Saturday, 26 April 2025
วินท์สุธีรชัย

‘วินท์ สุธีรชัย’ ชี้!! ไฟไหม้รถบัสลามเร็วเหตุจากถังก๊าซอยู่ใต้รถ ยกเคสต่างประเทศส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ด้านบนตัวรถ ช่วยให้ปลอดภัยกว่า

(2 ต.ค.67) นายวินท์ สุธีรชัย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า รถบัสมรณะ ต้องไม่เกิดขึ้นอีก!! พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุใด เปลวไฟถึงลามจากกลางรถ? 

ทำไม…ไฟถึงลามด้วยความรวดเร็ว? ทำไม…ไฟถึงเริ่มติดจากประตูกลางรถทำให้เด็กและครูหนีออกจากประตูกลางรถไม่ได้?

โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกกัน NGV หรือ CNG เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศ ทำให้เวลาเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติจะลอยขึ้นบน ยิ่งเวลามีแรงดันอัดเข้าไปในถังแรงดันจะทำให้ก๊าซเผาไหม้ไฟจะพ่นออกมาเป็นแท่งไฟที่สูงเหมือนจากเครื่องบินเจ็ท

เนื่องจากรถที่เกิดเหตุติดถังก๊าซอยู่ใต้รถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟจึงเริ่มต้นลามจากใต้ห้องผู้โดยสารและลามไปสู่ข้างบนซึ่งเป็นห้องผู้โดยสารที่คุณครูและเด็กๆนั่งอยู่ ยิ่งถังติดใกล้ประตูทางออกยิ่งทำให้หนีออกจากรถไม่ได้

ในต่างประเทศ รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะติดถังเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ด้านบนของตัวถังรถ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ไฟก็จะพุ่งไปบนฟ้าไม่ใช่พุ่งไปห้องโดยสาร

ดังนั้น รถบัสที่ติดก๊าซธรรมชาติควรจะพิจารณาได้แล้วว่า ควรเปลี่ยนการติดตั้งไปอยู่ด้านบนรถหรือไม่? หรือเราจะใช้ชีวิตเหมือนนั่งอยู่บนเตาแก๊สแบบเดิม?!?!

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้น หวังว่าทุกหน่วยงาน ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการความปลอดภัยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

‘วินท์ สุธีรชัย’ ร่วมแชร์ประสบการณ์ “คิดอย่างไรให้ทันโลก” กับแนวคิดแห่ง ‘ความสำเร็จ’ แม้แต่ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า ‘เป็นไปไม่ได้’

(19 มี.ค. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะสตีล จำกัด (มหาชน) กรรมการ คณะปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน กล่าวภายในสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 “AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยได้ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ “คิดอย่างไรให้ทันโลก” ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ จะทำอย่างไร จึงจะตามโลกให้ทัน 

โดยนายวินท์ ได้หยิบยกเครื่องมือ 3 อย่างที่จะใช้รับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกตัวอย่างการทำงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเริ่มจากโครงการผลิตท่อยานยนต์ ซึ่งในอดีตการจะเข้าใส่อุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องยาก และมักจะมีคำพูดว่า คนไทยไม่สามารถทำท่อยานยนต์ได้ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในมือของบริษัทญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ และบริษัทญี่ปุ่นจะซื้อสินค้ากับญี่ปุ่นกันเองเท่านั้น 

แต่สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ ภายใต้บริษัท อิน-เทค สตีล จำกัด โดยปัจจุบันสามารถเจาะตลาดผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เกือบทุกบริษัท โดยเฉพาะเหล็กยึดที่พิงศีรษะที่ผลิตส่งให้กับโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานต์ด้วย

สำหรับโครงการที่สอง ที่ทำได้สำเร็จ คือ การผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนหน้าแคบในนาม บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ 3 ในประเทศไทย ที่สามารถผลิตได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะเจอกับคำพูดว่า “เป็นไปไม่ได้” แต่เราก็สามารถทำได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีบริษัทในประเทศไทยสามารถผลิตได้เลยในรอบ 20 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิ วิน วิน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ในขณะนั้น ได้ช่วยตรวจเอทีเค ให้กับประชาชนไปกว่า 12,000 คน ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้อย่างมาก และช่วยดูแลรักษาคนที่ติดโควิดอีก 1,100 คน พร้อมส่งต่อเคสหนัก ๆ ไปยังโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ นายวินท์ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ว่า  ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการทำนายอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้จะนำบทเรียนในอดีตมาศึกษาและคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน โดยมีเหตุการณ์ที่เกิดข้อผิดพลาดมาแล้วมากมายในอดีต ดังนั้น เราจะต้องมีเครื่องมีที่จะเป็นตัวช่วยให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเราจะไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

โดยเครื่องมือที่ว่านั้นมีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1. ค้นหาความจริง 3. เน้นปัจจัยสู่ความสำเร็จ และ 3. Simple Rules หรือ กฎง่าย ๆ และจะวนอยู่ใน 3 ข้อนี้

สำหรับการค้นหาความจริงนั้น คือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในความจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จ โดยต้องแยกให้ออกว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือเป็นเพียง ความเห็น (Opinion) ยกตัวอย่าง ตอนที่เริ่มธุรกิจท่อยานยนต์ ซึ่งได้เจอข้อคิดเห็นที่ว่า บริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้นและเครื่องจักรต้องเป็นยี่ห้อญี่ปุ่น แต่เมื่อไปสำรวจในข้อเท็จจริงกับบริษัทญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่นที่พร้อมให้ข้อแล้ว ทำให้พบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยบริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทที่วางใจ โดยไม่สนว่าจะเป็นบริษัทไทย หรือบริษัทสัญชาติไหน ขอเพียงได้รับความไว้ใจ และสินค้านั้นมีคุณภาพ

หลังจากได้ความจริง ขั้นต่อไปคือ การไปหาปัจจัยสู่ความสำเร็จ และความเป็นไปได้ โดยพยายามจับทีละปัจจัย ก้าวทีละขั้น สุดท้ายเป้าหมายที่ดูใหญ่ก็จะสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง ท่อยานยนต์ที่บริษัทฯ ผลิตมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ คุณภาพสินค้า ความตรงต่อเวลา และความสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำพาไปสู่ ความไว้วางใจ จากนั้นจะต้องหาปัจจัยที่จะชนะคู่แข่ง เช่น ต้นทุนการผลิต และบริการที่ดีกว่า เป็นต้น 

ต่อจากนั้น นำเอาทั้ง 2 ส่วน มาตั้งกฎในการทำงาน โดยยึดหลัก กฎง่าย ๆ แต่ต้องได้ผลกว่ากฎจำนวนมาก ยกตัวอย่าง กฎง่ายๆ ของบริษัทฯ ผลิตท่อยานยนต์ที่ทำสำเร็จมาแล้ว นั่นก็คือ 1.ทำทุกอย่างเหมือนเจ้าตลาดญี่ปุ่น 2.ราคาถูกกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น และ3.บริการดีกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ หากสร้างความเข้าใจกับคนจำนวนมาก อาจจะเป็นพันคน ก็จะสามารถนำพาบริษัทประสบความสำเร็จได้

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนั่นก็คือ การลงทุนในการทำเหล็กรีดร้อน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท แต่ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเหล็กรีดร้อนหน้าแค่ ลงทุนแค่เพียงไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น จากนั้นแก้ปัญหาในแต่ละจุด กระทั่งทำได้สำเร็จ

โดยมีกฎง่าย ๆ นั่นคือ 1.เน้นเป้าหมาย ไม่เน้นวิธีการ 2. ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน และ 3.ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง ทำดีต้องมีรางวัล และหากทำไม่ดี ก็ต้องมีบทลงโทษ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

ส่วนการช่วยประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด มีความเห็นบอกว่า ยากเกินไป ทำไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายก็ทำได้ และช่วยคนป่วยนับพัน พร้อมกับตรวจเอทีเคไปกว่า 12,000 คน สุดท้ายที่คนบอกว่าทำไม่ได้ ก็สำเร็จลุล่วงด้วยความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย โดยการแยกปัจจัยและเป้าหมายในแต่ละจุด และแก้ทีละจุด 

“ดังนั้น หากเรามีการวางแนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยเครื่องมือทั้ง 3 ที่กล่าวมา เชื่อว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ได้อย่างแน่นอน”

‘วินท์ สุธีรชัย’ ชี้ “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” ไม่เหมาะใช้สร้างตึกสูง เหตุเพราะไม่อาจรับมือแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

(1 เม.ย. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” -> ทำความรู้จักกับ เหล็กเส้นข้ออ้อย “T” หรือ Temp Core ที่อยู่ในตึก สตง. ที่ถล่มในเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา

เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ใช้ในไทย ปัจจุบันที่มีให้ประชาชนเลือกใช้ มีแบบ T และ Non-T

เหล็กเส้น Non-T เป็นวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม คือ การหลอมเศษเหล็กให้เป็น Billet และรีดด้วยความร้อน 1,200+ องศาเซลเซียสให้เป็นรูปทรงเหล็กเส้นข้ออ้อย สุดท้ายจึงปล่อยเย็นตามธรรมชาติ ราคาแพงกว่าโดยรวม

เหล็กเส้น T หรือ Temp Core เข้ามาในประเทศไทย ปี 2561 โดยผู้ประกอบการจีนนำเครื่องจักรมาลงทุนในไทย ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการฉีดน้ำหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิเหล็กเส้นจากที่ร้อนๆให้เย็นด้วยความรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันนี้ทำให้ “เปลือก” ของเหล็กเส้นแข็งขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถ “ลดต้นทุนวัตถุดิบ” ได้โดยการลดคุณภาพเศษเหล็กที่นำมาหลอม และไปเพิ่มความแข็งตอนปลายทางได้ เหล็กเส้น T จึงมีราคาถูกกว่าโดยรวม

ด้วยราคาที่ถูกกว่าของเหล็กเส้น T ทำให้เหล็กเส้น T เป็นที่นิยมของตลาดโดยรวมในประเทศไทยมากกว่าเหล็กเส้น Non-T ถึง 4-5 เท่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ กรมทางหลวง ไม่ยอมรับเหล็กเส้น T โดยให้เหตุผลว่าถนนและสะพานที่มีรถขับผ่านเยอะจะเกิด “ความล้า” (Fatigue) ซึ่งทำให้โครงสร้างขยับตัวจากการสั่นอย่างต่อเนื่องคล้ายๆเหตุการณ์แผ่นดินไหว และจะทำให้เหล็กเส้น T ซึ่งไม่มีความแข็งเท่ากันทั้งเส้นแตกหักได้ง่าย

ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทยอีกในอนาคตซึ่งทำให้เกิด “ความล้า” ในเหล็กคล้ายๆถนนและสะพานที่มีรถขับผ่าน อาคารสูงๆที่ใช้เหล็กเส้น T จะมีความเสี่ยงอีกหรือไม่???

ผมมองว่าการใช้เหล็กเส้น T ที่ “แข็งนอกอ่อนใน” ไม่เหมาะกับการสร้างตึกสูงในไทย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวแล้ว

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ควรจะเป็นบทเรียนให้ผู้ออกกฎหมายและวิศวกรในไทยคำนึงถึงการสร้างอาคารโดยการใช้เหล็กที่สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต

‘วินท์ สุธีรชัย’ โยนคำถามถึงสังคมไทย – อุตสาหกรรมก่อสร้าง ถึงเวลาหรือยังที่ต้องแบนเหล็กเส้น T ที่ผลิตจากเตาหลอมแบบเก่า

(2 เม.ย. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “เหล็กแข็งนอกอ่อนใน” Ep. 2: เหล็กจีนตีเหล็กไทยตาย

ช่วงปี 2560 ประเทศจีนประกาศไม่ให้ใช้เหล็กเส้น T หรือ Temp Core จากโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Induction Furnace (IF) โดยให้เหตุผลว่าเตาหลอมเหล็กประเภทนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของประเทศจีน

ช่วงปี 2560-2561 จึงเป็นช่วงที่โรงงานเหล็กในจีนย้ายเครื่องจักรที่ใช้อยู่แล้วในประเทศจีนมาติดตั้งในประเทศในแถบอาเซียนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย ในช่วงเวลานั้นโรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เตาหลอมเศษเหล็ก Electric Arc Furnace (EAF) ที่ว่ากันว่ารักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าและเนื้อเหล็กสะอาดกว่า

เหล็กเส้น T จากเตา IF ที่ทุนจีนมาประกอบการในไทยเริ่มตีตลาดในประเทศไทยได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะราคาถูกกว่าเหล็กเส้น Non-T ที่รีดด้วยเตา EAF จนปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่ในไทยใช้เหล็กเส้น T เป็นหลัก

แต่หากจะบอกว่าเหล็กเส้น T ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้เลยก็ดูจะเป็นการกล่าวร้ายกันเกินไป เนื่องจากประเทศไทยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมีดินที่ค่อนข้างนิ่มและไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นเวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวอาคารที่มีความสูงไม่มาก เช่น อาคาร 1-3 ชั้น ใช้เหล็กเส้น T ก็ไม่มีผลกระทบอะไร

แต่เราต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้:
ประเทศไทยควรจะแบนเหล็กเส้น T จากเตา IF เหมือนประเทศจีนหรือไม่? 
ถ้าเราแบนเหล็กเส้น T อาคารขนาดเล็กแพงขึ้นค่าครองชีพคนไทยแพงขึ้น คุ้มหรือไม่?
หากไม่แบน เราจะคุมไม่ให้ใช้เหล็กชนิดนี้ไม่ให้ใช้ผิดประเภทอีกได้อย่างไร?

ผมว่า คนๆเดียวคงไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ควรจะมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ว่าประเทศไทยเราควรจะเดินไปในทิศทางไหน เพราะความเสี่ยงแผ่นดินไหวที่ในอดีตที่ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้… ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต… ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาหาคำตอบเรื่องนี้ร่วมกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top