Friday, 10 May 2024
เดนมาร์ก

สวีเดน-เดนมาร์ก ระงับฉีดโมเดอร์นากลุ่มอายุน้อย หลังพบผลข้างเคียงกล้ามเนื้อ-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

สวีเดนและเดนมาร์ก ประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาในกลุ่มคนอายุน้อย หลังได้รับรายงานผู้มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นผลข้างเคียงชนิดหายากหลังฉีดวัคซีนดังกล่าว

หน่วยงานด้านสุขภาพของสวีเดนระบุเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า จะระงับการฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาในกลุ่มผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 2534 หรือมีอายุไม่เกิน 30 ปี เนื่องจากได้รับข้อมูลที่บ่งชี้ว่า กลุ่มคนอายุน้อยและเยาวชนมีภาวะหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มสูงขึ้นหลังฉีดวัคซีนดังกล่าว ทั้งยังระบุว่า ภาวะดังกล่าวเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนของโมเดอร์นาอย่างชัดเจนหลังฉีดวัคซีนโดสที่สอง แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อยมาก

เดนมาร์กไฟเขียวทดลองรักษาโควิด-19 ‘แบบสูดดม’ ในมนุษย์ สู้กับเชื้อในทางเดินหายใจ

สำนักข่าวซินหัว รายงานแถลงการณ์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (Rigshospitalet) หนึ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก เมื่อวันจันทร์ (11 ต.ค.) เผยว่าการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แบบสูดดมรูปแบบใหม่ ได้รับการอนุมัติให้ทดลองทางคลินิกในมนุษย์แล้ว

การรักษาดังกล่าวพัฒนาโดยคณะนักวิจัยชาวเดนมาร์ก มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของโธมัส บยานชอลต์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาคลินิกของโรงพยาบาลฯ

บยานชอลต์แถลงข่าวว่าการรักษาข้างต้นคือ “การสูดดมสารละลายกรดอ่อนที่เข้าไปช่วยระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการติดเชื้อในทางเดินหายใจอันมีต้นตอจากแบคทีเรียหรือไวรัส” โดยในขั้นต้นจะมุ่งรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และหวังว่าจะสามารถ “พลิกโฉมการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจประเภทอื่นด้วย”

“มันน่าจะสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อประเภทอื่นได้ด้วย เช่น ปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ และวัณโรค ซึ่งทั้งสามล้วนเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลกทุกปี” บยานชอลต์กล่าว

เดนมาร์ก พบสายพันธุ์ย่อย ‘โอมิครอน’ รหัส BA.2 แพร่กระจายได้ไวกว่าเดิม

รัฐมนตรีสาธารณสุขของเดนมาร์กแถลงว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2 ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศนี้ และดูเหมือนว่าจะมีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 แต่ไม่ได้รุนแรงกว่า

รายงานของรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม 2565 กล่าวว่า แม็กนุส ฮิวนิเก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์ก แถลงข่าวที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ของโอมิครอนก่อโรคมากกว่า แต่สายพันธุ์ย่อยนี้แพร่กระจายได้เร็วกว่า

ปัจจุบัน โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 คิดเป็น 98% ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก แต่สำหรับเดนมาร์ก กลับมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากกว่า เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรกำหนดให้สายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน เนื่องจากมีความได้เปรียบในการเติบโต

กราดยิงกลางห้างในกรุงโคเปนเฮเกน ตายหลายคน คาดอาจเป็นก่อการร้าย

เดนมาร์กช็อก!! หลังเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างกรุงโคเปนเฮเกน เกิดเหตุกราดยิงกันที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ค.) พบผูัเสียชีวิตหลายราย ด้านตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวเดนมาร์กวัย 22 ปี แต่ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่ว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้อาจเป็น ‘การก่อการร้าย’

สารวัตรใหญ่ โวเรน โทมัสเซน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน และเท่าที่เรารู้ในตอนนี้คือ มีผู้เสียชีวิตหลายคนเช่นกัน" พร้อมระบุว่าตำรวจได้ปฏิบัติการตรวจค้นตามล่าครั้งใหญ่ทั่วภูมิภาคซีแลนด์

ตำรวจโคเปนเฮเกน ระบุว่า เจ้าหน้าที่ติดอาวุธถูกส่งไปยังห้างสรรรพสินค้าฟิลด์ส ในเมืองหลวงของเดนมาร์ก ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (3 ก.ค.) หลังได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุยิงกัน และแจ้งให้ประชาชนภายในห้างอยู่นิ่งๆ รอคอยความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนท้องถิ่น พบเห็นผู้คนกำลังแตกตื่นวิ่งหนีตายออกจากห้างแห่งนี้

ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีมือปืนคนอื่น ๆ อีก จากการเปิดเผยของตำรวจ ส่วน โทมัสเซน ปฏิเสธให้ข้อสันนิษฐานใด ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของคนร้ายหรือให้ข้อมูลว่ามือปืนเคยเป็นที่ติดตามจับตาของตำรวจหรือไม่ 

โฆษกของ Rigshospitalet โรงพยาบาลหลักในเมืองหลวง ระบุว่า ทางโรงพยาบาลได้รับคนไข้กลุ่มหนึ่งจำนวนเล็ก ๆ มารักษา และได้เรียกตัวแพทย์และพยาบาลเข้ามาช่วยดูแลเป็นกรณีพิเศษด้วย

BT หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของเดนมาร์ก เผยแพร่คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจสอบ อ้างว่าบันทึกภาพโดย มาห์ดิ อัล-วาซนิ ผู้เห็นเหตุการณ์ เป็นภาพชายคนหนึ่งกำลังถือปืนไรเฟิลขนาดใหญ่เดินไปทั่วห้างสรรพสินค้าและกวัดแกว่งมันข้ามบ่าไปมา "เขาดูก้าวร้าวมากและยิงสิ่งต่าง ๆ ไปทั่วเลย"

‘สื่อตะวันตก’ เผยผลสืบสวนพบ 'ยูเครน' อยู่เบื้องหลังบึ้มท่อนอร์ดสตรีม ผู้กระทำอ้าง!! คอยรับคำสั่งมาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ยูเครนอีกทอด

(12 พ.ย.66) หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ และเยอรมนี อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิด ระบุว่า โรมาน เชอร์วินสกี พันเอกแห่งกองกำลังปฏิบัติการพิเศษของยูเครน คือผู้ประสานงานของปฏิบัติการโจมตีท่อลำเลียงน้ำมันนอร์ดสตรีม ทั้งนี้ ผลการสืบสวนร่วมของวอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล อ้างอิงคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่ในยูเครนและที่อื่นๆ ในยุโรป เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่รับรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการดังกล่าว แต่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม

สื่อมวลชนสหรัฐฯ ให้รายละเอียดว่า เชอร์วินสกี ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านโลจิสติกส์และควบคุมทีมงานที่ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ซึ่งเช่าเรือใบลำหนึ่งภายใต้ชื่อปลอมและใช้อุปกรณ์ดำน้ำสำหรับดำลงไปวางวัตถุระเบิดที่ท่อทำเลียง ทั้งนี้เขาไม่ได้วางแผนปฏิบัติการหรือลงมือเพียงลำพัง แต่คอยรับคำสั่งมาจากพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนอีกทอด

รอยรั่วขนาดใหญ่ 4 รู ถูกพบบนท่อลำเลียง 2 เส้นของท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม นอกชายฝั่งเกาะบอร์นโฮล์มของเดนมาร์ก ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2022 ซึ่งสถาบันธรณีวิทยาหลายแห่งตรวจพบแรงระเบิดใต้น้ำ 2 รอย ก่อนที่ท่อลำเลียงจะเกิดการรั่วไหล

ท่อลำเลียงแห่งนี้ตกอยู่ในแก่นกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยุโรป โดยรัสเซียตัดการส่งมอบก๊าซป้อนสู่ยุโรป ซึ่งสงสัยว่าน่าจะเป็นการแก้แค้นมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโกต่อกรณีรุกรานยูเครน

เชอร์วินสกี ให้การปฏิเสธผ่านทนายความส่วนตัว บอกกว่าเขาไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการลอบก่อวินาศกรรมโจมตีท่อลำเลียง "ทุกข่าวลือเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผม ในเหตุโจมตีท่อนอร์ดสตรีม ถูกเผยแพร่ออกมาโดยโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย โดยปราศจากพื้นฐานใดๆ รองรับ" เขาเขียนถ้อยแถลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงวอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ปฏิเสธซ้ำๆ ว่าประเทศของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดท่อลำเลียง "ผมจะไม่มีวันทำเช่นนั้น" เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อ้างอิงหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพต์ ระบุว่าปฏิบัติการก่อวินาศกรรมถูกคิดค้นขึ้นมาโดยปราศจากการรับรู้ของเซเลนสกี

วอชิงตัน โพสต์กับแดร์ ชปีเกิล เผยว่าพวกเขาได้ติดต่อไปยังรัฐบาลยูเครน เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับผลการสืบสวนร่วมของพวกเขา แต่ทางเคียฟไม่ได้ให้คำตอบกลับมาแต่อย่างใด

กษัตริย์พระองค์ใหม่!! ‘เดนมาร์ก’ ผลัดแผ่นดิน!! ‘คิงเฟรเดอริกที่ 10’ เสด็จขึ้นครองราชย์ พสกนิกรนับแสนคนแห่เข้าเฝ้า ท่ามกลางราชพิธีที่แสนเรียบง่าย

(15 ม.ค.67) เอเอฟพี รายงานบรรยากาศการเฉลิมฉลองในประเทศเดนมาร์ก หลังจาก สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 พระชนมพรรษา 55 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น

ภายหลังสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 พระราชมารดา ทรงลงพระนามสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการที่พระราชวังคริสเตียนบอร์กในกรุงโคเปนเฮเกน และถือเป็นการสิ้นสุด 52 ปีที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ทรงครองราชย์

ต่อมา นายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ผู้นำหญิง ประกาศการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 จากระเบียงพระราชวังคริสเตียนบอร์ก ท่ามกลางประชาชนมากกว่า 1 แสนคนที่หลั่งไหลมาเข้าเฝ้าและชื่นชมพระบารมีของกษัตริย์องค์ใหม่

โดยพระองค์ทรงเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ประชาชนชื่นชอบเช่นเดียวกับพระราชมารดา และได้รับการสนับสนุนจากชาวเดนมาร์กมากกว่าร้อยละ 80

สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 ตรัสกับพสกนิกรว่า “พระมารดาของข้าพเจ้าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับคนไม่กี่คนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศของพระองค์เอง”

“ความหวังของข้าพเจ้าคือกษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมความเป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคต นี่เป็นความรับผิดชอบที่ข้าพเจ้ายอมรับด้วยความเคารพ ความภาคภูมิใจ และความสุขที่เปี่ยมล้น”

จากนั้น สมเด็จพระราชินีแมรี พระมเหสี ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย และเป็นสามัญชนคนแรกที่กลายเป็นพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ปรากฏพระวรกายเคียงข้างพระราชสวามี ก่อนสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกทรงจุมพิตพระราชินีแมรี ส่งผลให้ประชาชนพากันส่งเสียงเชียร์อย่างปลื้มปีติ

นอกจากนี้รัชทายาททั้ง 4 พระองค์ทรงปรากฏตัวบนระเบียงด้วย รวมถึง เจ้าชายคริสเตียน มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก พระชันษา 18 ปีด้วย

รายงานระบุอีกว่า ตามประเพณีของเดนมาร์กจะไม่มีการเชิญบุคคลสำคัญหรือสมาชิกราชวงศ์จากต่างแดน รวมทั้งไม่มีพระราชพิธีราชาภิเษกหรือประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์

ด้าน สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงแสดงความยินดีกับสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 10 และสมเด็จพระราชินีแมรี ผ่านโพสต์บนบัญชีอินสตาแกรมของสำนักพระราชวังเดนมาร์ก

ขณะที่ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ตรัสขอบพระทัยสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า ‘พระภคินี (ลูกพี่ลูกน้อง) เดซี’ สำหรับความร่วมมือที่ดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ส่วน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวยกย่องสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอว่าพระองค์ทรงเป็นตัวอย่างที่น่าเหลือเชื่อของการรับใช้ประชาชนอย่างมีหลักการและไร้ซึ่งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์เอง

นักวิจัยเดนมาร์กฝึก AI ให้คาดคะเน ‘ชะตาชีวิต’ มนุษย์ พบแม่นยำเกือบ 80% บอกได้ถึงขั้นใครอยู่ใครไปใน 4 ปีข้างหน้า

(10 ก.พ. 67) Business Tomorrow เผย ทีมนักวิจัยจากเดนมาร์กพัฒนา AI สุดล้ำที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัว และคาดการณ์อนาคตของคนได้อย่างแม่นยำ ผ่านโมเดลที่ใช้ชื่อว่า ‘life2vec’ ซึ่งทำงานโดยใช้เทคนิค Machine Learning และ Natural Language Processing (NLP) วิเคราะห์ข้อมูลประชากรกว่า 6 ล้านคนจากเดนมาร์ก ครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2559 

โมเดลนี้เรียนรู้จากข้อมูลสุขภาพ การศึกษา รายได้ อาชีพ และอื่นๆ ซึ่งสามารถคาดคะเนพฤติกรรมความคิด, ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งแนวโน้มการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คน ในช่วงอายุ 35-65 ปี ซึ่งผลที่ออกมานั้น life2vec สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำถึง 78% ว่าใครจะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตใน 4 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม life2vec ยังมีข้อจำกัดบางประการ อย่างเช่น ไม่สามารถคาดการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บอกอายุขัยที่แน่นอน หรือใช้งานในชีวิตจริงได้ แต่เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ต่อวงการสุขภาพ ธุรกิจประกันชีวิต และอาจนำไปสู่เครื่องมือใหม่ๆ ในการวางแผน ดูแล และป้องกันปัญหาสุขภาพ

'เดนมาร์ก' จ่อให้หญิงสาวอายุ 15 ปีทําแท้งได้ โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.67) ว่าจะอนุญาตให้หญิงสาวสามารถทําแท้งได้จนถึง 18 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แทนที่จะเป็น 12 สัปดาห์ เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการทําแท้งครั้งแรกของประเทศในแถบนอร์ดิกเป็นเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หญิงสาวอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิที่จะทําแท้งได้โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง รัฐบาลลดอายุขีดจํากัดให้เป็นไปตามอายุที่ยอมรับในการมีเพศสัมพันธ์ของประเทศ

“การเลือกว่าจะทําแท้งหรือไม่เป็นสถานการณ์ที่ยากลําบาก และฉันหวังว่าเด็กหญิงจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของพวกเธอ แต่ถ้ามีความไม่ลงรอยกัน สุดท้ายแล้วต้องเป็นการตัดสินใจของเด็กหญิงเองว่าเธอต้องการเป็นแม่หรือไม่” มารี เบเยอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและความเสมอภาคเพศ กล่าว

ในปัจจุบัน หญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถทําแท้งได้ แต่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

กฎหมายสุขภาพฉบับแก้ไขจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนของปีหน้า (2568)

เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปตะวันตกที่เสนอการทําแท้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปี 1973 แต่ก็อนุญาตให้ทําแท้งได้จนถึง 12 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิเท่านั้น ปัจจุบันหญิงสาวในเดนมาร์กจะสามารถทําแท้งได้เป็นเวลานานกว่าประเทศใดๆ ในยุโรปส่วนใหญ่

ตามหน่วยงานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเดนมาร์ก จํานวนการทําแท้งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ในปี 2565 มีการทําแท้งทางการแพทย์ 14,700 ราย เทียบกับ 14,500 รายในปี 2557 จํานวนสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2518 เมื่อการทําแท้งได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมาย มีจํานวน 27,900 ราย

เมตต์ เธียเซน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาชนเดนมาร์กซึ่งเป็นพรรคป็อปปูลิสต์ ได้แสดงความเสียใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “เป็นวันที่แย่มาก กฎหมายใหม่ที่แย่มาก” เธียเซนกล่าวกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ดีอาร์ว่า “มีความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างสิทธิของหญิงในร่างกายของตน แต่ก็มีสิทธิในชีวิตของวิญญาณที่อยู่ในครรภ์ของแม่ด้วย”

ในเดือนมีนาคม ประเทศฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่รับรองสิทธิในการทําแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ทําให้ 'สิทธิในการทําแท้ง' ในฝรั่งเศสกลายเป็น 'ไม่สามารถถอนกลับได้'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top