Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

เปิด 3 นายทุนระดับบิ๊ก ชิงไลเซนส์ 'เวอร์ชวลแบงก์' ด้าน ธปท.อุบ!! ใครร่อนใบสมัครแล้ว เผยรอลุ้นอีก 6 เดือน

(22 มี.ค.67) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ยื่นผู้สนใจสมัครประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) โดยเปิดให้ยื่นวันแรก (20 มี.ค.)

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากที่ ธปท.ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครเข้าคัดเลือกเปิดเวอร์ชวลแบงก์นั้น แต่ ธปท.เพิ่งจัดเวทีให้ผู้สนใจสมัครขอใบอนุญาตดังกล่าว เข้ารับฟังเกณฑ์ต่าง ๆ ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น แม้จะเริ่มเปิดให้ส่งใบสมัครวันแรก (20 มี.ค.) และตามระยะเวลาได้กำหนดปิดรับสมัครวันที่ 19 ก.ย.67 นับเป็นเวลา 6 เดือน ขณะนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไหร่ และมีรายใดที่ได้ยื่นใบสมัครแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงการคลังออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) ซึ่งมีกลุ่มทุนที่แสดงความสนใจจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์แล้ว 3 ราย ดังนี้

1.นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) โดย กัลฟ์ จะร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะยื่นใบอนุญาตภายในปี 2567 ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เนื่องจากกัลฟ์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ส่วนเอไอเอส ถือมีความพร้อมความเข้าใจในสายธุรกิจดีจากลูกค้า 45 ล้านเลขหมาย ขณะที่กรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก

2.นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้บริษัทจะประกาศพันธมิตรเพิ่มเติมอีก 1 ราย ซึ่งเป็นบริษัทเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจากประเทศจีนในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนามความร่วมมือกับกาเกาแบงก์ (KakaoBank) ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้

และ 3.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (กลุ่มซีพี) กล่าวว่า การขอจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม ส่วนที่จะจับมือกับพันธมิตรรายอื่นเพื่อจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์หรือไม่ ณ วันนี้ยังไม่มี แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่บริษัทในเครือมีความพร้อมอยู่แล้ว และมีพาร์ตเนอร์ชิปที่แข็งแกร่ง คือทรูมันนี่ รวมถึงแอนท์ กรุ๊ป เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากปิดรับสมัครแล้ว ธปท.ตรวจสอบเอกสารและพิจารณาคัดเลือกแล้วเสร็จจะส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง และกระทรวงการคลังจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2568 จากนั้นเวอร์ชวลแบงก์จะเปิดให้บริการได้ในปี 2569

'รมว.ปุ้ย' จี้ ‘กรมโรงงาน’ แก้ปมใบ ‘ร.ง.4’ ค้างกว่า 200 ฉบับ ชี้!! หากล่าช้า กระทบต่อภาคการลงทุน-เศรษฐกิจไทย

(22 มี.ค. 67) แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า

ทั้งนี้ เบื้องต้นรับทราบข้อมูลมาว่า การขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ 

อย่างไรก็ดี ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาตร.ง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่า ขั้นตอนยุ่งยาก มีความล่าช้าอย่างมาก และถูกตราหน้าว่าเป็นปัจจัยถ่วงการลงทุน

“ก่อนหน้านี้ปัญหาใบร.ง.4 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยแก้ปัญหากันไปเยอะแล้ว ตอนนี้ไม่เข้าใจว่า ทำไมปัญหากลับมาอีก ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบร.ง.4 กลับเป็นตัวถ่วงอย่างหนัก ต้องการให้ กรอ. เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร แต่ต้องรอมาเป็นปี โดยทุกอย่างดูติดขัดล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่า ติดปัญหาอะไร"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ต้องการให้เร่งแก้ปัญหา เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองเรื่องต้องจ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ถึงจะได้ใบอนุญาตเร็วขึ้น เพราะตอนนี้ยังมองในแง่ดีว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผลนั้น แต่ไม่รู้ว่า ติดอะไร ถ้าต่อไปยังล่าช้าอีก คงต้องยอมรับว่า อดไม่ได้ที่จะต้องมองแบบนั้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องการขอใบอนุญาตลงทุนมาเช่นกัน โดยตนได้เรียกประชุมในวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา และสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กรอ. รวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดว่าอยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด

โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาต มาแจ้งตนในการประชุมวันที่ 26 มี.ค. ที่จะถึงนี้  เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว  

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า ยังตกค้างอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมกว่าร้อยเรื่อง ไม่สามารถออกให้แก่ภาคเอกชนได้ ซึ่งอาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้า หรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ 

สำหรับในลำดับแรกจะต้องเร่งเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างในระบบของกรอ. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้ว ก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ตนยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นวัน สต็อป เซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขออยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน”

'กฟผ.' ชี้!! ร้อนปีนี้บิลค่าไฟฟ้าอาจแพงขึ้น แม้รัฐตรึง 4.18 บาทต่อหน่วย หลังหน้าร้อนมาเร็วกว่าเดิม ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม อุปกรณ์ทำงานหนัก

(22 มี.ค. 67) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ กล่าวว่า ปีนี้หน้าร้อนมาเร็วขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จึงมีแนวโน้มว่าหน้าร้อนนี้จะมีปริมาณการใช้ไฟพีกกว่าปีที่แล้ว แต่ยืนยันว่าค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยังเท่าเดิม ตามที่รัฐบาลตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่การที่บิลค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในช่วงหน้าร้อน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น

ส่วนค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 ที่มี 3 แนวทาง โดยค่าไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และสูงสุดอยู่ที่  5.44 บาทต่อหน่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้างวดหน้ายังเก็บในอัตราเดิม คือ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็ต้องแบ่งจ่ายคืนหนี้คงค้างให้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท รวมยอดหนี้คงค้าง 99,689 ล้านบาท ซึ่งหากชำระหนี้คืน กฟผ.ได้หมดภายใน 7 งวดจริง  ก็ไม่มีปัญหาต่อสภาพคล่องของ กฟผ. แต่สิ่งที่ต้องการคือความแน่นอน และความมั่นใจว่าการชำระหนี้จะเป็นไปตามเงื่อนไข ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการดำเนินงานของ กฟผ. ความน่าเชื่อถือ และเครดิตเรทติ้งของกฟผ.ด้วย 

“กฟผ. เป็นกลไกหนึ่งของรัฐซึ่งพร้อมสนับสนุนในการดูแลค่าไฟ ซึ่งเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดย กฟผ. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟลดลง รวมถึงสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ สปป.ลาว เพราะเป็นพลังงานสีเขียวและราคาถูก เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม และสามารถเข้าถึงราคาค่าไฟได้” นายเทพรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายเทพรัตน์ ยังเปิดตัวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ พร้อมชู 5 ภารกิจสำคัญเร่งด่วน ได้แก่

1. รักษาความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มีส่วนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ 

2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า 

3. รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
4. ตอบสนองนโยบายรัฐบาล
5. นำส่งรายได้เข้ารัฐ

หักปากกาเซียน!! 'ตุ๋ย-ปุ้ย' ควงอันดับกระทรวงงบฯ น้อยสุด สวนทางผลงาน 6 เดือนเข้าตา ช่วยย้ำ!! งบต่ำแต่โต ถ้าตั้งใจ

พลันเมื่อตัวเลขงบประมาณ 2567 ของประเทศไทยออกมาแล้วปรากฏว่า สองกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของพรรครวมไทยสร้างชาติ (ตั้งแต่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566) ซึ่งได้แก่ กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็กลายเป็นสองกระทรวงที่ได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ 

'กระทรวงพลังงาน' ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 'รองตุ๋ย' พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีพันธกิจสำคัญ คือ...

1) จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม 

2) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

3) กำกับกิจการพลังงานให้มีมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย 

4) ส่งเสริมการผลิต การใช้พลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

และ 5) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน และเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสธุรกิจพลังงานในอนาคต ด้วยการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

ทว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรหนนี้ น้อยที่สุดเพียง 1,856 ล้านบาท แต่ต้องรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของประเทศซึ่งเป็นต้นทุนและปัจจัยที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่าของธุรกิจพลังงานในประเทศมีมูลค่าปีละราวสองล้านล้านบาท มีหน่วยงานระดับกรมในสังกัด 6 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 2 หน่วยงาน และอีก 1 หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ถึงกระนั้น หากไล่ทวนผลงานของกระทรวงพลังงานภายใต้ 'รองตุ๋ย' จะพบว่า การออกมาตรการแบบเข้มข้นในช่วง 6 เดือนแรก ได้สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยแบบทันทีทันใด ดังนี้...

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง มีการออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า มีการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุกด้วยความร่วมมือจาก ปตท.

ข้ามมาทางฟาก 'กระทรวงอุตสาหกรรม' ซึ่งได้รับงบประมาณ 2567 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ราว 4.5 พันล้านบาทนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีหญิงแกร่ง 'ปุ้ย' พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการสตรีคนที่ 2 ของกระทรวงแห่งนี้ 

จะว่าไปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่ อาจจะเทไปในเชิงรับเสียมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรภาครัฐหลักในกำกับดูและจัดการอุตสาหกรรมของประเทศทั้งระบบ มีหน่วยราชการระดับกรมในสังกัด 8 หน่วย 2 รัฐวิสาหกิจ 12 สถาบันเครือข่าย และ 1 หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดกว่า 20 หน่วยงานนี้ถือเป็นอวัยวะสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแกนหลักของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย  

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานของ 'รมว.ปุ้ย' ในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน ก็ทำให้ชื่อของกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้ 'รมว.ปุ้ย' ไม่น้อยหน้ากระทรวงพลังงาน เช่นกัน อาทิ...

1) ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการกับสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 

2) ติดตามเร่งรัดผู้ประกอบการในประเทศให้เพิ่มการผลิตแร่ 'โปแตช' วัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงของพี่น้องเกษตรกร 

3) ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งนักลงทุนรายใหม่และผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งต้องปรับตัวจากการผลิตรถสันดาป 

4) ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับให้เกิดนวัตกรรมและความหลากหลาย เพิ่มคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิต 

5) สนับสนุน Green Productivity ทั้งการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม, แก้ปัญหาเรื้อรังในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาล, ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ยุคใหม่

สนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นให้ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ, ส่งเสริมการสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน, เริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ช่วยลดมลพิษจากฝุ่น PM2.5 และกำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

เมื่อเทียบงบประมาณที่ทั้ง 2 กระทรวงได้รับเป็น % กับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสองกระทรวงได้รับงบประมาณน้อยมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ต้องกำกับดูแล รับผิดชอบทำเรื่องราวต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย 

โดยกระทรวงพลังงานได้รับงบประมาณเพียง 0.1415% ของมูลค่าธุรกิจพลังงานในประเทศโดยรวม และกระทรวงอุตสาหกรรมยิ่งได้รับงบประมาณน้อยกว่าเพียง 0.045% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศเท่านั้น 

จากผลลัพธ์ที่พูดได้ว่า 'สอบผ่าน' ของทั้งสองกระทรวงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนคณะทำงาน และข้าราชการของทั้ง 2 กระทรวง ออกแววสานต่อสายเลือดลุงตู่ที่อยู่และทำเพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนได้ชัดเจนพอดู 

ยิ่งได้เห็นตัวเลขงบประมาณอันน้อยนิดที่ได้รับ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับท่าทีใด แถมยังพร้อมลุยงานตามเป้าหมายต่อทันที ก็ยิ่งดูเป็นนิมิตหมายอันดีของชาติ ที่มีคนกล้าเปลี่ยนแนวคิดและความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานในระบบราชการและการเมืองที่ว่า...

“งานจะสำเร็จได้ต้องมีงบประมาณมากพอเท่านั้น” มาเป็น “หากมี ‘ความตั้งใจ’ แล้ว แม้ ‘งบประมาณจะน้อย’ แต่งานก็สามารถสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้”

‘กฟผ. - Metlink’ แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนฯ ปักหมุด!! วิธี ‘ไครโอเจนิค’ เล็งต่อยอดใช้งานในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

เมื่อวันที่ (20 มี.ค.67) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี ‘การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)’ ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น

‘OR’ นำร่องใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ ระยะทางไกล ‘เชียงใหม่-อยุธยา’ รายแรกของไทย

(21 มี.ค. 67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย ดร.อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (WICE) และ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มบริษัท WICE ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยมี นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR และ นายธเนศ เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ WICE ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องพลังไทย 2 ชั้น M อาคาร 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่

นายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ WICE ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) ‘กรีน โลจิสติกส์’ (Green Logistics) สำหรับทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกลด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีให้แก่ OR ต่อไป 

โดย OR และ WICE จะร่วมกันออกแบบ EV Truck พร้อมทดลองการขนส่ง โดยกำหนดเส้นทางการขนส่ง ‘กรีน คอฟฟี่ บีน รูท’ (Green Coffee Bean Route) เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง ‘Green Coffee Bean Route’ เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเมล็ดกาแฟแบบยั่งยืน โดยก่อนหน้านี้ OR ได้เปิดจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงได้เปิดแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่อเมซอน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ดร.อารยา กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ กับ OR ในครั้งนี้ จะส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ให้สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ WICE พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของบริษัท ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไปพร้อมกับการดูแลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน (Green Logistics) และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน ESG ของ OR ในการผลักดันการใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางและขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร้รอยต่อ และมุ่งเน้นให้การใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกภาคส่วน ซึ่งการให้บริการด้านยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งโครงการที่ WICE ได้ริเริ่มและผลักดันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่ค้า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ไปสู่ระบบยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) อย่างแท้จริง

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ หรือการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของ OR รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) และบรรลุเป้าหมายของ OR 2030 Goals หรือเป้าหมายขององค์กรในการสร้างโอกาสเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับผลดำเนินการงานที่ดี” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ แนะ!! รัฐฯ ควรเคาะ ‘ค่าไฟ’ ปีละ 1 ครั้ง หวังลดภาระประชาชน - เอื้อเอกชนในการคิดต้นทุน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) ที่สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดย กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะโควทต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ. โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ

‘BWG-ETC’ 2 หุ้นธุรกิจขยะอุตสาหกรรมน่าจับตามอง หลังปิดดีลหมื่นล้าน ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

เรียกว่าเป็นหุ้นธุรกิจขยะอุตสาหกรรมคู่หูดูโอ้ ที่น่าจับตาจริง ๆ สำหรับ หุ้นบมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) และบมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) เพราะล่าสุดได้ประกาศบิ๊กดีล จนกลายเป็น talk of the town ในการผนึกร่วมลงทุนกับ GULF จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ เพื่อลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท จนถูกยกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศไปแล้ว 

เรียกว่ามาเหนือเฆมจริง ๆ และแว่ว ๆ ว่าหลังจากนี้จะเข้าสู่โหมดจัดกระบวนทัพการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตามแผนที่วางไว้ สู่การเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป 

สงสัยว่างานนี้ FC นั่งคำนวณบวกลบคูณหารรายได้ที่จะเข้าทยอยตามสัดส่วนของทั้ง 12 โครงการ     กันแล้ว เพราะหากทุกโปรเจกต์แล้วเสร็จทั้ง BWG และ ETC คงเปิดกระเป๋ารับทรัพย์กับแบบคึกคักกันอย่างแน่นอน 

แบบนี้สินะที่เขาเรียกว่า ‘ขยะอุตสาหกรรมทองคำที่น่าลงทุน’

'รมว.ปุ้ย' ชวนยล!! เสน่ห์แห่ง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผลิตภัณฑ์ผ้านครศรีฯ ที่ลือชื่อมาแต่ครั้งโบราณ

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผ้าดีจากเมืองคอนที่สร้างชื่อกระฉ่อนในวงการผ้าไทย ว่า...

"มีคนถามปุ้ยมาค่ะ 'ผ้ายกเมืองนคร' ทำอย่างไรให้ขึ้นชื่อลือชากระฉ่อนในวงการผ้าไทย นี่เลยค่ะ ปุ้ยใช้ผ้ายกเมืองนครจากนครศรีธรรมราช บ้านเราค่ะ 

"ต้องเล่าความเป็นมาก่อนนะคะ ผ้ายกเมือง เป็นผ้าจากฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราช มีชื่อนามปรากฏในประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆ มานับร้อยปี เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ 'ผ้ายกเมืองนคร' 

"สมัยก่อนชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน รวมถึงข้าราชการกรมเมือง ข้าราชการศาลและราษฎรทั่วไปนุ่งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองนครฯ แต่โบราณ จะนุ่งผ้ายกจีบเวลาออกรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปทำการงานพิธีบุญต่างๆ และมีผ้ายกสำคัญที่ชื่อ 'ผ้ายกขาวเชิงทอง' ใช้นุ่งในพิธีการถือพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช  

"ผู้ที่เข้าพิธีถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทองเรียกว่าหรือเรียกอีกชื่อว่า 'ผ้าสัมมะรส' และยังมีผ้ายกทองซึ่งมีด้ายทำจากทองคำ จะใช้สำหรับเฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวังหรือเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งมีบันทึกตรงกันหลายแหล่งว่าเจ้าพระยานครได้ส่งผ้ายกเข้ามาถวายเจ้านายในเมืองหลวง ส่วนผ้ายกธรรมดาก็ใช้กันโดยทั่วไป

"ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร เป็นที่นิยมมากค่ะ เป็นผ้าที่มีความเป็นมายาวนานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช มีคุณลักษณะพิเศษคือ สามารถนำมาออกแบบตัดเย็บได้อย่างหลากหลาย ทั้งชุดสวมใส่เพื่อความสวยงามทั่วไป ชุดเครื่องแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผน หรือพิธีการสำคัญต่างๆ ผ้ายกเมืองนครจะโดดเด่นมากค่ะ หรือจะเป็นชุดสูททางการเช่นที่ปุ้ยจะนิยมนำมาใช้เสมอมาแบบนี้ ทำนองนี้ค่ะ 

"ช่างตัดเย็บ นักออกแบบสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลายตามสมัยค่ะ"

‘บางกอกเคเบิ้ล’ เปิดแผนกลยุทธ์ปี 67 ทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท ขยายกำลังผลิต ‘สายไฟฟ้า-สายเคเบิ้ล’ หวังรองรับการเติบโตในอนาคต

(20 มี.ค.67) บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลชั้นนำในภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เผยแผนกลยุทธ์ปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นการขยายตลาดทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานและเทรนด์ของพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่ม

โดยงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า และเพิ่มยอดจำหน่ายสายโซลาร์เซลล์หรือสายเคเบิ้ล PV (Photovoltaic Cable) เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 30% และขยายส่วนแบ่งตลาดเป็น 35% ตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐานระดับโลก ที่รองรับทุกการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้าน นายพงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) เปิดเผยว่า “เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้ BCC จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานที่ท้าทายการเติบโตของธุรกิจยิ่งกว่าที่ผ่านมา โดยวางงบลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในกลุ่มสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า และเพิ่มสัดส่วนยอดขายในประเภทสายโซลาร์เซลล์เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโต ไม่น้อยกว่า 30% และส่วนแบ่งการตลาด 35%”

ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเป็น 3 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้านับจากปี 2563 รวมถึงเทรนด์ ESG และ Net Zero เป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทาง

การใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.5% และเพิ่มขึ้น 3.3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า สอดรับกับนโยบายภาครัฐ เช่น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ แผนการใช้ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดย BCC ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 25% สัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจส่วนใหญ่มาจากการขายภายในประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร 31% กลุ่มอุตสาหกรรม 26% กลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน 23% และอื่น ๆ 19% โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา BCC มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% (Double-digit growth) เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 11,400 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 60 ปี

สำหรับการขยายตลาดในต่างประเทศ ตลาดหลักของ BCC อยู่ในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา โดยเจาะกลุ่มธุรกิจรีเทล ตลาดค้าส่ง และโครงการภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา BCC มียอดขายในเมียนมากว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในเมียนมาและสปป.ลาว นอกจากนี้ มีการส่งออกไปยังสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เม็กซิโก และออสเตรเลีย

ด้วยการวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ BCC เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ที่ตอบโจทย์การใช้งานในตลาดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ชนิดแรงดันต่ำ แรงดันปานกลาง แรงดันสูง และแรงดันสูงพิเศษ รองรับความต้องการของทั้ง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งภายในและต่างประเทศได้อย่างลงตัว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอาคาร (Construction & Building) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ (Automotive) กลุ่มจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (Distribution) กลุ่มการส่งพลังงานไฟฟ้า (Transmission) และกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

ปัจจุบัน BCC ถือเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกการใช้งาน โดดเด่นด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสูง ในราคาที่แข่งขันได้ การส่งมอบที่รวดเร็ว โดยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact Network Thailand: UNGCT) เครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“BCC มุ่งมั่นแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากการขยายฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ท่าอากาศยาน และท่าเรือ ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผสานความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เพื่อส่งมอบสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลมาตรฐานระดับสูง รองรับการเติบโตของตลาดไฟฟ้าและพลังงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” คุณพงศภัค กล่าวสรุป

ทั้งนี้ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลระดับภูมิภาค เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับโลก ครอบคลุมทุกการใช้งาน ผสานความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรม เพื่อการส่งมอบที่รวดเร็ว ในราคาที่แข่งขันได้ ตลอดระยะเวลา 60 ปี BCC ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลรายแรกของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตเคียงข้างการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

‘ไทย’ คว้าอันดับ 2 ‘กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา’ ที่น่าลงทุนที่สุดในเอเชีย แซงหน้า!! ‘เวียดนาม’ หลัง Milken Institute ของสหรัฐฯ จัดทำขึ้น

(20 มี.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากการประกาศผลดัชนีโอกาสด้านการลงทุนระดับโลก (Global Opportunity Index) หรือ GOI ซึ่งจัดทำโดย Milken Institute สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยครองอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing : E&D) ที่น่าลงทุนที่สุด (https://milkeninstitute.org/report/global-opportunity-index-2024) 

ด้าน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดัชนี GOI จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั่วโลกที่มองหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ และให้ข้อมูลแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โดยดัชนีนี้อิงตามตัวชี้วัด 100 รายการ แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่

1. การรับรู้ทางธุรกิจ
2. พื้นฐานทางเศรษฐกิจ
3. บริการทางการเงิน
4. โครงสร้างเชิงสถาบัน
5. มาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 2 ในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย โดยอันดับ 1-5 กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ส่วนในอันดับโลก ไทยอยู่ในอันดับ 37 ทั้งนี้ กลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย รายการการรับรู้ทางธุรกิจไทยอยู่อันดับ 21 ในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับ 22 บริการทางการเงินอันดับ 29 โครงสร้างเชิงสถาบันอันดับ 51 และมาตรฐานและนโยบายระหว่างประเทศอันดับ 68 โดยประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลกได้แก่ เดนมาร์ก

โดยตามรายงาน ประเทศในกลุ่ม E&D ในภูมิภาคเอเชีย มีผลประกอบการที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ดึงดูดเงินทุนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53.2%) ไหลเข้าสู่ประเทศ E&D ระหว่างปี 2018-2022 เพิ่มส่วนแบ่งใน E&D มากขึ้น 7.3% จาก 45.9% ระหว่างปี 2013-2017

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กำหนดนโยบายให้ทันสมัย สอดคล้องจูงใจนักลงทุน รวมทั้งพัฒนาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of doing Business) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับได้ออกไปรับฟังว่าสิ่งสำคัญที่นักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกต้องการคืออะไร เพื่อปรับกระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์ของไทยให้ตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนรายใหญ่ พร้อมกันนี้ Message สำคัญที่นายกรัฐมนตรีส่งต่ออย่างต่อเนื่องคือ ประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมรองรับการลงทุน และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะลงทุนในประเทศไทย” นายชัย กล่าว

'ปตท.สผ.' เผย!! เพิ่มการผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว  ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์' เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าให้แก่ ปชช.

(20 มี.ค.67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ชนะการประมูลและเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจ G1/61 ในทะเลอ่าวไทย ในปี 2561 จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามแผนงาน โดยได้ปรับปรุงสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงติดตั้งแท่นหลุมผลิต (wellhead platform) 12 แท่น เจาะหลุมผลิต (production well) เพิ่มกว่า 300 หลุม และวางท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 67) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“การเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการ G1/61 ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ปตท.สผ. ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของก๊าซฯ ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่รองรับความต้องการใช้พลังงานทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ให้ได้เร็วที่สุด และในวันนี้ โครงการ G1/61 สามารถผลิตได้ถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน รวมทั้ง การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยลดผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายมนตรี กล่าว

สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ แผนการเร่งโครงการ G1/61 ดังกล่าว ได้รับการกระตุ้นโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำชับให้ภาคเอกชนต้องผลิตได้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”

'สุริยะ' ปลื้ม!! มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เดินหน้าทะลุเป้า 5 เดือน 'สีแดง-สีม่วง' ทุบสถิตินิวไฮ ยอดผู้โดยสารเพิ่มต่อคน-เที่ยว 18%

(20 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 - 14 มีนาคม 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป

‘เชลล์’ ประกาศยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ปี 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันของเชลล์

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) (Shell) ได้เผยแพร่การอัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวกลยุทธ์ Powering Progress ในปี ค.ศ. 2021 ในงาน Capital Markets Day ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 นั้น เชลล์ได้เน้นย้ำถึงแนวทางของกลยุทธ์นี้ที่จะนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าที่มากขึ้นควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในงาน Capital Markets Day นั้น เชลล์มุ่งเน้นที่ ‘การสร้างมูลค่าที่มากขึ้น’ ส่วนในการอัปเดตการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งนี้ เชลล์มุ่งเน้นไปที่วิธีการที่กลยุทธ์เดียวกันนี้จะช่วย ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’

เป้าหมายของเราที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในค.ศ. 2050 ในการดําเนินงานและผลิตภัณฑ์พลังงานทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจของเรา เราเชื่อว่าเป้าหมายนี้จะช่วยให้บรรลุความมุ่งมั่นที่ท้าทายของข้อตกลงปารีสในการจํากัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5°C เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กลยุทธ์ของเชลล์สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำอย่างสมดุลและมีแบบแผนเพื่อรักษา แหล่งพลังงานที่มั่นคงและมีระดับราคาที่จับต้องได้

มร.วาเอล ซาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พลังงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาของมนุษย์อย่างมากมาย ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบัน โลกต้องตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้องจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมรู้สึกมีกำลังใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลายประเทศ และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของผมในทิศทางของกลยุทธ์เรา” 

“เชลล์มีบทบาทสำคัญมากในการจัดหาพลังงานที่โลกต้องการในปัจจุบัน และในการช่วยสร้างระบบพลังงานคาร์บอนต่ำสำหรับอนาคต การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายในกระบวนการทำงานของเรา ช่วยผลักดันให้เกิดการตัดสินใจที่ชัดเจน ในจุดที่เราสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับนักลงทุนและลูกค้าของเชลล์ เราเชื่อว่า การมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพ วินัย และความเรียบง่ายนี้จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยการจัดหาพลังงานประเภทต่าง ๆ ที่โลกต้องการ เราเชื่อว่าเชลล์เป็นทั้งทางเลือกสำหรับการลงทุนและพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุด ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนี้” ซาวัน กล่าว

>>แผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเชลล์ครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญ

ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และเชลล์กำลังขยายธุรกิจ LNG ชั้นนำของโลกด้วยความเข้มข้นของคาร์บอนที่ต่ำลง นอกจากนี้ เชลล์ยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ ในขณะที่ยังคงรักษาระดับการผลิตน้ำมันให้คงที่ และเพิ่มยอดขายพลังงานคาร์บอนต่ำ รวมถึงทยอยลดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันเครื่องบิน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก เชลล์สามารถเชื่อมโยงการจัดหาพลังงาน คาร์บอนต่ำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่เราเคยทำมาเป็นเวลานานกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ  
เป้าหมายด้านสภาพอากาศของเชลล์มีความคืบหน้าที่ดีมากดังนี้ 

• ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุความสำเร็จไปแล้วกว่า 60% จากเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030  เมื่อเทียบกับ ปี ค.ศ. 2016 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยผู้ลงนามในกฎบัตรการลดปริมาณคาร์บอนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Decarbonization Charter) ที่ตกลงกันในเวทีการประชุมสมัชชาภาคีประเทศอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28)

• เชลล์ยังคงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน โดยเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซมีเทนเกือบเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุการปล่อยความเข้มข้นของก๊าซมีเทนที่ 0.05% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 0.2% อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ยังได้ให้การสนับสนุนกองทุน World Bank’s Global Flaring and Methane Reduction ของธนาคารโลกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของทั้งอุตสาหกรรมเพื่อการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและการเผาก๊าซธรรมชาติเพื่อลดแรงดันในกระบวนการผลิตในปี ค.ศ. 2023 เชลล์บรรลุเป้าหมายด้านความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิของผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่าย โดยลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่เชลล์บรรลุเป้าหมาย เชลล์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยที่มีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันได้ มองเห็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และเข้าใจชัดเจนกับกฎระเบียบที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง เชลล์ตั้งเป้าความท้าทายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยลูกค้าลง 15-20% ภายในปีค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2021 (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11)

การมุ่งเน้นไปยังจุดที่เชลล์สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุด นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจไฟฟ้าแบบบูรณาการ เชลล์วางแผนที่จะสร้างธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป อินเดีย และสหรัฐอเมริกา และเชลล์ได้ถอนตัวการจัดหาพลังงานแก่ลูกค้ารายย่อยระดับครัวเรือนในยุโรป

เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดลำดับความสำคัญของมูลค่ามากกว่าปริมาณในธุรกิจไฟฟ้า เราจะให้ความสำคัญกับการเลือกตลาดและกลุ่มลูกค้า ซึ่งรวมถึงการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าภาคธุรกิจมากขึ้น และลดการขายให้กับลูกค้ารายย่อยลง การที่เราให้ความสำคัญกับมูลค่าเช่นนี้ เชลล์คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของยอดขายไฟฟ้าโดยรวมลดลงภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเป้าหมายความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนสุทธิของเชลล์  ปัจจุบันเชลล์มีเป้าหมายความเข้มข้นของคาร์บอนสุทธิจากผลิตภัณฑ์พลังงานที่จำหน่ายลง 15-20% ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2016 และเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ 20% 

ทั้งนี้ เชลล์จะยังคงรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายและความมุ่งมั่นของเราอย่างโปร่งใสทุกปี

>>ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ระหว่างปี ค.ศ. 2023 ถึงปลายปี ค.ศ. 2025 เชลล์ได้ลงทุนจำนวน 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งทำให้เชลล์กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยในปี ค.ศ. 2023 เชลล์ลงทุน 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ หรือคิดเป็นกว่า 23% ของการลงทุนทั้งหมด 

การลงทุนเหล่านี้ครอบคลุมถึงสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสำหรับเชลล์และลูกค้า เชลล์มุ่งมั่นที่จะช่วยปรับขนาดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า และยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายสำคัญ ในด้านต่าง ๆ ที่เชลล์เชื่อมั่นว่ามีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น นโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ รวมถึงราคาคาร์บอน การจัดหาพลังงานที่มั่นคงตามความต้องการของโลก 
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงความต้องการ และการเติบโตของโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำ

*การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของลูกค้าจากการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันของเชลล์ (ขอบเขตที่ 3, หมวดที่ 11) อยู่ที่ 517 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปีค.ศ. 2023 ซึ่งลดลงจาก 569 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในปี ค.ศ. 2022


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top