Sunday, 28 April 2024
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิธียิ่งใหญ่นครรังสิต!! ‘บิ๊กแจ๊ส’ ร่วมเป็นประธานในพิธี บวงสรวงวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:00 น. ที่บริเวณมณฑลพิธีประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฯ งานรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี

โดยมี ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต คณะผู้บริหารร่วมถึงพ่อค้าประชาชน ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในอนาคตสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนชาวรังสิต

โดยพิธีพราหมณ์เริ่มบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ประธานได้เจิมรูปหล่อจำลอง ร.5 และจุดธูปเทียนเพื่อสักการะดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งวางพวงมาลา หลังจากนั้น พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง  ประธานฝ่ายสงฆ์ เริ่มพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 งานรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี ซึ่งได้พระราชทาน นามประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานีที่เกิดขึ้นในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต 125 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2439 พระองค์ท่านเคยเสด็จมาประทับที่นี่เปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ทรงมีพระเมตตาใช้พระนามมาเป็นชื่อประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ถือว่าที่นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้นมาให้ยิ่งใหญ่ให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสด็จมาทำเพื่อประชาชน  นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี แล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้

โดยต้องขอบคุณกรมชลประทานที่อนุญาตให้ใช้สถานที่นี่ดำเนินการสร้างเป็นอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5  ต่อจากนี้ไปจะต้องมีการทำ MOU กับกรมชลประทาน เพื่อที่จะดูแลสถานที่แห่งนี้ให้สวยงานตลอดไป และเป็นที่พักผ่านของพี่น้องชาวนครรังสิต เป็นแลนด์มาร์คที่น่าภาคภูมิใจของชาวนครรังสิต วันนี้เป็นวันสำคัญของชาวปทุมธานี ฝากทางเทศบาลนครรังสิตทุก ๆ ปีควรต้องมีงานสมโภชประจำปี นำสิ่งต่าง ๆที่เคยมีกลับมา ให้เป็นสถานที่ลอยกระทง มีตลาดน้ำ รวมถึงมีการแข่งขันเรือพาย ต้องเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวนครรังสิตและชาวปทุมธานีต่อไป

 

 

สมุทรปราการ - ‘โรงเรียนนายเรือ’ ถวายราชสักการะ - ถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ให้การรับรอง พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือรุ่น 50 - 114 ร่วมพิธี โดยก่อนหน้านี้ในเวลา 0800 น. ศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือแต่ละรุ่นได้กระทำพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องค์มนตรี ในฐานะอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล ณ หอประชุมภูติอนันต์ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ  สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ  อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทัพ และส่วนราชการในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือร่วมพิธี

หลังเสร็จสิ้นพิธี โรงเรียนนายเรือได้จัดกิจกรรมพาศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือ ชมสถานที่สำคัญในโรงเรียนนายเรือ เพื่อย้อนระลึกจากในอดีตถึงปัจจุบัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่นห้องเรียนแผนที่อิเล็คทรอนิกส์ ห้องจำลองการเดินเรือ ห้องเรียนอัจฉริยะ (smart classroom) หอดาราศาสตร์ ที่เป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย ปัจุบันถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์อุปกรณ์การเดินเรือ และมีท้องฟ้าจำลอง ในการให้การศึกษาเส้นทางของดวงดาว

ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

สำหรับโรงเรียนนายเรือ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกองทัพเรือ มีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกและอบรมนักเรียนนายเรือด้านวิทยาการ วิชาทหาร จริยศึกษาและพลศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร ของกองทัพเรือ สามารถปฏิบัติหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรชั้นผู้น้อยในระยะแรก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมประจำใจ มีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ สืบทอดแบบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือ เทิดทูน และยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีปรัชญา โรงเรียนนายเรือ "แหล่งผลิตนายทหารเรือ อันเป็นรากแก้วของกองทัพเรือ"

โรงเรียนนายเรือได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ( ร.ศ.117 ) และเปิดการเรียนการสอนนักเรียนนายเรือ ระยะแรกเคยใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ เป็นสถานที่ฝึกสอนนักเรียนนายเรือชั่วคราว และใช้เรือหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือหลวงสุครีพ ครองเมือง เป็นสถานที่เรียนอีกด้วย โดยได้กำหนดให้มีการศึกษาในวิชาการทหารเรือ เลขคณิต และทหารราบ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และการฝึกหัดศึกษาอย่างเดียวกับคนประจำเรือ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2442 กรมทหารเรือในสมัยนั้นได้รับบุคคลภายนอกเข้าเรียนมากขึ้น จึงย้ายไปอยู่ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิม ที่สวนอนันตอุทยาน ธนบุรี และได้ทำการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง โดยมีนักเรียนทั้งหมด 19 นาย และมีนาวาโท ไซเดอร์ลิน (C.P.SEIDELIN) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ คนแรก หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่พระตำหนักสุนันทาลัย ปากคลองตลาด

จากเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรสสองพระองค์ ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ในตำแหน่งสำคัญทางทหาร จึงได้มีการจัดส่งนายทหารเรือไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ มีการพัฒนาทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ ทหารเรือไทย

 

23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ' ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมขุนพินิตประชานาถ' บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า 'พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว'

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 154 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

9 มีนาคม พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 153 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก นับเป็นวันที่สำคัญมากทางประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม เพราะมีความหมายถึงการอยู่รอดของประเทศก็ว่าได้

การเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2413 ถึงวันที่ 15 เม.ย. พ.ศ.2413 โดยเสด็จทางเรือพระที่นั่ง 'พิทธยัมรณยุทธ'

และประเทศที่เสด็จฯเยือน หาใช่ยุโรปตามความเข้าใจของคนไทยอีกหลายคนไม่ แต่เป็นเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ปัตตาเวีย หรือปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา และสมารัง เมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ทางด้านเหนือเกาะชวากลาง นั่นเอง

ทั้งนี้ หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่า ในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสวยราชสมบัติ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ ขณะพระชนมายุได้ 15 พรรษา แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารราชการแผ่นดินขณะนั้นอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง บ้านเมืองยังมีภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ใช้เวลาที่ยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดนี้ ในการทรงเตรียมพระองค์อย่างเปี่ยมไปด้วยสายพระเนตรยาวไกล และพระปรีชาสามารถ

โดยทรงตระหนักถึงปัญหาภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกและได้ทรงเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งทรงยึดแนวทางสืบเนื่องจากสมเด็จพระราชบิดา นั่นคือ ทรงปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวสยาม มิให้ต่างชาติมาดูหมิ่น ดูแคลน

อีกทั้งยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ และ ทรงเดินทางไปยังประเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก เพื่อให้ข้าราชบริพารมีโอกาสศึกษาสภาพบ้านเมือง และรูปแบบการปกครองของเมืองเหล่านั้น ซึ่งจัดระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับเมืองเจ้าอาณานิคม

อย่างในปี พ.ศ. 2413 (บางแหล่งระบุว่าเป็นปี 2414) ทรงเสด็จไป สิงคโปร์ ปัตตาเวียและเกาะชวา โดยเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียม และประเพณีของต่างชาติ และต่อมายังเสด็จไป พม่าและอินเดีย อีกด้วย

ภายหลังการเสด็จครั้งนี้ บ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย หลังจากนั้นปี 2415 ยังทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กระทรวงยุติธรรม’

หนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการคู่กับกระบวนการทางกฎหมาย นั่นคือ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นวันสำคัญทางกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันก่อตั้ง กระทรวงยุติธรรม ที่มีอายุมากกว่า 130 ปี

กระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการสถาปนากระทรวงยุติธรรมขึ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นงานปฏิรูปกฎหมายชิ้นแรกของยุคสมัยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง

แต่เดิมมีการใช้ชื่อว่า กระทรวงยุติธรรม และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยในระยะแรกเริ่ม ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างเนติบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการต่างประเทศ เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ นายกุสตาฟ โรแลง แยกแมงส์ ชาวเบลเยียม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยราชา สยามนุกูลกิจ

30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ‘โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' อันเป็นจุดกำเนิดของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง 'โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน' ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย

พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ 'พระเกี้ยว' มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน การดำเนินงานของโรงเรียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

7 เมษายน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันนี้ เมื่อ 126 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยประเทศ รวมเวลา 7 เดือน

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 การเสด็จประพาสแบบส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน

14 เมษายน พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ

วันนี้ นอกจากจะเป็นวันครอบครัวแล้ว ในทางราชการ ยังเป็นวันครบรอบ 148 ปี การสถาปนา ‘กระทรวงการคลัง’ อีกด้วย โดยเริ่มต้นเมื่อในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงวางระเบียบและปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร

26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top