Saturday, 11 May 2024
TODAY SPECIAL

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ เปิดทางเดินรถไฟสายแรกของสยาม เส้นทาง ‘กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ’ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ครบรอบ 131 ปี เปิดทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์คจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

ต่อมาวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ และจากนั้นวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี และหลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

10 เมษายน พ.ศ. 2455 ‘ไททานิค’ เรือที่ไม่มีวันจม ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ ก่อนชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งจนอับปางในอีก 5 วันต่อมา

เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค (RMS Titanic) เรือยักษ์ใหญ่ที่มีความหรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ขนาดที่คนเชื่อกันว่าเรือลำนี้ ‘ไม่มีวันอับปาง’ ได้ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

หลังเดินทางออกจากเซาแธมป์ตันในวันที่ 10 เมษายน 2455 (ค.ศ. 1912) ไททานิค แวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่เมืองเชอร์บูร์ก ที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาแธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิค เกิดความเสียหาย น้ำได้ทะลักเข้าไปในเรือ แล้วได้เปิดห้องกั้นน้ำทั้งหมด แต่ทว่า ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ทำให้ผนังกั้นน้ำชั้นที่ 4 ไม่สามารถทนทานแรงดันน้ำได้ จึงส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ

โดยน้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ผู้ชายจำนวนมาก กว่า 90% ในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือ เพราะระเบียบ ‘ผู้หญิงและเด็กก่อน’ ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิคแตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการแช่อยู่ในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก

ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คนเท่านั้น ที่ถูกช่วยเหลือด้วยเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พา เธีย (RMS Carpathia) อุบัติเหตุในครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักความปลอดภัยในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้นแค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวของลูกเรือจากเซาแธมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่หลั่งไหลเข้ามา

9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ พร้อมกำหนดให้วันนี้ในทุกๆ ปีเป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2464 กระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศ มิได้เป็นกำลังเฉพาะในด้านยุทธศาสตร์ทางทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้แก้ไขการเรียกชื่อจาก กรมอากาศยานทหารบกเป็น 'กรมอากาศยาน' และเป็น 'กรมทหารอากาศ' ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลง เครื่องแบบจากสีเขียว มาเป็นสีเทา ดังเช่นในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะ ‘กรมทหารอากาศ’ เป็น ‘กองทัพอากาศ’ ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2479 ตราไว้ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ในมาตรา 9 ได้กำหนดผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศไว้ว่า ‘กองทัพอากาศ มีผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับบัญชาดำเนินกิจการ’ และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540 กองทัพอากาศ ได้ออกประกาศกองทัพอากาศ เรื่อง วันที่ระลึกกองทัพอากาศ และวันกองทัพอากาศ โดยได้กำหนดให้ วันที่ 27 มีนาคม เป็น ‘วันที่ระลึกกองทัพอากาศ’ และวันที่ 9 เมษายน เป็น ‘วันกองทัพอากาศ’

ทั้งนี้ กองทัพอากาศไทย เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองทัพอากาศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกองทัพอากาศหน่วยแรกของโลกเพียง 4 ปีเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นกองทัพอากาศที่ก่อตั้งเป็นลำดับแรก ๆ ของเอเชีย และมีวีรกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นมากมายในช่วงกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส ปัจจุบันมีกองบัญชาการอยู่ที่เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และภายในปี พ.ศ. 2554 หลังจากได้รับมอบฝูงบิน Gripen กับเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศจากบริษัท Saab และการปรับปรุงครึ่งชีวิตให้กับฝูงบิน F-16A/B ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับรุ่น C/D กองทัพอากาศไทยจะมีอิทธิพลทางอากาศมากเป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ในแง่ของขีดความสามารถและความทันสมัยของอากาศยาน

โดย ภารกิจของกองทัพอากาศนั้น มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักร และดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

8 เมษายน พ.ศ. 2537 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว’ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก สร้างผลประโยชน์ในด้าน ‘เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม’ ของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว ทรงเป็นประธานทำพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก เชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว

ทั้งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเท้า 2 ช่องทาง และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537

นอกจากนี้ สะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า ‘ขัวมิดตะพาบ’

7 เมษายน พ.ศ. 2562 ‘ในหลวง ร.10’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ “ขอให้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเอง-ส่วนรวม”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 1

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราโชวาท โดยมีความว่า “ขอให้บัณฑิต นำวิชาความรู้ที่เรียนมานั้น นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนเมตตาธรรม และความตั้งใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนตนเองได้ต่อไป”

6 เมษายน พ.ศ. 2325 ‘ในหลวง ร.1’ เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พร้อมก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงปัจจุบัน

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นสยามได้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 10 รัชกาล

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกชาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซมและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

5 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนคร แล้วประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเมื่อถึงงานพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอิสริยยศเมื่อประสูติว่า ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ โดยพระนามของพระองค์มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่

- สร้อยพระนาม ‘สิริ’ มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- สร้อยพระนาม ‘วัฒนา’ มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา
- พระนาม ‘อุบลรัตน’ มีความหมายว่า บัวแก้ว มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า ‘เป้’ อันเป็นคำลดรูปของคำว่า ลาปูเป (ฝรั่งเศส: La Poupée ตุ๊กตา) ส่วนพระราชวงศ์และบุคคลอื่น ๆ จะเรียกพระองค์ว่า ‘ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่’ ส่วนพระอนุชาและพระขนิษฐาจะเรียกพระองค์ว่า ‘พี่หญิง’

พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่า งๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ

4 เมษายน ของทุกปี ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ พระราชทานให้วันนี้เป็น ’วันภาพยนตร์แห่งชาติ‘ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยร่วมตระหนักถึงคุณค่าของ 'ภาพยนตร์ไทย'

วันภาพยนตร์แห่งชาติตรงกับวันที่ 4 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาพยนตร์ไทย เพราะภาพยนตร์ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมบ้านเราได้ดีที่สุด

สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือเรื่อง 'นางสาวสุวรรณ' เข้าฉายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาภาพยนตร์ออกมาเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ได้มีงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทย ที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดขึ้นมา เพื่อมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผลิต เช่น รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลพระสุรัสวดี รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง และอื่น ๆ อีกหลายรางวัล

3 เมษายน พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ฯ จ.กาญจนบุรี บรรเทาความเดือดร้อนคนไทยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ตามพระราชดำริ ‘ในหลวง ร.9’

จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบกับมีการขยายตัวของชุมชน ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ระบบประปาที่มีอยู่เดิมไม่สามารถจ่ายน้ำได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงแหล่งน้ำจากผิวดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลทำให้ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ระยะแรก 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พิจารณาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พร้อมกับก่อสร้างระบบประปาบาดาลในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยจัดทำโครงการต้นแบบ จำนวน 2 พื้นที่ คือ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับ ‘โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง’ เพิ่มเติม ระยะที่ 2 จำนวน 18 โครงการ ครอบคลุม 10 จังหวัด และระยะที่ 3 จำนวน 14 โครงการ ครอบคลุม 14 จังหวัด รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้น้อมนำพระบรมราโชบายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ไปดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

๒ เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top