Saturday, 20 April 2024
รัฐธรรมนูญ

'ชวน' เผยยื่นร่างแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญ-บัตร 2 ใบ’ ให้นายกฯ แล้ว ชี้หมอวรงค์ ยื่นทบทวน แค่เรื่องส่วนตัว

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ผ่านการประชุมร่วมรัฐสภาในวาระ 3 ให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 หลังจากครบกำหนด 15 วันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 จากที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่มี ส.ส. เข้าชื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

อย่างไรก็ตาม แม้ร่างรัฐธรรมนูญถึงมือนายกฯ แล้ว แต่นายกฯ มีเวลาพิจารณาช่วงหนึ่งในการพิจารณาตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันในกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องการเลือกตั้งจากบัตรหนึ่งใบไปสู่บัตรสองใบ ซึ่งอาจเป็นการทำลายสิทธิของประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้ง และขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นายชวน เผยว่า เป็นเรื่องส่วนตัว แต่กระบวนการของสภาฯ ถือว่า ทำตามกรอบกฎหมายแล้ว หลังจากนี้เป็นภารกิจของรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

‘ทิพานัน’ ยก รธน.แจง ‘ประยุทธ์’เป็นนายกฯ ตามรธน.60 สวน ฝ่ายค้านอย่าทำสังคมสับสน เหน็บ กลัวปชช.เลือกพรรค ชง ‘บิ๊กตู่’ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในเลือกตั้งสมัยหน้า 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านอ้างมาตรา 158 วรรค 4 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี มาปลุกปั่นกระแสสังคมเพื่อลดทอนความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ฝ่ายค้านถนัดและดิ้นรนจะทำ เพราะไม่สามารถหาจุดบกพร่องในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ได้ จึงต้องไปเอากฎหมายมาตีความกระท่อนกระแท่น เอามาบางส่วนในแต่ละมาตรามาโจมตีนายกฯ เพราะถ้าอ่านมาตรา 158 และมาตรา 264 ทั้งมาตราจะเข้าใจได้ว่า การนับอายุดำรงตำแหน่งนายกฯ เริ่มขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรค 2 ที่บุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า บทบัญญัติของมาตรา 158 ทั้งมาตรา มี 4 วรรค คือ วรรคหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

วรรคสอง นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และวรรคสี่ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาคือมาตรา 158 วรรค 2 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 และเมื่อประกอบมาตรา 272 แล้วต้องให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ดังนั้นความมุ่งหมายของมาตรา 158 ทั้งมาตราเป็นการบัญญัติพระราชอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการนับเวลา 8 ปีตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ว่าจะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแต่ต้องเป็นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้และเป็นนายกฯ ที่มาตามมาตรา 158 วรรค 2 ที่ต้องผ่านขั้นตอนการเสนอชื่อโดยกระบวนการตั้งแต่ประชาชนตามมาตรา 159 ซึ่งรัฐธรรมนูญปีไหนก็ยังไม่มี เมื่อจะใช้กฎหมายมาตรานี้ก็ต้องอ่านทั้งมาตรา จะเอาวรรค 4 วรรคเดียวมาอ้างแบบกระท่อนกระแท่นบางส่วนไม่ได้ การนับเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรค 4 ต้องนับจากนายกรัฐมนตรีที่มาตามมาตรา 158 วรรค 2 ด้วย

'ปิยบุตร' ค้านศาลประหารชีวิตทางการเมือง 'ปารีณา' ชี้ ไม่ควรสะใจ แต่ต้องทำให้เห็นพิษภัย รธน.60

7 เม.ย. 65 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลฎีกา พิพากษา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากคดี รุกป่าราชบุรี โดยให้พ้นตำแหน่ง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 64 เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี และไม่มีสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น

มีความเห็นที่น่าสนใจ โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในทวิตเตอร์ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้กรณีนักการเมืองละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงไปให้ศาลฎีกาตัดสินและมีโทษประหารชีวิตทางการเมือง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

1.) มาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นเรื่องภายในองค์กร ต้องให้แต่ละองค์กรกำหนดและชี้ขาดกันเอง หน่วยงานอื่นๆ เขาก็ทำกันเอง ลงโทษกันเอง

2.) มาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเกณฑ์ทางกฎหมาย ไม่ใช่ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องความเหมาะสม จึงไม่ควรให้ศาลชี้ขาด ลงโทษ ศาลเกี่ยวข้องได้แบบรีวิวทบทวน เช่น ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัย ก็อาจฟ้องศาลให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษได้ เป็นการตรวจสอบว่าคำสั่งลงโทษชอบด้วย กม. หรือไม่

แต่กรณีนักการเมืองกลับนำมาตรฐานจริยธรรมที่ศาล รธน. และองค์กรอิสระออกมาปรับใช้ และยังให้ ปปช. มาชี้มูล ส่งให้ศาลฎีกาชี้ขาด

3.) โทษสูง การตัดสิทธิ์สมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ไม่ควรมี นี่คือการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ประหารชีวิตทางการเมือง

5 ปี รัฐธรรมนูญปราบโกง-ปฏิรูป (ไม่) ​ไปถึงไหน?! | Click on Clear THE TOPIC EP.191

📌จับตา ‘รัฐธรรมนูญปราบโกง’ ไทยอยู่จุดไหน! ไปกับ ‘วรภัทร วีรพัฒนคุปต์’ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)!
📌ใน Topic : 5 ปี รัฐธรรมนูญปราบโกง-ปฏิรูป (ไม่) ​ไปถึงไหน?!

ในรายการ Click on Clear THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

เคลียร์ความจริง!! จาก 10 ข้อบิดเบือนเรื่อง ม.112 หากไม่อยากเฉียดคุก อย่าหลงเชื่อการปั่นแบบผิดๆ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ‘ม.112’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในม็อบ ในสภา หรือแม้แต่ในโลกโซเชียลก็ตาม

ทว่า…สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ม.112 นั้น ดูจะผิดทางไปเยอะเลย เพราะบางคนเอาแต่คิดว่าเป็นกฎหมายไม่ยุติธรรม บางคนถึงขั้นสาปแช่ง ด่าทอเสีย ๆ หาย ๆ ทั้งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจกฎหมายมาตรานี้อย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 65 ช่องยูทูบ ‘Lue History’ ได้โพสต์คลิปความยาว 4.52 นาที อธิบายเรื่อง ม.112 โดยใช้ชื่อคลิปว่า ‘เคลียร์ชัดๆ กับ 10 ข้อบิดเบือนเรื่อง ม.112’ ซึ่งเป็นการนำคลิปที่พูดถึงม.112 ในทางบิดเบือนและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ มาเป็นตัวอย่างประกอบ โดยเนื้อหาในคลิปทั้งหมดระบุว่า…

1.) ใครจะแจ้งความก็ได้ เพราะมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง เป็นอาญาแผ่นดินไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายก็ฟ้องได้ จากสถิติครึ่งหนึ่งก็เป็นประชาชนนี่แหละ ที่ฟ้องกันเอง 
>> Lue History อธิบายว่า ถูกต้องแล้ว ใครก็แจ้งความได้ ใจคอจะให้ในหลวงมาแจ้งความด้วยตัวเองเลยหรือไง? แล้วที่มาบอกว่าอยากจะแจ้ง ก็เดินไปแจ้งที่สน. ได้เลยเนี่ย อันนี้ไม่ถูก เพราะการจะแจ้งความในมาตรานี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องไปพร้อมเอกสารที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นตำรวจไม่รับแจ้งความ

2.) คดีออนไลน์จะแจ้งความจากที่ไหนก็ได้ เพราะอำนวยความสะดวกให้ผู้ฟ้อง 
>> Lue History อธิบายว่า คดีออนไลน์ ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฟ้อง ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ส่วนหากกังวลเรื่องการกลั่นแกล้งนั้น ก็เกี่ยวโยงกับข้อแรกเต็มๆ เพราะหากไม่ได้กระทำผิด แล้วไปฟ้องแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งกัน ก็จะโดนข้อหา แจ้งความเท็จ ติดคุก 5 ปี ฉะนั้นหากไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัว!!

3.) ตามกฎหมายแล้วตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาที่รับคดีมาจะไม่มีอำนาจตัดสินใจเอง เพราะต้องผ่านคณะกรรมการกลางที่มีตำรวจระดับสูง และผู้พิพากษาระดับสูงก่อน 
>> Lue History อธิบายว่า นี่คือเหตุผลว่า การฟ้องมาตรา 112 ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ไม่ได้กลั่นแกล้งกันง่ายๆ เพราะว่ามีขั้นตอนการกลั่นกรองตรวจสอบ 

4.) คดี 112 เป็นคดีนโยบาย รัฐบาลจะสั่งให้หยุดใช้เมื่อใดก็ได้ และที่ผ่านมาก็มีการบังคับใช้เป็นระลอก ตามช่วงเวลาสำคัญทางการเมือง
>> Lue History อธิบายว่า ไม่มีหรอกคดีนโยบาย และรัฐบาลจะสั่งให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ไม่ได้ เพราะ ม.112 เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ (กฎหมายสูงสุด) แม้แต่ในหลวงก็สั่งไม่ได้ เพราะในหลวงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเช่นกันถ้ามีใครมาร้องเรียนแล้วมีหลักฐานเพียงพอ ถ้าภาครัฐไม่ปฏิบัติตาม ถือว่ามีความผิดมาตรา 157 

ต่างชาติผู้แสนดี ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ พระยากัลยาณไมตรี ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัชกาลที่ 7

หากผมจะเล่าเรื่องเกี่ยว ‘รัฐธรรมนูญ’ ผมแทบไม่ได้นึกถึงเรื่องราวของวันที่ 10 ธันวาคม เลยสักนิดเดียว แต่ผมกลับไปคิดถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ ‘ชาวต่างชาติผู้หนึ่ง’ ที่พิสูจน์ได้ถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการพระราชทาน ‘รัฐธรรมนูญ’ ให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยขณะนั้นพระองค์ทรงปรึกษาผู้รู้อย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง เพื่อกลั่นกรอง ให้เกิด ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่เข้าใจบริบท เข้าใจเงื่อนไขที่เหมาะสมกับสยามที่สุดในห้วงเวลานั้น แต่ทว่าร่างในครั้งนั้นกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะการชิงสุกก่อนห่ามของ ‘คณะราษฎร’ ผู้เห็นแก่ตน ผู้ไม่เคยคิดถึงบริบทอะไรนอกจากพวกตน อำนาจปกครอง และการล้มเจ้า...

เกริ่นมาซะยาว !!! กลับมาที่ ‘ชาวต่างชาติ’ คนนั้น ผู้ที่มีส่วนร่วมในการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ฉบับรัชกาลที่ 7 เรามารู้จัก ‘พระยากัลยาณไมตรี’ คนที่ 2 ของสยาม Dr.Francis B.Sayre / ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ กันดีกว่า

ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เซาธ์เบธเลเฮม ในเพนซิลเวเนีย เรียนจบด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เริ่มงานด้านกฎหมายด้วยการเป็นผู้ช่วยอัยการแห่งนิวยอร์กเคาตี เขาได้พบรักกับ ‘เจสซี’ ลูกสาวของ วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐฯ และแต่งงานกันที่ทำเนียบขาวในปี พ.ศ. 2456 ก่อนที่เขาจะออกไปเป็นอาจารย์สอนที่ฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ. 2460 และจบดอกเตอร์ในปีถัดมา (ขอเล่าเป็น พ.ศ. นะครับ จะได้ไม่ต้องสลับระหว่างไทยกับเทศ) 

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2466 เขาได้รับข้อเสนอจากคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ให้ไปเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินสยาม ด้วยความอยากเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เขาจึงตอบตกลงและเข้ามารับราชการในสยาม ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยเข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของ ‘พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์’ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

เขาเล่าถึง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ในอัตชีวประวัติของเขาว่า ..... “ข้าพเจ้ามีความสนิทสนมกับองค์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเป็นอย่างดีเยี่ยมทีเดียว สามารถถวายจดหมายส่วนตัวโดยตรงก็บ่อย ๆ พระองค์จะทรงอักษรตอบด้วยฝีพระหัตถ์เอง ซึ่งบางทีก็ยาวตั้ง 12 หรือ 15 หน้ากระดาษ พระองค์ทรงภาษาอังกฤษอย่างดีเลิศ เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น ทรงโปรดปรานวรรณกรรมเชกสเปียร์มาก เคยมีพระราชปรารถนาจะแปลบทละครเชกสเปียร์ออกเป็นภาษาไทย”

ภารกิจสำคัญของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 คือการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบและไม่เป็นธรรมของชาติตะวันตก ในสมัยจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยเฉพาะ ‘สนธิสัญญาเบอร์นี’ ในรัชกาลที่ 3 และ ‘สนธิสัญญาเบาริ่ง’ ที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประเทศสยามมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายจุด

แม้ว่าผลจากการเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องสัญญาให้สยาม แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน เพราะสนธิสัญญาที่ยกเลิกมีเพียงกับคู่สงครามอย่างเยอรมนีและออสเตรียเพราะพ่ายแพ้ แต่กับฝ่ายสัมพันธมิตรมีเพียงสหรัฐฯ ที่เห็นชอบกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม แต่กับชาติพันธมิตรอื่น ๆ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส กับ อังกฤษ การเจรจาการแก้ไขสนธิสัญญาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองชาติต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้แทนประเทศสยามไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับชาติต่าง ๆ ในยุโรป โดยเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2467 ด้วยความสามารถทางการทูตและกฎหมาย เขาสามารถโน้มน้าวให้ชาติต่าง ๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการสละสิทธิพิเศษทีมีอยู่ในสนธิสัญญาเก่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้สำเร็จลุล่วง 

จากคุณงามความดีในครั้งนี้ ของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ในฐานะผู้ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘พระยากัลยาณไมตรี’ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ถือศักดินา 1,000 นับเป็นคนที่ 2 ต่อจากพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) กระทั่งในปีต้นปี พ.ศ. 2468 ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการของสยาม และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสัมพันธ์อันดีต่อกัน 

ภายหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เขากลับมาช่วยราชการอีกครั้ง ด้วยมิตรไมตรีอันดีต่อสยาม เขาจึงเดินทางกลับมาไทยในปี พ.ศ. 2469 ดังที่เขากล่าวในอัตชีวประวัติว่า…

“...ผมไม่อาจลืมสยาม ใจผมยังคงนึกถึงตะวันออกไกลอยู่เสมอ ในเดือนพฤศจิกายน 1925 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งผมเคยถวายงานรับใช้ได้เสด็จสวรรคต บัลลังก์ของพระองค์สืบทอดถึงเจ้าฟ้าประชาธิปก ผู้เป็นอนุชา...และพระเจ้าอยู่หัวประชาธิปกก็ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้ผมกลับไปยังสยาม แม้ผมไม่อาจละทิ้งงานที่ฮาร์วาร์ดได้ ในช่วงวันหยุดซัมเมอร์ปี 1926 ผมก็เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อสนทนาและถวายคำปรึกษาตามพระราชประสงค์ถึงการ ‘ปฏิรูปธรรมนูญการปกครอง’ ซึ่งมีการเรียกร้องกันมาก...”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาใช้ในประเทศในปี พ.ศ. 2469 โดยมี ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

โดยก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชหัตถเลขาเป็นคำถามถึง ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ จำนวน 9 ข้อ โดยคำถาม 4 ข้อแรกนั้น ว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในข้อ 3 ความว่า…

“หากประเทศนี้จำเป็นต้องมีระบบรัฐสภาเข้าสักวันหนึ่ง การปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล - แซกซัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่?” โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า “ในคำถามที่ 3 นั้นข้าพเจ้าเองยังไม่แน่ใจนัก”

และคำถามข้อ 4 ทรงตั้งคำถามว่า “ประเทศนี้พร้อมหรือยัง? ที่จะมีการปกครองในระบบผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน?” โดยทรงให้พระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า “ส่วนคำถามที่ 4 โดยความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่” เหตุผลที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยดังนี้ เพราะมีเหตุผลหลายประการ ซึ่งตรงกับที่ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ได้ถวายความเห็นกลับมา หลังจากที่ได้อ่านแล้ว ความว่า…

“...ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพิจารณาให้มีระบบรัฐสภาโดยสมาชิกมีที่มาจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ในสยาม ณ เวลานี้ ระบบรัฐสภาที่สามารถทำงานได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษา หากปราศจากการควบคุมอย่างชาญฉลาดโดยประชาชนแล้ว องค์กรเช่นนี้ย่อมเสื่อมทรามลงกลายเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จอำนาจเป็นแน่ จนกว่าประชาชนทั่วไปในสยามจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ มันคงอันตรายเกินไปที่จะตั้งรัฐสภาภายใต้การควบคุมของประชาชน ด้วยเหตุนี้มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่อำนาจเด็ดขาดจะต้องอยู่กับสถาบันกษัตริย์ต่อไป...”

อ่านมาถึงตรงนี้คุณว่า ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ วิเคราะห์ได้ตรงไหมล่ะ? ‘คณะราษฎร’ สนใจเรื่องการศึกษาของผู้ลงคะแนนเสียงไหม? รัฐบาลหลังจากนั้นเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จการอำนาจจริงไหม? ลองคิดตามดูนะ อันนี้แล้วแต่ความคิดของท่านผู้อ่าน ผมไม่ก้าวล่วง 

นอกจากนี้ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ยังได้แนบร่างรัฐธรรมนูญ 12 มาตรา ‘Outline of Preliminary Draft’ หรือเค้าโครงเบื้องต้นว่าด้วยโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น โดยข้อแรกมีความว่า…

“...อำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์” และข้อสอง “พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารงานของรัฐบาล และเป็นผู้ซึ่งอาจถูกถอดจากตำแหน่งได้ทุกเวลาโดยพระมหากษัตริย์…” (แปลจาก: Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy)

ร่างธรรมนูญการปกครองตามข้อเสนอของเขา จึงมีลักษณะเป็นการยืนยันรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น 

‘เพื่อไทย’ เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 พร้อมยกเลิกมาตรา 272 ตัดสิทธิ์ ส.ว. เลือกนายกฯ

(16 ธ.ค. 65) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 159 และการยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย มีเจตจำนง และมุ่งมั่นมาตลอดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 โดยเฉพาะมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาที่สุดในการบังคับใช้ และกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือมาตรา 272 ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ชั่วคราวว่า ให้ส.ว.250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยเราพยายามยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตลอดแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ มีส่วนทำให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ คือ การต้องอาศัยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยในวาระรับหลักการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ ด้วยกลไกเหล่านี้ทำให้เรายื่นร่างแก้ไขแล้วไม่สำเร็จ ซึ่งในสมัยประชุมที่ผ่านมาเราก็ยื่นแต่ก็ถูกตีตกไปในขั้นรับหลักการ แต่เราก็ไม่ย่อท้อ เพราะตามข้อบังคับแล้วในสมัยประชุมที่เปิดมาเราสามารถยื่นแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่สภาไม่รับหลักการได้

‘ก้าวไกล’ มีมติคว่ำ ‘พ.ร.ก. อุ้มหาย’ หวังคุ้ม ปชช. จี้!! ส.ส. หนุนอย่าทำสภาล่ม เตะถ่วงเพื่อตู่

‘ก้าวไกล’ มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. อุ้มหาย จี้ ส.ส. รัฐบาลต้องปกป้องประชาชน อย่าทำสภาล่มหรือยื่นศาล รธน. เตะถ่วงเพื่ออุ้มประยุทธ์

(27 ก.พ. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ. 66) นั้น ตนได้แจ้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ว่ามีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

“พ.ร.บ. อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลผลักดันร่วมกันกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยยืนยันต่อ กมธ. ของสภาเองว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ. อุ้มหายฯ จะต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด”

‘ธงทอง’ อธิบายชัด โหวตนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ  เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าข้อบังคับฯ

(19 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘Tongthong Chandransu’ ระบุว่า…

“รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน

การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่าการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน

โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี”

เหตุผล สั้น ๆ ที่นักการเมือง 'กลัว' รัฐธรรมนูญ 2560

ถูกปลุกปั่นให้กลายเป็นกฎหมายเผด็จการ แต่หากมองเหตุผลอย่างถ่องแท้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สร้างความ 'หวาดกลัว' ต่อบรรดานักการเมือง จนต้องต้องหาแนวร่วม 'ประชาชน' มาช่วยกัน 'ล้มล้าง' ให้สิ้น

อ้างอิง : ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top