รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (20) : ‘รองพีร์’ กับการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ #3 เดินหน้าฝ่าทุกอุปสรรคหวังกำหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมาก

เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ประกาศว่า การลดค่าไฟฟ้าลง 40 สตางค์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ดีก่อน ด้วยการปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนที่มีความชัดเจนระหว่างการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากทั้งประชาชน และผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ระบุว่า สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ จากมติการที่ประชุม กกพ. ซึ่งให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) รวมถึง Feed in Tariff (FiT) หรืออัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ประกอบด้วยมาตรการหลาย ๆ ทางเลือกเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และมาตรการทางเลือกหนึ่งก็คือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน เพราะที่ผ่านมาเมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและทำให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมจนสามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดีแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

สำหรับแนวทางการปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น ‘รองพีร์’ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟจาก 3 แหล่งใหญ่คือ อ่าวไทย เมียนมา และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้มีความเป็นสัดส่วนระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน (เพราะต้นทุนราคาก๊าซจากทั้ง 3 แหล่งนั้นมีราคาที่แตกต่างกัน) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดย ‘รองพีร์’ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไปของปี พ.ศ. 2568 นี้ โดย ‘รองพีร์’ ระบุด้วยว่า ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้านั้นแตกต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันมากและมีประเด็นที่ต้องจัดการแก้ไขเยอะมากด้วย โดยน้ำมันก็คือน้ำมัน แต่ค่าไฟฟ้าไม่ใช่แค่ค่าไฟฟ้า มีปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้ง ค่าก๊าซ ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ฯลฯ ที่ถูกบวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะดอกเบี้ยของหนี้ที่กฟผ. ต้องรับผิดชอบจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ‘รองพีร์’ มองว่า ต้องทำให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงและเป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ด้วยกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ของ กฟผ. ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กฟผ. ให้ดียิ่งขึ้น ในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนคนไทยต่อไป โดย ‘รองพีร์’ ย้ำว่า ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่ข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟฟ้าให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เนื่องจากต้นปี 2568 เกิดมีประเด็นเพิ่มเติมในเรื่องที่จะให้ลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟก็บอกว่าสามารถลดได้ ซึ่ง ‘รองพีร์’ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ ต้องพยายามบริหารจัดการทุก ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน และสามารถตรึงค่าไฟฟ้าไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี 

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักงาน กกพ. กรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ อย่างเช่น ค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่หน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท และจากประมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 195,000 ล้านหน่วย หากสามารถลดค่าไฟฟ้าได้หน่วยละ 17 สตางค์แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารวมทั้งประเทศได้ถึง 33,150 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยช่วยกันให้กำลังใจและเอาใจช่วย ‘รองพีร์’ ให้สามารถฝ่าฟันทุก ๆ อุปสรรคและปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำค่าไฟฟ้าให้ถูกกว่าหน่วยละ 4 บาทได้สำเร็จ