท็จจริงที่รถเบนซ์พุ่งชนตอม่อภายในถนนลอดอุโมงค์สะพานปองต์เดอลัลมา และไม่ได้พุ่งชนวัตถุหรือสิ่งอื่นใด

30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็น ‘วันผู้สูญหายสากล’ รำลึกถึงเหตุการณ์ ‘บังคับสูญหาย-อุ้มหาย’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือวันผู้สูญหายสากล ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับสูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ การบังคับให้สูญหาย หรือที่เรารู้จักทั่วไปว่า ‘การอุ้มหาย’ ถูกพิจารณาเป็น ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง’ และถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CPED) ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กำหนดนิยามของ ‘การอุ้มหาย’ ไว้ว่า หมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพ หรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย

การบังคับให้สูญหายมักถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ สิทธิในการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิต่อครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เช่น สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการที่ขาดบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ สิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจากความวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CPED) เมื่อปี 2555 แต่การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนของประเทศไทย ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทุกคนมิให้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอีกต่อไป

29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ‘ตึกมหานคร’ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ อดีตแชมป์ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในประเทศไทย

รู้หรือไม่? วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ตึกที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศ (ระหว่างปีพ.ศ. 2559-2561) หรือ ‘ตึกมหาคร’ ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการวันแรก และในเวลาต่อมาถูกทำลายสถิติในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยอาคารแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสสิเดนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการไอคอนสยาม ด้วยความสูง 317.95 เมตร

จึงทำให้ปัจจุบันตึกมหาครแห่งนี้ เป็นตึกที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูง 314.2 เมตร

สำหรับตึกมหานคร หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘คิง เพาเวอร์ มหานคร’ เป็นตึกที่ประกอบไปด้วยส่วนโรงแรม ร้านค้า และส่วนห้องชุดสำหรับพักอาศัย ในส่วนของชั้นตั้งแต่ 74-78 ขึ้นไปเป็นที่ตั้งของภัตตาคาร มหานครแบงค็อกสกายบาร์ และมหานครสกายวอล์ก จุดชมทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกโค่นอันดับอาคารสูงที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว แต่ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะแหว่งเสมือนโอบล้อมด้วยริบบิ้น 3 มิติ หรือพิกเซล ก็ทำให้ตึกมหานคร กลายเป็นภาพจดจำอย่างหนึ่งของคนกรุงเทพฯ เช่นกัน

เปิดใจ!! 'น้าโย่ง-ครูโจ้' ความภูมิใจหลังได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ลั่น!! ขออนุรักษ์-สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

(28 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายได้ว่า ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 จำนวน 12 คน ดังนี้ 

สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่
1.ศ.เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม) 
2.นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน) 
3.ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ) 
4.นายสุดสาคร ชายเสม (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก)

สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่
1.นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร 
2.นายวศิน อินทสระ 

สาขาศิลปะการแสดง 6 คน ได้แก่ 
1.นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย-โขน ละคร) 
2.นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย) 
3.นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย) 
4.จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล-ลูกทุ่ง) 
5.นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (นาฏศิลป์สากล)
6.รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์) นั้น

นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-เพลงฉ่อย) กล่าวว่า รู้สึกดีใจสุด ๆ ไปเลย กับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ที่ผ่านมาพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะ ในส่วนของการเรียนรู้ และการแสดงเพลงฉ่อย ลิเก เป็นสิ่งที่ตนหัดเล่นตั้งแต่สมัยเป็นเด็กเล็ก ๆ และเมื่อเราเห็นคนดูมีความสุขกับการแสดง เราก็มีความสุขตามไปด้วย

ทั้งนี้ตนพร้อมและยินดี ที่จะช่วยธำรงรักษา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านตามที่ตนถนัด สู่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม วธ. ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยสังคม เพื่อที่จะทำให้มรดกอันล้ำค่าคงอยู่ ไม่สูญหาย ถือเป็นการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นรากเหง้าของชาติ ให้คงอยู่

ด้าน นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา หรือครูโจ้ เดอะสตาร์ (นาฏศิลป์สากล) กล่าวว่า เมื่อได้ทราบข่าวก็หัวใจเต้นแรง และขอพูดตรง ๆ ว่ารู้สึกดีใจ และภูมิใจมาก เพราะการแสดงสาขานี้เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานนาฏศิลป์ไทย และตะวันตกให้สอดประสานเป็นวัฒนธรรม การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลของวงค์ตระกูล ภักดีเทวา ซึ่งตนอยากนำความรู้ในส่วนนี้ไปถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ นาฏศิลป์สากล ไม่ใช่แค่การเต้น ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจจำนวนมาก แต่สิ่งที่ยากคือ ต้องสื่อให้เห็นว่า เป็นศาสตร์ที่มีตัวต้น เป็นตัวดำเนินเรื่องที่ผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

“ศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งศิลปินไทยสามารถปักธง และได้รับรางวัลในระดับนานาชาติจำนวนมาก ดังนั้น ผมอยากถ่ายทอด เพื่อสืบสานและต่อยอด ให้การแสดงของคนได้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น” ครูโจ้ กล่าว

'ชาวเน็ต' ไม่ขำ!! หลัง 'มาร์ช จุฑาวุฒิ' เตะช่อบูเก้ งานแต่งเพื่อน ทั้งที่เป็นคลิปคอนเทนต์หลังเลิกงาน และคุยกับ 'บ่าวสาว' ไว้แล้ว

(28 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล ที่เตะช่อดอกไม้ที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวโยนลงมาจากเวที เพราะตั้งใจที่จะทำคอนเทนต์สนุก ๆ นั้น งานนี้ทำเอาชาวเน็ตไม่สนุกด้วย และเข้าไปคอมเมนต์ติการกระทำของเจ้าตัวกันมากมาย

งานนี้ทำเอา หนุ่มมาร์ช ต้องเข้ามาชี้แจงและขอโทษถึงการกระทำของตนเองในไอจีว่า...

"ในคลิปเป็นช่วง after party ครับผมช่วงที่งานเลิกแล้ว ช่อจริงโยนเสร็จเรียบร้อยในงานแล้วครับ จริง ๆได้คุยกับ บ่าวสาว ตั้งแต่ก่อนวันงานแล้วครับ ว่าจะถ่ายคอนเทนต์นี้กันแบบสนุก ๆ…

"(เพราะเพื่อน ๆ ที่สนิทที่ไม่ได้เจอกันแบบครบ ๆ มากันเยอะมาก เลยอยากมีอะไรถ่ายไว้) เจ้าสาวเป็นคนเตรียมดอกไม้ช่อนี้ให้เองครับ (ไม่ใช่ช่อจริง เป็นช่อสำหรับคอนเทนต์นี้ ช่อจริงวันนั้นสวยงามมากครับ)...

"คลิปเป็นเชิงตลกครับ ไม่อยากให้ซีเรียสครับ สื่อประมาณว่า ถ้าเป็นสาว ๆ จะแย่งกัน แต่พอเป็นแก๊งผู้ชาย (ในที่นี่หมายถึงกลุ่มพวกผม) ที่สนิทกันชอบสังสรรค์กันเลยวิ่งหนีช่อดอกไม้ครับ (ในคลิปเป็นการนัดแนะกันหมดแล้วครับ) บางคนในคลิปก็แต่งงานมีครอบครัวแล้วครับ มาถ่ายกันขำ ๆ ครับ แต่ถ้าคลิปนี้ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับใคร ผมเองต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ"

28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 วันก่อตั้ง ‘โตโยต้า’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น สู่ก้าวสำคัญแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่ทั่วโลกต่างรู้จัก

แบรนด์รถยนต์อันดับต้น ๆ ที่ครองใจคนไทยและทั่วโลกปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่อมมีชื่อของ ‘โตโยต้า’ (Toyota) อยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนทราบหรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 87 ปีก่อน หรือวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คือวันก่อตั้ง ‘โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน’ บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการก่อตั้งโดย ‘คิอิจิโร โทโยดะ’

โตโยต้า มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพนักงานในเครือบริษัททั่วโลกรวมแล้วกว่า 338,875 คน และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 12 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกวัดตามรายได้ และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เป็นต้นมา โตโยต้ายังเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วัดตามจำนวนคันผลิต) แซงหน้า ‘โฟล์กสวาเกน กรุ๊ป’ และ ‘เจเนรัลมอเตอร์’ ซึ่งในปีนั้นโตโยต้ารายงานว่าได้ผลิตรถยนต์คันที่ 200 ล้าน นับแต่ก่อตั้งบริษัท 

นอกจากนี้ โตโยต้ายังเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีกำลังการผลิตรถยนต์เกิน 10 ล้านคันต่อปี และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนญี่ปุ่นที่ใหญ่และมีรายได้มากที่สุดของญี่ปุ่น ห่างจากอันดับสองคือ SoftBank กว่าสามเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน เป็นการแตกบริษัทออกมาจาก ‘โตโยต้า อินดรัสทรีส์’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย ‘ซากิจิ โทโยดะ’ ซึ่ง 3 ปีก่อนหน้าในปีพ.ศ. 2477 ในช่วงที่ยังเป็นแผนกหนึ่งในโตโยต้า อินดรัสทรีส์ โตโยต้าก็ได้ผลิตสินค้าอย่างแรกเป็นของตนเองคือ เครื่องยนต์ Type A และในปีพ.ศ. 2479 ก็ได้ทำการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกคือ Toyota AA ในปัจจุบัน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ผลิตรถยนต์ภายใต้ 5 เครื่องหมายการค้า อันประกอบด้วย Toyota, Hino, Lexus, Ranz และ Scion และยังถือหุ้น 51.2% ในไดฮัทสุ, ถือหุ้น 16.66% ในฟุจิเฮวี่อินดรัสทรีส์, ถือหุ้น 5.9% ในอีซูซุ และ ถือหุ้น 0.27% ในเทสลา

รวมทั้งยังดำเนินกิจการร่วมค้าผลิตรถยนต์กับอีกสองบริษัทในจีน (GAC Toyota และ Sichuan FAW Toyota Motor), กับหนึ่งบริษัทในอินเดีย (Toyota Kirloskar), กับหนึ่งบริษัทในสาธารณรัฐเช็ค (TPCA) และบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่อื่น ๆ อีกมากมาย

เปิดความคิดสุดเข้มแข็งจาก 'เบสท์ คำสิงห์' สาวเก่งที่เกิดมาเพื่อเคียงข้างทุกคนในครอบครัว

(26 ส.ค. 67) เพจ ‘หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ’ ได้โพสต์คำสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนของดาราสาวสวย ‘เบสท์ รักษ์วนีย์ คำสิงห์’ ลูกสาวของ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่ได้เปิดใจในรายการ ‘Club Friday Show’ ว่า…

“..อยากบอกพ่อว่า ก็ใช้ชีวิตไปเลยค่ะ ให้มีความสุขในทุก ๆ วัน ไม่ต้องกลัวเลยว่าหนูจะไม่อยู่เคียงข้าง หนูจะเคียงข้างพ่ออย่างนี้แหล่ะ ไม่เป็นไร แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือรู้สึกแย่กับสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ โชคชะตามันกำหนดมาแล้ว เราก็ยอมรับแล้วก็สู้กับมัน…

“สำหรับน้องชาย ก็ขอให้เป็นเด็กดีค่ะ ตั้งใจเรียนแล้วก็ไม่ต้องคิดว่าโตขึ้นมาจะต้องหาเงินให้ได้เท่าเบสท์ คนเรามันอาจจะแบบหาได้ไม่เหมือนกัน อย่าไปกดดันตัวเองค่ะ อยากให้โบ๊ทมีความสุขใช้ชีวิตวัยรุ่นไปเลย เพราะว่าพี่ไม่เคยได้ใช้ แต่โบ๊ทได้ใช้มันแล้ว ใช้มันให้ดีที่สุด ไม่ต้องกดดันว่าจะต้องทำให้ได้แบบพี่ การที่โบ๊ทเป็นโบ๊ทมันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปรียบเทียบ…

“สำหรับแม่ หนูว่าที่หนูเข้มแข็งมาทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะแม่ คือถ้าเกิดว่าแม่ไม่ได้เป็นคนบอกให้ย้ายบ้านให้เก็บเงิน หนูก็คงไม่ได้ประสบความสำเร็จ ถ้าแม่ไม่ได้ช่วยวางแผนชีวิต หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราต้องใช้เงินกี่บาทในแต่ละเดือน เรื่องผู้ชายก็เหมือนกัน ทำไมหนูถึงอดทนกับความรัก เพราะว่าแม่ก็อดทนกับพ่อเหมือนกัน และหนูก็เชื่อว่า สิ่งที่หนูคิดดีทำดีมาตลอด มันจะทำให้หนูมีความสุขและประสบความสําเร็จ แล้วก็ได้เจอความรักดี ๆ เจอคนดี ๆ…”

#เป็นเด็กที่มีความคิดอะไรได้ขนาดนี้

27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟ ‘กรากาตัว’ ในอินโดนีเซียระเบิดครั้งรุนแรงที่สุด เกิดเสียงดังกึกก้องไกลถึงออสเตรเลีย คร่าชีวิตกว่า 3.6 หมื่นคน

ภูเขาไฟ ‘กรากาตัว’ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวา และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย บนแนววงแหวนแห่งไฟ ภูเขาไฟแห่งนี้เคยระเบิดครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2426 โดยเริ่มจากการระเบิดรุนแรงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 แต่เหตุการณ์ก็สงบ แม้จะมีการระเบิดในระดับไม่รุนแรงอีกหลายครั้งซึ่งไม่มีใครคิดว่านี้เป็นสัญญานเตือนภัย…

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง และการระเบิดระดับกลางติดต่อกันอีกหลายครั้ง และในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ก็เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เถ้าถ่านจำนวนหลายล้านตันบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิด เสียงระเบิดดังกึกก้องไปไกลถึงออสเตรเลีย ผลจากการระเบิดยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 30 เมตร ซากปะการัง, เศษหิน และวัสดุต่าง ๆ ประมาณ 600 ตัน ถูกคลื่นหอบขึ้นฝั่ง มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 36,000 คน

>> ความรุนแรงครั้งนั้นส่งผลกระทบไปไกลเพียงใด

ในประเทศไทยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะดำรงพระยศเป็น ‘พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร’ ทรงบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ใน ‘ประวัติอาจารย์’ (พระนิพนธ์ประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) ซึ่งเคยเป็น เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ) ขณะนั้นพระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และประทับที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน อยุธยา ว่า…

“เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 27 จนถึงวันที่ 30 เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลหลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพานท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯ ไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุผลต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงทราบข่าวว่าภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งละลอกน้ำในท้องทะเลแผ่ไปถึงนานาประเทศ ไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน”

'พีเค' เผยจุดพีกงานพิธีกร แค่ชั่วโมงครึ่งได้ค่าตัว 1 แสนบาท พ้อ!! ไม่คิดอายุ 50 ปี ต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่ ลั่น!! ยังชอบทำงานที่สุด

(26 ก.ย. 67) 'พีเค ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร' ได้ออกมาเล่าถึงการทำงานพิธีกรและเผยจุดพีก ผ่าน Thairath Talk ระบุว่า...ทำงานแค่ 1 ชม.ครึ่ง ได้ค่าตัว 1 แสนบาท แต่ก่อนที่จะมีชื่อเสียงจากการเป็นดีเจ ก็เริ่มมีเงินจากงานอีเวนต์ โดยงานพิธีกรแรกคือเปิดตัวเหล้า ไม่มีค่าตัว ได้ค่าตัวเป็นเหล้า 1 ขวด มิกเซอร์ 2 ขวด

จากนั้นลูกค้าก็พูดกันปากต่อปาก จนค่าตัวเพิ่มจาก 5 พัน เป็น 1 แสนบาท โดยได้เงินเท่าไหร่ ก็เอาไปใช้จ่ายหมด ทั้งบ้าน รถ คอนโด จนถึงตอนนี้ที่ตนอายุ 50 ปี ที่ควรจะเป็นจุดสูงสุดในชีวิต กลับต้องมานั่งนับ 1 ใหม่ แต่โชคดีที่บ้าน รถ คอนโด ผ่อนหมดแล้ว และไม่ต้องห่วงเรื่องหนี้สิน เพราะหากวันนี้ไม่ทำงานก็อยู่ได้ แต่ชีวิตตนชอบทำงานที่สุด

26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ‘ในหลวง ร.7’ ทรงอภิเษกสมรส กับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ พร้อมมีการ 'จดทะเบียนสมรส-แจกของชำร่วย’ เป็นครั้งแรกในสยาม

พระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็นการอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม ซึ่งได้นำแบบอย่างธรรมเนียมการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ มีพิธีการจดทะเบียนสมรสเป็นคู่แรกของสยาม และมีการพระราชทานของชำร่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม ซึ่งเป็นแม่แบบพิธีแต่งงานของไทยที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ถือเป็น ‘พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม’

หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 ความตอนหนึ่งว่า “ให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าได้ กราบทูลสมเด็จแม่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะมีหนังสือกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อทราบพระราชปฏิบัติ ท่านก็ทรงเห็นด้วยกับข้าพระพุทธเจ้า ส่วนเสด็จน้านั้น ท่านรับสั่งว่าท่านไม่ทรงเกี่ยวข้องด้วย เพราะท่านได้ถวายหญิงรําไพไว้ขาดแด่สมเด็จแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แล้ว…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุด ‘ทะเบียนแต่งงาน’ แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเป็น ‘ผู้สู่ขอตกแต่ง’ และ ‘ผู้ทรงเป็นประธานและพยานในการแต่งงาน’ และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ลงพระนามเป็นพยาน รวม 12 พระองค์

นับว่าเป็น ‘ครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์’ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก และยังเป็นแม่แบบของพิธีแต่งงานของไทยยุคใหม่ที่มีการจดทะเบียนสมรส

ในเวลาค่ำ พระราชทานเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาร่วมงาน และได้ทรงพระราชทานของชำร่วย เป็นแหวนทองคำลงยาประดับเพชร ถือเป็น ‘ของชำร่วยวันแต่งงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์สยาม’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top