'สวนสาธารณะเบญจกิติ' สร้าง 30 ปี  แทบพังป่นปี้ในสองร้อยกว่าวัน!

ภาพผืนหญ้ากรอบเกรียมเหือดแห้งเหมือนซากหนังสัตว์ถูกแปะเกาะไว้บนเนินดินซึ่งห้อมล้อมด้วยมวลน้ำที่ห่างไกลว่าสะอาด ถูกเผยแพร่ไปมากมายหลายครั้งบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้หัวข้อการพูดคุยถึงปัจจุบันของ 'สวนป่าเบญจกิติ' อันขาดซึ่งการดูแลจนมีสภาพเยี่ยงนี้

เป็น 'สวนสาธารณะเบญจกิติ' ที่คนกรุงเทพฯ รอคอยมานานเกินกว่าสามสิบปี

ก่อนกำเนิดสวนเบญจกิติเช่นวันนี้ สถานะที่ตั้งเดิมคือ 'โรงงานยาสูบ' ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เดินกิจการ 'เผาปอด' คนไทยเกินกว่า 40 ปี จนมีคำสั่งคณะรัฐมนตรีให้ย้ายโรงงานออกไปยังภูมิภาค และ 'ต้อง' พัฒนาพื้นที่เดิมขึ้นเป็นสวนสาธารณะ องค์การฯ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่ 'คืน' แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) จำนวน 140 ไร่ เพื่อสร้างสวนน้ำ โดยมีบึงน้ำเก่าความจุ 320,000 ลูกบาศก์เมตร (ชาวบ้านมักเรียกว่า - บึงโรงงานยาสูบ) เป็นปฐม

รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ส่งไม้ต่อ โดยชงเรื่องสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (2535) และนำที่ดินดังกล่าวขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายอย่างเป็นทางการ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า 'เบญจกิติ'

เรื่องล่วงเลยเนิ่นนานผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 8 คน จนแทบลืมเลือน 'สวนป่า' ที่ได้รับการดูแลเพียงงบประมาณประจำปีเล็กน้อยจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 องค์การยาสูบฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก 311 ไร่

จนกาลจำเนียรผ่านถึงยุคนายกรัฐมนตรีชื่อ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หันมาเอาจริงเอาจัง โดยได้ติดตามกำกับดูแล แก้ปัญหาต่างๆ นานา อย่างต่อเนื่อง ผ่านรายงานความคืบหน้าโครงการจัดสร้าง 'สวนป่าเบญจกิติ' เป็นระยะ อย่างไม่มีรัฐบาลไหนเคยใส่ใจมาก่อน โดยนายกฯ ตั้งใจเพียงว่า ต้องดำเนินงานสร้างสวนนี้ให้เสร็จสิ้นลงภายใต้รัฐนาวาของตนให้ได้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยตั้งกองทัพบกเป็นหน่วยงานดำเนินการก่อสร้าง ทั้งระยะแรก (140 ไร่) และระยะสอง (311 ไร่)

การก่อสร้าง ฟื้นฟู ดำเนินรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างระบบนิเวศของป่าไม้ และเริ่มเปิดพื้นที่บางส่วนให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ ภายใต้แนวคิดของนายกรัฐมนตรีเอง ที่เน้นว่า "...ควรให้มีการสร้างสีสันแก่กรุงเทพฯ ด้วยดอกไม้ตามฤดูกาล ภายในสวนต้องเป็นแหล่งของการเรียนรู้ มีพื้นที่สำหรับเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นสถานที่เล่นดนตรีในสวน มีพื้นที่ให้สมาชิกครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาออกกำลังภายในพื้นที่ควบคุมได้ รวมทั้งเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่ประชาชนทุกคน รวมถึงกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึง รวมทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และความสะอาดเป็นสำคัญ"

เมื่อการจัดสร้างสวนป่า 'เบญจกิติ' ซึ่งกรมธนารักษ์ได้รับมอบพื้นที่จากกองทัพบก ผู้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทั้งในระยะ 2 และ 3 ตามแผนที่กำหนด วันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 18.20 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี จึงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสวนป่า ณ สวนสาธารณะ 'เบญจกิติ' สร้างความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรและผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเป็นอย่างยิ่ง

“...สวนสาธารณะแห่งนี้ คือ สวนสาธารณะที่คนไทยภาคภูมิใจร่วมกัน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเมืองไทย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของคนไทย และคนต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามา และจะเป็นสวนสาธารณะที่ช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษพีเอ็มสองจุดห้า (PM2.5) ได้เป็นอย่างดี” พลเอกประยุทธ์เคยกล่าวไว้

แต่ครั้นเมื่อกรมธนารักษ์รับมอบพื้นที่ก่อสร้างจากกองทัพบกแล้ว จึงส่งมอบพื้นที่ต่อให้ 'กรุงเทพมหานคร' เป็นผู้ดูแล บำรุงรักษา และบริหารจัดการ ได้เพียงสองร้อยกว่าวัน ภาพที่ประชาชนเห็นและเผยแพร่กันทั่วข้างต้น ก็ปรากฏอย่างแจ่มชัด ท่ามกลางการปัดสวะให้พ้นตัวของผู้รับผิดชอบ จนสุดท้ายก็หนีไม่พ้นหน่วยงานที่ชื่อ 'กองทัพบก' โดยกองทัพภาคที่ 1 และกรมการทหารช่าง ได้ขันอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการฟื้นฟูเบื้องต้น อย่างที่เราเห็นและรับรู้กัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่สวนเบญจกิตินั้นถูกละเลยมาตลอด จะได้เห็นโฉมหน้าผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ก็เพียงงานดนตรีในสวน (ผลงานอีเว้นท์แรกๆ บนฐานะผู้ว่าฯ - ชัชชาติ สิทธิพันธ์) ที่มีกรมดุริยางค์ของกองทัพบกเป็นแม่งาน

ชะตากรรมของสวนสาธารณะเกือบทุกแห่งของกรุงเทพฯ จะว่าไปก็คงไม่แตกต่างกันนับจากนี้ เพราะผู้ว่าฯ มีนโยบายอันใหม่สดกว่า คือ '100 สวน 15 นาที' (ใกล้บ้าน) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 13 สวน หลังเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่พฤษภาคม ปีที่แล้ว และยังคงมุ่งเน้นในส่วนนั้นต่อไป (ก่อน) เพราะคือ 214 ข้อ ที่เคยรับปากไว้กับประชาชน

เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์

อ้างอิง: 1) คอลัมน์ 'กวนน้ำให้ใส' โดย 'สารส้ม' / สวนป่าเบญจกิติ ความสำเร็จข้ามคืน ไม่มีจริง / นสพ.แนวหน้า / วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 https://www.naewna.com/politic/columnist/51911 2) วิกิพีเดีย https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%8D%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4 3) ประวัติการยาสูบแห่งประเทศไทย https://www.thaitobacco.or.th/2022/08/00151.html