Saturday, 19 April 2025
ECONBIZ

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   

Sharp ปลุกตลาด!! ปรับกลยุทธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เปิดตัวสินค้าใหม่มากสุดรอบ 10 ปี ยกคุณภาพท้าชนแบรนด์จีน

(21 ก.พ.68) วิโรจน์ ทานัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชาร์ป (Sharp) ในไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับชาร์ป ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Appliance) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเน้นการออกแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้หลากหลาย และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน

“ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับดีไซน์และฟังก์ชันมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ของใช้ แต่ต้องเข้ากับการตกแต่งบ้านได้” วิโรจน์กล่าว พร้อมเสริมว่า “แนวทางนี้ยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคไทยให้ความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน”

เปิดตัวสินค้าครั้งใหญ่ รับแผนปี 2568 Sharp เตรียมเปิดตัวสินค้าจำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในไตรมาสแรกของปี 2568 จะเปิดตัวสินค้าใหม่ 5 รายการ ได้แก่

-พัดลม Sharp ขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์ใหม่
-หม้อหุงข้าว Sharp CUBE รุ่น 1 ลิตร ออกแบบให้เข้ากับทุกครัวเรือน
-หม้อทอดไร้น้ำมัน Sharp รุ่น 4.2 ลิตร, 6.8 ลิตร และ 7 ลิตร รองรับไลฟ์สไตล์การทำครัวยุคใหม่
-เตารีดไอน้ำ Sharp 3 รุ่น พร้อมรุกตลาดเตารีดไอน้ำเต็มรูปแบบ
-เครื่องทำน้ำอุ่น Sharp รุ่น MODI (โมดี้) ขนาด 3,500 วัตต์ และ 4,500 วัตต์ ปรับดีไซน์ใหม่

หลังจากไตรมาสแรก บริษัทฯ ยังมีแผนทยอยเปิดตัวสินค้าเพิ่มเติมตามฤดูกาลตลอดปี

แม้ว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กจะเผชิญกับการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากแบรนด์จีนที่ใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเป็นจุดขาย แต่ Sharp ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเน้นกลยุทธ์การออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 5% จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้า

สำหรับตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กในไทย คาดว่าในปี 2568 จะยังเติบโตเล็กน้อยจากปัจจัยลบ เช่น กำลังซื้อที่ลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม Sharp ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 5% เท่ากับปี 2567 ซึ่งมีรายได้ราว 16,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน Sharp มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ในกลุ่มพัดลม (20% ของตลาดมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท) และเป็นผู้นำตลาดหม้อหุงข้าว (ตลาดรวม 4,000 ล้านบาท) ที่ปัจจุบันยังครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาด รวมถึงเตารีดที่มีมูลค่าตลาดราว 2,000 ล้านบาท

“เราจะเดินหน้าขยายตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ทราดิชั่นนัลเทรด และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น” วิโรจน์กล่าว

‘สุริยะ’ เผยเตรียมเปิดสายสีชมพูเข้า 'เมืองทองธานี' ปักหมุดนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มให้บริการมิถุนายนนี้

‘สุริยะ’ เผยรถไฟสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เตรียมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี 1 เดือน เริ่มปลายเดือน มิ.ย. 68 ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ 19 ก.ค.นี้ ยันเข้าร่วมมาตรการ 20 บาทตลอดสาย เดินทางสะดวกไปอิมแพ็คฯ – ทะเลสาบเมืองทอง

(20 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 4,072 ล้านบาทว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 85.97% แบ่งเป็น งานโยธา 87.88% และงานระบบฯ 82.22% เร็วกว่าแผน 2.17%

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะเข้าสู่กระบวนการทดสอบเดินรถเสมือนจริงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ในอัตราค่าโดยสาร 15-22 บาท และจะเข้าร่วมมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายภายในเดือนกันยายน 2568 ต่อไป

นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานยอดใช้บริการของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนหลัก ช่วงแคราย – มีนบุรี ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2568 มีผู้ใช้บริการรวม 2,108,209 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 68,007 คน- เที่ยว (วันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ให้บริการโดยไม่คิดค่าโดยสาร) ขณะที่ในช่วงวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์ 2568 มียอดใช้บริการรวม 1,022,667 คน – เที่ยว เฉลี่ยวันละ 36,524 คน – เที่ยว (วันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2568 ยังไม่รวม EMV) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปริมาณผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เป็นระบบรถไฟฟ้า Monorail เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (ส่วนหลัก) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายของระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการรถขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง

นอกจากนี้ มีการก่อสร้างทางเดิน Skywalk เชื่อมต่อระหว่างสถานีและอาคารชาเลนเจอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่จะเดินทางไปร่วมงาน Expo คอนเสิร์ต หรือ Event ต่าง ๆ ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยผู้ใช้บริการจะต้องลงที่สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี (MT01) และใช้ทางออกที่ 3 เพื่อเดินทางต่อไปยังอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี

รร.สอนภาษาจีนฝานหรง เปิดตัวในงาน 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน หนุนคนไทยเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง

(20 ก.พ. 68) กรุงเทพฯ – ดร.อรภัค สุวรรณภักดี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ โรงเรียนสอนภาษาจีนฝานหรง ประกาศเปิดตัวโรงเรียนอย่างเป็นทางการภายในงาน 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สยามสแควร์ ชั้น 9 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ผ่านการเรียนรู้ภาษาจีนที่ถูกต้องและลึกซึ้ง

แรงบันดาลใจ: ยกระดับการเรียนภาษาจีนของไทย เพื่ออนาคต
ดร.อรภัค มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาจีนของคนไทย ให้สามารถเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เนื่องจากภาษาจีนกำลังกลายเป็นภาษาสำคัญของโลก โรงเรียนฝานหรงจึงมุ่งเน้นการสอนที่มีคุณภาพ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนได้อย่างถูกต้องและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

เทคโนโลยี: ขับเคลื่อนการเรียนภาษาจีนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
โรงเรียนฝานหรงใช้ เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อทำให้ผู้เรียนจากทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนภาษาจีนได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่ เรียนได้จากทุกที่ พร้อมรับการสอนที่มีมาตรฐาน

จุดเด่นของการเรียนภาษาจีนกับฝานหรง
- แก้ปัญหาหลักของผู้เรียนชาวไทย เช่น ไวยากรณ์ พินอิน และการใช้ภาษาในชีวิตจริง
- หลักสูตรที่เข้าใจง่ายและใช้งานได้จริง ช่วยให้เรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างมั่นใจ
- สอนให้เข้าใจภาษาจีนในบริบทวัฒนธรรม เพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พบกับโรงเรียนฝานหรงที่งาน 50 ปี ไทย-จีน

ในงานเปิดตัวครั้งนี้ โรงเรียนฝานหรงจะนำเสนอหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะภาษาจีนได้อย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป

กนอ. หนุนเทคโนโลยีสีเขียว ลดพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เร่งสร้างนิคมฯสีเขียว ยกระดับไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

(20 ก.พ.68) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินหน้าขับเคลื่อน Green Transition ผนึกพลังรัฐ-เอกชน สร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Zero Emission ด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ยกระดับไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยถึงทิศทางและบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน Green Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน พร้อมย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก 

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ กนอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในโรงงานอุตสาหกรรม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานทดแทนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อย

ก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management) และการรีไซเคิลของเสียในกระบวนการผลิต ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด และการส่งเสริมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Production)

“นิคมอุตสาหกรรม กำลังปรับตัวเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ยั่งยืน โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ขณะเดียวกัน กนอ.ยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Carbon Neutral หรือ Zero Emission ในอนาคตอันใกล้”นายสุเมธ กล่าว

รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าวอีกว่า กนอ.มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อน Green Transition ผ่านนโยบายสนับสนุนและมาตรการจูงใจต่าง ๆ พร้อมผลักดันการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Town) ที่เน้นการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น IoT และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอาจต้องใช้งบประมาณสูง และบางครั้งอาจพบความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี หรือการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ดังนั้น กนอ.จะร่วมกับทุกภาคส่วนสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตและระบบการจัดการพลังงาน

“กนอ. จะเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘เฮียล้ง - จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ’ แห่งห้างสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2

เฮียล้งแห่งสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 นายกฯชาย ตั้งงบทันที 90 กว่าล้าน ปรับพื้นที่

เป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึง หลังจาก 'นายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' รมช.สาธารณสุข มีนโยบายจะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ หลังเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข หลังจากนั้นตระเวนหาสถานีสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ในหลายพื้นที่ มีทั้งคนที่ประสงค์จะขาย และประสงค์จะบริจาค รวมถึงมีกลุ่มคนเข้ามาเสนอแบบหวังผลประโยชน์ ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตก็มี

โรงพยาบาลหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี พื้นที่คับแคบไม่สามารถขยายได้แล้ว โดยเฉพาะสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ได้ร่วมกับผู้บริหาร รพ.หาดใหญ่ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพิจารณาที่ดินหลายแปลง ทั้งในพื้นที่อ.บางกล่ำ และอ.หาดใหญ่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

ล่าสุด นายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่ลุยสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองมาหลายจุดทั้งที่ผู้สนใจบริจาค ที่ราชพัสดุ และได้ตัดสินใจเลือกที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านพรุ (เขตเทศบาลตำบลบ้านไร่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งบริจาคโดยกลุ่มสยามนครินทร์ จำนวน 130 ไร่

จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ ผู้บริหารกลุ่มสยามนครินทร์ เจ้าของห้างสยามนครินทร์ หาดใหญ่ ได้เสนอตัวบริจาคที่ดิน 130 ไร่ บริเวณบ้านพรุ (หาดใหญ่)สำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 

จำนงค์ หรือเฮียล้ง บอกว่าที่ดินแปลงนี้สวยงามมาก อยู่บนที่เนิน น้ำไม่ท่วม จึงเหมาะที่จะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ตามเจตนารมย์ของนายกฯชาย และนายกฯชายได้ตัดสินใจแล้วเลือกที่ดินแปลงนี้ ตนก็จะบริจาคให้ แบบไม่คิดอะไรเลย ทางราชการก็จะต้องตั้งงบเพื่อปรับสภาพหน้าดินต่อไป

เฮียล้ง กล่าวด้วยความสุขใจว่า ที่ดินแปลงนี้สวยงามมากพี่เหลียว ผมปลูกต้นไม้ไว้หลายต้น อยู่บนเนินที่น้ำไม่ท่วม ยินดีบริจาคให้สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ซึ่งนายกฯชายก็ตัดสินใจเลือกแล้ว

“ก่อนหน้านี้ มีผู้ติดต่อบริจาคที่ดินในเขตตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ แต่ติดปัญหาเรื่องที่ดินมรดกทราบว่ามีทายาท 1 คนไม่เซ็นต์มอบที่ดินให้ จึงมีการจัดหาที่ดินใหม่หลายแปลง ทั้งที่บริจาค ที่ราชพัสดุ ที่ดินแปลงนี้คุณจำนงค์ แจ้งความประสงค์จะบริจาคมานานแล้วจำนวน 100 ไร่ แต่ผมขอเพิ่มเติมอีก เพราะอยากจะสร้างเป็นเมืองสุขภาพ มีวิทยาลัยพยาบาลในพื้นที่ด้วย จึงเป็นที่มาของการบริจาคที่จำนวน 130 ไร่ของสยามนครินทร์ในวันนี้” นายเดชอิศม์ กล่าว และว่า

การเลือกที่ดินแปลงนี้ เราได้ตัดสินใจร่วมกันด้วยหลายเหตุผล พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมแน่นอน ไม่ต้องใช้งบประมาณในการถมพื้นที่เยอะ เป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักคือ ถนนกาญจนวณิชย์ (ทล.4) และอยู่ใกล้แนวถนนวงแหวนรอบเมืองหาดใหญ่สายตะวันออก (ทล.425) การเดินทางสะดวกจากทุกเส้นทาง 

รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ได้เชิญชวนหลายหน่วยงานมาร่วมกันประชุมเพื่อช่วยกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งงบประมาณในการปรับพื้นที่แล้วจำนวน 92 ล้านบาท และเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็จะมีพิธีส่งมอบ และมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สาธุบุญสำหรับจิตอันเป็นกุศลของเฮียล้ง (จำนงค์) ขอให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างไม่มีปัญหา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน บริวารมากมี

‘พีระพันธุ์’ เร่งหาวิธีปรับลดค่าไฟรอบใหม่ หลังหารือฝ่ายกฎหมายชี้ชัดแนวทาง กกพ. ทำไม่ได้

วันนี้ (19 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานการประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟ  รวมทั้งกรณีที่ กกพ. เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) รวมทั้งมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อจะให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้อีก 17 สตางค์  โดยที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ. ซึ่งเลขาธิการ กกพ. รับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายแล้ว โดยจะนำไปแจ้งให้คณะกรรมการ กกพ. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปจากผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกาว่า ข้อเสนอของ กกพ. เพื่อปรับลดค่าไฟในแนวทางนี้ไม่สามารถทำได้ และ รมว.พลังงาน ได้ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ได้เกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบ Pool Gas ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ ชี้ ซาอุดีอาระเบีย สุดเนื้อหอม ที่แม้แต่พญาอินทรี - พญาหมี ยังมิอาจมองข้าม

(19 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ในวันที่ขายของในไทยยาก

ไปจีนหรืออื่นๆ ก็โดนกดราคาจากการแข่งขันที่สูง ไปยุโรปก็โดนกีดกันการค้า ถามหาเอกสารเต็มไปหมด ถนนทุกสายจึงมุ่งไปยังตะวันออกกลาง

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้ระหว่างการรอเครื่องในยามเช้าตรู่ ในช่วงเวลาที่ทีมงานผมอยู่ระหว่างการทำตลาดในงาน Gulf foods ที่ Dubai ทำไมต้องดูไบ ดูดอกได้มั้ย ก็เพราะดูไบที่อยู่ใน UAE คือนครรัฐที่เปิดอิสระให้ต่างชาติในการค้าขายในตะวันออกกลางและเป็นเสมือน gateway ในการทำตลาดใน Gulf 6 ประเทศ ผมเคยเขียนไว้ว่า Filipino หรือปินอยด์คือชาติที่อยู่ในดูไบมากสุดกว่าล้านคน ตลาดสินค้าสำหรับปินอยด์จึงซ่อนอยู่ที่นั่น

ดูไบใหญ่เกินไป เกินหน้าเกินตาพี่ใหญ่ซาอุดี วันนี้จึงเกิด Vision 2030 ขึ้น 14 โครงการใหญ่ที่กำลังเดินหน้าซ้ายจรดขวา ตะวันตกยันตะวันออก จึงมีมูลค่ามหาศาล นครริยาดห์จึงเนื้อหอมให้ใครต่อใครเข้าไป ไทยเราเทรดเป็นเบอร์ 1 มูลค่า 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เงินไปตกอยู่รายใหญ่หมด ไม่ใช่ปลาใหญ่เก่ง แต่ปลาใหญ่จมูกไว และทำในสิ่งที่ปลาเล็กทำไม่ได้นะครับ..ตลาดที่นู่นเปิดทุก sector หากไม่สนใจ ไทยเราเสียตำแหน่งในสามปีนี้แน่นอน วันนี้แขกซาอุติด Series เกาหลี กินหมี่ Budok กันสนุก จีนขนคนไปลงอีก 80000 คน ไม่ใช่สแกมเมอร์นะ.. ท่านทราบมั้ยว่าวันนี้คนไทยไปที่นั่นกว่า 1 แสนคนแล้ว...

มีอะไรอีกเยอะสำหรับซาอุดี ไม่ใชแค่ริยาดห์ เจดดาห์ มะกะห์ แต่ที่นั่นคืออนาคตจริงๆ โดยเฉพาะเกษตรไทย
ข้าวเหนียวมะม่วงจานละ 700 ฮะ ท่านผู้ชม ปี 2030 ซาอุจะโตแบบเท่าตัว โครงการ SEVEN หรือ Saudi Entertainment Venture กำลังขึ้น คิดดูเรามีอะไรไปแข่ง ...

เพิ่งได้ยินเสียงสายค้าปลีกไทยว่าเพิ่งลงนามขยายสองสาขาที่นั่นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน 
คิดดู ซาอุเนื้อหอมแค่ไหน 
ทำไมพญาอินทรี ไปพบพญาหมีที่นั่นก็ลองคิดดู โลกเปลี่ยนอย่างไว..

อโกด้าเผยกระแส 'The White Lotus' ดันเกาะสมุยขึ้นแท่นปลายทางสุดฮอต กระตุ้นยอดค้นหาที่พักพุ่งแรง นักท่องเที่ยวอเมริกันสนใจเพิ่ม 65%

(19 ก.พ. 68) แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ อโกด้า (Agoda) เปิดเผยว่าเกาะสมุยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากซีรีส์ดังระดับโลก The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งมีการถ่ายทำในประเทศไทย เริ่มออกอากาศทาง HBO โดยพบว่ายอดค้นหาที่พักในเกาะสมุยเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ความสนใจจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ พุ่งขึ้นถึง 65%

ปิแอร์ ฮอนน์ ผู้อำนวยการอโกด้าประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าซีรีส์ The White Lotus เคยส่งผลให้การท่องเที่ยวในฮาวายและซิซิลีเติบโตอย่างมหาศาลจากสองซีซั่นที่ผ่านมา และในซีซั่น 3 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก โดยมีโลเคชันสำคัญอย่างกรุงเทพฯ เกาะสมุย เกาะพะงัน และภูเก็ต ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วโลก

หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นกระแสคือการร่วมแสดงของศิลปินชื่อดัง ลลิษา มโนบาล หรือ 'ลิซ่า BLACKPINK' รวมถึงนักแสดงฮอลลีวูดอย่าง แพทริก ชวาร์เซเน็กเกอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มความสนใจจากทั้งแฟนซีรีส์และแฟนคลับของศิลปินระดับโลก

ข้อมูลจากอโกด้าระบุว่า นักเดินทางจากสหรัฐฯ ขึ้นแท่นหนึ่งใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีการค้นหาที่พักในเกาะสมุยมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม แซงหน้านักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เคยติดอันดับก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน การค้นหาที่พักจากนักท่องเที่ยวในยุโรปก็เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มีอัตราการค้นหาสูงสุด ได้แก่ อิสราเอล เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

ด้วยกระแสตอบรับที่ร้อนแรงจากซีรีส์ดัง คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับแรงกระตุ้นครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเกาะสมุย ซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางระดับโลกที่นักเดินทางให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังโควิด-19 แต่ยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ระดับนานาชาติอีกด้วย

‘นายกฯ’ สั่งคมนาคมศึกษาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ พร้อมหนุน ททท.ปั้นสงขลาสู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

‘นายกฯ แพทองธาร’ สั่งคมนาคมศึกษาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมา มาเที่ยวสงขลา เพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำที่มีกลุ่มเดินเรือสำราญมาท่องเที่ยวมากขึ้น ด้านททท.ปั้นสงขลาสู่เมืองท่องเที่ยวศักยภาพระดับโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.สงขลาเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่ จ.สงขลาพบว่ามีศักยภาพที่รองรับเรือสำราญที่มาจากต่างประเทศได้จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการพัฒนาท่าเรือที่มีมาตรฐานรองรับเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้น  

ด้านนายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเรือสำราญจากสิงคโปร์มีการเทียบท่านำนักท่องเที่ยวไปลงที่เกาะสมุย และททท.ได้ชักชวนให้มาที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาด้วยซึ่งในส่วนนี้ขณะนี้ต้องดูเรื่องการอำนวยความสะดวกขนส่งนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นมาท่องเที่ยวที่สงขลา 

จัดการท่องเที่ยว one day trip จ.สงขลา โดยสามารถจัดเส้นทางท่องเที่ยวแบบวันเดียว หรือone day trip ได้ ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา ถือเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคใต้ตอนล่าง - เมืองพหุวัฒนธรรม – เมืองสองทะเล มีจุดขายคือต้นทุนทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินจำนวนมากมาลงที่อ.หาดใหญ่และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวทางรถ หากมีเรือสำราญมา จะเป็นการเพิ่มเติมการท่องเที่ยวทางน้ำ เมืองเก่าสงขลาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก

ขณะเดียวกันเมืองเก่าสงขลา ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมชม ได้รับการประกาศรายชื่อเป็น 'แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก' และกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันสงขลาสู่เมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO จะยิ่งทำให้เมืองมีโอกาสพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ เพื่อยกระดับสู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกได้ต่อไป

หนุนการท่องเที่ยวข้ามภาค นอกจากนี้ ททท. ตั้งใจขยายกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ อาทิ กลุ่มเรือยอร์ช กลุ่ม Self-Drive กลุ่มคาราวาน กลุ่ม Incentive และ MICE เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูง และมีแผนขยายเส้นทางการบินเชื่อมโยงภูมิภาคจากท่าอากาศยานต่าง ๆ ในประเทศไทย อาทิ ท่าอากาศยานอุดรธานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงสงขลาของนักท่องเที่ยวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ปี 2567 มีผู้เยี่ยมเยือนรวม 6,998,664 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 24.53% จากปี 2566 แบ่งเป็นคนไทย 3,135,386 คน-ครั้ง และชาวต่างชาติ 3,863,278 คน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 50,286.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.81 %จากปี 2566

ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 21,838.32 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28,448.08 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว และจีน ตามลำดับ ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดสงขลา ปี 2568 เพิ่มขึ้น 8-10% จากปี 2567

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ลั่น สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน

‘เอกนัฏ’ ลุยตรวจเข้ม! จับสายไฟ-เหล็กเส้นไม่ได้มาตราฐาน ยึดของกลางมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท
ลั่นบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นายสุตตะนนท์ โสวนิตย์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 สมอ. เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (สอจ.ชลบุรี) เข้าตรวจร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่และโรงงานเหล็กร่วมทุนจีน โดยได้ยึดอายัดหลอดไฟ สายไฟและเหล็กเส้นตกเกรด มูลค่ารวมกว่า 49.2 ล้านบาท ใน 2 พื้นที่ 

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า ทีมชุดตรวจการสุดซอยได้เข้าตรวจร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท นิว สตาร์ไลท์ เทค (ไทยแลนด์) จำกัด แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยระบุชื่อนายต้า ชิ่ง วู๋ เป็นกรรมการ ซึ่งบริษัทฯ เคยถูกดำเนินคดีและจับกุมเมื่อปี 2564 ได้ถูกยึดอายัดของกลางกว่า 11 ล้านบาท และทางคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีคำสั่งให้ทำลายของกลาง และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สมอ. ได้เข้าดำเนินการตามคำสั่ง กมอ. ปรากฏว่าของกลางทั้งหมดหายไป เจ้าหน้าที่จึงได้ลงบันทึกประจำวันและดำเนินคดี พร้อมขยายผลต่อโดยตรวจพบสินค้าไม่มี มอก. ล็อตใหม่มูลค่ากว่า 26.3 ล้านบาท เช่น หลอดไฟแอลอีดี โคมไฟ หลอดไฟขั้วเกลียว แหล่งจ่ายไฟสำหรับคอมพิวเตอร์ อะแดปเตอร์ สายไฟ และป้ายไฟ เป็นต้น จึงได้ยึดอายัดและดำเนินคดีข้อหาจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและนำของกลางมาเก็บรักษาไว้เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอีก

และได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องไปยังบริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน โดยมีบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งทางบริษัท ชลบุรีฯ ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. 3 ฉบับ ได้แก่ เหล็กเส้นกลม มอก. เหล็กข้ออ้อย มอก. และเหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งผลทดสอบเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 จากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในรายการเครื่องหมายและฉลาก ระยะห่างระหว่างตัวนูน แม้ไม่ส่งผลต่อความปลอดภัย แต่ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภคในการตรวจสอบ โดยได้ยึดอายัดเหล็กเส้นกลม ขนาด RB 9 ชั้นคุณภาพ SR24 รุ่นการผลิตเดือนมกราคม 2568 จำนวน 229,600 เส้น น้ำหนัก 1,148 ตัน มูลค่ากว่า 22.9 ล้านบาท และดำเนินคดีกับบริษัทฯ โทษฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งแจ้งให้แก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นจะสั่งพักใช้ใบอนุญาต และสั่งให้บริษัทฯ เรียกคืนเหล็กที่จำหน่ายออกไปแล้วกลับคืนมา

นอกจากนี้ สอจ.ชลบุรี ได้รายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2567 ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้แล้วเสร็จภายใน 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยทีมตรวจการสุดซอย พร้อมด้วย สอจ.ชลบุรี กรอ. จึงได้เข้าตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง พบว่าโรงงานยังไม่ได้ปรับปรุงอีกทั้งมีการผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานอยู่ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงใช้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้ บริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป จำกัด ให้โรงงานหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขเสร็จ ภายใน 90 วัน นอกจากนี้จะมีการดำเนินคดีกับบริษัท เถิง เฟิง สตีล จำกัด โทษฐานมีการตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกด้วย

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้สินค้าควบคุมต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าดีมีมาตรฐานให้กับประชาชน โดยเฉพาะ “เครื่องใช้ไฟฟ้าและเหล็กเส้น” ถือเป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน หากไม่มีมาตรฐานอาจก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือ โครงสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัย สะพานถล่ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องมีการกำกับดูแลควบคุมคุณภาพของสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็กเส้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. ต้องแสดงเครื่องหมาย มอก.รวมถึงคิวอาร์โค้ดบนสินค้า เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบนำเข้า-ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น “หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน "แจ้งอุต" https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

‘บอสณวัฒน์’ ควงคู่ ‘แอนจักรพงษ์ ’ แถลงคว้าสิทธิ์ MUT ลั่นที่ผ่านมา “เรารักกัน บางส่วนมันคือการแสดง”

(19 ก.พ. 68) ทำเอาสะเทือนจักรวาลไปเมื่อวานนี้สำหรับ  ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ที่ได้ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการผ่านเพจเฟซบุ๊ก ณวัฒน์ อิสรไกรศีล -Mr.Nawat Itsaragrisil โดยโพสต์ภาพตัวเองกับป้าย MISS UNIVERSE พร้อมข้อความ “MGI ผู้ถือลิขสิทธิ์ อย่างเป็นทางการ Miss Universe X MGI Org.” พร้อมส่งหมายเชิญสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าวด่วนในวันนี้ (18 ก.พ. 68) โดย ณวัฒน์ อิสรไกรศีล และ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ จะร่วมแถลงข่าว ‘The New Era of MUT’ เปิดตัวผู้ถือสิทธิ์จัดการประกวด Miss Universe Thailand ณ MGI HALL ชั้น 6 ศูนย์การค้า Bravo BKK ภายในงานแถลงข่าว ‘The New Era of MUT’ เปิดตัวผู้ถือสิทธิ์จัดการประกวด Miss Universe Thailand 2025 จัดเต็มแสงสีเสียงประเดิมเปิดตัวด้วยการร่ายรำประยุกต์แสดงถึงความเป็นไทย

โดย บอส ณวัฒน์ ได้เผยว่า “ผมใช้เวลา 14 ปี เพื่อจะมายืนตรงนี้ ผมคิดว่านี่คือการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศกำลังพัฒนา วันนี้ผมพูดถึง MU ได้อย่างเต็มปาก พูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบางส่วน มันคือการแสดง ผมกับคุณแอนเราคุยกันมาโดยตลอด เวลาแอบเจอกันต้องให้พนักงาน คนงาน กลับบ้านให้หมดก่อน MUT ปีนี้ มุ่งมั่นที่จะหาผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น แต่ต้องไม่สวยอย่างเดียว ต้อง Real ภายในและภายนอก และต้องสร้างมูลค่า ความมั่งคั่งให้ตนเองและองค์กรได้ บริบทโดยรวมยังต้องเน้นเรื่องธุรกิจ เพราะทุกองค์กรขับเคลื่อนได้ด้วยเงิน

ทางด้าน แอน จักรพงษ์ ก็ขึ้นเผยในงานแถลงว่า “ขอบคุณวิสัยทัศน์ ความเป็นกันเอง ความเป็นผู้นำในตัวบอส แอนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ที่บอสมี ทำให้แอนเชื่อใจได้ว่าบอสจะสามารถดูแลได้ทั้ง MGT และ MUT ประเทศไทยจะกลายเป็นอุตสาหกรรมความงามของโลก จากการร่วมมือกันในครั้งนี้ รู้สึกตื่นเต้นที่ MUT ปีนี้จะได้เป็นเจ้าบ้าน เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการต้อนรับสาวงามทั่วโลก และสาวงามคนนั้นจะถูกเจียระไนโดยบอสณวัฒน์ ขอให้ปีนี้เราได้เจอซูเปอร์สตาร์จาก MUT ในปีนี้นะคะ”

นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดตัวผู้เข้าสมัครจำนวน 22 คน พร้อมเปิดตัวPD แต่ละจังหวัดของ Miss Universe Thailand 2025 สำหรับรายละเอียดการจัดการประกวด Miss Universe Thailand 2025 มีการเปิดเผยสปอนเซอร์ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยในส่วนของการประกวด จะเป็นระบบ 77 จังหวัด ซึ่งย้ำว่า ต้องประกวดเท่านั้น ห้ามจิ้ม ห้ามแต่งตั้งทั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยตารางการแข่งขัน ระบุว่าวันปฐมนิเทศ 5 กรกฎาคม 2568

3 สิงหาคม 2568 เข้ากองวันแรก มีกิจกรรมลุ้น 10 สาวงามร่วมงาน Welcome Ceremony ที่เกาหลี

6 – 8 สิงหาคม 2568 เก็บตัวที่ กรุงเทพมหานคร

9 – 16 สิงหาคม 2568 เก็บตัวที่จังหวัดเจ้าภาพ คือ จ.ภูเก็ต

18 สิงหาคม 2568 รอบชุดประจำชาติ

20 สิงหาคม 2568 รอบ Preliminary

23 สิงหาคม 2568 รอบ Final...

แต่มีข้อแม้ซีอีโอนิสสันต้องลาออก ดีลควบรวม 5.8 หมื่นล้านยังมีลุ้น

(18 ก.พ. 68) ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ฮอนด้า อาจกลับมาเจรจาควบรวมกิจการกับ นิสสัน อีกครั้ง หาก มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอของนิสสัน ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ การเจรจาควบรวมระหว่าง ฮอนด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น และ นิสสัน ผู้ผลิตอันดับสาม ต้องยุติลง ทำให้แผนสร้างบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีศักยภาพขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสี่ต้องล้มไป

อุปสรรคในการควบรวมครั้งนี้ส่งผลให้ นิสสัน ตกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน และสะท้อนถึงความกดดันที่อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเผชิญจากคู่แข่งจีนที่กำลังมาแรง

ตามรายงานของ FT ฮอนด้า พร้อมพิจารณากลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา หาก นิสสัน มีผู้นำคนใหม่ที่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ดีกว่าเดิม

แม้ว่าตัว อูชิดะ เองจะเคยประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งซีอีโอไปจนถึงปี 2026 แต่แรงกดดันให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งกลับทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากคณะกรรมการบริษัทและ เรโนลต์ พันธมิตรสำคัญของนิสสัน หลังจากเขาล้มเหลวในการเจรจาควบรวมมูลค่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการนิสสันได้เริ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนตัวผู้นำ

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (14) : ก่อนจะมาเป็นค่า Ft อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’

หลังจาก TST ได้อธิบายถึงข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการและ NGO บางคน กับสื่อบางสำนักไปหลายตอนแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นได้บอกถึงสาเหตุต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไปมากมายแล้ว (แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และครอบคลุมในทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวโดยรัฐ’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ และได้เคยอธิบายไปแล้วว่า สาเหตุเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย

แล้ว อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บและวิธีการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ที่คิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า (2) ‘ค่าบริการ’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ กฟน. และ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับค่าบริการผู้ใช้ไฟฟ้า (3) ‘ค่า Ft’ (Float time) หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า และ (4) ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่คำนวณจาก (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ค่าบริการ) x 7% แล้ว จะพบว่าส่วนที่ส่งผลทำให้ “ค่าไฟฟ้าแพง” มากที่สุด คือ (3) ‘ค่า Ft’ เพราะอัตราจะแปรเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดคือ ‘LNG’    

ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 61.33% โดยก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามา จาก 3 แหล่ง คือ (1) ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ราว 63.5% (2) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมาจากการนำเข้า (เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554) ราว 20.5% (3) ก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากเมียนมา ราว 16% สัญญาซื้อขาย 30 ปี ซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2571 และ 2574 ตามลำดับ ประเทศไทยใช้ราคาก๊าซธรรมชาติจากระบบ Pool Gas ที่ประกอบด้วยก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่น ๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากสหภาพพม่า (แหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต  ในระยะแรก สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมากที่สุด ราว 70-80%  อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมา รวม 20% โดยที่ช่วงเวลานั้น ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ที่เพียง 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จนกระทั่งปี พ.ศ. 2565 มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงเหลือ 62% 

ปริมาณการนำก๊าซเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38% ในจำนวนนี้เป็น LNG ถึง 22% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเดิมผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น หลังจากที่แหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" หมดอายุสัมปทานลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯ นี้ อย่างใกล้ชิด และแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน โดยรัฐบาลได้ไปเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ปตท.สผ.’ เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในระบบ PSC ต่อจากเชฟรอนในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565 แต่มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ ‘ปตท.สผ.’ สามารถปรับปรุงกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกลับมาสู่จุดเดิมที่ผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้แล้วหรือยัง?

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย นอกจากจะใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วยังถูกส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยราคา Gulf Gas ซึ่งถูกกว่าราคา Pool Gas ขณะที่ไทยต้องนำเข้า LNG มากขึ้น แต่ราคาของ LNG ก็ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา กอปรกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ดังนั้น ยิ่งก๊าซ LNG ที่นำเข้ามีราคาสูงก็จะทำให้ค่าไฟฟ้ายิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้แล้ว ‘ค่า Ft’ ยังต้องผูกพันและรับผิดชอบภาระการจ่ายเพิ่มเติมจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่อยู่ใน ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ อีกด้วย (เฉพาะในส่วนที่มีการผลิตโดยที่รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทำไว้กับ กฟผ. เท่านั้น) 

ล่าสุด (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า “การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา” รองฯ พีระพันธุ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป” ซึ่งเป็นการตอบและเริ่มต้นในการจัดการแก้ไขคำถามที่ว่า “เหตุใดคนไทยจึงไม่สามารถใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทย (Gulf Gas) มาคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่า ทั้งยังเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ถ้านำราคา Gulf Gas และ Pool Gas มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นส่วนต่างจะพบว่า หากสามารถใช้ราคา Gulf Gas ในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละปี จะสามารถประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ทำไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน” การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะเป็นหลักการเช่นเดียวกับการขุดแร่ลิไนต์ของ กฟผ. ที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อใช้การผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top