Sunday, 12 May 2024
TODAY SPECIAL

14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันแห่งความรัก’ หรือ ‘วันวาเลนไทน์’ Valentine's Day วันระลึกถึง ‘นักบุญวาเลนไทน์’ ผู้อุทิศตนเพื่อความรัก

‘วันวาเลนไทน์’ หรือในภาษาอังกฤษ คือ ‘Valentine's Day’ หรือ ‘วันแห่งความรัก’ นั่นเอง และคงเป็นวันที่ใครหลาย ๆ คนรอคอย... โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ตื่นขึ้นมา พร้อมรอยยิ้ม เพื่อเตรียมของขวัญวาเลนไทน์ คำหวาน และข้อความพิเศษ ๆ มอบให้กับคนรักของตัวเอง

สำหรับประวัติหลาย ๆ คนคงสงสัยว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) คืออะไรและเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยเหตุเพราะวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้นเป็นวันเสียชีวิตของนักบุญวาเลนไทน์ หรือเซนต์วาเลนไทน์ นักบุญแห่งความรักนั่นเอง โดยนักบุญวาเลนไทน์ เป็นผู้ริเริ่มการจัดงานแต่งงานในยุคที่ไม่นิยมให้แต่งงานกัน เหตุเพราะในช่วงนั้น โรม ต้องประสบกับสงคราม จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ต้องการเกณฑ์คนไปรบ แต่มีบุคคลจำนวนมากที่มีครอบครัว มีภรรยา มีคนรัก ต่างไม่อยากจะทิ้งครอบครัวไป ทำให้ จักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ตัดสินใจให้ยกเลิกการแต่งงานและการหมั้นทั้งหมดของชาวโรมันในยุคนั้นไปหมด อย่างสิ้นเชิง

แต่นักบุญวาเลนไทน์กลับสวนกระแสของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ชักชวนคู่รักมาแต่งงานหลายต่อหลายคู่ จนโดนจับตัวไปขังเอาไว้ และในคุกที่คุมขังนักบุญวาเลนไทน์นั้น เขาได้พบรักกับสาวตาบอดนางหนึ่ง เมื่อโดนจับได้ นักบุญวาเลนไทน์จึงถูกนำตัวไปประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็น วันวาเลนไทน์ วันที่ผู้คนจะรำลึกถึงนักบุญผู้อุทิศตนให้ความรักนั่นเอง

ทั้งนี้ สัญลักษณ์วันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก คือ เทพเจ้าคิวปิด ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักดั้งเดิมของชาวโรมัน ร่างกายเป็นเด็กทารกติดปีก กำลังโก่งคันศรทองเล็งไปยังหัวใจของผู้คน ตามตำนานของกรีกและโรมันพูดถึงคิวปิดว่า เป็นบุตรของมาร์ (เทพเจ้าของสงคราม) และ วีนัส (เทพเจ้าแห่งความรักและความงาม)  

ตำนานความรักของ เทพเจ้าคิวปิด นั้น ในอดีตเทพเจ้าวีนัสอิจฉา ‘ไซกี’ ธิดาวัยกำลังแรกรุ่นของกษัตริย์องค์หนึ่ง ที่สำคัญคือไซกีสวยกว่าเทพเจ้าวีนัสมาก นางเลยส่งเทพเจ้าคิวปิดไปหาไซกี เพื่อบันดาลให้ไซกีมีความรักกับบุรุษเพศ แต่เทพเจ้าคิวปิดกลับหลงรักไซกีและพามาที่วัง และลอบมาหาในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้ไซกีรู้ว่าตนเองเป็นใคร แต่มีคนยุให้ไซกีแอบดูตอนเทพเจ้าคิวปิดนอนหลับ แต่ด้วยความตื่นเต้นของไซกีที่เห็นเทพเจ้าคิวปิดเป็นหนุ่มรูปงาม เลยเผลอทำน้ำมันตะเกียงหกใส่เทพเจ้าคิวปิด เมื่อเทพเจ้าคิวปิดรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็โกรธมากที่นางขัดคำสั่ง จึงทิ้งนางไป

เมื่อโดนทิ้ง ไซกีก็ออกตามหาเทพเจ้าคิวปิด ซึ่งตลอดเวลาไซกีถูกเทพเจ้าวีนัสกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา จนเทพเจ้าคิวปิดเห็นใจต้องเข้ามาช่วย เทพเจ้าจูปิเตอร์เห็นใจ จึงช่วยให้ทั้งสองได้ครองรักกัน

13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ป่าโบราณ สัญลักษณ์แห่งรักแท้ 1 ในสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะความเชื่อของมนุษย์

13 กุมภาพันธ์ ‘วันรักนกเงือก’ สัตว์ที่ถูกคุกคามเพราะความเชื่อจนใกล้สูญพันธุ์ นำหัวและโหนกมาทำของขลังและเครื่องประดับ

‘นกเงือก’ เป็นสัตว์โบราณสืบสายพันธุ์มานานราว 60 ล้านปี หลายคนอาจรู้จักมันในฉายา ‘สัญลักษณ์แห่งรักแท้’ เพราะนกเงือกเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียวไปตลอดชีวิต หากตัวผู้ที่ออกไปหาอาหารตาย ตัวเมียและลูกน้อยที่รออยู่ในรังก็จะไม่ออกไปไหนและรอจนตัวตายเช่นกัน

นอกจากเรื่องราวความรักที่มีต่อสายพันธุ์เดียวกันแล้ว นกเงือกยังส่งต่อความรักให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นในผืนป่าและมนุษย์ด้วย

โดยการดำรงอยู่ของพวกมันจะช่วยขยายพันธุ์พืชได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกินผลไม้ได้กว่า 300 ชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีขนาดผลใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร ที่นกขนาดเล็กไม่สามารถช่วยกระจายเมล็ดได้ แล้วปลูกเมล็ดด้วยการขับถ่ายและขย้อนออกทางปาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง

นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นผู้ล่าสำคัญของระบบนิเวศป่า จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก อย่างแมลงและหนูได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นกเงือกจึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า

สำหรับในประเทศไทยมีนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิด แต่น่าเสียดาย ที่ ‘นักปลูกป่ามือฉมัง’ อย่างนกเงือก กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์ที่ไล่ล่าหมายหัวพวกมันเพียงเพราะความเชื่อและค่านิยมในการนำหัวและโหนกของนกเงือกมาทำของขลังและเครื่องประดับ ทำให้หลายชนิดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

หากนกเงือกมีจำนวนลดลงหรือสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันรักนกเงือก’ เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ทุกขณะ

ในวันสำคัญนี้จึงถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องช่วยกันปกป้องรักแท้นี้ไว้ ก่อนที่ความรักอันยาวนานของนกเงือกจะจบลงที่ยุคของเรา…

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ มหาบุรุษแห่งดินแดนเสรีภาพ ผู้นำประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง-การเลิกทาส’

12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 วันเกิด ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ อดีตประธานาธิบดีและมหาบุรุษที่ชาวอเมริกันยกย่องนับถือ

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา และรัฐบุรุษชาวอเมริกัน ซึ่งเขาเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำคือ การนำพาประเทศผ่านพ้น ‘สงครามกลางเมือง’ ระหว่างปี 2404-2408 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาความเป็นสหภาพของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ได้ นอกจากนี้ เขายังเป็นต้นแบบใน ‘การเลิกทาส’ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลกลาง ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินให้ทันสมัย

‘อับราฮัม ลินคอล์น’ (Abraham Lincoln) ถูกลอบสังหารด้วยการยิงเข้าที่ศีรษะ โดย ‘จอห์น วิลค์ส บูธ’ ขณะกำลังชมการแสดงที่โรงละครฟอร์ด (Ford's Theatre) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2408

11 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันเสื้อยืดขาว’ รำลึกการประท้วงจ้างงานไม่เป็นธรรม

รู้หรือไม่ เสื้อยืดขาวมีประวัติความเป็นมาสำคัญอย่างไร…ทุกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จะถือเป็นวันเสื้อยืดขาว (White T-Shirt Day) เพื่อรำลึกถึงจุดสิ้นสุดของการประท้วงของพนักงานของบริษัทเจอเนอรัลมอเตอร์ส (General Motors) เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2480 ด้วยวิธีนั่งลงและหยุดทำงานใดๆ โดยสิ้นเชิงภายในบริเวณโรงงาน โดยคนรุ่นหลังสามารถรำลึกถึงวีรกรรมที่ส่งผลดีด้านสวัสดิภาพแรงงานนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้ด้วยการสวมเสื้อยืดสีขาวในวันนี้

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ครบรอบ 70 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ‘กองอาสารักษาดินแดน’

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันอาสารักษาดินแดน’

ทั้งนี้ ‘กองอาสารักษาดินแดน’ มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 นับเป็นเวลายาวนานถึง 70 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกำลังสำรองในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม โดยการรับสมัครจากราษฎรชายหญิงที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ภายใต้สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยแบ่งส่วนราชการกองอาสารักษาดินแดนออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนกลาง มีกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน (บก.อส.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ

2. ส่วนภูมิภาค มีกองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด (บก.อส.จ.) รับผิดชอบการบริหารงานในส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด และกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ (กองร้อย อส.อ.) โดยนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา  

โดยมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ดังนี้

1.) บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทําของข้าศึก
2.) ทําหน้าที่ตํารวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ
3.) รักษาสถานที่สําคัญและการคมนาคม
4.) ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟังและรายงานข่าว
5.) ทําการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกําลังข้าศึก
6.) เป็นกําลังสํารองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกําลังทหารได้เมื่อจําเป็น

นอกจากการทำหน้าที่ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 แล้ว ยังมีหน้าที่ภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายปกครองในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จวบจนวันนี้ 10 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นเวลา 70 ปี ของเหล่าสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกับการทำหน้าที่ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ “ปวงข้าฯ อส. ขอตั้งสัจจา จะปกป้องพารา จนสิ้นใจ” ถือเป็นการทำงานของผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง

9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันพิซซ่า’  อาหารอิตาลีที่โดนใจคนทั่วโลก

รู้หรือไม่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นวันพิซซ่า (Pizza) วันแห่งการร่วมเฉลิมฉลองพิซซ่า อาหารอิตาลีชื่อดังที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล ซึ่งมีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ

พิซซ่า (Pizza) เป็นอาหารอิตาลีและอาหารจานด่วนประเภทหนึ่งที่ชาวอิตาลีเป็นผู้คิดค้น มีลักษณะเป็นแป้งแผ่นกลมแบนราดด้วยซอสมะเขือเทศ แล้วทำให้สุกโดยการอบในเตาอบ โดยในประเทศอิตาลีจะมีการเสิร์ฟพิซซ่าในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การทานในภัตตาคาร ซึ่งจะเสิร์ฟโดยไม่หั่นและจะรับประทานโดยใช้มีดและส้อม ในขณะที่ชาวอิตาเลียนโดยทั่วไป เมื่อรับประทานพิซซ่าในโอกาสที่ไม่เป็นทางการ เช่น ทานกันเองที่บ้าน พิซซ่าจะถูกหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำและนิยมทานโดยใช้มือ

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ พบว่า พิซซ่า ได้รับการบันทึกครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 10 ในบันทึกเอกสารภาษาละติน ณ เมืองกาเอตา (Gaeta) ทางตอนใต้ของอิตาลีในแคว้นลัตซีโอ บนพรมแดนติดกับกัมปาเนีย โดยพิซซ่าสมัยใหม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นในเนเปิลส์ และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

พิซซ่าได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมที่สุดในโลกและเป็นรายการอาหารจานด่วนที่หาทานได้ทั่วไปในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ โดยหาทานได้ง่ายทั้งในร้านที่ขายพิซซ่าโดยเฉพาะ (Pizzerias), ในภัตตาคารอาหารตะวันตกทั่วไป และในรูปแบบของการจัดส่ง (Delivery) ซึ่งหลายบริษัทได้มีการจำหน่ายพิซซ่าในรูปแบบแช่แข็ง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการนำเข้าไมโครเวฟพร้อมทานได้ทันที

ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Associazione Verace Pizza Napoletana (True Neapolitan Pizza Association) ซึ่งได้ก่อตั้งในปี ค.ศ.1984 ได้จดทะเบียนกับสหภาพยุโรปเพื่อรับรองให้พิซซ่าเป็นอาหารที่มีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้ผลิต และในปี ค.ศ.2017 ศิลปะการทำพิซซ่าได้ถูกรวมให้อยู่ในรายการมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ครบรอบ 4 ปี ‘จ่าคลั่ง’ ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช หนึ่งในโศกนาฏกรรม ครั้งเลวร้ายที่สุดของไทย

เรียกว่ายังคงจำฝังใจคนไทย สำหรับเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กรณีจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชาและญาติถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีเข้ามาในตัวเมือง กราดยิงผู้คนตามรายทาง ก่อนเข้าไปซ่อนตัวหลบอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จับบุคคลในห้างเป็นตัวประกัน

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้นเริ่มขึ้น เวลาประมาณ 15.30 น. 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ใช้ปืนยิงผู้บังคับบัญชา คือ พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ อายุ 48 ปี ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี แม่ยายของพันเอก อนันต์ฐโรจน์ ถึงแก่ความตายที่บ้านพักในตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่นายหน้าวิ่งหนีไป จึงถูกไล่ยิงเข้าข้างหลังแต่ไม่เสียชีวิต

จากนั้น จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ไปชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล โดยยิงทหารเวรกองรักษาการณ์ และทหารดูแลคลังอาวุธ มีพลทหารบาดเจ็บ 1 นาย เสียชีวิตอีก 1 นาย ต่อมา จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ขับรถฮัมวีหลบหนีออกไปทางด้านหลังค่าย มุ่งไปทางวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพราะทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาออกไปทำบุญที่วัดป่าศรัทธารวม ได้กราดยิงผู้คนตามรายทางถึงแก่ความตายรวม 9 คน คนร้ายกราดยิงกระสุนนับร้อยนัด โดยยิงคนในรถเสียชีวิตและบาดเจ็บ และยังยิงเด็กนักเรียนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ แถมเดินไปยิงซ้ำอีก จากนั้นมีตำรวจมา 2 นาย ไม่ทันลงจากรถก็ถูกยิงจนพรุนเสียชีวิต แต่ปรากฏว่าได้ทราบว่าภรรยาของผู้บังคับบัญชาไปกินข้าวที่เทอร์มินอล 21 โคราช

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ จึงได้ขับรถเข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกราดยิงผู้คนตามรายทาง และจับผู้คนในห้างเป็นตัวประกัน ทั้งยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิดและเพลิงลุกไหม้ในห้าง

จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ยังถ่ายทอดสดตนเองขณะก่อเหตุลงเฟซบุ๊กของตัวเองอีกด้วย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันถัดมา สรุปมีผู้เสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บ 58 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 32 คน เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย…

7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 ‘พินอคคิโอ’ ภาพยนตร์แอนิเมชันรางวัลออสการ์ ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

พินอคคิโอ (Pinocchio) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของวอลท์ ดิสนีย์ โดยได้ออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 โดยฝีมือการกำกับโดย Ben Sharpsteen

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องพินอคคิโอ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของหุ่นไม้ที่มีชีวิต กับพ่อผู้ยากจนของเขา เจปเปตโต ซึ่งเป็นช่างไม้ โดนลักษณะเด่นของหุ่นไม้มีชีวิตพินอคคิโอ มีที่รู้จักกันดี คือ เมื่อใดที่พูดโกหก จมูกของเขาจะยาวขึ้น

โดยเนื้อเรื่องแต่เดิมนั้น กอลโลดี นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กตั้งแต่แรก เพราะในเนื้อเรื่องดั้งเดิม พินนอคคิโอ ปิดฉากลงด้วยการถูกแขวนคอตาย เนื่องจากทำความผิดนับครั้งไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการแก้ไขในฉบับถัดมา ซึ่งตอนจบนั้น ได้แก้ให้หุ่นกระบอกนั้นกลายเป็นเด็กที่มีชีวิตจริงๆ ซึ่งก็เป็นตอนจบที่เรารู้จักกันดี

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้รางวัลชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์พินอคคิโอ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในตำนาน ที่อยู่ในความทรงจำวัยเด็กและได้กลายเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 ‘โศกนาฏกรรมมิวนิค’ เครื่องบินไถลชนขอบรันเวย์ พรากชีวิตนักเตะปีศาจแดง-เจ้าหน้าที่ รวม 23 ราย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 นักเตะ 8 คน และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ‘ปีศาจแดง’ ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินระเบิดในมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 23 ราย

โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพวกเขาบินกลับจากการแข่งขันกับเรดสตาร์เบลเกรดในเกมยูโรเปียนคัพ ซึ่งเครื่องบินของพวกเขาได้แวะจอดเติมเชื้อเพลิงในมิวนิค และพยายามขึ้นบินท่ามกลางพายุหิมะ ซึ่งนักบินได้ล้มเลิกการขึ้นบินกลางคันแล้ว 2 ครั้ง และในความพยายามขึ้นบินครั้งที่ 3 นี่เองที่ทำให้เกิดหายนะขึ้น เครื่องบินลื่นไถลออกนอกรันเวย์ชนรั้วสนามบินจนเกิดการระเบิด

ผู้โดยสาร 21 รายได้เสียชีวิตทันทีหลังเกิดเหตุระเบิด กัปตันผู้บังคับเครื่องบิน เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ส่วนดันแคน เอ็ดเวิร์ด หนึ่งในนักเตะแมนยูฯ เสียชีวิตหลังเกิดเหตุได้ 15 วัน

ขณะที่ แมตต์ บัสบี ผู้จัดการทีม และบ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งอายุเพียง 20 ปี ในขณะนั้น เอาชีวิตรอดมาได้ และมีส่วนในความสำเร็จครั้งใหญ่ในการสร้างทีมใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง และสามารถคว้าถ้วยยูโรเปียนคัพมาครองได้สำเร็จในอีก 10 ปีต่อมา

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘ถนนเจริญกรุง’ ถนนหลักสายแรกของไทย

‘ถนนเจริญกรุง’ เป็นถนนที่ ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ’ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407 มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น และมีพวกกงสุลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ

ในปี พ.ศ. 2404 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเป็นนายงาน รับผิดชอบในการก่อสร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางคอแหลม เรียกว่าถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แต่ชาวบ้านมักเรียกว่าเจริญกรุงตอนล่าง) กว้าง 5 วา 4 ศอก (ประมาณ 10 เมตร หรือเทียบได้กับถนน 4 เลน) โดยมีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุลเศวตศิลา) เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน

และในปี พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ (สุ่น) เป็นนายงาน รับผิดชอบการก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนใน คือช่วงระยะทางตั้งแต่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถึงสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็กบน) กว้าง 4 วา โดยสร้างเป็นถนนดินอัด เอาอิฐเรียงตะแคงปูให้ชิดกัน ตรงกลางนูนสูง เมื่อถูกฝนไม่กี่ปีก็ชำรุด การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้ เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า นิวโรด (New Road) ชาวจีนเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ซิงพะโล่ว แปลว่าถนนตัดใหม่ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top