จากสวนป่าธรรมดา สู่ ‘สวนสาธารณะเพื่อปวงประชา’ ที่คนคิดต้องผสาน 'ประโยชน์-ประหยัด-เรียบง่าย' ไว้ด้วยกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ สวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯ ได้ตกเป็นประเด็นดรามาของคนในสังคมออนไลน์ เนื่องจากมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้โพสต์รูปภาพและระบุว่า สวนป่าแห่งนี้ทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล ต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยวเฉาตาย แถมส่วนที่เป็นแหล่งน้ำก็ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งจนคนที่มาเยี่ยมชมเบือนหน้าหนี 

หลังจากนั้นก็มีหลายๆ ฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็น มีทั้งแนะนำ อธิบาย วิเคราะห์ รวมไปถึงติติง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่ออยากให้สวนป่ากลางกรุงเทพแห่งนี้ เป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม และสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนกรุงอย่างแท้จริงไม่ใช่สวนที่สร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษา และรอวันถูกลืมไปจากความทรงจำของคนในเมืองหลวง

จากประเด็นดรามาที่เกิดขึ้น ทาง THE STATES TIMES ก็ได้ไปเสาะหาความเป็นมาและแนวคิดการสร้างสวนป่าเบญจกิติ โดยบทความนี้ขออ้างอิงวิดีโอของช่อง ‘Gapthanavate’ โดยเจ้าของช่องคือ ‘ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล’ หรือ ‘แก๊ป’ ที่ได้พูดคุยกับ ‘ชัชนิล ซัง’ หรือ ‘ทิป’ สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ หนึ่งในทีมงานออกแบบสวนป่าเบญจกิติในระยะที่ 2-3 ที่เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2565

ซึ่งเนื้อหาภายในวิดีโอนี้สามารถอธิบายความเป็นมา แนวคิดและวัตถุประสงค์ของสวนนี้ได้ครบถ้วน

จุดเริ่มต้นของสวนป่าเบญจกิติ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘มีประโยชน์ ประหยัด และเรียบง่าย’ และคงเดิมอาคารไว้ 2 จุดคือ ‘อาคารผลิต’ ของโรงงานยาสูบ เพื่อปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ และอาคารกีฬา แน่นอว่าเมื่อเป็นสวนป่า ก็ต้องมีน้ำเป็นองค์ประกอบ เพราะน้ำคือชีวิต ซึ่งได้แนวคิดมาจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ทรงกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

ภายในสวนป่าแห่งนี้ มีต้นกล้าของพืชพันธุ์และไม้หายากมากถึง 350 ชนิด จึงเลือกใช้ไม้กล้าที่เป็นพืชพันธุ์หายาก ที่ต้องมีการเพาะเมล็ดจากต้นแม่ที่อยู่ในป่า มาทำการเพาะเลี้ยงเอง เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการเพิ่มพื้นที่ ไม่ใช่ย้ายพื้นที่ และสวนป่าแห่งนี้มีลักษณะเป็นป่าชุ่มน้ำ หรือป่าชายน้ำ เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูง

ด้านงานออกแบบ สวนเบญฯ แบ่งออกเป็น 6 โซน
1.) Constructed wetland : ระบบบำบัดน้ำเสีย
2.) อาคารโกดังกีฬา เป็นพื้นที่สำหรับกีฬาในร่ม สำหรับใช้สอยในด้านกีฬาในอนาคต ถัดมาจะเป็นบ่อน้ำที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับโกดัง จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากป่าชายเลน มีหน้าที่ช่วยในการบำบัดน้ำ 
3.) บ่อน้ำที่ 2 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากบึงป่าน้ำจืด มีพืชชนิดไคร้ย้อย จิกน้ำ พุทธรักษา เป็นต้น
4.) บ่อน้ำที่ 3 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์จากป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบลุ่มต่ำ ซึ่งตรงจุดนี้จะมีสกายวอล์ค และอัฒจันทร์กลางแจ้งให้ทุกคนได้มาใช้ประโยชน์
5.) บ่อน้ำที่ 4 จะเป็นบ่อที่มีพืชพันธุ์เกี่ยวกับวรรณะเกษตร สวนบ้าน มีพืชพันธุ์ชนิดมะกอกน้ำ สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตของคน ซึ่งจะมีพืชที่สามารถนำมารับประทานได้ 
6.) อาคารพิพิธภัณฑ์ จะมีกิจกรรม และจัดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งจะมีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบต่อในอนาคต

ตัวสวนจะมีลักษณะเป็นบ่อ ๆ ไป และในแต่ละบ่อจะมีกองเนิน ซึ่งประโยชน์สำคัญหลัก ๆ ของพื้นที่ตรงนี้ คือ การเป็นที่กักเก็บน้ำ ที่ใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ และยังสามารถทำการหน่วงน้ำได้ เมื่อมีฝนตกหนัก หรือเกิดน้ำท่วม พื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับน้ำไว้ให้ได้ เพื่อชะลอน้ำที่อาจเข้าท่วมเสียหาย และลดระยะการท่วมขังพื้นที่บ้านเรือนในชุมชนละแวกใกล้เคียง

เมื่อมองภาพทั้งสวนจะเห็นได้ว่า แต่ละโซนจะเป็นบ่อน้ำเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของตัวต้นไม้และพืชพันธุ์ จากที่ได้บอกไปว่า บ่อที่ 1 จะมีพืชพันธุ์จากป่าชายเลน ทนน้ำกร่อยได้มาก เช่น ต้นแสม ต้นปรงไข่ ซึ่งจะทนต่อความเค็ม เนื่องจากน้ำจากคลองไผ่สิงห์โต ในบางช่วงจะเป็นน้ำกร่อย ดังนั้น

บ่อที่ 1 จึงเปรียบเสมือนด่านหน้า
บ่อที่ 2 ซึ่งมีพืชพันธุ์จากบึงป่าน้ำจืด เช่น ไคร้ย้อย จิกน้ำ ซึ่งจะมีลำต้นที่มีความเป็นธรรมชาติ 
บ่อที่ 3 จะมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีต้นจามจุรี รวมถึงอัฒจันทร์กลางแจ้ง จะมีพันธุ์ไม้จากป่าดิบลุ่มต่ำ เช่น ต้นยางนา ส่วนพืชพันธุ์ ต้นไม้ในบ่อน้ำ ได้แก่ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นไกร่ และต้นกร่าง ซึ่งในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ ยังเป็นที่ให้อาหารของนกอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่ผู้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปมากที่สุดของสวน

ในส่วนของงานดีไซน์ ทางสวนมีทั้งส่วนที่มีพื้นที่ให้คนได้ใช้ทำกิจกรรมในหลายระดับ โดยจะแบ่งเป็นระดับล่างคือ ‘ทางวิ่งจักรยาน’ ซึ่งในอนาคตหากดำเนินการจนแล้วเสร็จจะมีระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร ระดับต่อมาคือ ‘ทางวิ่ง’ หรือ Jogging track ซึ่งจะเป็นทางที่เชื่อมกับทุกบ่อในสวน ขณะวิ่งจะสามารถชมธรรมชาติของทุกบ่อได้ ซึ่งเหมาะแก่การวิ่งออกกำลังกาย เนื่องจากมีต้นไม้ให้ร่มเงาบังแดด ทำให้ไม่ร้อน 

ถัดมาคือ ‘เส้นบอร์ดวอล์ค’ ซึ่งจะมีความแคบกว่าทางเดินในส่วนอื่น ๆ มีความกว้างเพียง 1.5 เมตร และมีเส้นทางที่คดเคี้ยวมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการตั้งใจของทีมออกแบบ ที่ต้องการให้มนุษย์และธรรมชาติเกิดการเชื่อมต่อกัน เพราะเนื่องจากจุดนี้ เป็นจุดที่มีสัตว์มาอาศัย มีธรรมชาติ และมนุษย์ จึงออกแบบเส้นทางให้มีความคดเคี้ยว เพื่อลดความเร็วในการเดิน เพื่อให้ทุกคนได้ค่อย ๆ สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติ อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ‘สกายวอล์ค’ เกิดจากความตั้งใจที่การจะเชื่อมระหว่างเมืองกับสวน ทำหน้าที่คอยพาคนจากอีกด้านหนึ่งมาสู่อีกด้านหนึ่ง โดยผ่านบรรยากาศในสวนทั้งหมด

และสิ่งที่น่ายินดีมาก ๆ คือ โครงการฯ นี้ได้ ‘Professor Kongjian Yu’ มาเป็นที่ปรึกษา โดย Professor Yu มีผลงานในประเทศจีนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งแนวคิดที่ได้ ยังสืบเนื่องมาจาก ‘โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี’ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

โดยวิธีการในการบำบัดน้ำจาก ‘คลองไผ่สิงโต’ จะได้พืชน้ำช่วยในการดูดซับสิ่งสกปรกในน้ำ และความลาดชันของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยในเรื่องอัตราการไหลของน้ำที่ถูกสูบเข้ามาเพื่อจะทำการบำบัด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในการบำบัด น้ำจะสะอาดจนสามารถนำมารดน้ำต้นไม้ได้ อีกทั้งสัตว์ยังสามารถมาอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากน้ำในบ่อได้อีกด้วย 

ในส่วนของการกักเก็บน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ของสวนเกือบ 95% เป็นพื้นที่ดิน จึงทำให้สามารถซึมน้ำได้หมด เพราะดินคือฟองน้ำอย่างดีในการซึมน้ำ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมส่วนนี้จึงมีความจำเป็นกับเมือง ส่วนบ่อน้ำแต่ละบ่อ เมื่อเกิดพายุเข้า หรือน้ำท่วม บ่อน้ำแต่ละบ่อจะช่วยพร่องน้ำออกทางระบบพร่องน้ำของทาง กทม. โดยสามารถรองรับน้ำฝนพายุได้ 2 ลูก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่ดีด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหน้าแล้ง สวนอาจมีความแห้งแล้ง เนื่องจากน้ำในบ่อเหือดแห้ง ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของระบบนิเวศ เพื่อให้เป็นตัวสะท้อนว่า ‘ธรรมชาติไม่ได้สวยงามตลอดเวลา’ และอยากให้ทุกคนได้เข้าใจในระบบนิเทศของธรรมชาติ ตลอดจนถึงการตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ทางโครงการฯ ได้มีการจัดสรรมาแล้วในทุก ๆ ส่วนว่า ส่วนไหนสามารถดูแลน้อยได้ ส่วนไหนต้องดูแลเยอะ และส่วนไหนที่สามารถปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตัวเองได้

ตัวโครงการได้มีการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นส่วนประกอบในหลาย ๆ พื้นที่ ตามแนวคิดของโครงการคือประโยชน์ ประหยัด และเรียบง่าย เช่น ได้มีการนำคอนกรีตจากอาคารเดิมที่ถูกรื้อออก มาใช้ประโยชน์ โดยนำมาวัดขนาดและทุบให้ได้ตามขนาดที่คำนวณไว้ มาเป็นแนวกั้นที่บริเวณเนินด้านล่าง ในบ่อน้ำแต่ละบ่อ เพื่อช่วยในเรื่องของการลดการกัดเซาะของดิน หรือมีการนำไม้เดิมจากตัวอาคารเก่า มาประยุกต์ทำเป็นที่นั่งในสวน อีกทั้งดินในโครงการยังมาจากการ Balance ดิน โดยไม่มีการนำดินใหม่เข้าหรือนำดินเก่าออก ซึ่งสามารถช่วยลดภาระในเรื่องของการขนส่งและลดค่าใช้จ่ายได้ตามแนวคิด ‘ประโยชน์ ประหยัด และเรียบง่าย’

ในส่วนของบ่อที่ 4 ซึ่งเป็นบ่อวรรณะเกษตรสวนบ้าน จะมีการปลูกพืชผักที่สามารถกินได้ โดยทางโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า การปลูกต้นไม้ในเมืองนั้น สามารถปลูกต้นไม้ได้อย่างหลากหลาย รวมถึงต้นไม้ต้องการให้เห็นว่า ต้นไม้ที่เป็นอาหารก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสวนได้เช่นกัน หากได้รับการจัดสรรที่เหมาะสม 


ที่มา: https://youtu.be/daQneBj__9k