Sunday, 28 April 2024
สวนป่าเบญจกิติ

'ทัพบก' เข้าดูแลระบบนิเวศสวนป่าเบญจกิติ ผนึกกำลังหลายหน่วย เพื่อความสุขชาว กทม.

(13 ม.ค. 66) พล.ต.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกยังคงดำรงภารกิจช่วยเหลือประชาชนในกิจกรรมจิตอาสา รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด จากสภาพทางนิเวศวิทยาของสวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย กทม. ที่เป็นข้อห่วงใยของสังคม ซึ่งหลายภาคส่วนได้มีความประสงค์ที่จะร่วมกันดูแลพื้นที่ดังกล่าว โดยเมื่อ 12 ม.ค. 2566 กองทัพบกได้มอบให้กองทัพภาคที่ 1 และกรมการทหารช่าง ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และกำลังพลจิตอาสา นำอุปกรณ์ทางการช่าง ประกอบด้วย...

- รถบรรทุกน้ำ 4 คัน และรถฉีดน้ำในอาคารควบคุมระยะไกล 2 คัน 
- และรถบรรทุกน้ำจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. 9 คัน

ร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ต้นไม้และพืชคลุมดิน โดยเฉพาะบริเวณ 'เกาะต้นไม้และพืชไม้ในบ่อตื้น' รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง สูบน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้าสู่บึงบำบัด ก่อนส่งน้ำที่บำบัดแล้วเข้าสระน้ำในสวนป่า ควบคู่กับการผันน้ำดีเข้ามาเติมในคลองไผ่สิงโตซึ่งดำเนินการโดย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

'สวนสาธารณะเบญจกิติ' สร้าง 30 ปี  แทบพังป่นปี้ในสองร้อยกว่าวัน!

ภาพผืนหญ้ากรอบเกรียมเหือดแห้งเหมือนซากหนังสัตว์ถูกแปะเกาะไว้บนเนินดินซึ่งห้อมล้อมด้วยมวลน้ำที่ห่างไกลว่าสะอาด ถูกเผยแพร่ไปมากมายหลายครั้งบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้หัวข้อการพูดคุยถึงปัจจุบันของ 'สวนป่าเบญจกิติ' อันขาดซึ่งการดูแลจนมีสภาพเยี่ยงนี้

เป็น 'สวนสาธารณะเบญจกิติ' ที่คนกรุงเทพฯ รอคอยมานานเกินกว่าสามสิบปี

ก่อนกำเนิดสวนเบญจกิติเช่นวันนี้ สถานะที่ตั้งเดิมคือ 'โรงงานยาสูบ' ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เดินกิจการ 'เผาปอด' คนไทยเกินกว่า 40 ปี จนมีคำสั่งคณะรัฐมนตรีให้ย้ายโรงงานออกไปยังภูมิภาค และ 'ต้อง' พัฒนาพื้นที่เดิมขึ้นเป็นสวนสาธารณะ องค์การฯ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่ 'คืน' แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) จำนวน 140 ไร่ เพื่อสร้างสวนน้ำ โดยมีบึงน้ำเก่าความจุ 320,000 ลูกบาศก์เมตร (ชาวบ้านมักเรียกว่า - บึงโรงงานยาสูบ) เป็นปฐม

รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ส่งไม้ต่อ โดยชงเรื่องสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (2535) และนำที่ดินดังกล่าวขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายอย่างเป็นทางการ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า 'เบญจกิติ'

เรื่องล่วงเลยเนิ่นนานผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 8 คน จนแทบลืมเลือน 'สวนป่า' ที่ได้รับการดูแลเพียงงบประมาณประจำปีเล็กน้อยจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 องค์การยาสูบฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 311 ไร่

จนกาลจำเนียรผ่านถึงยุคนายกรัฐมนตรีชื่อ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หันมาเอาจริงเอาจัง โดยได้ติดตามกำกับดูแล แก้ปัญหาต่างๆ นานา อย่างต่อเนื่อง ผ่านรายงานความคืบหน้าโครงการจัดสร้าง 'สวนป่าเบญจกิติ' เป็นระยะ อย่างไม่มีรัฐบาลไหนเคยใส่ใจมาก่อน โดยนายกฯ ตั้งใจเพียงว่า ต้องดำเนินงานสร้างสวนนี้ให้เสร็จสิ้นลงภายใต้รัฐนาวาของตนให้ได้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยตั้งกองทัพบกเป็นหน่วยงานดำเนินการก่อสร้าง ทั้งระยะแรก (140 ไร่) และระยะสอง (311 ไร่)

‘สวนป่าเบญจกิติ’ ชุ่มชื้นขึ้นหลังหน่วยทหารได้มีการสูบน้ำเข้าในบริเวณเกาะต้นไม้และพืชไม้ในบ่อตื้น แต่ยังคงเห็นร่องรอยความทรุดโทรมของสวนป่า ประชาชนวอนช่วยดูแลสวนป่าให้ดีกว่านี้ ล่าสุดเกิดดราม่าเดือด ‘ลบโพสต์ทำไม’ ในเพจสวนเบญจกิติ 

จากกรณีมีชาวเน็ตจำนวนมากแห่แชร์ภาพ ‘เกาะต้นไม้กลางบึงน้ำ’ (จาก Traffy Fondue) ซึ่งเป็นไฮไลต์ของ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ที่เปลี่ยนไปเป็นต้นหญ้าตายซาก มีน้ำเน่าเสีย เหมือนไม่ได้รับการดูแล จนกลายเป็นไวรัลและกระแสดราม่าบนโลกโซเชียล  ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 เพจ ‘สวนเบญจกิติ’ ได้อัปเดตความคืบหน้าภาพในสวน โดยได้โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่จิตอาสาจากกองทัพบก สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยพัฒนาปรับปรุงบรรยากาศภายในสวน 

จากข้อร้องเรียนดังกล่าว ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้ลงพื้นที่ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2566 พบว่า มีการสูบน้ำเข้าในบริเวณเกาะต้นไม้และพืชไม้ในบ่อตื้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นโดยกองทัพบกและหน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่ยังคงเห็นร่องรอยความทรุดโทรม ต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยว กลายเป็นสีเหลืองในบางจุด โดยเฉพาะใบบัวและดอกบัวที่แห้งเหี่ยวจำนวนมาก โดยทีมข่าวได้พูดคุยกับผู้มาใช้บริการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ อย่างคุณวิทยา สอนเนียม แสดงความเห็นว่า เคยมาใช้บริการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ในช่วงที่ปรับปรุงใหม่ๆ สวนป่ามีความเขียวขจีมากกว่านี้อาจเป็นเพราะช่วงหน้าฝน ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่หน้าแล้ง ฝนมันไม่ตก สวนป่าจึงต้องการการดูแลเรื่องน้ำอย่างสม่ำเสมอ

วิทยา สอนเนียม

ส่วนคุณศิริมา โมนะ แสดงความเห็นว่า มาใช้บริการที่สวนฯ ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง และรู้สึกว่าบริเวณสวนป่าในช่วงนี้ต้นไม้มันเหี่ยว โดยเฉพาะดอกบัวตายไปค่อนข้างเยอะ อยากให้เพิ่มต้นไม้มากขึ้น  

ศิริมา โมนะ

จากสวนป่าธรรมดา สู่ ‘สวนสาธารณะเพื่อปวงประชา’ ที่คนคิดต้องผสาน 'ประโยชน์-ประหยัด-เรียบง่าย' ไว้ด้วยกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ สวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯ ได้ตกเป็นประเด็นดรามาของคนในสังคมออนไลน์ เนื่องจากมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้โพสต์รูปภาพและระบุว่า สวนป่าแห่งนี้ทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล ต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยวเฉาตาย แถมส่วนที่เป็นแหล่งน้ำก็ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งจนคนที่มาเยี่ยมชมเบือนหน้าหนี 

หลังจากนั้นก็มีหลายๆ ฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็น มีทั้งแนะนำ อธิบาย วิเคราะห์ รวมไปถึงติติง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่ออยากให้สวนป่ากลางกรุงเทพแห่งนี้ เป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม และสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนกรุงอย่างแท้จริงไม่ใช่สวนที่สร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษา และรอวันถูกลืมไปจากความทรงจำของคนในเมืองหลวง

จากประเด็นดรามาที่เกิดขึ้น ทาง THE STATES TIMES ก็ได้ไปเสาะหาความเป็นมาและแนวคิดการสร้างสวนป่าเบญจกิติ โดยบทความนี้ขออ้างอิงวิดีโอของช่อง ‘Gapthanavate’ โดยเจ้าของช่องคือ ‘ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล’ หรือ ‘แก๊ป’ ที่ได้พูดคุยกับ ‘ชัชนิล ซัง’ หรือ ‘ทิป’ สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ หนึ่งในทีมงานออกแบบสวนป่าเบญจกิติในระยะที่ 2-3 ที่เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2565

ซึ่งเนื้อหาภายในวิดีโอนี้สามารถอธิบายความเป็นมา แนวคิดและวัตถุประสงค์ของสวนนี้ได้ครบถ้วน

จุดเริ่มต้นของสวนป่าเบญจกิติ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘มีประโยชน์ ประหยัด และเรียบง่าย’ และคงเดิมอาคารไว้ 2 จุดคือ ‘อาคารผลิต’ ของโรงงานยาสูบ เพื่อปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ และอาคารกีฬา แน่นอว่าเมื่อเป็นสวนป่า ก็ต้องมีน้ำเป็นองค์ประกอบ เพราะน้ำคือชีวิต ซึ่งได้แนวคิดมาจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ทรงกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

ภายในสวนป่าแห่งนี้ มีต้นกล้าของพืชพันธุ์และไม้หายากมากถึง 350 ชนิด จึงเลือกใช้ไม้กล้าที่เป็นพืชพันธุ์หายาก ที่ต้องมีการเพาะเมล็ดจากต้นแม่ที่อยู่ในป่า มาทำการเพาะเลี้ยงเอง เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการเพิ่มพื้นที่ ไม่ใช่ย้ายพื้นที่ และสวนป่าแห่งนี้มีลักษณะเป็นป่าชุ่มน้ำ หรือป่าชายน้ำ เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูง

ด้านงานออกแบบ สวนเบญฯ แบ่งออกเป็น 6 โซน
1.) Constructed wetland : ระบบบำบัดน้ำเสีย
2.) อาคารโกดังกีฬา เป็นพื้นที่สำหรับกีฬาในร่ม สำหรับใช้สอยในด้านกีฬาในอนาคต ถัดมาจะเป็นบ่อน้ำที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับโกดัง จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากป่าชายเลน มีหน้าที่ช่วยในการบำบัดน้ำ 
3.) บ่อน้ำที่ 2 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากบึงป่าน้ำจืด มีพืชชนิดไคร้ย้อย จิกน้ำ พุทธรักษา เป็นต้น
4.) บ่อน้ำที่ 3 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบลุ่มต่ำ ซึ่งตรงจุดนี้จะมีสกายวอล์ค และอัฒจันทร์กลางแจ้งให้ทุกคนได้มาใช้ประโยชน์
5.) บ่อน้ำที่ 4 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์เกี่ยวกับวรรณะเกษตร สวนบ้าน มีพืชพันธุ์ชนิดมะกอกน้ำ สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของคน ซึ่งจะมีพืชที่สามารถนำมารับประทานได้ 
6.) อาคารพิพิธภัณฑ์ จะมีกิจกรรม และจัดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งจะมีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบต่อในอนาคต

ตัวสวนจะมีลักษณะเป็นบ่อ ๆ ไป และในแต่ละบ่อจะมีกองเนิน ซึ่งประโยชน์สำคัญหลัก ๆ ของพื้นที่ตรงนี้ คือ การเป็นที่กักเก็บน้ำ ที่ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ และยังสามารถทำการหน่วงน้ำได้ เมื่อมีฝนตกหนัก หรือเกิดน้ำท่วม พื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับน้ำไว้ให้ได้ เพื่อชะลอน้ำที่อาจเข้าท่วมเสียหาย และลดระยะการท่วมขังพื้นที่บ้านเรือนในชุมชนละแวกใกล้เคียง

เมื่อมองภาพทั้งสวนจะเห็นได้ว่า แต่ละโซนจะเป็นบ่อน้ำเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของตัวต้นไม้และพืชพันธุ์ จากที่ได้บอกไปว่า บ่อที่ 1 จะมีพืชพันธุ์จากป่าชายเลน ทนน้ำกร่อยได้มาก เช่น ต้นแสม ต้นปรงไข่ ซึ่งจะทนต่อความเค็ม เนื่องจากน้ำจากคลองไผ่สิงห์โต ในบางช่วงจะเป็นน้ำกร่อย ดังนั้น

บ่อที่ 1 จึงเปรียบเสมือนด่านหน้า
บ่อที่ 2 ซึ่งมีพืชพันธุ์จากบึงป่าน้ำจืด เช่น ไคร้ย้อย จิกน้ำ ซึ่งจะมีลำต้นที่มีความเป็นธรรมชาติ 
บ่อที่ 3 จะมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีต้นจามจุรี รวมถึงอัฒจันทร์กลางแจ้ง จะมีพันธุ์ไม้จากป่าดิบลุ่มต่ำ เช่น ต้นยางนา ส่วนพืชพันธุ์ ต้นไม้ในบ่อน้ำ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร่ และต้นกร่าง ซึ่งในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ ยังเป็นที่ให้อาหารของนกอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่ผู้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปมากที่สุดของสวน

ในส่วนของงานดีไซน์ ทางสวนมีทั้งส่วนที่มีพื้นที่ให้คนได้ใช้ทำกิจกรรมในหลายระดับ โดยจะแบ่งเป็นระดับล่างคือ ‘ทางวิ่งจักรยาน’ ซึ่งในอนาคตหากดำเนินการจนแล้วเสร็จจะมีระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร ระดับต่อมาคือ ‘ทางวิ่ง’ หรือ Jogging track ซึ่งจะเป็นทางที่เชื่อมกับทุกบ่อในสวน ขณะวิ่งจะสามารถชมธรรมชาติของทุกบ่อได้ ซึ่งเหมาะแก่การวิ่งออกกำลังกาย เนื่องจากมีต้นไม้ให้ร่มเงาบังแดด ทำให้ไม่ร้อน 

ถัดมาคือ ‘เส้นบอร์ดวอล์ค’ ซึ่งจะมีความแคบกว่าทางเดินในส่วนอื่น ๆ มีความกว้างเพียง 1.5 เมตร และมีเส้นทางที่คดเคี้ยวมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการตั้งใจของทีมออกแบบ ที่ต้องการให้มนุษย์และธรรมชาติเกิดการเชื่อมต่อกัน เพราะเนื่องจากจุดนี้ เป็นจุดที่มีสัตว์มาอาศัย มีธรรมชาติ และมนุษย์ จึงออกแบบเส้นทางให้มีความคดเคี้ยว เพื่อลดความเร็วในการเดิน เพื่อให้ทุกคนได้ค่อย ๆ สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ‘สกายวอล์ค’ เกิดจากความตั้งใจที่การจะเชื่อมระหว่างเมืองกับสวน ทำหน้าที่คอยพาคนจากอีกด้านหนึ่งมาสู่อีกด้านหนึ่ง โดยผ่านบรรยากาศในสวนทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top