‘วินท์ สุธีรชัย’ โยนคำถามถึงสังคมไทย – อุตสาหกรรมก่อสร้าง ถึงเวลาหรือยังที่ต้องแบนเหล็กเส้น T ที่ผลิตจากเตาหลอมแบบเก่า

(2 เม.ย. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” Ep. 2: เหล็กจีนตีเหล็กไทยตาย

ช่วงปี 2560 ประเทศจีนประกาศไม่ให้ใช้เหล็กเส้น T หรือ Temp Core จากโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Induction Furnace (IF) โดยให้เหตุผลว่าเตาหลอมเหล็กประเภทนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของประเทศจีน

ช่วงปี 2560-2561 จึงเป็นช่วงที่โรงงานเหล็กในจีนย้ายเครื่องจักรที่ใช้อยู่แล้วในประเทศจีนมาติดตั้งในประเทศในแถบอาเซียนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย ในช่วงเวลานั้นโรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Electric Arc Furnace (EAF) ที่ว่ากันว่ารักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าและเนื้อเหล็กสะอาดกว่า

เหล็กเส้น T จากเตา IF ที่ทุนจีนมาประกอบการในไทยเริ่มตีตลาดในประเทศไทยได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะราคาถูกกว่าเหล็กเส้น Non-T ที่รีดด้วยเตา EAF จนปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่ในไทยใช้เหล็กเส้น T เป็นหลัก

แต่หากจะบอกว่าเหล็กเส้น T ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้เลยก็ดูจะเป็นการกล่าวร้ายกันเกินไป เนื่องจากประเทศไทยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมีดินที่ค่อนข้างนิ่มและไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวอาคารที่มีความสูงไม่มาก เช่น อาคาร 1-3 ชั้น ใช้เหล็กเส้น T ก็ไม่มีผลกระทบอะไร

แต่เราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้:
ประเทศไทยควรจะแบนเหล็กเส้น T จากเตา IF เหมือนประเทศจีนหรือไม่? 
ถ้าเราแบนเหล็กเส้น T อาคารขนาดเล็กแพงขึ้นค่าครองชีพคนไทยแพงขึ้น คุ้มหรือไม่?
หากไม่แบน เราจะคุมไม่ให้ใช้เหล็กชนิดนี้ไม่ให้ใช้ผิดประเภทอีกได้อย่างไร?

ผมว่า คนๆเดียวคงไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ควรจะมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเราควรจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะความเสี่ยงแผ่นดินไหวที่ในอดีตที่ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้… ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต… ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาหาคำตอบเรื่องนี้ร่วมกัน