Friday, 3 May 2024
รัฐธรรมนูญ

กรรมการสภาองค์กรผู้บริโภค ซัด!! การตัดสิทธิการเมืองขัด รธน. ชี้!! เพราะ รธน.เล็กกว่าพระราชบัญญัติ ประเทศจึงเละแบบนี้

(21 ก.ย. 66) นายกมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การตัดสิทธิทางการเมืองขัดกับรัฐธรรมนูญ!

ถ้าเป็นที่อเมริกา ซึ่งมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง เป็นธรรมและยึดหลักนิติธรรม คณะศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสินว่ากฎหมายหรือคำตัดสินของศาลในคดีใดคดีหนึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

กรณีการตัดสิทธิทางการเมืองของของคุณช่อ (พรรณิการ์) คุณธนาธร คุณปิยบุตร และนักการเมืองอื่นอีกหลายคนที่ผ่านมานั้นขัดกับหลักการพื้นฐานเรื่องการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และ สิทธิส่วนบุคคลที่รัฐธรรมนูญค้ำประกันไว้ ดังนั้น จึงต้องเป็นโมฆะ (เมื่อบ้านเมืองมีหลักนิติธรรม และระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์)

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้เป็นเรื่องตลกสำหรับชาวโลกและนักกฎหมายทั่วโลก คือ รับรอง หรือกำหนดเรื่องต่าง ๆ แต่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

กลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญเล็กกว่า หรือมีอำนาจน้อยกว่า พ.ร.บ. คำถามที่เกิดขึ้น คือ แล้วจะมีรัฐธรรมนูญไว้เพื่ออะไร? ทุกเรื่องถึงเละตุ้มเป๊ะในทุกวันนี้ มีศรีธนญชัย และนักร้องเต็มไปหมด

ย้อนรำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516 มองหน้า รธน.ฉบับใหม่ แพงเว่อร์!!

ปั่นต้นฉบับวันนี้…ตอนสายวันที่ 14 ต.ค. 2566 ก็ขอร่วมรำลึก 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  กับเขาด้วยคน...50 ปีที่แล้ว ‘เล็ก เลียบด่วน’ อายุ 17 ปีเต็ม..เดาเอาเองว่าวันนี้ เล็ก เลียบด่วน  ยังหนุ่มฟ้อขนาดไหน...55

ในมุมมองของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ สถานภาพของ 14 ตุลา 2516 จะว่าไปยิ่งใหญ่และมีคุณูปการมากกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ด้วยซ้ำไป...24 มิ.ย.ในมิติหนึ่งก็คือการรัฐประหารครั้งแรก ช่วงชิงอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เตรียมการที่จะเปลี่ยนแปลงการบริหารบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วน 14 ตุลา เป็นการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนทั้งเรียกร้องรัฐธรรมนูญและสลัดอำนาจเผด็จการที่ครอบครองประเทศไทย…

และเหตุการณ์นองเลือด..ที่เกิดขึ้นแบบไม่ควรจะเกิด ก็เกิดจากการฉวยใช้สถานการณ์ของกลุ่มอำนาจที่ขัดแย้งกันในขณะนั้น แต่ที่สุดเหตุการณ์จบลงด้วยพระบารมีพระเมตตาของเสด็จพ่อที่อยู่บนฟ้า…ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่มีความเจริญก้าวหน้า ตามแบบแผนไทย

พูดถึงรัฐธรรมนูญ...ก็ต้องรายงานท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังให้รับทราบถึงการประชุมคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566  โดยมี ‘รองอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เป็นการประชุมนัดแรก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง รับเบี้ยประชุมกันไปคนละ 1,600 บาท ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด 

ชุดแรก - ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
ชุดที่สอง - ศึกษากระบวนการ ขั้นตอน การจัดทำประชามติ

พูดไปทำไมมี…หลับตานึกภาพตามที่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะนั่งทางในเล่าให้ฟังว่า...ผลการศึกษาคงจะเห็นหน้าเห็นหลังตอนต้นปี 2567 จากนั้นการจัดทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นอย่างเร็วช่วงกลางปี 2567...เพื่อถามประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 ที่ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องทำประชามติถามประชาชน ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสถาปนา…จากนั้นถ้าประชาชนไฟเขียวให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ซึ่งอาจจะเป็น สสร. สูตรผสม คือทั้งเลือกตั้งและสรรหา ซึ่งในชั้นแก้ไขมาตา 256 ต้องทำประชามติกันอีกครั้ง จากนั้นเมื่อ สสร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจะลงมติในวาระ 3 ก็ต้องลงประชามติกันอีกครั้ง...ว่าเห็นชอบตามที่ สสร. ยกร่างหรือไม่…
เบ็ดเสร็จต้องลงประชามติ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 4,000 ล้านบาท  แถมตอนเลือก สสร. อีก 1 ครั้ง เบ็ดเสร็จประมาณ 16,000 ล้านบาท...อาจจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงิน ดิจิทัล โทเคน หรือดิจิทัล วอลเล็ต แต่ทุกเม็ดทุกสตางค์มันคือเงินของแผ่นดิน...คิดขึ้นมาแล้วก็รู้สึกวังเวง วิเวกวิโหวโหว ยังไงก็ไม่รู้…

แต่ก็เอาเถอะ..ยังไง ๆ กรณีรัฐธรรมนูญอย่าทำกันจนเกิดการเผชิญหน้ากันจนเลือดตกยางออกแบบในอดีตก็แล้วกัน...ยิ่งงานนี้พรรคก้าวไกลเขาไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย อาจทำให้หลายคนคิดมาก…

แต่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่ปฏิบัติคุกคามทางรัฐธรรมนูญเกินขอบเขตเหมือนเรื่องอื่นหรอก..!!

10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ในหลวง รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว’ สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ ได้แก่ การที่กำหนดว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

1. พระมหากษัตริย์
2. สภาผู้แทนราษฎร
3. คณะกรรมการราษฎร
4. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎร จึงจะใช้ได้สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว พิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวรซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครอง เป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็น ที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

เมื่อ ‘กม.สูงสุด’ ถูกคณะราษฎรเสกเป็น ‘ของขลัง’ แห่งยุคสมัย อุปโลกน์ให้สูงส่งกว่ากษัตริย์ ทั้งที่สถานะเป็นเพียง ‘กฎหมาย’

การเกิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นเกิดขึ้นโดยการรังสรรค์ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปลักษณ์จับต้องได้ กลายเป็นของขลัง มีพิธีกรรมประกอบ มีพิธีรีตองเฉพาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา มีสถานะที่สูงส่งกว่ากษัตริย์ เพื่อรองรับฐานอำนาจของระบอบใหม่ ทำทุกๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ทำอย่างเดียวคือ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ‘กฎหมาย’ 

นับจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความพยายามต่างๆ ของคณะรัฐบาลและคณะราษฎรในการเผยแพร่ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ โดยมีกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในคณะราษฎร และระหว่างคณะราษฎรกับคณะรัฐบาล จนนำมาสู่การยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลจาก ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ มาเป็น ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ 

รัฐบาลคณะนี้โดยการผลักดันของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ที่ต้องการเผยแพร่รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

คณะทำงานนำโดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่างแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วย ‘กบฏบวรเดช’ 

เนื่องจากวิธีการให้ความรู้แบบเดิมก่อนเกิดกรณี ‘กบฏบวรเดช’ นั้น ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ การนำเสนอรัฐธรรมนูญแบบใหม่ของคณะราษฎรจึงเกิดขึ้น 

การปรับให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ คุ้มบ้าน ป้องเมือง ควรค่าแก่การเคารพบูชามีสถานะไม่แตกต่างจาก ‘ของขลัง’ เอาง่ายๆ คือ ‘ความรู้ไม่ต้องมี’ เน้น ‘ความงมงาย’ เข้าไว้ จูงใจคนได้ง่ายกว่า และเมื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ไม่ให้ใครมาทำลาย 

สร้างให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ มีค่าเท่ากับ ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นหน้าที่ของชาติและประชาชนที่ต้องปกป้อง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง ‘สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ’ โดยมีจุดประสงค์ดำเนินการในด้านการธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ สร้างความสามัคคี อบรมสมาชิก และดำเนินการด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองด้วยระบอบใหม่ ไม่ให้ใครมาโค่นล้มได้ 

โดย ‘สมาคม’ ประกอบด้วย ๒ องค์กรคือ ‘ชุมนุมใหญ่’ และ ‘คณะกรรมการกลาง’ ซึ่งสมาคมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ’ !!! 

หลังจากงานงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งบรรดาสมาคมฯ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ยังต้องทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรงาน ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงมาร่วมงานฉลองให้

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ด้วยการเสนอให้มีการสร้าง ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งถ้าจบตรงแค่นี้ก็น่าจะไม่เป็นไรมาก 

แต่คุณจำรัส แกไปเพิ่มมูลค่าความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเสนอให้ ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ นั้นต้องวางอยู่บน “พานแว่นฟ้า” ซึ่งใช้สำหรับวางของสูง แล้วคณะรัฐบาลขณะนั้นก็เอาด้วย เพราะอยากจะทำยังไงก็ได้ให้รัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญจำลองจำนวน ๗๐ ชุด เป็นสมุดไทยลงรักปิดทองเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ โดยในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ได้มีพิธีสมโภช ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก่อนที่จะการส่งมอบให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด 

พิธีในครั้งนั้น มีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ประกอบเสียงมโหรีปี่พาทย์ เสียงสวดอำนวยจากพระสงฆ์ ๗๐ รูป มีพิธีเวียนเทียนสมโภช ก่อนจะนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก่อนที่จะ ‘อัญเชิญ’ เพื่อไป ‘ประดิษฐาน’ ยังจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุดและอีก ๑ ชุด จะประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการใหญ่ของ “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” พระราชอุทยานสราญรมย์

การอัญเชิญ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก็เป็นไปอย่างเอิกเกริก ราวกับเป็นสิ่งสำคัญของชาติบ้านเมือง พอไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ก็มีการนำขึ้นบุษบกแห่แหนให้ชมกันรอบเมือง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ 

จากความ ‘ขลัง’ ระดับจังหวัด ก็กระจายลงไปถึงความ ‘ขลัง’ ระดับอำเภอ ดังที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป” 

‘พานรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับไปนั้นจะต้องผ่านพิธีกรรม มีพิธีการที่สมเกียรติ เพราะถือเป็นของสูง เวลานำไปจัดงานหรือเพื่อให้ประชาชนสักการะก็ต้องมีพลับพลาสำหรับประดิษฐานอย่างโอ่โถง 

ทั้งหมดเพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง 

นอกจากพานที่กล่าวมาแล้ว ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ยังมีมิติครอบคลุมออกไปอย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง อย่างเช่น อนุสาวรีย์ก็ไม่ได้มีแค่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ถนนราชดำเนินกลาง ก็ยังมี ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ที่ก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ ๖ แห่ง เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ อย่างวัด ก็มี ‘วัดประชาธิปไตย’ (ปัจจุบันคือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) 

ยังไม่รวมสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานปั้น งานเครื่องหมาย โดยเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ สื่อถึงระบอบใหม่ ควบคู่ไปกับงานฉลอง ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานฉลองของระบอบเก่า 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำบ้านเมืองของเราเข้าสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ การยึดเอา ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นของขลัง ของสำคัญ ของชาติจึงค่อยๆ มลายหายไป 

จาก ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๕ มาจนถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผ่านไปแล้ว ๙๑ ปี 

ปัจจุบันประชาชนได้รู้แล้วว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ ‘ของขลัง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘บูชา’ แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ได้ฝังรากลึกให้ประชาชนได้ยึดถืออย่างมีสำนึกและเข้าใจอย่างที่มันควรจะเป็น นับเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

ทำไมนะ ? 

'เอกนัฏ' ลั่น!! 'รทสช.' พร้อมหนุนแก้ รธน.หากไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แนะ!! ไม่ต้องแก้ทั้งฉบับ เลือกแก้แค่หมวดที่ 'สร้างสุข-ปลดทุกข์' ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) ที่รัฐสภา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ร่วมอภิปรายระหว่างการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นผู้เสนอว่า ญัตติที่เสนอโดยนายชูศักดิ์เพื่อขอมติที่ประชุมร่วมรัฐสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องมีการทำประชามติหรือไม่ พวกตนเห็นด้วยจะได้สิ้นสงสัยว่ากระบวนการจะต้องทำอย่างไร ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ทำประชามติก่อนหรือไม่จำเป็นต้องทำประชามติ พวกตนไม่ติดใจ น้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องอภิปราย เพราะหัวใจสำคัญเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและวิธีแก้รัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติถ้าให้เลือกได้ เราเห็นความสำคัญของการเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน รวมถึงการแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ กติกาที่เป็นอุปสรรคมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่ายังมีกฎระเบียบอีกหลายตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถ้าสามารถได้จะคลายความทุกข์ให้ประชาชนสร้างความสุขให้ประชาชนมากกว่า

นายเอกนัฏ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสมาชิกหลายคนหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งเราไม่ติดใจ แต่ขออนุญาตเตือนสติพวกเราว่า ถ้าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว มีความเสี่ยง จะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก มีการสรุปไว้ทุกครั้งที่มีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณกว่า 3,200 ล้านบาท ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งใช้งบเกือบหมื่นล้านบาท

“แต่ถ้าเราถอยกลับมาทบทวนว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะในร่างที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มีสิ่งดีๆ ที่เราควรรักษาไว้ ถ้ามีปัญหาอยากแก้ตรงไหนควรแก้ไขได้ทันทีไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้เสียเวลา เสียงบประมาณ ผมเข้าใจมีเพื่อนสมาชิกหลายคนติดใจกังวลอยู่กับวาทกรรมเรื่องเผด็จการประชาธิปไตย และติดใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร ผมขออนุญาตย้อนข้อเท็จจริคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านความเห็นชอบตามระบอบประชาธิปไตย”นายเอกนัฏกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นมี 2 ตอน หนังตอนแรก รัฐธรรมนูญทำจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี มาจากคสช. ทั้ง 4 ส่วนรวมกัน ตนไม่ปฏิเสธว่าทั้ง 4 ส่วนถ้าจะบอกว่ามาจากการแต่งตั้งของคสช. แต่หนังเรื่องนี้ถูกพับไปแล้วเพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างมาถูกคว่ำ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้มีความรู้ความสามารถปราศจากการเมือง ได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติโดยประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ได้รับเสียงเห็นชอบกว่า 15 ล้านเสียง มากกว่า 58 % มากกว่าครึ่งหนึ่งและเป็นเสียงส่วนมาก

เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายคนยังจมอยู่กับวาทกรรมเผด็จการ และการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างจากคนมีความรู้ความสามารถ ผ่านการทำประชามติและประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ เป็นผลพวงจากการทำประชามติไม่ใช่รัฐประหาร หากเราจะเดินหน้าประเทศอย่าจมอยู่กับวาทกรรมการทำรัฐประหาร และสามารถเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ แก้โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่าเสียงบประมาณ และเสียเวลา ยังมีทางเลือกที่จะเดินหน้าไปได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

“ผมไม่ติดใจหากเพื่อนสมาชิกคิดว่าจะต้องเดินหน้า ต้องไปแก้ไขเกือบทั้งฉบับ จนนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสมควรทำประชามติหรือไม่ และหากมีการแก้ทั้งฉบับจริง จะต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่กระทบต่อการปราบปรามทุจริต สิ่งนี้คือจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เคยนำเสียงสส. 36 เสียงไปเป็นหลักประกันไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นการแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติยินดีโหวตให้ แต่ขอฝากผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ายังจะเดินหน้าแก้ทั้งฉบับ ต้องระบุคำถามเป็นหลักประกันให้พวกเรา ไว้วางใจ ใส่ไว้ในคำถามว่า ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ถ้าทำแบบนี้ได้พวกผมไว้วางใจทุกเสียงยินดีสนับสนุนมีมติให้รัฐสภายื่นญัตตินี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการในโอกาสต่อไป”นายเอกนัฏกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top