ย้อนรำลึก 50 ปี 14 ตุลา 2516 มองหน้า รธน.ฉบับใหม่ แพงเว่อร์!!

ปั่นต้นฉบับวันนี้…ตอนสายวันที่ 14 ต.ค. 2566 ก็ขอร่วมรำลึก 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  กับเขาด้วยคน...50 ปีที่แล้ว ‘เล็ก เลียบด่วน’ อายุ 17 ปีเต็ม..เดาเอาเองว่าวันนี้ เล็ก เลียบด่วน  ยังหนุ่มฟ้อขนาดไหน...55

ในมุมมองของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ สถานภาพของ 14 ตุลา 2516 จะว่าไปยิ่งใหญ่และมีคุณูปการมากกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ด้วยซ้ำไป...24 มิ.ย.ในมิติหนึ่งก็คือการรัฐประหารครั้งแรก ช่วงชิงอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เตรียมการที่จะเปลี่ยนแปลงการบริหารบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วน 14 ตุลา เป็นการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนทั้งเรียกร้องรัฐธรรมนูญและสลัดอำนาจเผด็จการที่ครอบครองประเทศไทย…

และเหตุการณ์นองเลือด..ที่เกิดขึ้นแบบไม่ควรจะเกิด ก็เกิดจากการฉวยใช้สถานการณ์ของกลุ่มอำนาจที่ขัดแย้งกันในขณะนั้น แต่ที่สุดเหตุการณ์จบลงด้วยพระบารมีพระเมตตาของเสด็จพ่อที่อยู่บนฟ้า…ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่มีความเจริญก้าวหน้า ตามแบบแผนไทย

พูดถึงรัฐธรรมนูญ...ก็ต้องรายงานท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังให้รับทราบถึงการประชุมคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566  โดยมี ‘รองอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เป็นการประชุมนัดแรก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง รับเบี้ยประชุมกันไปคนละ 1,600 บาท ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด 

ชุดแรก - ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
ชุดที่สอง - ศึกษากระบวนการ ขั้นตอน การจัดทำประชามติ

พูดไปทำไมมี…หลับตานึกภาพตามที่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะนั่งทางในเล่าให้ฟังว่า...ผลการศึกษาคงจะเห็นหน้าเห็นหลังตอนต้นปี 2567 จากนั้นการจัดทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นอย่างเร็วช่วงกลางปี 2567...เพื่อถามประชาชน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2564 ที่ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องทำประชามติถามประชาชน ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจสถาปนา…จากนั้นถ้าประชาชนไฟเขียวให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ซึ่งอาจจะเป็น สสร. สูตรผสม คือทั้งเลือกตั้งและสรรหา ซึ่งในชั้นแก้ไขมาตา 256 ต้องทำประชามติกันอีกครั้ง จากนั้นเมื่อ สสร. ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนจะลงมติในวาระ 3 ก็ต้องลงประชามติกันอีกครั้ง...ว่าเห็นชอบตามที่ สสร. ยกร่างหรือไม่…
เบ็ดเสร็จต้องลงประชามติ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 4,000 ล้านบาท  แถมตอนเลือก สสร. อีก 1 ครั้ง เบ็ดเสร็จประมาณ 16,000 ล้านบาท...อาจจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงิน ดิจิทัล โทเคน หรือดิจิทัล วอลเล็ต แต่ทุกเม็ดทุกสตางค์มันคือเงินของแผ่นดิน...คิดขึ้นมาแล้วก็รู้สึกวังเวง วิเวกวิโหวโหว ยังไงก็ไม่รู้…

แต่ก็เอาเถอะ..ยังไง ๆ กรณีรัฐธรรมนูญอย่าทำกันจนเกิดการเผชิญหน้ากันจนเลือดตกยางออกแบบในอดีตก็แล้วกัน...ยิ่งงานนี้พรรคก้าวไกลเขาไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย อาจทำให้หลายคนคิดมาก…

แต่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่ปฏิบัติคุกคามทางรัฐธรรมนูญเกินขอบเขตเหมือนเรื่องอื่นหรอก..!!


เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน