Saturday, 19 April 2025
TODAY SPECIAL

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

วันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาล ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมภ์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบและทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

9 มีนาคม พ.ศ. 2459 วันเกิด ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ผู้ที่ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลก

9 มีนาคม 2459 วันเกิด 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2558

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีใน ฐานะนักเศรษฐศาสตร์สำคัญของประเทศไทย อดีตเคยเป็นทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย

ขณะที่บทบาททางการเมืองนั้น มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมือง 'ตุลาคม' ทั้งปี 2516 และ 2519 โดยแสดงความกล้าหาญ ในการส่งจดหมายในนาม 'นายเข้ม เย็นยิ่ง' ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายสำคัญๆให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 

ทั้งนี้ สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่อง ดร.ป๋วยว่าเป็น 'บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่' (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2508 ดร.ป๋วย ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ และได้รับการยกย่องจาก องค์กรยูเนสโกให้เป็น บุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558

เปิดประวัติ 'ป๋วย  อึ๊งภากรณ์' 

ดร.ป๋วย เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2459 ที่ตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายซา เป็นชาวจีนอพยพ มารดาชื่อ นางเซาะเซ้ง สำเร็จการศึกษาแผนกภาษาฝรั่งเศส จากโรงเรียนอัสสัมชัญ พระนคร ในปี พ.ศ. 2476 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และในปี 2480 ได้ปริญญา ธรรมศาสตรบัณฑิต 

ดร.ป๋วย เริ่มเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนได้สอบแข่งขันจนได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ ของมหาวิทยาลัยลอนดอนประเทศอังกฤษจนจบปริญญาเอก

ในช่วงที่ศึกษาที่อังกฤษนี้เอง ที่ ดร.ป๋วย ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยกับคนไทยในอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ขบวนการเสรีไทยจัดตั้งขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ) โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย และดร.ป๋วย เคยเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยหลายครั้งแบบเป็นความลับ 

เส้นทางงานด้านเศรษฐกิจ  

ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อปีพ.ศ. 2492  และอีก 4 ปีต่อมาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสภาพเศรษฐกิจแห่งชาติ  และได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ 7 เดือน ก่อนถูกปลดจากเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง 

กระทั่งปีพ.ศ. 2499 ดร.ป๋วย ได้เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศในยุโรปได้มากขึ้น เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ได้รับเลือกเป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ

กระในเวลาต่อมา ดร.ป๋วย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในปลายปี 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งยาวนาน ถึง 12 ปี 

ผลงานของ ดร.ป๋วย ในขณะเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราทำให้เงินบาทได้รับความเชื่อถือทั้งในและนอกประเทศอย่างมาก

'ป๋วย อึ้งภากรณ์' วางรากฐานการศึกษา

ดร. ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2507 โดยจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ซึ่งขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียง 4 คนเท่านั้น ทำให้ดร.ป๋วย ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษา โดยได้ปฏิรูปงานสำคัญ 4 ด้าน 
1. การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี 
2. การผลิตอาจารย์ 
3. เริ่มหลักสูตรปริญญาโท สอนเป็นภาษาอังกฤษ 
4. ริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร

ดร.ป๋วย เร่งผลิตอาจารย์ โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาไม่นาน ผลงานที่เป็นรูปธรรมก็ปรากฎ จำนวนอาจารย์ประจำคณะที่มีเพียงไม่กี่คน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอาจารย์เพิ่มขึ้นนับร้อยในปี 2518 โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก

จุดพลิกผันของชีวิต 

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดร.ป๋วย เผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกบุก นักศึกษาถูกสังหาร ดร.ป๋วยถูกกล่าวหาว่าเป็น 'คอมมิวนิสต์' จนต้องเดินทางออกจากประเทศไปอยู่ประเทศอังกฤษ 

ในช่วง ดร.ป๋วย อยู่นอกประเทศ ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในไทยอย่างสันติวิธี

กระทั่งปีพ.ศ. 2520 ได้เดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา

กระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) สิริอายุได้ 83 ปี ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพและบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม ก่อนที่ครอบครัวอึ้งภากรณ์ นำอังคารของ ดร.ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐิบางส่วนนำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

8 มีนาคม ของทุกปี วันสตรีสากล (International Women's Day) ร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคและเท่าเทียม

วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย

ความเป็นมาของวันสตรีสากล

ประวัติวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ ยังได้รับรองข้อเสนอของ 'คลาร่า เซทคิน' ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

7 มีนาคม พ.ศ. 2327 รัชกาลที่ 1 อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 241 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ 'พระแก้วมรกต' จากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่ง 'พระแก้วมรกต' หรือ 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร' เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต

สำหรับเหตุการณ์เกี่ยวกับ 'พระแก้วมรกต' หลังถูกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันท์ มีเอกสารโบราณหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก เมื่อเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 'พระแก้วมรกต' หรือ 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร' พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างที่เราทราบกันในปัจจุบัน เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 14 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 2327 นับถึงปัจจุบัน (2568) เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 241 ปี

‘มิลลิ’ สุดทนปมถูกเกรียนคีย์บอร์ดหมิ่นประมาทในโซเชียล เตือนครั้งสุดท้าย!! เตรียมจัดการชาวเน็ตเมนต์ด้วยถ้อยคำรุนแรง

มิลลิ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว กรณีถูกเกรียนคีย์บอร์ดหมิ่นประมาทในโซเชียล ท้อจนร้องไห้ วอนคิดถึงใจกันบ้าง – ต้นสังกัดเทกแอ็กชัน ปกป้องศิลปิน

จากกรณีที่ค่าย YUPP! เคยออกแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีการเตือนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่มีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่นด้วยถ้อยคำรุนแรงต่อศิลปิน มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล หรือ 'MILLI' โดยต้นสังกัดขอให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่ยังพบว่าปัจจุบันมีผู้ที่ยังทำพฤติกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ (5 มี.ค.68) ที่ห้อง Sukhumvit โรงแรม Sheraton Grande Sukhumvit ค่าย YUPP! นำโดย 3 ผู้บริหาร ต้าร์ สักกพิช มากคุณ, โจ้ ศวิชญ์ สุวรรณกุล และ ฟลุ๊ค-พลกฤต ศรีสมุทร พร้อมด้วยศิลปิน มิลลิ และ ทนายชัยณรงค์ บุญสันติ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวความชัดเจน ส่งสัญญาณเป็นครั้งสุดท้ายถึงผู้ที่กระทำการดังกล่าว

โดย มิลลิ เผยก่อนว่า “จริงๆ หนูเห็นคอมเมนต์เหล่านั้นมาตลอด เนื่องจากเป็นคนชอบเสิร์ชแฮชแท็กชื่อตัวเอง เพื่อที่จะเข้าไปอ่านคอมเมนต์หรือฟีดแบ็กต่าง ๆ ซึ่งก็จะเห็นทั้งหมดเท่าที่เราพอจะเห็นได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอาจจะทำให้เราเติบโตและจิตใจแข็งแกร่งขึ้น แต่สุดท้ายเวลาเราเจอคอมเมนต์ที่แย่ ๆ มันก็กระทบกับจิตใจเราโดยตรง ตัวหนูเองก็เสียใจเหมือนกัน”

จริง ๆ หนูเป็นคนที่ชอบให้คนเข้ามาติชมผลงาน เพราะจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ว่าในกรณีนี้จะเป็นคำพูดที่กระทบกระเทือนจิตใจพอสมควร เลยอยากจะให้ทุกคนคิดถึงใจหนูบ้าง บางทีถ้ามันแรงเกินไปหนูก็แอบรับไม่ไหวเหมือนกันค่ะ”

“เรื่องคอมเมนต์ในทางเสียหาย จริง ๆ เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ก็จะมีช่วงหนึ่งที่หายไปเพราะว่าหนูไม่ได้ปล่อยผลงานอะไรออกมา แต่พอกลับมามีกิจกรรมอีกครั้ง คอมเมนต์เหล่านั้นก็กลับมาอีก หนูยอมรับว่าคอมเมนต์แย่ ๆ ที่อ่านเจอ ทำให้รู้สึกท้อและเสียใจถึงขั้นร้องไห้ เพราะการร้องไห้มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเบาบางลงได้ในทางด้านอารมณ์”

“แล้วที่หนูผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาได้ก็เพราะคนรอบตัว ทั้งครอบครัวและค่าย หนูมีความเชื่อว่าในขณะที่มีคนไม่ชอบเราก็ยังมีคนชอบเราอยู่ แฟนคลับของหนูก็น่ารักกับหนูมาก ๆ เป็นกำลังใจในทุก ๆ วันไม่ว่าหนูจะสุขหรือเศร้า ที่ผ่านมาได้ก็เพราะพวกเขาด้วยค่ะ”

“หนูเลยคิดว่าวิธีการจัดการในลักษณะวันนี้ที่เกิดการแถลงข่าวขึ้น หรือให้ทางค่ายมาช่วยจัดการเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้ว ตัวหนูเองก็เห็นด้วย เราได้มีการประชุมและไตร่ตรองกันอย่างรอบคอบแล้ว ที่สำคัญหนูยังแฮปปี้กับการทำงานเพลงอยู่ เลยพยายามจะไม่เอาเรื่องพวกนี้มาบั่นทอนตัวเองค่ะ”

“ถามว่าพวกคอมเมนต์แรงๆ ต่าง ๆ มีผลทำให้เราไม่กล้าที่จะโพสต์ความเห็นส่วนตัวลงในโซเชียลอีกไหม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหนูค่อนข้างไตร่ตรองเยอะขึ้นมากๆ ในการที่จะโพสต์อะไรแต่ละครั้ง มันก็อาจจะมีผลกระทบนิดหน่อย ด้วยเพราะว่าเราคิดมากๆ ก่อนที่จะโพสต์อยู่แล้ว แน่นอนว่ามันไม่ได้ลดความเป็นตัวตนของเรา เพราะหนูเชื่อว่าการเป็นตัวตนเราสามารถเติบโตขึ้นได้ เป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดของเราได้ในทุก ๆ วัน หนูรู้สึกว่านอกจากตัวเองจะเติบโตทางด้านจิตใจแล้ว เราก็ควรพัฒนาตัวเองในเรื่องของการคิดก่อนพูดด้วย ซึ่งหนูก็กำลังพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ”

ทนายชัยณรงค์ กล่าวว่า “ทางค่ายเคยมีหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับข้อความที่คนแสดงความคิดเห็น ว่ามีความรุนแรงแบบไหน ลักษณะข้อความที่เกิดขึ้นถามว่ามันเข้าข่ายข้อกฎหมายไหม มันก็มีตั้งแต่เรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท การนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องเรียนว่าทางค่ายและศิลปินเองไม่มีเจตนาที่จะโต้ตอบด้วยความรุนแรง หรือให้เกิดเรื่องเกิดราวกับผู้ที่แสดงความคิดเห็น เพราะว่านโยบายของทางค่ายต้องการสร้างสรรค์เรื่องเพลง นำศิลปินไทยเข้าสู่เวทีโลก”

“แต่ในปัจจุบันเราต้องเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ทำได้ง่ายมาก คลิกเดียวแสดงข้อความออกไปด้วยอารมณ์หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งนี้มันกระทบกระเทือนทั้งค่ายและศิลปิน แล้วถ้ามันไปกระทบคนอื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย คุณเองก็ต้องรับผิดชอบข้อความที่คุณแสดงความคิดเห็นออกไปด้วย ที่ผ่านมาทางค่ายและศิลปินก็พยายามดูข้อความเหล่านั้น ส่วนว่าจะเข้ากรณีไหนตัวค่ายจะเป็นคนพิจารณาและทบทวน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์มันเกิดซ้ำรอยอีก ส่วนมาตรการจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูเป็นแต่ละกรณีไป เพราะทางค่ายไม่ได้มีนโยบายที่จะเล่นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบนั้น”

“สำหรับในเรื่องของการติชม ถ้าเป็นการติเพื่อก่อ ทางศิลปินและค่ายรับได้ แต่ไม่ใช่ว่าติแล้วทำให้คนอื่นดูถูกเกลียดชัง หรือไปด้อยค่าเขาไม่ว่าจะเป็นค่ายหรือศิลปินก็ตามแต่ ตรงนี้เน้นย้ำว่าต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำด้วย เพราะว่าไม่ใช่คุณเห็นคนเดียว แต่คนอื่นเห็นข้อความเหล่านั้นด้วย”

“จริงๆ เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับมิลลิหรือค่าย YUPP! แต่ศิลปินทุกคน ทุกค่าย ดารา และเกือบทุกวงการ เจอกันหมด ถึงอยากย้ำเตือนไว้เวลาคนที่จะทำแบบนี้ต้องเก็บกลับไปคิดว่าสิ่งที่คุณทำมันติดอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายนี้ตามเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าปล่อยนิ่งดูดาย แน่นอนว่าเราอาจจะห้ามคนคอมเมนต์ไม่ได้ แต่อาจจะเป็นเสียงที่เรากำลังจะบอกออกไปให้ฉุกคิด”

ด้าน ต้าร์ สักกพิช หนึ่งในผู้บริหาร เผยว่า “ถามว่าฟางเส้นสุดท้ายคืออะไรถึงต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ปัจจุบันทางค่ายโฟกัสเรื่องงานกับมิลลิมากๆ แล้วเราก็ห่างหายจากการกล่าวโทษกล่าวร้ายคนอื่นในอดีตมานานมากๆ แล้ว เรารู้สึกว่าตอนนี้อยากให้ทุกคนโฟกัสที่งานมากกว่า ส่วนคอมเมนต์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ มันก็อาจจะทำร้ายจิตใจมิลลิได้ ทางค่ายเลยมีความจำเป็นที่ต้องออกมาแอ็กชันในวันนี้”

“ส่วนเดดไลน์หรือมาตรการจริงจังในการจัดการกับเรื่องนี้ก็จะเริ่มพิจารณากันตั้งแต่วันนี้เลย เราอยากแสดงจุดยืนในการเข้ามาปกป้องศิลปิน เพราะที่ผ่านมาค่ายก็เคยมีการชี้แจงออกไปแล้ว แต่อย่างมิลลิบอกว่าคอมเมนต์พวกนั้นก็จะหายไปสักพัก แต่พอเรากลับมาทำงานอย่างเข้มข้นเขาก็จะกลับมาอีก ถามว่าเป็นคนเดิม ๆ ไหม อันนี้ตอบยาก แต่ว่าลักษณะการคอมเมนต์จะคล้าย ๆ เดิม คือไม่ได้เกี่ยวกับงานหรือคอนเทนต์ที่เราปล่อยออกไป แต่ก็คิดว่ามาตรการนี้ที่เป็น Final Warning ของเราก็น่าจะช่วยให้เขาได้คิดมากขึ้น ว่าเรามีแอ็กชันที่มากขึ้นแล้ว”

6 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยม “พสกนิกรภาคใต้” ครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 66 ปีก่อน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกเดินทางประกอบพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6 - 26 มีนาคม พ.ศ.2502 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง จากสถานีหลวงจิตรลดา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2502 เวลา 06.05 น. ระหว่างเส้นทาง ขบวนรถไฟพระที่นั่งได้เคลื่อนผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนสิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมพร เวลา 17.45 น. ณ ที่นั้นนายส่ง มีมุทา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในขณะนั้น พร้อม ข้าราชการตำรวจทหาร พ่อค้าประชาชน เผ้ารับเสด็จฯ ที่สถานีรถไฟชุมพร 

จากนั้นได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ซึ่งทางจังหวัดจัดถวายเป็นที่ประทับแรม และ เสวยพระกระยาหารค่ำ ก่อนเริ่มต้นการเสด็จพระราชดำเนินเป็นเวลา 20 วันด้วยรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินทั่วภาคใต้ 14 จังหวัด

5 มีนาคม ของทุกปี 'วันนักข่าว' หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ จุดเริ่มต้นจากการก่อตั้ง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 16 คน จากหนังสือสำคัญ ระบุว่า "โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้เพิ่มพูนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นทุกที จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดวันที่ระลึกขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ จึงตกลงกันให้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าวและหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับจะถือเอาวันนี้ เป็นประเพณีแห่งการหยุดงานประจำปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2510 เป็นต้นไป"

"ขอให้วันนักข่าวจงเป็นวันแห่งความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นวันแห่งความสามัคคี กลมเกลียวกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเจริญก้าวหน้าของอาชีพหนังสือพิมพ์"

สำหรับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ร่วมลงนาม ประกอบด้วย
- หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
- หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
- หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
- หนังสือพิมพ์ซินเสียง
- หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
- หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
- หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
- หนังสือพิมพ์หลักเมือง
- หนังสือพิมพ์ศิรินคร
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร
- หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
- หนังสือพิมพ์สากล
 - หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
 - หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ส่วนนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือนายโชติ มณีน้อย

4 มีนาคม ของทุกปี วันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) รำลึกวีรกรรมหญิงกล้า ‘ท้าวสุรนารี’ วีรสตรีของไทย

วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) โดยความเป็นมาของวันไทยอาสาป้องกันชาติสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 บรรพชนของไทยได้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ โดยได้สละชีวิต เลือดเนื้อ และหยาดเหงื่อ เข้าปกป้องเอกราชอธิปไตยของแผ่นดิน กล่าวคือ ท้าวสุรนารี วีรสตรีของไทย ได้รวมพลังประชาชนหญิงชายชาวนครราชสีมาจับอาวุธเข้าต่อสู้ขับไล่อริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง แม้จะเป็นเพียงประชาชนพลเมือง และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่า แต่ด้วยจิตใจที่แกร่งกล้าและอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาเอกราชไว้ ทำให้สามารถขับไล่ข้าศึกจนแตกพ่ายไป เหตุการณ์นั้นนับเป็นวีรกรรมที่เสียสละอย่างแท้จริงของประชาชน ที่รวมพลังกันลุกขึ้นต่อสู้กับศัตรูจนได้รับชัยชนะ ทางราชการจึงได้ประกาศ ให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันไทยอาสาป้องกันชาติ” หรือ วัน ทสปช.

ในส่วนของการจัดตั้งไทยอาสาป้องกันชาติ หรือ ทสปช. เกิดขึ้นเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาในประเทศไทย ราษฎรชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการช่วยเหลือของทางราชการ จึงได้ผนึกกำลังเป็นกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นต่อต้าน โดยรวมตัวกันในรูปแบบและเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ไทยอาสาป้องกันตนเอง (ทสป.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (รส.พป.) ราษฎรอาสาและป้องกันชายแดน ราษฎรอาสาสมัครป้องกันผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นต้น

และเพื่อให้กลุ่มราษฎรต่าง ๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้เกิดการจัดตั้งการฝึกอบรม การควบคุมดูแลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลจึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ.2521 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ 4 กันยายน 2521 โดยให้กลุ่มราษฎรอาสาสมัครต่าง ๆ รวมเข้าเป็นรูปแบบเดียวกันเรียกว่า “ไทยอาสาป้องกันชาติ” โดยเรียก ชื่อย่อว่า “ทสปช.”

3 มีนาคม พ.ศ. 2544 เครื่องบินโบอิ้งการบินไทย ระเบิดคาลานจอด ก่อน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จะขึ้นเครื่องเพียงไม่กี่นาที

วันนี้ เมื่อ 24 ปีก่อน เครื่องบินโบอิ้ง 737-4D7 ของการบินไทย เที่ยวบินที่ 114 เกิดระเบิดขึ้นก่อนที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องไม่กี่นาที 

เครื่องบินลำดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น กลางสนามบินดอนเมือง สร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนจำนวนมาก โชคดีของผู้โดยสารที่ยังไม่มีใครขึ้นบนเครื่องบิน จึงไม่มีผู้โดยสารสังเวยชีวิตในครั้งนั้น มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คนอยู่บนเครื่องและในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

เครื่องบินโบอิ้ง 737-4D7 ของการบินไทย เที่ยวบินที่ 114 ที่มีกำหนดการเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2544 เวลา 14.48 น. แต่ปรากฏว่า 35 นาทีก่อนกำหนดการบิน ขณะที่เครื่องจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เกิดการระเบิดขึ้น ผลการสอบสวนพบว่าเกิดการสันดาปที่ถังน้ำมันส่วนกลาง ซึ่งอยู่ใกล้กับระบบปรับอากาศซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความร้อนสูง ขณะเกิดเหตุยังไม่มีผู้โดยสารอยู่บนเครื่อง มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

ทั้งนี้ เที่ยวบินดังกล่าว มีบุคคลสำคัญหลายคนเดินทางไปด้วย รวมทั้งนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และพานทองแท้ ชินวัตร บุตร ซึ่งจะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดศูนย์การค้าสุรวงศ์เซ็นเตอร์ ของ ‘เจ๊แดง’ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่

หลังเกิดเหตุนายทักษิณ แถลงว่า การระเบิดนี้เป็นการก่อวินาศกรรมเพื่อหวังลอบสังหารตนเอง โดยฝีมือของผู้เสียผลประโยชน์ชาวต่างชาติ (ว้าแดง) เนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หลังจากที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของไทยตรวจพบหลักฐานที่เชื่อว่าอาจเป็นร่องรอยของระเบิดซีโฟร์หรือเซมเท็กซ์ (Semtex)

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 เมษายน 2544 คณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (National Transportation Safety Board) ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย แถลงว่า ได้นำชิ้นส่วนไปทดสอบที่ห้องทดลองของเอฟบีไอแล้วไม่พบร่องรอยของวัตถุระเบิด และว่ากรณีนี้คล้ายกับการระเบิดของเครื่องโบอิง 737 ของสายการบินฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของถังน้ำมันเชื้อเพลิง

ภายหลังการระเบิด ท่าอากาศยานในประเทศไทยได้กำหนดมาตรการตรวจสอบผู้โดยสารรัดกุมขึ้น มีการตรวจสอบบัตรประจำผู้โดยสารทุกคนก่อนขึ้นเครื่อง มีการเอกซเรย์กระเป๋า และสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘ไทยคู่ฟ้า’

1 มีนาคม พ.ศ. 2433 รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย

รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา หลังจากที่ทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อทำการสร้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2430 ดังมีพระราชดำริบางตอนว่า “การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้ เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวก....”

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ ซึ่งในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางตอนว่า

"การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปทางเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก"

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงขุดดินถมทางรถไฟหลวงสายแรก

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้แล้วเสร็จบางส่วน ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร พระองค์ทรงตอกหมุดตรึงรางรถไฟกับไม้หมอนและเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เป็นกรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และได้เปลี่ยนขนาดทางกว้างรางรถไฟให้เป็นทางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกในประเทศไทยเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าด้วยกัน

จากนั้นรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีผลใช้บังคับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กรมรถไฟจึงได้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัตินี้

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง จึงได้จัดสร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 ณ บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร และถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top