Wednesday, 2 July 2025
THE STATES TIMES TEAM

สตูล - ศรชล.สตูล สนธิกำลังกับหลายหน่วยงาน เปิดปฏิบัติการ!! เข้ารื้อถอนทำลายล้าง ‘เครื่องมือ และอุปกรณ์ทำการประมง’ผิดกฎหมาย!!

วันนี้ 28 มกราคม 2565 พล.ร.ท.สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 และผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค3(ผบ.ทรภ.ภาค3/ผอ.ศรชล.ภาค3), น.อ.ธนฤกษ์ วรชาตินักรบ ผู้บังคับการ หน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ ศรชล.ภาค3 และรองอำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดสตูล ศรชล.ภาค3 (ผบ.นก.กมต.ศรชล.ภาค 3/รอง ผอ.ศรชล.สต.ศรชล.ภาค3) บูรณาการกำลังร่วมกับนายโชคชัย เมืองสง หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล, น.ต.ปรัชญ์ ขำเจริญ หัวหน้าสถานีเรือละงู/รองผู้บังคับหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะหลีเป๊ะ,และเจ้าหน้าที่ทหารเรือ,เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล, ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดสตูล ,ตำรวจน้ำสตูล,ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 24, ด่านศุลกากรสตูล,สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล, ชปพ.นสร. เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายตามที่ได้แจ้งมาบริเวณ เกาะฮันดู ร่องน้ำเจ๊ะบิลัง และร่องน้ำปากคลองตะเคียน

จนกระทั่งได้ตรวจพบว่ามีการลักลอบวางเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมงผิดกฎหมายชนิดลอบพับได้หรือไอ้โง่ ซึ่งมีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สําหรับดักสัตว์น้ำ อยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ในพิกัดที่ แลติจูด 6 องศา 39.0374 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 99 องศา 57.3989 ลิปดา ตะวันออก ห่างจากฝั่งประมาณ 419.69 เมตร จึงได้ทำการลรื้อถอนลอบพับได้หรือไอ้โง่ออกจากบริเวณดังกล่าวขึ้นมาได้ทั้งหมดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 117 ลูก 

 

งานวันคล้าย ‘วันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร’ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ครบรอบปีที่ 64 และงานเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2565

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ครบรอบปีที่ 64 และงานเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2565 โดยมี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร เข้าร่วมงานฯ ณ โรงเรียนเตรียมทหาร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีระหว่างศิษย์เก่าเตรียมทหารทุกรุ่น และเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นที่จะได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว รวมถึงศิษย์เก่าที่ได้เสียสละชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งจะได้รับรางวัลจักรดาวสดุดีโดยมีทายาทเป็นผู้รับรางวัลแทน

สำหรับ “รางวัลเกียรติยศจักรดาว” ถือเป็นการเชิดชูและยกย่องศิษย์เก่าเตรียมทหารที่มีความรู้ ความสามารถ และได้อุทิศกำลังกาย กำลังความคิด ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่สถาบัน โดยในปีนี้มีศิษย์เก่าเตรียมทหารที่ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว ดังนี้

รางวัลเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2565 จำนวน 16 ท่าน

1. พลเรือเอก ช่อฉัตร กระเทศ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 19 อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด สาขาการจัดการและการศึกษา

2. พลเอก ณัฐพล  นาคพาณิชย์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

3. พลเอก วรเกียรติ  รัตนานนท์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 ปลัดกระทรวงกลาโหม สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

4. พลเรือเอก ชาติชาย  ศรีวรขาน นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

5. พลเรือเอก สมประสงค์  นิลสมัย นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 ผู้บัญชาการทหารเรือ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

6. พลตำรวจเอก สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

7. พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์  ปิงเมือง นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

8. พลเอก เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 21 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

9. พลอากาศเอก แอร์บูล  สุทธิวรรณ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 21 อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

10. พลอากาศเอก นภาเดช  ธูปะเตมีย์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 21 ผู้บัญชาการทหารอากาศ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

11. พลเอก ธเนศ  วงศ์ชะอุ่ม นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 21 รองเสนาธิการทหาร สาขาการทหาร

12. พลเอก ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22 ผู้บัญชาการทหารบก สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

13. นาวาอากาศเอก ภราดร  คุ้มทรัพย์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 ประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ สาขาพัฒนาสังคม

14. พลตรี อดุลย์  บุญธรรมเจริญ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 26 รองแม่ทัพภาคที่ 2 สาขาการทหาร

15. รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 28 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สาขาการเมืองและการบริหารรัฐกิจ

16. พันเอก หาญพล  เพชรม่วง นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 32 รองผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4 สาขาการทหาร

รางวัลเกียรติยศจักรดาวโดยการสรรหา ประจำปี 2564 จำนวน 7 ท่าน

1. พลอากาศเอก ปรีชา  ประดับมุข นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 16 ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สาขาบริหารการปกครอง และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

2. พลเอก วิจักขฐ์  สิริบรรสพ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 18 ที่ปรึกษาพิเศษ ประจำสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาพัฒนาสังคม

3. พลเอก ชัยชนะ  นาคเกิด  นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 19 อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด สาขาการทหาร

4. พลเอก ธรรมนูญ  วิถี นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 22 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก สาขาการทหาร

5. พันเอก ณรงค์  สวนแก้ว  นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 สาขาการทหาร

6. นาวาอากาศเอก  รองศาสตราจารย์ ธนากร  พีระพันธุ์ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 27 รองผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช สาขาการศึกษา

7. นาวาโท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พินัย  มุ่งสันติสุข นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 34 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยมารีนโพรเทคชั่น จำกัด สาขาการวิจัย

สำหรับศิษย์เก่าเตรียมทหารที่ได้เสียสละชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และได้รับ “รางวัลจักรดาวสดุดี” มีจำนวน 1 นาย ได้แก่ พลตรี กิตติคุณ  เจริญ นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 48 โดยมี คุณ สุภาภรณ์  เจริญ (ภรรยา) เป็นผู้รับรางวัลแทน

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ จับมือ กทม. คมนาคม ลงพื้นที่สำรวจแก้ปัญหาทางม้าลาย!!

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.  พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษก ตร. พร้อมด้วย  พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาสำนักงาน คณะผู้บริหารสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร นายสุจิณ มั่งนิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) ตรงโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์  ถนนพญาไท ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเฉี่ยวชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เพื่อสำรวจสภาพด้านวิศวกรรมจราจร ส่วนควบและอุปกรณ์ของทางข้าม  สำหรับเป็นข้อมูลในการปรับสภาพแวดล้อมบริเวณทางข้ามดังกล่าว ให้เหมาะสม  เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนสูงสุด 

โดยจะรวบรวมข้อมูล นำเสนอคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ( หรือ นปถ.) ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.65 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน นอกจากนั้น ทาง ตร. จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการสำรวจข้อมูลทางข้ามในภาพรวมทั่วประเทศ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีมาติดตั้งบริเวณทางข้าม เพื่อจัดการความปลอดภัยและบังคับใช้กฎหมายในวันศุกร์ที่ 28 ม.ค.65 ต่อไป

สำหรับโดยทางข้ามหน้าสถาบันโรคไตฯ นั้น จัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2558  มีประชาชนใช้ทางข้ามประมาณ ชั่วโมงละ 30 คน อยู่ห่างจากแยกพญาไทประมาณ 120 เมตร เป็นทางข้ามที่ยังไม่ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร

สมุทรปราการ - ‘อรัญญา สุวรรณบุตร’ นายกเทศมนตรี ทดสอบการติดตั้งเครื่อง SOS รับข้อมูล-แจ้งเหตุฉุกเฉิน เผย!พร้อมติดตั้งเต็มทุกพื้นที่

นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้นำชุมชน ลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องติดตั้ง SOS ภายในบ้านเอื้ออาทร 14 ต.แพรกษา อ.เมืองจ.สมุทรปราการ เพื่อทำการทดลองและทดสอบระบบการทำงานเครื่องรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน SOS โดยระบบการแจ้งเหตุจะถูกส่งไปยังเทศบาลตำบลแพรกษา จากนั้น ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแพรกษาจะดำเนินการรับแจ้งเหตุ และประสานไปยังสถานีตำรวจ สภ.บางปู และทางสถานีตำรวจ สภ. เมือง สมุทรปราการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบเหตุที่ได้รับการแจ้งจากประชาชน อีกทั้ง เครื่องส่งสัญญาณรับแจ้งเหตุ SOS นี้ ยังสามารถให้ประชาชนได้สอบถามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานราชการของทางเทศบาลตำบลแพรกษา ได้อีกด้วย โดยจำนวน ที่ติดตั้งมีจำนวน 10 เครื่องรวม 10 พื้นที่ในเขตชุมชนพื้นที่เขตเทศบาลตำบลแพรกษา

ด้าน นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา กล่าวว่า เครื่องส่งสัญญาณ รับแจ้งเหตุ SOS นี้ ติดตั้งไว้เพื่อให้ประชาชนในชุมชนไว้แจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน การขอความช่วยเหลือ การรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ รวมถึงการติดต่อและสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางเทศบาล อาทิเช่น การสอบถามว่าวันนี้ทางเทศบาลเปิดรับทำบัตรประชาชนหรือไม่ โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมา หรือรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับขยะส่งกลิ่นเหม็นไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บขยะ แจ้งเหตุไฟไหม้ และเหตุทะเลาะวิวาทในชุมชน เป็นต้น  

โดยเทศบาลจะเป็นศูนย์กลางรับเรื่องและจะประสานไปยังสถานีตำรวจในเขตพื้นที่รับผิดชอบนั้น ๆ อีกทั้ง ทางเทศบาลตำบลแพรกษา ได้ทำ MOU ประสานความร่วมมือไว้กับทางสถานีตำรวจภูธรบางปู และสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อเข้าระงับเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม เครื่องส่งสัญญาณรับแจ้งเหตุ SOS ที่ทางเทศบาลตำบลแพรกษา นำมาติดตั้งในชุมชนนั้น มีจำนวน 10 เครื่อง ในชุมชนต่าง ๆ โดยการแจ้งเหตุจากประชาชน เครื่องส่งสัญญาณ SOS จะสามารถมองเห็นใบหน้าผู้แจ้งเหตุเนื่องจากเครื่องรับส่งสัญญาณ SOS นี้ จะมีกล้องที่ติดตั้งไว้ด้านบน จำนวน 4 ตัว 4 มุม และจะจับภาพได้ตลอดทั้ง 24 ชม.อีกด้วย

เพชรบูรณ์ - จัดพิธีมอบปฏิทินหลวงพุทธศักราช 2565 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่แก่ข้าราชการ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ที่ห้องรับรองชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกฤษณ์ คงเมือง เป็นประธานในพิธีมอบปฏิทินหลวงพุทธศักราช 2565 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ ให้แก่ข้าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ เข้าร่วมพิธี 

ทั้งนี้ สำนักพระราชวัง ได้จัดพิธีมอบปฏิทินหลวงพุทธศักราช 2565 พระราชทานสำหรับความสุขปีใหม่ ให้กระทรวงมหาดไทย ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการมอบปฏิทินหลวงฯ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 1 เล่ม และข้าราชการในจังหวัด ตามที่จังหวัดพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม จำนวน 2 เล่ม โดยครั้งนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดพิธีมอบปฏิทินหลวงให้แก่ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายสมศักดิ์ คณาคำ ปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์

ชลบุรี - เมืองพัทยาพร้อมรับ! นทท. หลังเปิดลงทะเบียนเข้าไทยแบบ Test&Go และ Sandbox จะทำให้ยอดท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น!!

จากที่ ศบค. มีมติขยาย Sandbox ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ และเกาะช้าง จังหวัดตราด และเห็นชอบให้เปิดลงทะเบียนเข้าไทยแบบ Test&Go โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.65 นี้เป็นต้นไป

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า หลังจากที่ ศบค. มีมติให้ขยาย Sandbox ในพื้นที่ อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ จะส่งผลให้พื้นที่ธุรกิจการท่องเที่ยวเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเราสามารถกำหนดพื้นที่ที่เป็น Sandbox และมีมาตรการที่ได้เสนอต่อ ศบค. ไปแล้วนั้น ทั้งในเรื่องการติดตามนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อที่จะทำให้การดำเนินการตามโครงการ Sandbox  เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้พื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศได้กระเตื้องขึ้น ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยใช้  Sandbox เข้ามา หลังจากที่มีการเปิดลงทะเบียนเข้าไทยแบบ Test&Go และโครงการอื่นไว้แล้ว ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

สุดเศร้า! "คุณปู่ป่าละอู" ช้างป่าแก่งกระจาน ล้มแล้วจากพิษกระสุนปืน หลัง 'หมอล็อต' ระดมทีมสัตวแพทย์ช่วยยื้อชีวิตนาน 2 สัปดาห์ พร้อมเร่งหาตัวคนใจโหดยิงช้างนับร้อยนัด!!

พล.ต.ต.อุทัย กวินเดชาธร ผบก.ภ.จ.เพชรบุรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายอำเภอแก่งกระจาน ทีมสัตวแพทย์ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดกรณีช้างพลายงาด้วนชื่อ “คุณปู่ป่าละอู” อายุ 60 ปี หนักกว่า 5 ตัน ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณลำตัวหลายจุดจากการต่อสู้และถูกยิงหลายแห่ง หลังจากทีมสัตวแพทย์ได้เข้าช่วยเหลือรักษาอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ “คุณปู่ป่าละอู”ได้เสียชีวิตลงบริเวณอ่างเก็บน้ำกระหร่าง 3 หมู่ 3 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจบาดแผลนอกเหนือบาดแผลจากการต่อสู้กับช้างด้วยกันแล้ว พบบาดแผลถูกยิงด้วยปืนลูกซอง ปืนขนาด .38 และปืนขนาด.22 ถึง 186 นัด ฝังอยู่บริเวณผิวหนังก่อนทางอุทยานฯได้แจ้งความไว้เพื่อหาตัวคนยิง

“ช้างตัวดังกล่าวเป็นช้างที่มีอายุมากแล้วไม่สามารถเข้าฝูงกับช้างหนุ่มได้ จึงถูกช้างงาไล่แทงขับออกจากฝูงและออกมาหากินพืชผลของชาวบ้านในชุมชน ก่อนถูกชาวไร่ใช้ปืนยิงขับไล่ ซึ่งบาดแผลจากถูกกระสุนปืนบางนัดทำให้เกิดอักเสบ บวกกับบาดแผลที่ชนกันเองติดเชื้อเป็นหนองรุนแรงจนเสียชีวิต จากการตรวจสอบกระสุนปืนฝังที่ตัวช้างมาหลายปีแล้วอีกทั้งแก่งกระจานก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมหลายอำเภอทั้งเพชรบุรี-ประจวบฯ ขณะนี้ได้มอบกระสุนทั้งหมดให้ทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัด(พฐ.)เพชรบุรี นำไปตรวจเปรียบเทียบหาอาวุธปืนว่าใครเป็นผู้ครอบครองเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” 

กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าฯ ลุย!ตรวจตลาด ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วงตรุษจีน!!

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงสำรวจตลาดสดทุ่งนาทอง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าในช่วงตรุษจีน ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคา และกำชับให้ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มกราคม 2565 นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายศิริพงษ์ วิวัฒน์เกษมชัย พาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตลาดสดทุ่งนาทอง ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อตรวจติดตามการจำหน่ายราคาสินค้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะถึง โดยได้สำรวจการจำหน่ายไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้งก้ามกราม ปลา ผัก ผลไม้

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจตลาดในครั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์เนื้อหมูที่มีราคาแพงขึ้น ทางหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานพาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีมาตรการช่วยเหลือด้วยการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกกิโลกรัมละ 150 บาท จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 และได้กำชับ พ่อค้า แม่ค้า ให้จำหน่ายในราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาด ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ได้ขอพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการแสดงป้ายราคาให้เห็นเป็นที่ชัดเจน และตรวจดูในเรื่องของเครื่องชั่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน

 

ประจวบคีรีขันธ์ - ครบรอบ 135 ปี วันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 มอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ให้การสนับสนุน

พ.อ.จักรพงษ์ โพธิ์นาแค ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 พร้อมด้วยข้าราชการ และพนักงาน ร่วมกันจัดงานเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ครบรอบ 135 ปี โดยมี พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เป็นประธานในพิธีฯ ซึ่งในการจัดงานพิธีเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ในครั้งนี้ ได้มีการบวงสรวงถวายสักการะบูรพกษัตรย์, การประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับกำลังพลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน , การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนภารกิจของ กรมทหารราบที่ 13 มาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีแขกผู้มีเกียรติ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอดีต ผู้บังคับบัญชาของหน่วย , อดีตข้าราชการของหน่วย, นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานี และส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้หน่วยได้ดำเนินการจัดพิธีฯ ตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผบ.พล.ร.3 ได้พบปะพูดคุยสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตข้าราชการของหน่วย เพื่อพัฒนาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนหาแนวทางให้การช่วยเหลือ เมื่อได้รับความเดือดร้อนในโอกาสต่อไป

“กรมทหารราบที่ 13” มีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยานมิต) เป็นแม่ทัพ จนเหตุการณ์สงบ เมื่อปี พ.ศ.2418 ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 พวกฮ่อรุกรานเมืองหลวงพระบางอีก จึงโปรดให้พระยาพิชัย (มิ่ง) พระยาสุโขทัย (ครุธ) ยกกำลังไปปราบ แล้วให้พระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เป็นแม่ทัพ จนถึงปี พ.ศ. 2428 แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำกลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหารและแม่ทัพ คือ พระยาราชวรานุกูล ถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ

โดยจัดเป็นสองกองทัพคือกองทัพฝ่ายเหนือ มีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต)  เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อ ในแคว้นหัวพันห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท กองทัพฝ่ายใต้  มีนายพันเอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้ พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) เป็นทัพหน้าเข้าตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ จนกระทั่ง พ.ศ. 2429  สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ จึงยกกำลังส่วนหนึ่งกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2540 และคงกำลังส่วนหนึ่งไว้ในบังคับบัญชาของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทหารของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมี พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก และต่อมา ในปี พ.ศ.2434 ได้จัดตั้งเป็นมณฑลลาวพวน โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน มีกองบัญชาการมณฑลที่เมืองหนองคาย ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)” ด้วยพระปรีชาญาณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อย เพื่อรักษาประเทศไว้  จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส และปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ โดยห้ามประเทศสยามตั้งกองทหาร และป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง

ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 จึงได้เคลื่อนย้าย มณฑลลาวพวน ลงมาทางใต้เข้าที่ตั้งบริเวณบ้านหมากแข้งริมหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์) กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2443 ได้เปลี่ยนนามหน่วยจากมณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีอยู่ในเขตการปกครองของ มณฑลอุดร ขึ้นที่บ้านหมากแข้งโดยให้ย้ายกำลังทหารจากหนองนาเกลือ มาตั้งอยู่ที่ ริมหนองขอนกว้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายประจักษ์ศิลปาคมในปัจจุบัน กำลังทหารในขณะนั้นมี 2 หน่วยคือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และกรมทหารราบที่ 7 

ปี พ.ศ.2451 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่เป็น กองทหารปืนใหญ่ที่ 10  และเปลี่ยนชื่อ กรมทหารราบที่ 7 เป็น กรมทหารราบที่ 20 ทั้ง 2 หน่วยขึ้นการบังคับบัญชากับ กองพลที่ 10 ปี พ.ศ.2454 กองทหารปืนใหญ่ที่ 10  ย้ายไปตั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนกรมทหารราบที่ 20  ย้ายไปตั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้จัดตั้งกรมทหารม้าขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี เรียกชื่อว่า กรมทหารม้าที่ 10 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2459 ยุบเลิก และเปลี่ยนเป็น กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10

ปี พ.ศ.2460 กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ครั้นถึงปี พ.ศ.2462  กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 10 ต่อมากรมนี้ได้ถูกยุบเมื่อปี พ.ศ.2470  เนื่องจากกองทัพบกได้ปรับปรุงกองทัพใหม่ แล้วตั้งเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15

ปี พ.ศ.2471 กรมทหารราบที่ 15   ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมทหารราบที่ 6 โดยกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15  เดิมได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6  ส่วนจังหวัดทหารบกอุดร มีฐานะเป็นจังหวัดทหารบกชั้น  3  มีผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6  เป็นผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านกิจการต่างๆ ของสายงานจังหวัดทหารบกอุดร คงใช้เจ้าหน้าที่ของหน่วยกำลังรบเป็นส่วนใหญ่ ปี พ.ศ.2475 เปลี่ยนชื่อ กองพันที่ 2 เป็น กองพันทหารราบที่ 18 ปี พ.ศ.2477 กองพันทหารราบที่ 18 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันทหารราบที่ 22 ปี พ.ศ.2486 กองพันทหารราบที่ 22 ได้แบ่งแยกกำลังส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็น กรมทหารราบที่ 13 โดย กรมทหารราบที่ 13  มี พันโท มล.เอก อิศรางกูล เป็น ผู้บังคับการกรม และกองพันทหารราบที่ 22 มี พันโท รัตน์ นพตระกูล เป็นผู้บังคับกองพัน

ปี พ.ศ.2489 กองพันทหารราบที่ 22 เปลี่ยนชื่อเป็น  กองพันที่ 1 และกำหนดให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยทั้ง กรมทหารราบที่ 13 และ กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  และในปีเดียวกัน ร.พัน.21 ได้ย้ายที่ตั้งจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาตั้งที่หนองสำโรง โดยเปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันที่ 2 เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมทหารราบที่ 13

เมื่อปี พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และถวายพระเกียรติแก่ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในปี พ.ศ.2497 กองทัพบก ได้มีคำสั่ง ทบ. ที่ 28/4221 ลง 1 มีนาคม 2497  จัดตั้ง กองพันที่ 3 ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมีที่ตั้งบริเวณฝั่งด้านทิศใต้ของหนองสำโรง ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  ร่วมกับกองพันที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยจนถึงปัจจุบัน และต่อมาในปี พ.ศ.2498 กรมทหารราบที่ 13 แปรสภาพเป็น กรมผสมที่ 13 จนถึงปี พ.ศ.2510 โดยผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุดร และผู้บังคับการกรมผสมที่ 13 ซึ่งเดิมเป็นคนเดียวกัน ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด และมีบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะตามตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน

 

ประจวบคีรีขันธ์ - พ่อเมืองประจวบฯ สั่งคุมเข้มราคาสินค้า ป้องกันเอาเปรียบผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการ "มอร์นิ่งบรี๊ฟ" ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด โดยกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน บูรณาการการทำงานออกตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และกำกับดูแลการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมูเนื้อแดง ไข่ไก่ และสินค้าที่จำเป็นในดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งในช่วงนี้พี่น้องประชาชนได้ประสบปัญหาราคาสินค้าเนื้อหมูที่มีราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคในการกักตุนเนื้อสุกรเพื่อนำออกมาจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ติดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้เป็นธรรม รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 เรื่องการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ทั้งนี้ได้มอบแนวทางให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อาทิ กิจกรรมธงฟ้าราคาประหยัด และนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top