26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’

โรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย และดูแลรักษาคนไทยมาเนิ่นนาน โดยช่วงหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์ และเสด็จกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ทรงมีการพัฒนาการรักษาพยาบาลให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงยังเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ ผลิตบุคลากรทางสาธารณสุข ออกมาเพื่อดูแลรักษาประชาชนมากขึ้นเช่นกัน

นับถึงวันนี้ โรงพยาบาลศิริราช มีอายุกว่า 133 ปี และยังคงทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยตลอดมา แม้กระทั่งในช่วงเวลานี้ ที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะที่มีโรคระบาดรุนแรง ศิริราชพยาบาลก็ถือเป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้การช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด นับเป็นโรงพยาบาลที่เกิดจากจากพระราชปณิธาน และสร้างประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/โรงพยาบาลศิริราช 

http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=250360