Tuesday, 22 April 2025
LITE TEAM

8 มีนาคม ของทุกปี วันสตรีสากล (International Women's Day) ร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคและเท่าเทียม

วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย

ความเป็นมาของวันสตรีสากล

ประวัติวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ ยังได้รับรองข้อเสนอของ 'คลาร่า เซทคิน' ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล

7 มีนาคม พ.ศ. 2327 รัชกาลที่ 1 อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 241 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ 'พระแก้วมรกต' จากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่ง 'พระแก้วมรกต' หรือ 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร' เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทยที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต

สำหรับเหตุการณ์เกี่ยวกับ 'พระแก้วมรกต' หลังถูกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันท์ มีเอกสารโบราณหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก เมื่อเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 'พระแก้วมรกต' หรือ 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร' พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างที่เราทราบกันในปัจจุบัน เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 14 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 2327 นับถึงปัจจุบัน (2568) เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 241 ปี

5 มีนาคม ของทุกปี 'วันนักข่าว' หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ จุดเริ่มต้นจากการก่อตั้ง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 16 คน จากหนังสือสำคัญ ระบุว่า "โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้เพิ่มพูนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นทุกที จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดวันที่ระลึกขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ จึงตกลงกันให้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าวและหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับจะถือเอาวันนี้ เป็นประเพณีแห่งการหยุดงานประจำปี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2510 เป็นต้นไป"

"ขอให้วันนักข่าวจงเป็นวันแห่งความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นวันแห่งความสามัคคี กลมเกลียวกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเจริญก้าวหน้าของอาชีพหนังสือพิมพ์"

สำหรับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ร่วมลงนาม ประกอบด้วย
- หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
- หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
- หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
- หนังสือพิมพ์ซินเสียง
- หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
- หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
- หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
- หนังสือพิมพ์หลักเมือง
- หนังสือพิมพ์ศิรินคร
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร
- หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
- หนังสือพิมพ์สากล
 - หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
 - หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ส่วนนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือนายโชติ มณีน้อย

3 มีนาคม พ.ศ. 2544 เครื่องบินโบอิ้งการบินไทย ระเบิดคาลานจอด ก่อน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จะขึ้นเครื่องเพียงไม่กี่นาที

วันนี้ เมื่อ 24 ปีก่อน เครื่องบินโบอิ้ง 737-4D7 ของการบินไทย เที่ยวบินที่ 114 เกิดระเบิดขึ้นก่อนที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องไม่กี่นาที 

เครื่องบินลำดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น กลางสนามบินดอนเมือง สร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนจำนวนมาก โชคดีของผู้โดยสารที่ยังไม่มีใครขึ้นบนเครื่องบิน จึงไม่มีผู้โดยสารสังเวยชีวิตในครั้งนั้น มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คนอยู่บนเครื่องและในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

เครื่องบินโบอิ้ง 737-4D7 ของการบินไทย เที่ยวบินที่ 114 ที่มีกำหนดการเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2544 เวลา 14.48 น. แต่ปรากฏว่า 35 นาทีก่อนกำหนดการบิน ขณะที่เครื่องจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เกิดการระเบิดขึ้น ผลการสอบสวนพบว่าเกิดการสันดาปที่ถังน้ำมันส่วนกลาง ซึ่งอยู่ใกล้กับระบบปรับอากาศซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความร้อนสูง ขณะเกิดเหตุยังไม่มีผู้โดยสารอยู่บนเครื่อง มีเพียงเจ้าหน้าที่จำนวน 8 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 คน

ทั้งนี้ เที่ยวบินดังกล่าว มีบุคคลสำคัญหลายคนเดินทางไปด้วย รวมทั้งนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และพานทองแท้ ชินวัตร บุตร ซึ่งจะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดศูนย์การค้าสุรวงศ์เซ็นเตอร์ ของ ‘เจ๊แดง’ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่

หลังเกิดเหตุนายทักษิณ แถลงว่า การระเบิดนี้เป็นการก่อวินาศกรรมเพื่อหวังลอบสังหารตนเอง โดยฝีมือของผู้เสียผลประโยชน์ชาวต่างชาติ (ว้าแดง) เนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล หลังจากที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของไทยตรวจพบหลักฐานที่เชื่อว่าอาจเป็นร่องรอยของระเบิดซีโฟร์หรือเซมเท็กซ์ (Semtex)

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 เมษายน 2544 คณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (National Transportation Safety Board) ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย แถลงว่า ได้นำชิ้นส่วนไปทดสอบที่ห้องทดลองของเอฟบีไอแล้วไม่พบร่องรอยของวัตถุระเบิด และว่ากรณีนี้คล้ายกับการระเบิดของเครื่องโบอิง 737 ของสายการบินฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของถังน้ำมันเชื้อเพลิง

ภายหลังการระเบิด ท่าอากาศยานในประเทศไทยได้กำหนดมาตรการตรวจสอบผู้โดยสารรัดกุมขึ้น มีการตรวจสอบบัตรประจำผู้โดยสารทุกคนก่อนขึ้นเครื่อง มีการเอกซเรย์กระเป๋า และสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘ไทยคู่ฟ้า’

2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ ในขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

วันนี้เมื่อ 91 ปีก่อน ... 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 คืออีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่อยากให้คนไทยทุก ๆ คนจดจำ สำนึก และตระหนักซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย เพราะนี่คือวันที่รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ โดยขณะนั้นพระองค์ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จากคณะราษฎรส่งผลให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปประทับที่ประเทศอังกฤษ และแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมา ดังนี้

"... ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร ... บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ..."

อนึ่ง พระองค์ทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา รวมระยะเวลาในการครองราชย์ได้ 9 ปี ขณะมีพระชนมายุได้ 41 พรรษา โดยไม่ทรงตั้งรัชทายาทเพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เอง คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา ซึ่งพระองค์เป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

1 มีนาคม พ.ศ. 2433 รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย

รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา หลังจากที่ทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อทำการสร้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2430 ดังมีพระราชดำริบางตอนว่า “การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้ เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวก....”

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ ซึ่งในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางตอนว่า

"การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปทางเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก"

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงขุดดินถมทางรถไฟหลวงสายแรก

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาได้แล้วเสร็จบางส่วน ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร พระองค์ทรงตอกหมุดตรึงรางรถไฟกับไม้หมอนและเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เป็นกรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และได้เปลี่ยนขนาดทางกว้างรางรถไฟให้เป็นทางกว้าง 1 เมตรทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกในประเทศไทยเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าด้วยกัน

จากนั้นรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีผลใช้บังคับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กรมรถไฟจึงได้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัตินี้

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง จึงได้จัดสร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 ณ บริเวณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร และถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟอีกด้วย

28 กุมภาพันธ์ 2501 ในหลวง ร.9 - พระราชินี เสด็จบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวร และสมโภชพระพุทธชินราช ณ พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลเทพารักษ์ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทรงบวงสรวงสักการะเทพารักษ์และพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยในโอกาสนี้ได้พระราชทานผ้าแพรสีชมพูสำหรับผูกที่หน้าศาลเทพารักษ์เป็นเครื่องสักการะ  

จากนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินราช ในพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายถวายพัดรัตนาภรณ์ พร้อมด้วยต้นไม้ทองและต้นไม้เงิน ทั้งยังทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชภรณ์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปลื้องผ้าสะพักถวายแด่พระพุทธชินราช  

ในโอกาสเดียวกัน พระองค์ทรงพระราชทานผ้าไตรแก่พระสงฆ์จำนวน 20 รูป เพื่อประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นได้ทรงประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และทรงร่วมพิธีถวายดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้จุดดอกไม้เพลิง หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี เจ้าพนักงานได้เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราช ก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ  

พระราชพิธีครั้งนี้สะท้อนถึงพระราชศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา และเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย

27 กุมภาพันธ์ 2514 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จฯ จ.อุตรดิตถ์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘เขื่อนสิริกิติ์’

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ ณ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

เขื่อนแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า 'เขื่อนผาซ่อม' เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา โดยเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกั้นแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในลำน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามใหม่ว่า 'เขื่อนสิริกิติ์' เพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์

เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน การผลิตกระแสไฟฟ้า และการป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำน่านตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงไป ซึ่งแต่เดิมมักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ

รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านเป็น 3 ระยะ โดยเขื่อนสิริกิติ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนในระยะแรก เพื่อใช้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ส่วนระยะที่สองและสาม มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนนเรศวรและเขื่อนอุตรดิตถ์เพื่อทดน้ำและกระจายน้ำให้ทั่วถึงมากขึ้น

การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2511 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนตัวเขื่อนและระบบชลประทาน ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน และส่วนของโรงไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ตัวเขื่อนมีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมหาศาล และยังมีอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำเข้าเครื่องกังหันผลิตไฟฟ้า และระบบกระจายน้ำที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันเขื่อนสิริกิติ์ยังคงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายล้านไร่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาติรอบเขื่อน รวมถึงศึกษาระบบการจัดการน้ำของไทย

54 ปีผ่านไป นับตั้งแต่พิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนั้น เขื่อนสิริกิติ์ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

26 กุมภาพันธ์ 2500 การเลือกตั้งครั้งที่ 9 ของไทย สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม นับคะแนนยืดเยื้อถึง 7 วัน 7 คืน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 9 ของประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดวาระ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495) การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกกล่าวขานว่าเป็น 'การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย'

การเตรียมการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ก่อนการเลือกตั้ง มีรายงานว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้จัดเลี้ยงกลุ่มอันธพาลและนายตำรวจระดับสูง เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งมีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งหลายประการ เช่น การเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างผิดปกติ, การติดประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย, การพบบัตรเลือกตั้งปลอมที่มีการกาเครื่องหมายเลือกผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาไว้ล่วงหน้า (เรียกว่า 'ไพ่ไฟ') การใช้กลุ่ม 'พลร่ม' ที่เวียนไปลงคะแนนเสียงให้พรรคเสรีมนังคศิลาในหลายเขต, การออกแบบคูหาลงคะแนนให้อยู่ห่างจากจุดรับบัตรเลือกตั้งเพื่อสร้างความสับสน, วันเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

ในวันเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหลายกรณี โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงและข่มขู่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เช่น กลุ่มอันธพาลบุกเข้าทำร้ายกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยและลงคะแนนแทน, ผู้ใช้สิทธิ์บางรายที่แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง เช่น ตะโกนว่า "นายควงชนะแน่" ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส, บางหน่วยเลือกตั้งไม่เปิดให้ลงคะแนนจนถึงเที่ยงวัน และบางหน่วยเปิดให้ลงคะแนนเกินเวลาที่กำหนด

ในระหว่างการนับคะแนน พบว่าหมายเลข 25-33 ซึ่งเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลา ถูกนับเป็นบัตรดี แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดหรือเสียหาย แต่บัตรเสียของผู้สมัครพรรคอื่นกลับถูกนับเป็นบัตรเสียตามเดิม, ที่หน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินีเกิดไฟดับระหว่างการนับคะแนน เมื่อไฟกลับมา คะแนนเสียงของพรรคเสรีมนังคศิลาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ พบว่าคะแนนเสียงของหมายเลข 25-33 ใน 13 หน่วยเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มาลงทะเบียน

เมื่อผลการเลือกตั้งถูกเปิดเผย ประชาชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ร่วมสังเกตการณ์และพบหลักฐานการโกงเลือกตั้งมากมาย สื่อมวลชนและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยการทุจริตและไร้ความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกแถลงการณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ว่า "อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย"

ความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร ซึ่งดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่นำไปสู่การล่มสลายของระบอบเผด็จการทหารในที่สุด

23 กุมภาพันธ์ 2436 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต้นแบบหลักสูตร-วิธีการสอนที่เผยแพร่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้ง 'วิทยาลัย' ภายในวัดบวรนิเวศ โดยให้ชื่อว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และสามเณร แยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ใช้สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับพระปริยัติธรรม และส่วนที่เป็นโรงเรียน ซึ่งภายหลังกลายเป็นต้นแบบของ 'โรงเรียนวัดบวรนิเวศ'

ในช่วงแรก โรงเรียนนี้ได้รับการดูแลโดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส และต่อมามีการขยายการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้การศึกษากระจายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนวัดบวรนิเวศกลายเป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบในการใช้หลักสูตรการศึกษาทั่วประเทศ

เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ โดยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างอาคาร 'มนุษยนาควิทยาทาน' ซึ่งนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรณาณวโรรส ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศและโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนวัดบวรนิเวศได้ดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบ 132 ปี และยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top