9 มีนาคม พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 153 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก นับเป็นวันที่สำคัญมากทางประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม เพราะมีความหมายถึงการอยู่รอดของประเทศก็ว่าได้

การเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2413 ถึงวันที่ 15 เม.ย. พ.ศ.2413 โดยเสด็จทางเรือพระที่นั่ง 'พิทธยัมรณยุทธ'

และประเทศที่เสด็จฯเยือน หาใช่ยุโรปตามความเข้าใจของคนไทยอีกหลายคนไม่ แต่เป็นเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ปัตตาเวีย หรือปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา และสมารัง เมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ทางด้านเหนือเกาะชวากลาง นั่นเอง

ทั้งนี้ หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่า ในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสวยราชสมบัติ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ ขณะพระชนมายุได้ 15 พรรษา แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารราชการแผ่นดินขณะนั้นอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง บ้านเมืองยังมีภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ใช้เวลาที่ยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดนี้ ในการทรงเตรียมพระองค์อย่างเปี่ยมไปด้วยสายพระเนตรยาวไกล และพระปรีชาสามารถ

โดยทรงตระหนักถึงปัญหาภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกและได้ทรงเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งทรงยึดแนวทางสืบเนื่องจากสมเด็จพระราชบิดา นั่นคือ ทรงปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวสยาม มิให้ต่างชาติมาดูหมิ่น ดูแคลน

อีกทั้งยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ และ ทรงเดินทางไปยังประเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก เพื่อให้ข้าราชบริพารมีโอกาสศึกษาสภาพบ้านเมือง และรูปแบบการปกครองของเมืองเหล่านั้น ซึ่งจัดระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับเมืองเจ้าอาณานิคม

อย่างในปี พ.ศ. 2413 (บางแหล่งระบุว่าเป็นปี 2414) ทรงเสด็จไป สิงคโปร์ ปัตตาเวียและเกาะชวา โดยเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียม และประเพณีของต่างชาติ และต่อมายังเสด็จไป พม่าและอินเดีย อีกด้วย

ภายหลังการเสด็จครั้งนี้ บ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย หลังจากนั้นปี 2415 ยังทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

ทั้งหมด ด้วยทรงต้องการที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนด้วย และเพื่อเรียนรู้การปกครองเนื่องด้วยประเทศทั้งสองนี้ต่างก็เป็นเมืองขึ้น ของประเทศอังกฤษ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 ทรงได้เสด็จเยือนประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ คือประเทศอินเดีย และประเทศพม่า และเมื่อที่เสด็จไปประเทศอินเดียนั้น ทรงได้รับการถวายพระบรมสารีริกธาตุและพันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา อินเดีย เพื่อนำกลับมาปลูกในประเทศไทย ทั้งนี้เป็นการทำนุบำรุงพระศาสนาให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2440 โดยประเทศที่ได้เสด็จประพาส คือ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน เบลเยียม อิตาลี ออกสเตรเลีย ฮังการี สเปน เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์และเยอรมัน

ทั้งนี้มีเหตุผลอยู่หลายประการในการเสด็จประพาสครั้งนี้ คือ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจ และร่วมปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาการสู้รบกันอยู่ การเสด็จประพาสของพระองค์ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย

ในปี พ.ศ. 2449 พระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จประพาสครั้งนี้ นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองอย่างมากมาย ทั้งนี้มีความประสงค์ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าให้ทัด เทียมกับนานาประเทศ


ที่มา : silpa-mag