Monday, 29 April 2024
รัชกาลที่5

พิธียิ่งใหญ่นครรังสิต!! ‘บิ๊กแจ๊ส’ ร่วมเป็นประธานในพิธี บวงสรวงวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:00 น. ที่บริเวณมณฑลพิธีประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฯ งานรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี

โดยมี ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต คณะผู้บริหารร่วมถึงพ่อค้าประชาชน ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในอนาคตสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนชาวรังสิต

โดยพิธีพราหมณ์เริ่มบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ประธานได้เจิมรูปหล่อจำลอง ร.5 และจุดธูปเทียนเพื่อสักการะดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งวางพวงมาลา หลังจากนั้น พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง  ประธานฝ่ายสงฆ์ เริ่มพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 งานรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี ซึ่งได้พระราชทาน นามประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการรำลึกเสด็จพระราชดำเนินเปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ 125 ปี

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานีที่เกิดขึ้นในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต 125 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2439 พระองค์ท่านเคยเสด็จมาประทับที่นี่เปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ทรงมีพระเมตตาใช้พระนามมาเป็นชื่อประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ถือว่าที่นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้นมาให้ยิ่งใหญ่ให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสด็จมาทำเพื่อประชาชน  นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี แล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้

โดยต้องขอบคุณกรมชลประทานที่อนุญาตให้ใช้สถานที่นี่ดำเนินการสร้างเป็นอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5  ต่อจากนี้ไปจะต้องมีการทำ MOU กับกรมชลประทาน เพื่อที่จะดูแลสถานที่แห่งนี้ให้สวยงานตลอดไป และเป็นที่พักผ่านของพี่น้องชาวนครรังสิต เป็นแลนด์มาร์คที่น่าภาคภูมิใจของชาวนครรังสิต วันนี้เป็นวันสำคัญของชาวปทุมธานี ฝากทางเทศบาลนครรังสิตทุก ๆ ปีควรต้องมีงานสมโภชประจำปี นำสิ่งต่าง ๆที่เคยมีกลับมา ให้เป็นสถานที่ลอยกระทง มีตลาดน้ำ รวมถึงมีการแข่งขันเรือพาย ต้องเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวนครรังสิตและชาวปทุมธานีต่อไป

 

 

ย้อนอดีต 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซีย นับเป็นปฐมบทความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย มายาวนานครบ 125 ปี

ไทยและรัสเซียได้ยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3-11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440/ค.ศ.1897) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์มีความใกล้ชิด 

การเสด็จฯ ในครั้งนั้น นับเป็นการเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งต่อมาได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ไทยและรัสเซีย 

โดยก่อนหน้านั้น พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยศที่ "มกุฎราชกุมาร" แห่งรัสเซีย ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระสหายสนิทในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ระหว่างวันที่ 20 - 24 มีนาคม พุทธศักราช 2434 รวมเวลาทั้งสิ้น 5 วันโดยได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกีรยติเช่นกัน 

ว่ากันว่า ด้วยพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นของพระราชวงศ์ทั้งสองนี้ ก็ได้คานอำนาจของประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้สยามดำรงเอกราชเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระปรมาภิไธย จปร. บนก้อนหินที่นอร์เวย์ ขณะประพาสยุโรปครั้งที่สอง 

วันนี้ เมื่อ 115 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ‘จปร.1907’ ไว้บนก้อนหินที่ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เพื่อผ่อนคลายพระราชภารกิจและรักษาตัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสแหลมเหนือ (North Cave) ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขึ้นถึง ต้องเสด็จโดยเรือและทรงปีนไปบนหน้าผา พร้อมทั้งทรงสลักพระปรมาภิไธย ‘จปร. 1907’ ซึ่งเป็นปี ค.ศ.ที่เสด็จถึงไว้บนก้อนหิน และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระยาชลยุทธโยธิน อดีตผู้บังคับการเรือชาวเดนมาร์ก พร้อมกะลาสีเรือที่ตามเสด็จไว้เป็นที่ระลึกด้วย 

ซึ่งภาพดังกล่าว กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงการเสด็จประพาส และแสดงถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของสยามประเทศ รวมถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 องค์พระประมุขของชาติเล็กๆ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลในซีกโลกตะวันออก แต่ทรงสามารถประกาศศักดิ์ศรีให้ชาวตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปเหนือได้รู้จักจนทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2513 รัฐบาลนอร์เวย์จะก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้พบศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ซึ่งปกคลุมไปด้วยหญ้า ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร เกือบจะมีการระเบิดทิ้งเพื่อมิให้กีดขวางการสร้างอาคาร แต่ในที่สุดได้มีการเก็บรักษาไว้ตามที่มีผู้แจ้งว่าอักษรย่อบนศิลาจารึกนั้นเป็นพระปรมาภิไธยย่อของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ได้เคยเสด็จมาเยือนที่นี่ โดยเปรียบเทียบจากภาพถ่ายที่ทรงฉายไว้  

โดยทางการนอร์เวย์ได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มาตั้งแสดงคู่กับศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร. 1907’ ภายในอาคาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ทราบว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่ตรงนี้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาชม เพราะอยู่ใจกลางแหลมเหนือ และมักจะโยนเหรียญบ้าง ธนบัตรบ้าง ไปที่ศิลาจารึกพระปรมาภิไธยนั้น เพื่อขออธิษฐานให้ได้กลับมาเยือน ณ ที่แห่งนี้อีก ซึ่งทางการนอร์เวย์ได้เก็บรวบรวมเงินเหล่านี้มอบเป็นรางวัลให้กับผู้ทำประโยชน์ให้กับเด็กๆ ทั่วโลก มีชื่อว่ารางวัล The Children of the Earth

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ พระราชธิดาที่รัชกาล 5 ไม่ทรงโปรด

จากคราวที่แล้วที่ผมได้เล่าเรื่องของพระเจ้าลูกเธอที่ ‘ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ รักและสำคัญยิ่ง ทรงกรมเป็นถึง ‘กรมหลวง’ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร’ บทความนี้ผมจะมาเล่าถึงพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘ที่ไม่ทรงโปรด’ หรือ ทรงโปรดน้อยกันบ้าง ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับพระองค์มีน้อยมาก แม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์โต แต่ก็ไม่ได้รับการยกย่องอะไรนัก พระราชธิดาพระองค์นั้นคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระองค์เจ้าผ่อง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก่อนขึ้นครองราชย์) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (มรว.แข พึ่งบุญ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 ขณะนั้นพระบิดาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วนพระมารดาเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบิดา ขณะพระบิดามีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา ส่วนพระมารดามีอายุมากกว่าพระบิดาประมาณ 3 ปี 

ซึ่งความสัมพันธ์ในครั้งนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบ จนเมื่อประสูติเป็นพระธิดา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ซึ่งเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปราน ได้อุ้มพระกุมารีขึ้นให้ทอดพระเนตรเป็นการกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อตรัสถามว่าพระกุมารีนี้เป็นธิดาของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมิได้ทูลตอบทันที กลับกราบทูลเลี่ยง ๆ ให้ทอดพระเนตรเองว่า พระกุมารีนั้นพระพักตร์เหมือนผู้ใด จึงตรัสว่า “เหมือนแม่เพย” คือสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง 

'พระองค์เจ้าผ่องประไพ' ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงอาภัพมาก ๆ เพราะพระองค์อาศัยอยู่ในตำหนักเก่า ๆ ต่างจากตำหนักของเจ้าน้อง ๆ ที่มีขนาดใหญ่โตหรูหรา เล่ากันว่าพระองค์เป็นพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่เก็บตัวอยู่แต่ในพระตำหนัก แทบจะไม่ได้ย่างก้าวออกจากประตูพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันสิ้นพระชนม์เลย อย่าเพิ่งดราม่านะ!!! มาลองมาดูปัจจัยที่น่าจะทำให้ไม่ทรงโปรดกันก่อน

เริ่มจากการที่พระมารดาเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข มีปัญหากับพระบิดาโดยสาเหตุมาจากเมื่อ พระองค์เจ้าผ่องฯ  ขณะทรงพระเยาว์ประชวรหวัด พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ฯ เยี่ยมพระธิดา ตรัสถามเจ้าจอมมารดาแข ถึงพระอาการประชวรของพระธิดาถึง 3 ครั้ง เจ้าจอมมารดาแขก็มิได้ทูลตอบ จึงทรงพิโรธมิได้ตรัสด้วยอีกต่อไป และโปรดมอบพระองค์เจ้าผ่อง ฯให้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร” หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” เป็นผู้ทรงอภิบาลพระราชธิดาแทน เมื่อไม่ทรงโปรดเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข จึงน่าจะทำให้ไม่ได้ทรงมีความใกล้ชิดกับพระราชธิดาพระองค์นี้ (เรื่องนี้เกิดจากรพระมารดา แต่กระทบพระธิดานะ !!! ) 

เหตุต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าผ่องฯ มีพระชนมายุ 6 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงลาผนวช ในวันที่เสด็จออกผนวชนั้นพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการก็ต่างพากันมาหมอบเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมชาววัง แต่รัชกาลที่5 ทรงรับสั่งให้ทุกคนยืนเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่ง ดังนั้นบรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการจึงพากันยืนเข้าเฝ้า แต่ทว่า พระองค์เจ้าผ่องฯ ผู้เป็นเด็กที่ยึดมั่นตามโบราณประเพณีจึงไม่ยอมยืนขึ้น ยังคงหมอบกราบอยู่ รัชกาลที่ 5 เห็นดังนั้นก็ทรงกริ้ว ถึงกับเสด็จฯ ไปดึงพระเมาลี (จุกผม) ให้ยืน แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็มิทรงยืน เหตุนี้พระพุทธเจ้าหลวงจึงน่าจะไม่โปรดพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มากนัก ถึงแม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกก็ตาม อันนี้ว่ากันว่าคือการยึดมั่นของพระองค์ที่ทรงมีอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ด้วยพระอัธยาศัยเงียบขรึมเก็บพระองค์ ไม่โปรดปรานการสังสรรค์กับผู้ใด เล่าลือกันว่าทรง “ดื้อเงียบ” หากทรงไม่พอพระทัยสิ่งใดแล้วจะไม่ทรงปฏิบัติเด็ดขาด แม้จะทรงถูกกริ้วหรือถูกลงโทษก็ทรงเงียบเฉย จึงทำให้ไม่ทรงสนิทชิดเชื้อกับผู้ใดรวมทั้งพระบรมราชชนก นอกจากพระอุปนิสัย ก็ว่ากันว่าพระองค์ไม่ได้ทรงฉลาดนัก อีกทั้งพระโฉมไม่ค่อยงาม 

ในเวลาที่ ในหลวง ร. 5 เสด็จฯ ไปที่ใด พระราชโอรสและพระราชธิดาต่างๆ ก็จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จอยู่เสมอๆ แต่มีเพียงพระองค์เจ้าผ่องฯ ที่ไม่เคยได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปไหนเลย อย่างคราวสร้างพระราชวังดุสิต บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็ได้รับพระราชทานตำหนักใหญ่น้อยอยู่ในพระราชวังดุสิต แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็ไม่เคยได้รับพระราชทานตำหนักในพระราชวังดุสิต และพระองค์ก็พอพระทัยที่จะประทับอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวังนั่นเอง ทำให้ห่างเหินกับพระราชบิดาจนกระทั่งสวรรคต 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการ ‘ตรัสอย่างตรงไปตรงมา’ อย่างที่เรียกกันว่า ‘ขวานผ่าซาก’ จนเป็นที่กล่าวขวัญร่ำลือกันถึงพระอัธยาศัยนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งการไป ‘ตากอากาศ’ กำลังเป็นที่นิยมของสังคมชั้นสูงในสมัยนั้น พระองค์เจ้าผ่องก็มิเคยเสด็จฯ ด้วย เมื่อมีพระญาติตรัสถามว่า ไม่เสด็จไปทรงตากอากาศบ้างหรือ ? ก็จะทรงตอบว่า “ไปตากอากาศ ฉันก็เห็นพวกเธอตายกันโครมๆ” ซึ่งก็เป็นการตรัสที่มีส่วนของความจริง เพราะทรงเป็นพระราชนารีที่มีพระชนมายุยืนยาวมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ก็นะ ถามเฉยๆ อ่ะ)

ส่วนการยึดมั่นในขนบดั้งเดิมก็มีตัวอย่างที่ฟังแล้วก็อึ้งๆ เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นเวลาที่เจ้าพระยารามราฆพ (เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ซึ่งเป็นสกุลของเจ้าจอมมารดาแข พระมารดา) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานและมีอำนาจสูงในแผ่นดิน พระองค์เจ้าผ่องก็ไม่ทรงสนิทสนมด้วย แม้เจ้าพระยารามราฆพ จะทูลเชิญให้เสด็จเป็นเกียรติยศ ณ บ้านของท่าน ก็ทรงปฏิเสธ เพราะทรงยึดถือขนบประเพณีเก่าที่ว่าขุนนางจะต้องเป็นฝ่ายมาเฝ้าเจ้านาย การที่เจ้านายจะเสด็จไปบ้านขุนนางนั้นเป็นการไม่ควร เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้ลงเอยจะยอมเสด็จ ฯ แต่นั่นก็คือเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ไม่ยอมเสด็จฯ ไปอีก หรืออย่างพิธีถวายน้ำสงกรานต์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ประจำปี ก็จะเสด็จฯ ไปถวายตามพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ ตามลำดับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ทรงคำนึงถึงความสะดวกหรือระยะทางใกล้ไกล (สุดจริงๆ) 

แต่กระนั้นแม้ว่า ร.5 จะทรงโปรดน้อย แต่เหตุการณ์ประทับใจของความเป็น พ่อ-ลูก ก็มีอยู่เล็กๆ เล่ากันว่าครั้งที่โปรดฯ พระราชทานที่ดินสวนนอกให้เจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาบางพระองค์ไป แต่สำหรับพระองค์เจ้าผ่องฯ นั้นโปรดฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ 100 ชั่งสำหรับเป็นทุนเลี้ยงพระชนมชีพ ด้วยทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระอัธยาศัยของพระราชธิดา ประกอบกับที่ทรงมีพระราชดำริว่าพระราชธิดาไม่ทรงคุ้นเคยกับชีวิตนอกพระบรมมหาราชวังและไม่มีมารดาคอยดูแล เกรงจะทรงได้รับอันตราย (ก็คือทรงตระหนักแล้วว่าพระธิดาพระองค์นี้ไม่ออกจากพระบรมมหาราชวังแน่ๆ) 

'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ' พระธิดาที่รัชกาล 5 ไม่ทรงโปรด |THE STATES TIMES STORY EP.97

เจ้าหญิงผู้อาภัพ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ" พระราชธิดาที่รัชกาล 5 ไม่ทรงโปรด

.

ไปติดตามกันได้ใน THE STATES TIMES Story ใน EP. นี้ได้เลย

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

‘เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์' ผู้เป็นดัง ‘ศรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’ |THE STATES TIMES STORY EP.98

‘เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร’

พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสิริโฉมงดงามราวกับเทวดา

ผู้เป็นดัง ‘ศรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’

.

ไปติดตามกันได้ใน THE STATES TIMES Story ใน EP. นี้ได้เลย

.

🎥 ช่องทางรับชม

Facebook: THE STATES TIMES PODCAST

YouTube: THE STATES TIMES PODCAST

TikTok: THE STATES TIMES PODCAST

1 มีนาคม พ.ศ. 2433 รัชกาลที่ 5 ประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟสายแรก กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา

วันนี้ เมื่อ 133 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงเมืองนครราชสีมาเป็นทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย

เมื่อ พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในเครื่องราชบรรณาการนั้นมีรถไฟเล็กจำลองย่อส่วนจากรถจักรไอน้ำของจริงที่ใช้ในเกาะอังกฤษ ประกอบด้วยหัวรถจักรไอน้ำชนิดมีปล่องสูงและรถพ่วงครบขบวน ซึ่งเป็นที่สนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ยังไม่มีการสร้างทางรถไฟเกิดขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยามในขณะนั้นยังอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงและยังมีจำนวนประชากรน้อยอยู่

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากการทรงทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในชวาและทรงประทับรถไฟในอินเดีย พระองค์ทรงเห็นว่ารถไฟจะทำให้ราชอาณาจักรสยามมีความเจริญยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับราชอาณาจักรได้ ซึ่งในขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังถูกกดดันจากชาติตะวันตกในการล่าอาณานิคม ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา ดังมีข้อความแสดงพระราชดำริบางดอนว่า

"การสร้างหนทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้ความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถๆฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลไปมาถึงกันยากให้กลับเป็นหัวเมืองใกล้ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปมาเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎร์ มีทางตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไปและทำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากมียิ่งขึ้นด้วย ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชา ตรวจตราราชการบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้โดยสะดวก"

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงขุดดินถมทางรถไฟหลวงสายแรก

9 มีนาคม พ.ศ. 2413 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 153 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เป็นการเสด็จต่างประเทศครั้งแรก นับเป็นวันที่สำคัญมากทางประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม เพราะมีความหมายถึงการอยู่รอดของประเทศก็ว่าได้

การเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2413 ถึงวันที่ 15 เม.ย. พ.ศ.2413 โดยเสด็จทางเรือพระที่นั่ง 'พิทธยัมรณยุทธ'

และประเทศที่เสด็จฯเยือน หาใช่ยุโรปตามความเข้าใจของคนไทยอีกหลายคนไม่ แต่เป็นเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ปัตตาเวีย หรือปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา และสมารัง เมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ทางด้านเหนือเกาะชวากลาง นั่นเอง

ทั้งนี้ หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่า ในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสวยราชสมบัติ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ ขณะพระชนมายุได้ 15 พรรษา แต่เนื่องจากพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารราชการแผ่นดินขณะนั้นอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง บ้านเมืองยังมีภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ใช้เวลาที่ยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดนี้ ในการทรงเตรียมพระองค์อย่างเปี่ยมไปด้วยสายพระเนตรยาวไกล และพระปรีชาสามารถ

โดยทรงตระหนักถึงปัญหาภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกและได้ทรงเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งทรงยึดแนวทางสืบเนื่องจากสมเด็จพระราชบิดา นั่นคือ ทรงปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวสยาม มิให้ต่างชาติมาดูหมิ่น ดูแคลน

อีกทั้งยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ และ ทรงเดินทางไปยังประเทศซึ่งเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก เพื่อให้ข้าราชบริพารมีโอกาสศึกษาสภาพบ้านเมือง และรูปแบบการปกครองของเมืองเหล่านั้น ซึ่งจัดระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับเมืองเจ้าอาณานิคม

อย่างในปี พ.ศ. 2413 (บางแหล่งระบุว่าเป็นปี 2414) ทรงเสด็จไป สิงคโปร์ ปัตตาเวียและเกาะชวา โดยเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียม และประเพณีของต่างชาติ และต่อมายังเสด็จไป พม่าและอินเดีย อีกด้วย

ภายหลังการเสด็จครั้งนี้ บ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย หลังจากนั้นปี 2415 ยังทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

‘เนติวิทย์’ ขอพรเสด็จพ่อ ร.5 คุ้มครอง ‘หยก-กลุ่มนักเรียนเลว’ ให้ปฏิรูปการศึกษาไทยสำเร็จ พร้อมขอพระองค์ดลใจน้องๆ เรียนต่อจุฬา

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“วันนี้เวลา 18 นาฬิกา 15 นาที ผมได้เดินทางไปสักการะพระบรมรูปเสด็จพ่อ ร.5 ที่ลานพระบรมสองรัชกาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี (โดยยืน มิได้หมอบกราบแต่อย่างใด เพราะจะขัดพระบรมราชโองการของพระองค์)

ในการนี้ผมได้ขอพรเสด็จพ่อ ขอให้พระบารมีคุ้มครองรักษาน้องหยกและนักเรียนเลวคนอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ประสบความสำเร็จ

ขอให้พระองค์ดลใจน้องๆ เหล่านี้ให้มาศึกษาต่อที่จุฬาฯ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่รับฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาและชุมชน ไม่ให้มีใครต้องถูกไล่ที่อีก รวมถึงรับใช้สังคมและประชาชนอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งผู้บริหารจุฬาฯ ไม่เคยทำได้ ไม่เคยเป็นแบบอย่างได้ และคงไม่สนใจจะทำด้วย”

เปิดเบื้องลึก ต้นกำเนิด 'โรงพยาบาลศิริราช' มุ่งมั่นเพื่อทุกชีวิต โดยพระมหากษัตริย์ไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @aun_mareeyah ได้แชร์คลิปวิดีโอ ‘ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา’ อธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ที่ได้ออกมาเล่าต้นกำเนิดของ ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน โดยระบุว่า…

“วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ท่านสูญเสียพระราชโอรสองค์ที่ 5 คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์’ ในขณะนั้นมีพระชนมายุ 1 ปี 7 เดือน ทรงประชวรด้วย ‘โรคบิด’ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะ ท่านเป็นพระราชโอรสที่ท่านทั้งสองพระองค์รักมาก คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าการสูญเสียสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ คือต้นกําเนิดของโรงพยาบาลศิริราช แต่จริงๆ ถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะอีก 3 เดือนต่อมา ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็สูญเสียพระราชธิดาองค์โต คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์’ ซึ่งมีพระชนมายุ 8 พรรษา”

“ครั้งที่สูญเสียหนึ่งพระราชโอรส และหนึ่งพระราชธิดา ตอนนั้นกําลังจะมีการจัดสร้างพระเมรุ 5 ยอด ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ของทั้งสองพระองค์ ในขณะนั้นเอง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เผยว่า แม้แต่ลูกเรา ลูกเจ้าฟ้า เจ้าพระยา ยังรักษาไม่อยู่ แล้วลูกชาวบ้านจะเป็นอย่างไร… ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว ท่านจึงทรงรับสั่งให้ถอดอุปกรณ์ที่ใช้สร้างพระเมรุ 5 ยอด ออกมาสร้างเป็นโรงผู้ป่วยให้กับ ‘โรงศิริราชพยาบาล’ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’

แต่ทั้งหมดยังไม่จบเพียงเท่านั้น อีก 3 เดือนต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็ทรงสูญเสียพระราชโอรส คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง’ ไปอีกพระองค์หนึ่ง…

อันนี้จะพูดง่ายๆ เวลาเราสื่อสารให้กับประชาคมศิริราชที่เข้ามาใหม่ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ พ่อแม่คู่หนึ่งสูญเสียลูกไปถึง 3 คน ภายใน 6 เดือน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านกลับใส่พระทัยในคนที่เดือดร้อนมากกว่า นั่นคือ ‘ราษฎร’ คือชาวบ้านที่เดือดร้อนมากกว่า…

เพราะฉะนั้น เราพูดกันตลอดเวลาว่า ‘ต้นกําเนิดโรงพยาบาลศิริราช’ เป็นต้นกําเนิดมาจาก ‘การใส่ใจดูแลผู้ที่เขาเดือดร้อน’ มากกว่าเรา”

“หลังจากนั้นก็สืบทอดต่อมา ผู้ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างมากเลย คือ ‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ หรือ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ท่านเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้น ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางยุคล่าอาณานิคม ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เวลานั้น ท่านส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจให้เกิดความสมดุลกัน ทางด้านสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลก็ทรงเสด็จเข้าไปศึกษาทางด้านการทหารเรือ”

“แต่วันหนึ่งท่านเสด็จกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ ท่านออกกุศโลบาย ชวนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่องเที่ยวทางเรือ แล้วมายังที่ของโรงศิริราชพยาบาล ก็ทรงชวนขึ้นมาดูเพื่อเจตนาให้เห็นโรงผู้ป่วยในเวลานั้น ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่านพินิจเห็นก็มีความรู้สึกว่า ถ้าดูแลแบบนี้ชาวสยามเวลานั้นจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร? 

นั่นจึงเป็นจุดผกผันที่สําคัญ ท่านก็ตัดสินพระทัย ขอพระบรมราชานุญาตจากล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 (ณ ขณะนั้นเข้าสู่ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6) ท่านก็ทรงมีพระราชานุญาตให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จไปศึกษาการสาธารณสุขกับการแพทย์ ท่านเสด็จไปถึงสถานีที่เมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น ท่านได้สําเร็จการศึกษาและกลับมาประเทศไทย ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471”

“ในเวลานั้น โดยฐานันดรแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเวลานั้นจะเป็นองค์รัชทายาทโดยอนุโลม หรือผู้ที่จะขึ้นเป็น ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ องค์ถัดไป เพราะฉะนั้น โอกาสที่ท่านจะได้ดูแลสามัญชนทั่วๆ ไปก็คงยาก แต่ท่านมีพระราชประสงค์อยู่แล้ว คืออยากจะกลับมาเป็นหมอ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นไปที่เชียงใหม่ โดยท่านเสด็จไปถึงเชียงใหม่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472

หากถามว่าแล้วท่านเสด็จขึ้นไปทำไม? เพราะพอต้องขึ้นไปที่เชียงใหม่ ถ้าท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล หลวง โรงพยาบาลของราชการ ก็คงไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ ท่านเสด็จไปส่งงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นโรงพยาบาลของคณะมิชชันนารี เพราะฉะนั้น ท่านจึงสามารถดูแลชาวบ้านสามัญชนที่นั่นได้”

“ดังนั้น ผมจึงชอบอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบว่า “ตะวันตกมี ‘Lady of the lamp’” คือ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ที่ทุกคืนก่อนนอนจะจุดเทียน แล้วก็ไปถามคนไข้แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ประเทศไทยของเราก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งทรงทำแบบเดียวกัน ที่ทุกคืนก่อนจะทรงบรรทม ท่านจะเสด็จไปเยี่ยม คนไข้ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค พอเสร็จหมดเรียบร้อย ท่านค่อยเข้าบรรทม จนเชียงใหม่ขนานนาม พระองค์ท่านว่า ‘หมอเจ้าฟ้า’”

“ต่อมา เผอิญว่าในช่วงนั้นมีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง สิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ ท่านก็เสด็จกลับลงมา แต่ปรากฏว่าหลังจากกลับลงมาแล้ว ไม่ได้เสด็จกลับขึ้นไปที่เชียงใหม่อีกเลย จากนั้นการประชวรของพระองค์ท่านก็ทรงเป็นมากขึ้น ซึ่งในอีก 7 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ท่านก็เสด็จสวรรคต นี่คือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของราชวงศ์จักรี ที่สืบสานพระราชปณิธานมาจากรัชกาลที่ 5 ทําประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย”

“ตลอดระยะเวลา 10 ปี ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของประเทศไทย ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย อุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย อีกทั้งพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า เพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้า จะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ ซึ่งพระราชปณิธานนั้น ก็ได้สืบทอดต่อมาจนถึงรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top