'เดนมาร์ก' จ่อให้หญิงสาวอายุ 15 ปีทําแท้งได้ โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.67) ว่าจะอนุญาตให้หญิงสาวสามารถทําแท้งได้จนถึง 18 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แทนที่จะเป็น 12 สัปดาห์ เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการทําแท้งครั้งแรกของประเทศในแถบนอร์ดิกเป็นเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หญิงสาวอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิที่จะทําแท้งได้โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง รัฐบาลลดอายุขีดจํากัดให้เป็นไปตามอายุที่ยอมรับในการมีเพศสัมพันธ์ของประเทศ

“การเลือกว่าจะทําแท้งหรือไม่เป็นสถานการณ์ที่ยากลําบาก และฉันหวังว่าเด็กหญิงจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของพวกเธอ แต่ถ้ามีความไม่ลงรอยกัน สุดท้ายแล้วต้องเป็นการตัดสินใจของเด็กหญิงเองว่าเธอต้องการเป็นแม่หรือไม่” มารี เบเยอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและความเสมอภาคเพศ กล่าว

ในปัจจุบัน หญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถทําแท้งได้ แต่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

กฎหมายสุขภาพฉบับแก้ไขจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนของปีหน้า (2568)

เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปตะวันตกที่เสนอการทําแท้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปี 1973 แต่ก็อนุญาตให้ทําแท้งได้จนถึง 12 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิเท่านั้น ปัจจุบันหญิงสาวในเดนมาร์กจะสามารถทําแท้งได้เป็นเวลานานกว่าประเทศใดๆ ในยุโรปส่วนใหญ่

ตามหน่วยงานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเดนมาร์ก จํานวนการทําแท้งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ในปี 2565 มีการทําแท้งทางการแพทย์ 14,700 ราย เทียบกับ 14,500 รายในปี 2557 จํานวนสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2518 เมื่อการทําแท้งได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมาย มีจํานวน 27,900 ราย

เมตต์ เธียเซน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาชนเดนมาร์กซึ่งเป็นพรรคป็อปปูลิสต์ ได้แสดงความเสียใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “เป็นวันที่แย่มาก กฎหมายใหม่ที่แย่มาก” เธียเซนกล่าวกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ดีอาร์ว่า “มีความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างสิทธิของหญิงในร่างกายของตน แต่ก็มีสิทธิในชีวิตของวิญญาณที่อยู่ในครรภ์ของแม่ด้วย”

ในเดือนมีนาคม ประเทศฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่รับรองสิทธิในการทําแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ทําให้ 'สิทธิในการทําแท้ง' ในฝรั่งเศสกลายเป็น 'ไม่สามารถถอนกลับได้'