Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

‘พีระพันธุ์’ มอบนโยบาย กฟผ. ย้ำ!! แม้ไม่ใช่ข้าราชการ 100% แต่ต้องยึดประโยชน์ของชาติและประชาชนสำคัญเหนืออื่นใด

เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ณ สำนักงานกลาง กฟผ. และมอบนโยบายแก่คณะกรรมการ กฟผ. และผู้บริหารระดับสูง ในการดูแลระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ

“มันก็จะเป็นประวัติของพวกเราเองว่า เราได้ทําหน้าที่ให้กับพี่น้องประชาชน เราได้ทําหน้าที่ให้กับบ้านเมืองแล้ว เราเป็นรัฐวิสาหกิจ เราไม่ใช่ข้าราชการ 100% แต่ภารกิจหน้าที่ก็ไม่ได้ต่างกัน นั่นคือทําเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ เราเป็นผู้ที่ต้องแบก ผมเข้าใจว่าในการบริหารองค์กรแบบนี้ท่านต้องเอาองค์กรให้รอดด้วย แต่อย่าลืมว่าเหนือสิ่งอื่นใดคือประโยชน์ของประชาชน ของประเทศชาติ เราต้องแบก” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center: REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center: DRCC) ก่อนเดินทางด้วยรถบัส EV ไปยังศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center : NCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้โรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ตั้งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

'ม.ล.ชโยทิต' ผู้อยู่เบื้องหลังดีลบริษัทระดับโลกลงทุนไทย คีย์แมนดึงนักลงทุน 'ยุคลุงตู่' ที่ 'ลุงนิด' เลือกมาช่วยถูกเวลา

(27 มี.ค.67) 6 เดือนของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หลังเข้ารับตำแหน่ง ‘หัวหน้ารัฐบาล’ ประกาศตัวเป็น ‘เซลส์แมน’ เดินสายโรดโชว์ไปทั่วโลกหลังจากหลับใหลมา 9 ปีเต็ม 

ตัวเลขส่งเสริมการลงทุนปี 66 มีคำขอ 8.5 แสนล้านบาท 2,300 โครงการ สูงที่สุดในรอบ 9 ปี โดยช่วงไตรมาสสี่ (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2566 เทียบกับตัวเลขไตรมาสสี่ของปี 2565 มูลค่าขอรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 145 %   

ด้าน ‘ม.ล.โชทิต กฤดากร’ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ประธานผู้แทนการค้าไทย 1 ใน 2 คีย์แมน ที่ติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรีพบปะผู้นำมหาอำนาจ 14 ประเทศ นักธุรกิจระดับโลก 60 บริษัท ซึ่ง ม.ล.ชโยทิต ได้คุยนอกรอบและบอกถึง ‘จุดเด่น’ ที่ทำให้นักลงทุนหันกลับมามองไทยเป็นประเทศน่าลงทุน

โดยข้อดีของประเทศไทยมี 2 เรื่อง 1.การเกิด Trade war ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต และ 2.พลังงานสะอาด    

“ข้อได้เปรียบประเทศไทย คือ พลังงานสะอาด ไม่มีใครสู้ได้”

“ถ้าตั้งใจทำดี ๆ เราไม่แพ้ชาติไหนในโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เราเคยเป็นแชมป์ จะไปเสียแชมป์ง่ายๆ ได้อย่างไร เพียงแต่เราไม่ได้ชก หลับไปแปบหนึ่ง”

“ไม่ถึงกับหลับไป 9 ปีหรอก เผอิญเรามายุ่งกับเรื่องในประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจพอไปได้ ท่องเที่ยวยัง Ok แต่ไม่ก้าวกระโดด”

>> Land of no conflict

ม.ล.ชโยทิต ไม่ปฏิเสธว่า ไทยได้รับอานิสงส์จาก ‘สงครามการค้า’ ทำให้วันนี้หลายบริษัทที่ไปตั้งอยู่ในจีน ถ้าเป็นค่ายตะวันตกต้องย้ายฐาน

“เราเป็น Land of no conflict ไม่มีความขัดแย้ง ชายแดนเราไม่ติดกับมหาอำนาจ เราสนิททั้งจีน ทั้งอเมริกา คุณไปสู้ที่อื่นไม่เป็นไร แต่ที่นี่ ค้าขาย ไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร”

ทว่า ม.ล.ชโยทิต ก็ได้ชี้ ‘จุดอ่อน’ ของประเทศไทยว่า “เรากันเองไม่รักชาติ เราชอบด้อยค่าประเทศของเราเอง”

สำหรับ ‘ทำเลทอง’ ที่ ‘นักลงทุน’ สนใจลงทุนอยู่ในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ ม.ล.ชโยทิต ได้เล่าคอนเซ็ปต์ให้ฟังว่า ต้องการกระจายให้ไปทั่วทุกภูมิภาค ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในพื้นที่อีอีซี

โดยให้กระจายไปหลาย ๆ ภูมิภาค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงอยากให้ไปอยู่ในภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูนมีความเสถียรของชั้นหิน และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สนามบิน หรืออุตสาหกรรมฮาลาลในภาคใต้ พยายามจะไปเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ใต้ 

“พื้นที่ใดที่มีแหล่งพลังงานสะอาดใช้ได้หมด จะเป็นการกระจายอุตสาหกรรม กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ”

>> เบื้องลึกปิดดีลบริษัทยักษ์ระดับโลก

การปิดดีลบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นการ ‘ต่อยอด’ จากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ความแตกต่าง คือ การที่ ‘ผู้นำรัฐบาล’ เดินทางไปต่างประเทศด้วยตัวเอง ทำให้ได้พบกับ เบอร์ 1 ของบริษัทระดับโลก

อดีตผู้แทนการค้าไทย - หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอา ชี้ ‘จุดเด่น’ ของการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศด้วยตัวเอง ว่า “ความมั่นใจต่างกัน” 

“ธรรมดาเวลาผมไปในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกสมัยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้เจอแต่รองประธาน เบอร์ 3 เบอร์ 4 ไม่ได้พบกับเบอร์ 1 เหมือนนายกรัฐมนตรีไปเอง”  

“ท่านนายกฯ นั่งอยู่ด้วย ท่านชัดเจน ท่านเป็นนักธุรกิจมาก่อน เวลาเขาขออะไรมา อะไรได้ อะไรไม่ได้ ไม่มี อารัมภบท ไม่มีรำ นี่คือสิ่งที่เขาติดใจ ความเด็ดขาด ความรวดเร็ว ไม่ต้องรอละเลียด เดินได้เดิน”

“วันนี้ตัวเลขกลับขึ้นมามากกว่า 9 ปีที่แล้ว Q1 มากกว่า Q 1 ปีที่แล้ว 1 เท่า ปีนี้จะเอาให้ถึงล้านล้านคำขอ ลงทุนจริงก็ต้องมา ถ้าไม่มีคำขอลงทุนก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง”

ส่วนปัจจัยอะไรที่ทำให้คำขอไม่เป็นไปตามแผนลงทุน-ไม่มาตามนัด ม.ล.ชโยทิต บอกว่า คือ “ความเชื่อมั่นคนไทยในประเทศตัวเอง”

>> แย้มเทสล่าลงทุนในไทย 

กระแสข่าวบริษัทเทสล่า (Tesla) ไม่มาลงทุนในไทย เนื่องจากกฎระเบียบ-กติกาไม่เอื้อ เช่น การจัดหาเนื้อที่ 2,000 ไร่ ในการตั้งโรงงาน จึงเกิดคำถามว่า ‘ยักษ์ใหญ่อีวี’ สัญชาติสหรัฐฯ จะมาลงทุนในไทยหรือไม่

ม.ล.ชโยทิต จึงเดิมพันด้วยเลี้ยงข้าว-ก๋วยเตี๋ยวชามเดียว พร้อมกับระบุว่า พูดไม่ได้ ไปพูดก่อนจะมาไหม ต้องรอให้เขาประกาศก่อน เหมือนกับ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) เป็นคนประกาศเองว่ามีแผนลงทุนในไทย 200,000 ล้านบาท  

“คนจะมาลงทุนจะมาเที่ยวป่าวประกาศ ไม่ใช่ ไม่ใช่การทำงานสไตล์พวกเรา พวกเราทำงานจนให้เขาประกาศเอง เป็นมารยาทสำคัญ”

“ของพวกนี้ต้องใช้เวลา ไม่ได้เปิดปุ๊บติดปั๊บ”

ม.ล.ชโยทิต เฉลยเหตุผลที่ ‘เศรษฐา’ เรียกใช้งาน แม้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง-สวมหมวกอดีตรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไฮปาร์คเข้าใส่กันดุเดือด ยืนอยู่คนละขั้ว-คนละข้างกับพรรคเพื่อไทย 

“นั่นมันตอนหาเสียง การเมืองก็คือการเมือง หาเสียงก็คือการหาเสียง ตอนนั้นเราสวมหัวโขนคนละแบบกัน”

“ผมกับท่านนายกฯ รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่และปู่ย่าเป็นเพื่อนกัน ผมรู้จักท่านนายกฯ ดี เกิดมาผมก็รู้จักท่านนายกฯ แล้ว และท่านนายกฯ ก็เป็นเพื่อนของพี่สาวผมด้วย”

ทั้งนี้ ‘เศรษฐา’ เป็นบุตรของ ‘ร.ท.อำนวย ทวีสิน’ กับ ‘ชดช้อย ทวีสิน’ สกุลเดิมคือ ‘จูตระกูล’ ขณะที่ ‘ม.ล.ชโยทิต’ เป็นบุตรของ ‘ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร’ กับ ‘ท่านผู้หญิงวิยะฎา กฤดากร ณ อยุธยา’ โดยมี ‘ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี’ เป็นพี่สาว  

การเรียกใช้บริการเสริม ‘ม.ล.ชโยทิต’ ผู้บุกเบิก-กรุยทางดึงดูดนักลงทุนตั้งแต่ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกฝา-ถูกตัว ไม่ผิดคน 

‘กัลฟ์’ ผนึกกำลัง ‘ซันโกรว์’ จัดหาระบบกักเก็บพลังงาน ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เดินเครื่อง ปี 67-73

(27 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) จับมือ บริษัท ซันโกรว์ พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (Sungrow) หนึ่งในผู้จัดหาอินเวอร์เตอร์และระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ลงนามในสัญญาจัดหา (Master Supply Agreement) ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage Systems) และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PV Inverter) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) โดยมีแผนทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567-2573

สำหรับการลงนามสัญญาในครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นจิเนียริ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (บริษัทที่ GULF ถือหุ้นร้อยละ 100) และ Sungrow เพื่อจัดหาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ และระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms with Battery Energy Storage Systems) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftops) ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์และบริษัทในเครือ รวมกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ (MWp) 

โดยมีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF และ นายเฉา เหรินเซียน ประธานกรรมการบริหาร Sungrow เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GULF และนายซู เยว่จื้อ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Sungrow ร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัท ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รวมถึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ GULF ในการคัดสรรพันธมิตรชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มั่นใจได้ถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบกักเก็บพลังงานและระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่ง Sungrow เป็นผู้นำในธุรกิจอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ระดับสากลด้วยประสบการณ์กว่า 27 ปี ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงที่สุด (Tier 1) 

อีกทั้งยังมีปริมาณการขายระบบอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ขนาดการติดตั้งมากกว่า 405 กิกะวัตต์ ในกว่า 170 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสเปน นอกจากนี้การจัดซื้ออุปกรณ์ในปริมาณมากยังเพิ่มประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ส่งผลให้ GULF บริหารจัดการต้นทุน และดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ผลงาน ‘Bio PCM’ จาก ‘EBI’ บริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ คว้า ‘BUSINESS+ PRODUCT INNOVATION AWARDS 2024’

(26 มี.ค. 67) นายจีรพันธ์ ปัญญาตนันท์ Executive Vice President สายงานปฏิบัติการธุรกิจไบโอดีเซล บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับรางวัล BUSINESS+ PRODUCT INNOVATION AWARDS 2024 ในสาขาผลิตภัณฑ์ กลุ่มยานยนต์และพลังงานทดแทน จากผลงาน EA Bio PCM โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นุรักษ์ มาประณีต องคมนตรีและประธานในพิธี  ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายจีรพันธ์ กล่าวว่า อีเอ ไบโอ อินโนเวชั่น หรือ EBI เป็นบริษัทย่อยของ EA สร้างสรรค์ Bio PCM (Bio Based Phase Change Material) ซึ่งผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะ นวัตกรรมที่ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดสินค้าและบริการแห่งปี ในกลุ่มยานยนต์และพลังงานทดแทน โดย EA Bio PCM ได้จดสิทธิบัตรเป็นรายแรกของโลก ผลิตภัณฑ์เน้นการใช้อนุพันธ์ปาล์มน้ำมัน วัตถุดิบจากในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ที่สำคัญ EBI ยังได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยต่อยอดการลงทุนในธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ไปสู่น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) โดยเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพใช้สำหรับเครื่องบิน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับน้ำมันเครื่องบินที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน EA Bio PCM มีการถูกนำไปใช้ในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการทั้งด้านสุขภาพ วัสดุประหยัดพลังงาน รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและการก่อสร้าง, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์, เป็นต้น โดยได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนเป็นหลัก พร้อมขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และ อเมริกา เพื่อใช้เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมอุณหภูมิของวัสดุ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าทำให้เกษตรกรปาล์มและแรงงานในพื้นที่ให้มีรายได้ดีขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนสู่การพัฒนาชุมชนในทุกมิติ สนับสนุนตามนโยบายภาครัฐสู่ Bio Hub ของอาเซียน

“EBI มีความตั้งใจพัฒนานวัตกรรมสินค้า ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รางวัล BUSINESS+ PRODUCT INNOVATION AWARDS 2024 จากผลงาน EA Bio PCM ถือเป็นความภาคภูมิใจให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ อีกทั้งยังสามารถขยายไปในอุตสาหกรรม Cold Chain Logistic เพื่อลดการใช้พลังงานในระบบควบคุมอุณหภูมิของการขนส่งสินค้า ให้สามารถรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อันเป็นการยกระดับมาตรฐานการขนส่ง สร้างความปลอดภัย มั่นใจในคุณภาพ” นายจีรพันธ์กล่าวทิ้งท้าย

เปิดข้อบ่งชี้สำคัญ!! เหตุใดหลังโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ตอบ : ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

(26 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'LVanicha Liz' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

พฤติกรรมพร่ำบ่นคำว่าทศวรรษที่สูญหาย (the lost decade) กรอกหูประชาชนในทำนองที่น่าจะเป็นการดิสเครดิตการบริหารสองสมัยสองระบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเกิดจากการไม่มีความรู้เทคนิคการประเมินผล (รวบยอดประเมิน vs แยกประเมิน) หรืออาจเกิดจากความจงใจใช้ผลกระทบเสียหายจากวิกฤติโควิด (รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน) มาบิดเบือนหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ฯลฯ

สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากจะวิจารณ์ ‘8-9 ปีที่ผ่านมา’ อย่างเผ็ดร้อนแล้ว ก็ยังได้แสดงอาการวิตกห่วงใยอย่างมาก ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของไทยไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน แล้วเลยทำท่าคล้ายจะพาลพาโลว่าเศรษฐกิจวิกฤตจนต้องสร้างหนี้เพิ่มให้ประเทศถึงห้าแสนล้านบาท เอามาให้คนกินๆใช้ๆ โดยหวังว่าจะทำให้ตัวเลข GDP กระโดดขึ้นสู่เป้าหมาย 5% จนบุคลากรระดับสูงด้านเศรษฐกิจการเงินของชาติจำนวนมากต้องออกโรงคัดค้านกันจ้าละหวั่น 

ในความเป็นจริง เพียงดูตัวเลข GDP growth บนแกนเวลา ก็พบข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน (อ้างอิงภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’ และภาพขยาย)
https://www.macrotrends.net/global-metrics/countries/THA/thailand/gdp-per-capita 
หมายเหตุ : GDP ในโพสต์นี้ ใช้ตัวเลข per capita (ต่อจำนวนประชากร) เพื่อตัดผลกระทบจากอัตรา

การเพิ่มจำนวนประชากรที่แต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน (อ้างอิงภาพอัตราการเติบโตของประชากร)        

ข้อบ่งชี้สำคัญที่แสดงในกราฟของ macrotrends.net แสดงว่า อัตราการเติบโตของ GDP ไทย 8-9 ปีหรือทศวรรษที่ผ่านมา แบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) และช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยมีการบริหารประเทศคนละระบบ มีปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่างกัน และมีผลการดำเนินงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามหลักการจึงควรต้องแยกประเมิน

ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) เป็นระบบที่บริหารโดยคณะรัฐประหาร ไม่มีฝ่ายค้าน การเติบโตของ GDP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (contrast กับผลงานรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย ที่การเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่องมาจนติดลบ)

ส่วนช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) เป็นระบบที่บริหารโดยมีฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ (หลักๆ ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล) การเติบโตของ GDP ก็ตกต่ำลงอย่างชัดเจน (อ้างอิงส่วนขยายของภาพ ‘ข้อบ่งชี้สำคัญ !! …’) จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของ GDP จากสูงขึ้นกลายเป็นต่ำลงนั้น เกิดพร้อมกับการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน และคงความตกต่ำอยู่ตลอดช่วงการคงอยู่ของฝ่ายค้าน

เมื่อพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนปลง GDP ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) จากกราฟเปรียบเทียบ (อ้างอิงภาพ GDP per capita ของ ID, PH, TH, VN) สังเกตได้ว่า

1. วิกฤติโควิดทำให้ GDP ของทั้งสี่ประเทศตกลงในปี 2020 เหมือนกันหมด

2. ช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นช่วงการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.) นอกจากไทยจะมี GDP per capita สูงที่สุดใน 4 ประเทศแล้ว ตัวเลขของไทยยังไต่สูงขึ้นโดยมีความชันมากกว่าทั้งสามประเทศอีกด้วย แสดงถึง #ศักยภาพในการบริหารที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

3. หลังจาก GDP ตกต่ำลงในปี 2020 ประเทศเพื่อนบ้านสามารถฟื้นฟูยอด GDP กลับขึ้นสู่ระดับก่อนโควิดได้ทั้ง 3 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนโควิดที่ คสช. ทำไว้ได้ ข้อแตกต่างของการดำเนินงานจากช่วงก่อนหน้าโควิด หลักๆคือการเปลี่ยนระบบการบริหารประเทศไปเป็นแบบเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายค้านเข้ามามีบทบาททั้งในและนอกสภาฯ

การมีฝ่ายค้าน มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบงบประมาณ ฯลฯ แต่หากฝ่ายค้านใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ (เช่น แทนที่จะสนับสนุนระบอบการปกครอง กลับมาตั้งหน้าตั้งตาล้มระบอบการปกครอง แทนที่จะเปิดเผยความจริงต่อประชาชน กลับบิดเบือนหลอกหลวงประชาชน ฯลฯ) หรือศักยภาพไม่เพียงพอ (ดังที่ปรากฏภายหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด ว่ามีพรรคฝ่ายค้านที่กำหนดนโยบายหาเสียงแล้วต้องยอมรับหรือถูกตรวจพบในทันทีหรือไม่นานหลังจากได้รับเลือกตั้ง ว่าทำไม่ได้) ฝ่ายค้านก็จะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไม่ได้เท่าที่ควรแม้ฝ่ายบริหารจะมีศักยภาพก็ตาม

สรุปว่า macrotrends.net ได้ช่วยแสดงข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับประเด็น #เหตุใดหลังวิกฤติโควิด GDP ไทยเพิ่มไม่สูงเหมือนเพื่อนบ้าน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (เลือกตั้ง) โดยชี้ให้เห็นได้ว่า ... ฝ่ายค้านในสมัยนั้นอาจจะเป็นตัวถ่วงความเจริญตัวสำคัญ

ณ เวลานี้ ฝ่ายค้านดังกล่าว 1 พรรค (เพื่อไทย) ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2023 เราจึงจะได้เห็นต่อไป ว่าอัตราการเพิ่ม GDP ของรัฐบาลใหม่นี้ แม้เพียงทำให้ได้เท่าที่ คสช. เคยทำไว้ จะทำได้หรือไม่ และเมื่อใด

อย่าให้สรุปได้ว่าทศวรรษที่สูญหายเริ่มต้นปี 2023 ก็แล้วกัน       

ผลสำรวจความพึงพอใจผู้ใช้บริการ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ 1/2567 ‘บริการ-ตรงเวลา-คุณภาพ-สะดวก’ อยู่ในเกณฑ์ ‘พึงพอใจมาก’

(26 มี.ค. 67) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้สำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารในการใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ประจำปี 2567 ครั้งที่ 1 เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูล และเข้าถึงความต้องการของผู้โดยสาร สำหรับนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสำรวจและวิจัย เป็นผู้ออกแบบ และลงพื้นที่สำรวจความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการทั้ง 13 สถานี 

โดยผลปรากฏว่าจากคะแนนเต็ม 5 ผู้โดยสารมีความพึงพอใจด้านการให้บริการ 4.48, ด้านความปลอดภัย 4.46, ด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.38, ด้านการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล 4.45, ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีและในขบวนรถ 4.36, ด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.38 ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเป็นอย่างมาก

การที่ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารที่มีต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับพึงพอใจมาก แสดงให้เห็นว่าผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปัจจุบัน หลังจากได้ดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบาย มาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับการให้บริการ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะมาตรฐานการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ขอบเขตการปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัย และวิศวกรรมซ่อมบำรุง จากหน่วยรับรอง Bureau Veritas (BV) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการตรวจประเมินและออกใบรับรองในด้านคุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในระดับโลก

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการอย่างเต็มความสามารถ

โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม Facebook Fan Page, Twitter, Instagram, Youtube, Tiktok พิมพ์ชื่อ ‘RED Line SRTET’

'รมว.ปุ้ย' ชวนคนไทยซื้อหาสินค้ามาตรฐาน 'สมอ.' รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด 25-29 มี.ค. ณ สมอ.

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ ว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำการมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้าด้วยการกำกับ ดูแล คุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจที่สำคัญทั้งการกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ตลอดระยะเวลา 55 ปี สมอ. ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม และคุ้มครองประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน สมอ.ได้พัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ สมอ. มีการดำเนินงานมาครบรอบ 55 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จึงได้จัดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม’ ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ สมอ. ครบรอบ 55 ปี และสืบทอดเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐาน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยนำผู้ประกอบการกว่า 50 ราย 92 บูธ ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐาน ในราคาโรงงาน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด 20 - 50% ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม ลำโพง เครื่องเสียง หลอดไฟ โคมไฟ ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงค์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมี รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ภาชนะเมลามีน ภาชนะพลาสติก ภาชนะเทฟลอน ของเล่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำตาลทราย รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และงานบริการที่ได้รับการรับรอง มอก. S จึงขอเชิญชวนประชาชนมาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพมาตรฐานภายในงาน รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด ตั้งแต่วันที่ 25 - 29 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 - 18.00 น. ณ บริเวณโดยรอบอาคาร สมอ. ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ (เยื้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)

EEC เปิด 'ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี' นำร่อง!! สร้างกลไกมีส่วนร่วมชุมชน เชื่อมประโยชน์การลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชนอย่างยั่งยืน

(25 มี.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับนายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และนายวีกิจ มานะโรจน์กิจ นายอำเภอบางละมุง เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเสมือนตัวแทน อีอีซี ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ให้กับชุมชนในอำเภอบางละมุง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ซึ่งเป็นกลไกหลักและเป็นตัวแทนของ อีอีซี ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะช่วยเป็นแกนกลางในการผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานสำคัญในปัจจุบัน ในการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนมาสู่การพัฒนาพื้นที่ และชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มพลังสตรี อีอีซี ที่ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงสำคัญสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีได้อย่างทั่วถึง และถือเป็นช่องทางสำคัญในการรับฟังความคิดเห็น และรับฟังข้อมูล เกี่ยวกับอีอีซี รวมถึงจะสนับสนุนให้กลุ่มพลังสตรี อีอีซี ได้รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึง สกพอ. ก็มีกิจกรรมในการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ

เพื่อให้เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเตรียมความพร้อมการนำประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่ให้สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของคนที่มาทำงานใน อีอีซี มีศูนย์กลางในการพบปะทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

สกพอ. ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่องในชุมชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลดอยร็อต ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี รวมกว่า 600 คน เป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และร่วมกับอีอีซี ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่ตั้ง ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่สะท้อนความโดดเด่นด้านการทำนาด้วยภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเขตพื้นที่ ต.หนองปลาไหล มีพื้นที่นาประมาณ 190 ไร่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีพื้นที่ทำนาลดลง แต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์และสืบสานอาชีพการทำนา ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวด้านการเกษตร ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้ อาทิ ทดลองดำนา เกี่ยวข้าว ชมดนตรีพื้นบ้าน ทดลองทำอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น

GAC AION เปิดตัวรถไฟฟ้า AION Y Plus 410 Premium เคาะราคาน่าสน 'ต่ำล้าน' ตั้งเป้าทะยานผู้นำตลาด EV ไทย

(25 มี.ค.67) บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า GAC AION อย่างเป็นทางการ ขอแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด AION Y Plus 410 Premium ราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ 859,900 บาท ทางเลือกใหม่ของรถยนต์เอสยูวีไฟฟ้าสุดคุ้มค่า ที่มาพร้อมฟีเจอร์และฟังก์ชันช่วยเหลือการขับขี่อัจฉริยะครบครัน ตอกย้ำความเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

นอกจากนี้ AION Y Plus 490 Premium ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ยังมาพร้อมราคาพิเศษ และของสมนาคุณมากมาย เฉพาะในงาน Motor Show 2567 เท่านั้น

AION Y Plus 410 Premium รถเอสยูวีไฟฟ้า ออกแบบมาเพื่อตอบรับทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต มอบสุนทรียภาพในการขับขี่และการโดยสาร โดดเด่นด้วยดีไซน์ภายนอกที่ดูล้ำสมัย พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งโดยสารสะดวกสบายในทุกตำแหน่ง มาพร้อมมิติตัวถังขนาดใหญ่ ด้วยความยาว 4,535 มิลลิเมตร ความกว้าง 1,870 มิลลิเมตร ความสูง 1,650 มิลลิเมตร และมีความสูงใต้ท้องรถ 150 มิลลิเมตร

AION Y Plus 410 Premium ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 150kW ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า และแรงบิด 255 นิวตัน-เมตร พร้อมด้วยแบตเตอรี่เทคโนโลยี Magazine Battery ขนาด 50.66 kWh มอบระยะทางวิ่งสูงสุด 410 กิโลเมตร

AION Y Plus 410 Premium มาพร้อมกับระบบช่วยเหลือการขับขี่และฟีเจอร์ความปลอดภัยมากมาย อาทิ…

>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC with Stop&Go)
>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
>> ระบบแจ้งเตือนก่อนการชนด้านหน้า (FCW)
>> ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB)
>> ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ (TJA)
>> ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
>> ระบบช่วยรักษาช่องทางเดินรถ (LKA)
>> ระบบเบรกมือไฟฟ้า (EBP)
>> ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ Auto Brake Hold
>> ภาพพาโนรามา 360 องศารอบตัวรถ
>> ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้างคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า และม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง

นอกจากนี้ AION Y Plus 410 Premium ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์อำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ…

>> ระบบจ่ายไฟฟ้าสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก VTOL
>> เบาะนั่งคนขับปรับด้วยระบบไฟฟ้า 6 ทิศทาง
>> เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับด้วยระบบไฟฟ้า 4 ทิศทาง
>> ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย
>> ระบบนำทางและฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ต
>> ระบบสั่งการด้วยเสียงรองรับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
>> ระบบควบคุมรถระยะไกลผ่านแอปพลิเคชัน
>> ไฟสร้างบรรยากาศภายในห้องโดยสาร 32 สี รองรับการเปลี่ยนแปลงตามจังหวะดนตรี

AION Y Plus 410 Premium มีสีภายนอก 7 สี ได้แก่ Lucky Gold, Vitality Green, Speedy Silver, Liberty Ash, Elegant Gray, Pure White, Glamour Black และสีทูโทนทั้งหมด 3 สี ได้แก่ Lucky Gold with Black Roof, Vitality Green with Black Roof และ Pure White with Black Roof พร้อมด้วยสีภายในห้องโดยสาร 5 สี ได้แก่ Enchanted Forest, Fairy Wonderland, Rosy Coastline, Azure Ocean และ Subtle Lavender

พิเศษ!! สำหรับลูกค้าที่จองรถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus 410 Premium และ AION Y Plus 490 Premium ภายในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 7 เมษายน 2567 จะได้รับโปรโมชันและสิทธิประโยชน์ ดังนี้...

*** AION Y Plus 410 Premium ราคาจำหน่าย 859,900 บาท
>> ฟรี!! ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี
>> ฟรี!! Home Charger พร้อมค่าบริการติดตั้ง
>> ฟรี!! ฟิล์มรถยนต์รอบคัน
>> ฟรี!! พรมปูพื้น
>> ฟรี!! ค่าจดทะเบียน

*** AION Y Plus 490 Premium ราคาพิเศษ 949,900 บาท (โปรพิเศษ เฉพาะในงานมอเตอร์โชว์ 2024: เมื่อรับรถภายใน 30 เมษายน 2567 และขึ้นทะเบียนเปลี่ยนเป็นป้ายขาวภายใน 31 พฤษภาคม 2567)
>> ฟรี!! ชุดแคมปิ้งสุดล้ำ ประกอบด้วย สายชาร์จ VTOL, เตียงเบาะลม, เต็นท์ และสายชาร์จฉุกเฉิน
>> ฟรี!! ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี
>> ฟรี!! Home Charger พร้อมค่าบริการติดตั้ง
>> ฟรี!! ฟิล์มรถยนต์รอบคัน
>> ฟรี!! พรมปูพื้น
>> ฟรี!! ค่าจดทะเบียน

ทั้งสองรุ่น รับเพิ่ม!!!
>> ฟรี!! รับประกันชิ้นส่วนไฟฟ้าหลัก (แบตเตอรี่ไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้า, และอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า) 8 ปีหรือ 200,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน)
>>ฟรี!! รับประกันคุณภาพตัวรถ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน)
>> ฟรี!! บริการช่วยเหลือฉุกเฉินฟรีตลอด 24 ชั่วโมง นาน 8 ปี

พร้อมรับข้อเสนอสินเชื่อพิเศษ ดอกเบี้ยเริ่มต้น 1.98% หรือเลือกผ่อนสบาย 84 เดือน หรือเลือกดาวน์น้อยเพียง 5% เท่านั้น 

‘จุลพันธ์’ แง้ม!! 10 เมษา ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ชัดเจน ยัน!! ประชาชนได้ใช้เงิน 1 หมื่น ไม่เกินสิ้นปี 67

(25 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงข่าวรายละเอียดความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า คณะอนุกรรมการในการเสาะหาความจริงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ได้ดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว ได้เตรียมนัดหมายประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ โดยมีไทม์ไลน์ชัดเจนขึ้นทุกวัน 

ในภาพใกล้ ๆ นี้ 27 มีนาคม จะนัดหมายคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทำเนียบ เพื่อที่คณะอนุกรรมการในการเสาะหาความจริง จะมารายงานเรื่องความคืบหน้า และสิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ตอบคำถามมาแล้ว ได้มีการส่งคำถามไปไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ประชาชน หอการค้า สภาอุตฯ ส่งคำตอบกลับมาเกือบครบถ้วน แต่ยังเปิดให้ตอบถึง 29 มีนาคมนี้ โดยจะนำความคืบหน้า รายงานที่ประชุม ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. เข้าที่ประชุม รับทราบ และมอบหมาย นำเสนอ โดย ก.คลัง เรื่องปัญหาที่เกิดต่าง ๆ หากลไกเดินหน้า ให้ คกก.ได้รับทราบหลังจากนั้น มอบหมายให้ส่วนงานดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึง คกก.ขับเคลื่อน มาประชุม และสรุปส่ง คกก.ชุดใหญ่

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการชุดใหญ่ สรุปรายละเอียดโครงการทั้งหมด เงื่อนไขทั้งหมด ส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณา เห็นชอบ เดินหน้าต่อไป โดยขณะนี้กรอบการทำงาน พิจารณารอบคอบแล้ว ทั้งกรอบกฎหมาย ตัวเงิน และเทคนิค ระบบต่าง ๆ คร่าว ๆ 

ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีการลงทะเบียน ร้านค้า ประชาชน ระบบค่อนข้างพร้อมแล้วในช่วงนั้น ขณะที่ไตรมาส 4 ก่อนสิ้นปี จะมีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้ถึงมือประชาชนทุกคน อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

นายจุลพันธ์ย้ำว่า ในวันที่ 10 นี้ จะชัดเจนทุกอย่าง ยืนยันเดินหน้า ถึงมือประชาชนภายในปีนี้ สำหรับเงื่อนไขนั้น คิดว่าไม่ได้เปลี่ยน กรอบเดิม 50 ล้านคน แต่มีรายละเอียดเล็กน้อย ที่ต้องรอมติของที่ประชุมก่อน

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการ คนชนข่าว ทางช่องTNN เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67

ต้นทุนราคาน้ำมันถ้าเราไม่รู้ต้นทุน เราจะรู้ได้ไงว่าราคามันควรจะเป็นเท่าไหร่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ให้สัมภาษณ์ในรายการ คนชนข่าว ทางช่องTNN เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67

‘รมว.ปุ้ย’ ห่วงใย เอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สั่งการ SME D Bank เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในพื้นที่

(23 มี.ค.67) ตามที่ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ในช่วงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ SMEs ในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายได้รับความเสียหาย นั้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และเร่งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านที่กระทรวงสามารถให้ได้

“เบื้องต้น ทราบข้อมูลจากหน่วยงานในพื้นที่ว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รู้สึกเป็นห่วงและเห็นใจผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยได้มอบให้ SME D Bank กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบและสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทุกราย สำหรับในส่วนของ SME D Bank สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียายา ด้านการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อ Soft Loan พิเศษ แก่ผู้ได้รับผล กระทบ ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สามารถเข้าไปช่วยเหลือในด้านเทคนิค การตลาด และเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเร่งให้ทุกหน่ายในสังกัดกระทรวง บูรณาการกับพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"

‘WHA Group’ ปลื้ม!! กระแสตอบรับยอดจองหุ้นกู้ล้นเกินเป้ากว่า 3 เท่า ตอกย้ำ!! การเป็นผู้นำในด้าน ‘โลจิสฯ-นิคมอุตฯ-สาธารณูปโภค-พลังงาน’

(22 มี.ค.67) บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group เสิร์ฟข่าวดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากสร้างออลไทม์ไฮสูงสุด 2 ปีติดต่อกันเป็นประวัติการณ์สำหรับผลประกอบการปี 2565 และปี 2566 และล่าสุด WHA Group ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในการออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 มูลค่าเสนอขาย 5,000 ล้านบาท + Greenshoe 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท ตอกย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม อีกทั้งยังสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ โครงสร้างทางการเงินที่มั่นคง และแผนการขยายธุรกิจที่ชัดเจนและยั่งยืน

ด้านประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group ‘จรีพร จารุกรสกุล’ มั่นใจสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ สำหรับปี 2567 และเดินหน้าพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญคือการบรรลุเป้าหมายที่จะเป็น Technology Company อย่างเต็มตัว ด้วยกลยุทธ์ AI Transformation มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ยกระดับการดำเนินงานด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคงความเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อยอดโครงการ Digital Transformation ที่มีอยู่กว่า 38 โครงการ 

ทั้งนี้ 4 กลยุทธ์สำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในปี 2567 ประกอบด้วย Extend Leadership เร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในประเทศและตลาดภูมิภาค Embrace Innovation and Technology นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-curve ให้กับองค์กร Enhance the Prominence on Green and Sustainability เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (Net-Zero 2050) และ Build High-Performance Organization ด้วยการพัฒนายกระดับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยมด้วยยอดจองล้นเกินเป้ากว่า 3 เท่า สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ของบริษัทฯ มูลค่า 5,000 ล้านบาท + Greenshoe 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท หลังจากที่เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2567 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 3 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี โดยการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวได้แบ่งเป็น 3 ชุด โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 จำนวน 2,500 ล้านบาท มีอายุ 3 ปี 6 เดือน หุ้นกู้ชุดที่ 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี และหุ้นกู้ชุดที่ 3 (หุ้นกู้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย/Zero Coupon Bond) จำนวน 2,500 ล้านบาท อายุ 2 ปี 7 เดือน 30 วัน โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และประเทศโดยรวม สำหรับเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินไปชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน/เงินลงทุน/ค่าใช้จ่ายลงทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ A- แนวโน้ม ‘คงที่’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ จากผลงานที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้า/โรงงานตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit Warehouse/ Factory) และธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานรายได้ประจำจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากธุรกิจสินทรัพย์ให้เช่า ตลอดจนธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) อีกด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ทุบสถิติใหม่สร้างออลไทม์ไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกปี ซึ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จจากความมุ่งมั่นของการเป็นผู้นำใน 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม บริษัทฯ วางกลยุทธ์ปี 2567 เพื่อมุ่งต่อยอดพันธกิจ ‘We Shape the Future’ เสริมศักยภาพทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจให้แข็งแกร่งครบวงจร

ธุรกิจโลจิสติกส์  มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และขยายธุรกิจในการพัฒนาโครงการ Built-to-Suit และคลังสินค้า/โรงงานคุณภาพสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อีคอมเมอร์ซ และอุตสาหกรรมที่เป็น New S-curve นอกจากนี้ยังเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการส่งเสริมแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมีโครงการ Green Logistics ซึ่งจะมีการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาแอปพลิเคชันที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว รวมถึงการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน 

สำหรับ Office Solutions บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานที่ทันสมัย ปัจจุบันมีโครงการอาคารสำนักงานให้เช่า 5 แห่ง พื้นที่รวมมากกว่า 120,000 ตารางเมตร และเริ่มขยายสู่โครงการพาณิชยกรรมรูปแบบใหม่ๆ

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม มุ่งรักษาความเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการย้ายฐานทุนและฐานการผลิตที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการแบบครบวงจร  

ธุรกิจสาธารณูปโภค ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมใหม่ๆ ของ WHA และนอกนิคมของ WHA ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเดินหน้าพัฒนา Smart Water Platform และมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ โซลูชันสิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมอื่น มุ่งพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ที่ครบวงจร

ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งการหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพื่อสร้าง New S-Curve อาทิ สถานีชาร์จ EV รองรับธุรกิจ Green Logistics ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS : Battery Energy Storage Systems) การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS)

ธุรกิจดิจิทัล เดินหน้ายกระดับการพัฒนาองค์กรและบุคลากรของบริษัทฯ มุ่งสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยเดินหน้าในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้ภารกิจ ‘Mission To The Sun’ ผ่าน 9 โครงการในการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล อาทิ โครงการ Green Logistics ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวมบริการต่างๆ (Geen Mobility Platform) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เป็นต้น และโครงการ Digital Health Tech ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน WHAbit ที่ช่วยให้สามารถจัดการสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งทางบริษัทฯ มีแผนเริ่มต้นการให้บริการแอปพลิเคชันแก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ตั้งเป้าดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593 ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ Design & Resource, Green Products และ Operation Excellence เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบนิเวศของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมแผนการขายทรัพย์สินของบริษัทฯ เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (กองทรัสต์ WHART) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล (กองทรัสต์ WHAIR) ภายในไตรมาส 4/2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้

สุดท้ายนี้ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในทุกด้านเพื่อการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจ ‘WHA: WE SHAPE THE FUTURE’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top