Saturday, 11 May 2024
TODAY SPECIAL

3 มีนาคม พ.ศ. 2426 วันคล้ายวันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ’  พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ผู้บุกเบิกทัพฟ้าสยามทัดเทียมนานาประเทศ 

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช (ในรัชกาลที่ 6) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ นริศรราช มหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นรินทร สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณ์พิสุทธิชาติ วิมโลภาษอุทัยปักษ์ อรรควรรัตน์ขัตติยราชกุมาร กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) และขุนบำนาญ วรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้น ในพระบรมมหาราชวังแล้วได้ทรงเข้าโรงเรียนนี้ ทรงศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ครูสอนภาษาอังกฤษ คือ มิสเตอร์วุลสเลย์ และมิสเตอร์เยคอลฟิลค์เยมส์) ครั้นเมื่อพระชนมายุได้ 14 ชันษา คือ ในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรป โดยมี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช เชิญเสด็จไปถึงทวีปยุโรป เมื่อถึงแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ  

ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายร้อยทหารบกของประเทศสยาม แต่คงให้ทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษไปก่อน แล้วจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิรัสเซียได้ขอไว้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2441 จึงได้เสด็จไปประเทศรัสเซีย เพื่อทรงศึกษา ณ โรงเรียนทหารทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ (พลตรี เคานต์ เค็ลแลร์ และ ร.อ.วัลเอมาร์ฆรูล็อฟฟ์) เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวก ดูแลทุกประการ

ในการศึกษานี้ สมเด็จพระจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ 9 ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด 4 ปี เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้น ๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชา เพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น 6 ทีเดียว โดยจัดครูมาสอนในที่ประทับ จากนั้นจึงเข้าศึกษาชั้น 6 และจบชั้น 9 ในปี พ.ศ. 2445 โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 พระองค์ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2448 สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยยิ่ง ทรงแต่งตั้งให้เป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิกับพระราชทานสายสะพาย เซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์ อีกด้วย

ในระหว่างที่ประทับอยู่ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงเษกสมรสกับพยาบาลชาวรัสเซีย ชื่อ คัทรินเดนิตสกี้ และทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ ซึ่งภายหลังได้พระนามว่า พระเจ้าจุลจักรพงษ์

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย ทรงเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2449 และต่อมาในปีเดียวกันทรงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2452 ทรงเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และได้ทรงเป็นเสนาธิการทหารบกในปีเดียวกันพร้อมกับทรงรั้งหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (เปลี่ยนการจัดโรงเรียนทหารบก เป็นกรมยุทธศึกษาทหารบก) จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2456 และในปี พ.ศ. 2453  ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่ นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ บรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างกว้างขวาง ทรงจัดวางแนวทางหลักสูตรการศึกษา โรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง ‘พงศาวดารยุทธศิลปะ’ และเอกสารอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2460 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในการปรับปรุงให้ราชการทหารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถจัดส่งทหารอากาศไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ผลตามพระราชประสงค์ทุกประการ ในปี พ.ศ. 2461 ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2462 ได้โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์ไปเมืองจันทบุรี และบินแสดงให้ประชาชนจังหวัดนั้นชมได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีพระราชดำรัสเป็นการสนับสนุนการบินอย่างเต็มที่ว่า "กำลังในอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียวที่จะป้องกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังประโยชน์อย่างยิ่งในการคมนาคมปกติ" นับว่าพระองค์ ทรงวางรากฐานบนแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในทุกวันนี้

จากพระประวัติโดยสังเขปของพระองค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลม ทั้งด้านการศึกษา และด้านรับราชการ ทรงรับผิดชอบการงานต่างๆ อย่างมากมาย และต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ยากที่จะหาเวลาพักผ่อนได้อย่างพอเพียง จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2463 พระองค์ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปพักผ่อนพระวรกาย พระองค์พร้อมพระชายาและพระโอรส จึงได้เสด็จไปประพาสทางฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แต่เสด็จไปได้เพียง 1 วัน ก็ประชวรไข้ไปตลอดทางจนวันที่ 8 มิถุนายน ถึงสิงคโปร์ พระอาการประชวรยิ่งกำเริบหนักขึ้น จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เวลา 13 นาฬิกา 50 นาที พระองค์ได้เสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ 38 ชันษา 3 เดือน 10 วัน

‘กาย-ฮารุ’ พูดเต็มปาก "ไม่ต้องใช้ความกล้า" พาลูกๆ เที่ยว 3 จว.ชายแดนใต้ หลังความหลากหลาย 'เชื้อชาติ-ศาสนา-ประเพณี' สร้างยิ้ม จนได้มิตรภาพดีๆ กลับบ้าน

(2 มี.ค.67)จากเพจเฟซบุ๊ก 'Guy Haru Family' ของครอบครัวสุดน่ารัก กาย รัชชานนท์ และ ฮารุ สุประกอบ ได้โพสต์ภาพ และข้อความ เล่าเรื่องราวพาลูกๆ เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ระบุว่า รีวิว ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จากคนนอกพื้นที่ 

ก่อนมาเราต้องใช้ 'ความกล้า' ที่จะตัดสินใจพาตัวเองและลูกมา ด้วยข่าว ด้วยเสียงคนรอบข้าง ด้วยมโนภาพว่าจะอันตราย แต่วันนี้เราอยู่ครบ 6 วัน 3 จังหวัด พูดได้เต็มปากว่าเรา 'ไม่ต้องใช้ความกล้า' เพราะที่นี่ 'ไม่ได้น่ากลัว'

ที่นี้คือนิยามของคำว่า 'พหุวัฒนธรรม' สังคมที่มีความหลากหลายในมิติของภาษา เชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ที่คนพื้นที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ และคนนอกพื้นที่แบบเราไม่ต้องกลัว ขอแค่มาด้วยความเป็นมิตร เราจะได้มิตรภาพดีๆ กลับไป

ตรีมอกาเซะ ที่แปลว่า ขอบคุณ ภาษา มลายู

ขอบคุณมากนะคะ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส 

ขอบคุณเพื่อนร่วมทริป หัวหน้านำทาง แวรุง ไปไหน เราเลือกไม่ผิดจริงๆ ที่มาเที่ยวกับแก๊งนี้ ไว้พาหลานมาหาใหม่น้าาา

'กรมพระศรีสวางควัฒนฯ' โปรดเกล้าให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 มาจำหน่าย โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ยากไร้

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทอดพระเนตรการออกร้านจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี นำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อประชาสัมพันธ์ สินค้า OTOP ของดีของจังหวัด 

พระองค์ทรงโปรดให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 และโครงการถักร้อยสร้อยรัก จากร้านค้าในพระดำริ 906 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงออกแบบ มาจำหน่าย อาทิ สร้อยมุก, ต่างหูมุก, เข็มกลัด, กระเป๋า, นาฬิกา, พวงกุญแจ โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ยากไร้ของมูลนิธิจุฬาภรณ์, มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ 

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานี มีการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่ลงทะเบียน OTOP จำนวน 1,669 กลุ่ม ส่วนผลิตภัณฑ์ในชุมชน มีการลงทะเบียนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น รวม 3,406 ผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว ที่เข้าร่วมแสดงสินค้ามี 20 กลุ่ม อาทิ...

กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ ตำบลหมากหญ้า, กลุ่มทอผ้าไหมหมี่ขิดบ้านศรีชมชื่น ตำบลหนองอ้อ, กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง, กลุ่มผ้าไหมแพรวา ของชุมชนภูไทดำจังหวัดกาฬสินธุ์ 

ทั้งนี้ สินค้า OTOP ของจังหวัดอุดรธานี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการทางความคิด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาภูมิปัญญาไทย ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้สร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของจังหวัดอุดรธานีด้วย

1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา’ จังหวัดน่าน ตามติดโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่ให้ ‘กินดี-อยู่ดี’

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีนายโชติ ตาชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ นายนิทรรศ เวชวินิจ  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จังหวัดน่านเฝ้าฯ รับเสด็จ

โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่คณะทำงานศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ และโอกาสนี้นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปลูกป่าร่วมกับไม้เศรษฐกิจแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ โรงเรียน-บ้านสบปืน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่บ้านสบปืน การแก้ปัญหาสารพิษ และการปรับพื้นที่นาขั้นบันได บ้านห้วยกานต์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

อย่างไรก็ตาม บ่อเกลือเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพหลัก คือ การปลูกข้าวไร่และการหาของป่า เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตามไหล่เขาลาดชัน อีกทั้งยังทําไร่หมุนเวียนต้องถางและเผาป่า ส่งผลให้ป่าไม้ ดิน และน้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังประสบปัญหาสุขภาพอนามัย มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

จนเมื่อปีพ.ศ. 2542 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น ณ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกระดับรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชน

‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ พระราชทานสิ่งของแก่ ‘อาสาสมัครทหารพราน’ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-ยิงปะทะ จ.นราธิวาส

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพราน นาวิกโยธินที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ขณะทำการลาดตระเวนบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านยะลูตง ตำบลกาเยาะมาตรี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ดังนี้

- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐพล ชนะเกียรติ
- อาสาสมัครทหารพราน ดิฐวัฒน์ พุดหอม
- อาสาสมัครทหารพราน กฤษณะ แก้วมณี
- อาสาสมัครทหารพราน วัชรศักดิ์ ชูหอย
- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐวัฒน์ มณีพันธ์

โดยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ’ในหลวง ร.10‘ ทรงมีพระราชดำริให้ ‘จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน’ หวังส่งมอบความรู้เบื้องต้นแก่ ‘ข้าราชการ-ประชาชน-จิตอาสา’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพและพลานามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน จัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) แก่ประชาชนทั่วไป ที่โรงละคร สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า โดยมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับมอบอุปกรณ์ฝึกสอนการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 220 ชุด ซึ่งประกอบด้วย

- หุ่นจำลองช่วยฟื้นคืนชีพผู้ใหญ่ - แบบครึ่งตัวมีไฟแสดง จำนวน 100 ชุด
- หุ่นจำลองเด็ก จำนวน 100 ชุด
- ชุดฝึกสอนการสำลัก Anti Choking ( Choking Training Vest) จำนวน 20 ชุด

จากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยแพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งอุปกรณ์ฝึกสอนฯ ดังกล่าว บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับพระราชทานไปใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรมการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานเบื้องต้นให้กับ ข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา โดยมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการฝึกอบรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการกองทัพไทย บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ’ในหลวง ร.10‘ พระราชทานถุงยังชีพแก่ราษฎร 35 ครอบครัว หลังประสบอัคคีภัย ณ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทาน (เครื่องครัว เครื่องนอน) ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัยบริเวณชุมชนบ้านครัวตะวันตก ซึ่งได้เกิดเหตุอัคคีภัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 00.27 น. ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 8 หลังคาเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 35 ครอบครัว ณ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในโอกาสนี้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสความห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวกับราษฎรให้ได้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ในหลวง ร.10 พระราชทานสิ่งของช่วยเหลืออาสาสมัครทหารพราน หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด จ.ยะลา

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ กันทะนิต และนางสาวมายูรี เจะตือเร๊ะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดชุดลาดตระเวนตามแผนพิทักษ์ยะลา 623 (ฉก.ยะลา) บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ที่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่อาสาสมัครทหารพราน ธีระวัฒน์ และนางสาวมายูรี อย่างหาที่สุดมิได้

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ ผู้ทรงพระราชกรณียกิจสำคัญ 8 ด้านเพื่อแผ่นดินสยาม

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ถือเป็นพิธีสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เหตุการณ์ครั้งสำคัญในอดีตถูกบันทึกลงในสื่อหลายประเภทให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษา ในที่นี้ยกตัวอย่างด้วยการย้อนกลับไปที่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 7

โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลำดับการพระราชพิธี ตั้งแต่ขั้นการเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

ช่วงเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

- การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
- การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก
- การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก
- พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
- การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ
- การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
- การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 2’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ‘ยุคทองของวรรณคดี’

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ มีพระนามเดิมว่า ‘ฉิม’ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ของสยามในสมัยราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 46 ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรสร่วมกัน 3 พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 40 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว

ถึงปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติ อาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ หริสกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณ อกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

โดยรัชสมัยของพระองค์ทรงสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง รัชสมัยของพระองค์เป็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวีหลายคนในราชสำนัก และพระองค์เองก็มีชื่อเสียงในฐานะกวีและศิลปิน กวีที่โดดเด่นที่สุดในราชสำนักคือสุนทรภู่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top