Sunday, 19 May 2024
รัชกาลที่5

รัชกาลที่ 5 ทรงฯ สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ จุดเริ่มต้นของการสื่อสารของไทย

วันนี้เมื่อ 140 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา ‘กรมไปรษณีย์’ ก่อนที่จะถือเอาวันนี้ เป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’

จุดเริ่มต้นของการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันอย่างง่าย ทั้งผ่านทางพ่อค้า ใช้ม้าเร็ว จนถึงการจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ ก็ถือเป็นพัฒนาการทางการส่งข่าวสารอย่างง่ายอีกช่องทางหนึ่งและเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นยุคแรกของ การไปรษณีย์ไทย ด้วยการจัดตั้งกรมไปรษณีย์ในประเทศไทย และการผลิต ‘แสตมป์ชุดโสฬส’ แสตมป์ชุดแรกของประเทศ รวมไปถึงจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรครั้งแรก เพื่อรองรับกิจการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ข่าวราชการ’ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงวางโครงการและเตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์แล้ว ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า ‘ไปรษณียาคาร’

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานในด้านสื่อสารด้วยกันควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสียเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นการสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’

ต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุงเป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ที่ทำการไปรษณีย์กลาง’ การไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะ จำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติ เมื่อเปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นในปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248’

และเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงมีแก่กิจการไปรษณีย์ไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2526 กำหนดให้ วันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันสื่อสารแห่งชาติ’ และจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 โดยจัดร่วมกับงานครบรอบ 100 ปี การสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข และการเฉลิมฉลองปีการสื่อสารโลกของสหประชาชาติ

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนนายร้อย

วันนี้ในอดีต 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’ ต่อมาคือ โรงเรียนนายร้อย จปร.

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ(กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) โดยเริ่มจากการจัดตั้งทหารมหาดเล็กเด็กที่เรียกว่า ‘ทหารมหาดเล็กไล่กา’ จำนวน 12 คน ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้ขยายกำลังขึ้นโดยฝึกข้าหลวงเดิมให้เป็นทหารมหาดเล็กสมทบกับพวกมหาดเล็กไล่การวม 24 คน จึงเรียกทหารในชุดนี้ว่า ‘ทหาร 2 โหล’ และต่อมาได้เพิ่มจำนวนทหารมหาดเล็กเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด

พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย เรียกว่า ‘กอมปานี’ (Company) ถึง 6 กองร้อย จัดตั้งเป็น ‘กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์’

พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า ‘คะเด็ตทหารมหาดเล็ก’ ส่วนนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ (Cadet)

พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น (ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ) จึงกำเนิด ‘คะเด็ตทหารหน้า’ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารสำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร) โดยรวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า ‘คะเด็ตสกูล’ สำหรับนักเรียนเรียกว่า ‘คะเด็ต’ มีนายพันเอกนิคาล วอลเกอร์ (Nical Walger) เป็นผู้บังคับการคนแรก

5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล

14 มกราคม พ.ศ. 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า ‘โรงเรียนทหารสราญรมย์’

6 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนสอนวิชาทหารบก’

25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนทหารบก’ เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ เปิดการสอนใน 2 แผนก คือ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

5 ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ส่วนโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452

โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า ‘โรงเรียนนายร้อยทหารบก’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก

26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี

พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบกขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค

2 ธันวาคม พ.ศ. 2485 - 14 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว

14 เมษายน พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น

ในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน จึงได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน พ.ศ. 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม

พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา

1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า ‘โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า’

ต่อมาโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด ด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้น สถานที่ฝึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระยศพันเอก) ได้เสด็จฯ มากระทำพิธี

5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ถือเป็นการเปิดโรงเรียนนายร้อยแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ และได้ดำเนินการสอนมาจนถึงปัจจุบัน

15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน ‘พระราชดำเนิน’

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

‘ถนนราชดำเนิน’ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด แต่ทรงให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า 

โดยในชั้นแรกนั้นทรงมีพระราชดำริว่า “เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน”

สาเหตุของการตัดถนนเนื่องจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรเป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า ‘ถนนราชดำเนิน’ เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากแยกจุดบรรจบระหว่างถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออก และไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

20 กันยายน วันพระราชสมภพ 2 พระมหากษัตริย์ไทย ล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 8

วันนี้ นับเป็นอีกวันรำลึกที่สำคัญยิ่ง เพราะวันที่ 20 กันยายน เป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติเมื่อวันนี้ของ 166 ปีก่อน ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 แรม 3 ค่ำเดอน 10  ปีฉลู

และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชสมภพเมื่อวันนี้ของ 94 ปีก่อน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลูเหมือนสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (ปู่) อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์แรกในพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

สำหรับ พระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้นพระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

และเนื่องจากด้วยวันที่ 20 กันยายน เป็นวันที่เป็นสิริมงคล เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์ด้วยกัน และได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ อีกด้วย

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ไทยประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วงทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

วันนี้ เมื่อ 119 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ประกาศเลิกใช้ ‘เงินพดด้วง’ ทุกชนิด เหตุมีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย

ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สำหรับ ‘เงินพดด้วง’ ทางราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ครบ 35 ปี จัดฉลองใหญ่พร้อมเปิดถนนราชดำเนินนอก

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และฉลองครองราชย์ครบ 35 ปี

ก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. 2444 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินมาในจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย มาบรรจบกับย่านริมสนามหลวงด้านตะวันออก ไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่สวยงามและเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

‘ดร.อานนท์’ โต้ ‘รศ.วิทยากร’ ปม รัชกาลที่ 5 ไม่ได้สร้าง ‘จุฬาฯ’ เผย!! ทรงสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ที่ต่อมาคือ ‘จุฬาฯ’

(3 เม.ย. 67) จากเฟซบุ๊ก ‘Witayakorn Chiengkul’ โดย รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

“ประวัติการสร้างจุฬาฯ มหาวิทยาลัยแห่งแรก ที่ผมเคยอ่านพบคือ ร.๕ ไม่ได้สร้าง มีฝรั่งที่ปรึกษาและปัญญาชน อย่าง ‘ครูเทพ’ เคยเสนอแนะให้สร้างตั้งแต่ยุคนั้น แต่ไม่เกิดผล หลัง ร.๕ สวรรคต รัฐบาลยุค ร.๖ เรี่ยไรเงินจากประชาชนก่อสร้างอนุสาวรีย์ ร.๕ ทรงม้าที่ลานพระรูป แล้วยังมีเงินเหลือ รัฐบาลจึงได้นำไปสร้างจุฬาฯ คงต้องใช้เงินรัฐบาลสมทบด้วย แต่งบรัฐบาลก็มาจากภาษีประชาชนอยู่นั่นเอง”

หลังจากข้อความดังกล่าวปรากฏ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ได้อธิบายความเพื่อตอบโต้โพสต์ดังกล่าว ไว้ว่า…

“กราบเรียนว่า ข้อมูลอาจารย์ไม่ถูกต้องทั้งหมดครับ...

1. รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต่อมาคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ดังนั้นจึงมีความต่อเนื่อง 

2. พระบรมรูปทรงม้า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ ไม่ได้สร้างหลัง ร.5 เสด็จสวรรคตครับ แต่สร้างคราวเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จไกลบ้านครั้งที่ 2 ครับ รัฐบาลไม่ได้เรี่ยไรครับ ประชาชนรวมเงินกันถวายสร้างพระบรมรูปทรงม้า ได้เงินมามากเกินกว่าที่จะสร้างพระบรมรูปทรงม้า 6-7 เท่า แต่ก็เก็บเงินไว้เฉย ๆ 

3. ครูเทพ ท่านกราบบังคมทูลให้สร้างมหาวิทยาลัยจริงครับ แต่เป็นในสมัย รัชกาลที่ 6 

4.ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงดำริตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top