Monday, 13 May 2024
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย

กฎหมายของไทยในสมัยอดีตในยุคก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ได้มีการใช้พระราชศาสตร์ มาเป็นแนวทางในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างขึ้นจากการพิจารณา และคำตัดสินในเหตุการณ์ต่าง ๆ และก็ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินตราขึ้นใช้บังคับ ตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะแพ่ง กฎหมายลักษณะอาญาหลวง กฎหมายลักษณะผัวเมีย ลักษณะโจร เป็นต้น

พอมาสมัยรัตนโกสินทร์ในตอนต้น ในช่วงรัชกาลที่ 1- 4 ประเทศไทยมีกฎหมายตราสามดวงบังคับใช้ ต่อมามีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้กฎหมายของไทยก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการปรับปรุงกฎหมายให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับหลักความยุติธรรม

ต่อมาเมื่อ กรมหลวงราชบุรีทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม โดยทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง และได้เขียนตำรากฎหมายขึ้นตามที่เป็นอยู่ในแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาและการละเมิดนั้นได้เอาหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายอังกฤษมาสอน และผู้พิพากษาศาลไทยก็นำเอากฎหมายอังกฤษตามใช้ที่สอนในตำรามาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี 

การร่างกฎหมายใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายใหม่นี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยมีนักกฎหมายชั้นนำของไทยและของต่างประเทศ ได้เลือกร่างกฎหมายลักษณะอาญาก่อนกฎหมายฉบับอื่น โดยร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทย เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2450

จากนั้นก็พิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เมื่อเสร็จแล้วคณะกรรมการก็นำขึ้นทูลเกล้าถวาย และได้ทรงประกาศใช้เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 และเรียกประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้ว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127’

ว่ากันว่าประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้เป็นกฎหมายที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น เพราะได้นำเอาหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมกันในประเทศต่าง ๆ มาพิจารณาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยขณะนั้น และเพื่อเป็นการยกระดับประเทศขึ้นสู่ระดับอารยประเทศ

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประมวลกฎหมายที่แท้จริงฉบับแรกของไทย มีทั้งสิ้นรวม 340 มาตรา 
และได้ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. 2486  จึงได้มีการปรับปรุงใหม่ ฉบับใหม่เรียกว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2486’ และได้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2499 จึงได้มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งคือประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน ‘พระราชดำเนิน’

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนพระราชดำเนิน ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

‘ถนนราชดำเนิน’ เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด แต่ทรงให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า 

โดยในชั้นแรกนั้นทรงมีพระราชดำริว่า “เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน”

สาเหตุของการตัดถนนเนื่องจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรเป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า ‘ถนนราชดำเนิน’ เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากแยกจุดบรรจบระหว่างถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออก และไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างประภาคาร เกาะสีชัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอัษฎางค์ประภาคารขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2434 เพื่อใช้ส่องสัญญาณไฟนำทางให้แก่เรือต่าง ๆ ที่ออกเรือประมงตกปลา ตกหมึกในยามค่ำคืน เนื่องจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชังมีศิลาสัมปะยื้อกีดขวางเส้นทางเดินเรือ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เรือประมงที่แล่นเข้า - ออก

บริเวณประภาคารมีเรือนให้คนรักษาประภาคารอยู่ทำหน้าที่ประจำ 1 หลังและเนื่องจากอัษฎางค์ประภาคารตั้งอยู่บริเวณส่วนปลายสุดของ ‘แหลมวัง’ ชาวบ้านบนเกาะสีชังจึงนิยมเรียกประภาคารแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ประภาคารแหลมวัง’ แต่ในปัจจุบันได้มีการสร้างประภาคารขึ้นใหม่ใกล้กับท่าเรือ เทวงษ์ (ท่าล่าง) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง อัษฎางค์ประภาคารจึงกลายเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่นักท่องเที่ยวนิยมอีกแห่งหนึ่ง

ต่อมาตัวประภาคารหินสัมปะยื้อ และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และประกอบกับการคมนาคมไม่สะดวก ดังนั้น จึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมตัวประภาคารใหม่ และได้ย้ายบ้านพักของเจ้าหน้าที่ประภาคารไปตั้งอยู่บนเกาะขามใหญ่ (ตรงข้ามเกาะสีชัง) เมื่อ พ.ศ. 2512 มาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับตัวเรือนตะเกียงที่ติดตั้งบนประภาคาร ได้ทำการเปลี่ยนแปลงจากระบบน้ำมันก๊าด มาใช้เป็นระบบตะเกียงก๊าซอเซทีลีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมาใช้ตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2534


 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 155 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกประกาศให้ใช้หน่วย ‘สตางค์’ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ไทยใช้หน่วยของเงินเป็น ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ซึ่งถือเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการแลกเปลี่ยนในการใช้จ่ายต่าง ๆ

โดย 100 สตางค์ มีการกำหนดค่าให้เท่ากับ 1 บาท และนั่นถือเป็นจุดกำเนิดของหน่วยสากลที่นิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน


 

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

วันนี้ เมื่อ 155 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเนศวร สุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

18 มีนาคม พ.ศ. 2448 'ในหลวง ร.5' ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ ต.ท่าฉลอม เป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ จุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองแก่ ปชช.ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันท้องถิ่นไทย’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ ‘ตำบลท่าฉลอม’ ขึ้นเป็น ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 ถือเป็น ‘ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย’ และเป็นรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) สุขาภิบาลแห่งแรกของไทยได้รับการจัดตั้งขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครเรียกว่า ‘สุขาภิบาลกรุงเทพ’ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ขึ้น โดยผู้บริหารสุขาภิบาลกรุงเทพ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามที่ทรงทอดพระเนตรมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศ

หลังจากนั้น 8 ปี คือในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็น ‘สุขาภิบาล’ เรียกว่า ‘สุขาภิบาลท่าฉลอม’ ซึ่งถือว่าเป็นสุขาภิบาล ‘หัวเมือง’ แห่งแรกของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือ ‘เทศบาลนครสมุทรสาคร’

สำหรับเหตุที่การจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองล่าช้าไปมาก เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรง เล็งเห็นว่า การสุขาภิบาลซึ่งเป็นรูปแบบที่ประชาชนปกครองตนเองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากราษฎรในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี การร่วมกันดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากบังคับให้มีขึ้นโดยที่ประชาชนไม่เห็นความจำเป็นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนและเป็นการถือกำเนิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ในวันท้องถิ่นไทย หน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นจะร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 

25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ‘ในหลวง ร.5’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘กระทรวงยุติธรรม’ ปรับโฉมระบบยุติธรรมไทยให้ทันสมัย - แก้ปัญหาพิจารณาคดีล่าช้า

ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บ้านเมืองเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในกระบวนการพิจารณาคดีความ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก จนนำไปสู่วิกฤตทางการศาลขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจาก 

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิมที่ขึ้นตามกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดความล่าช้าสับสน

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม ที่มีวิธีการพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงขอบเขตการลงโทษที่ไม่เหมาะสม

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล สืบเนื่องมาจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงในเอกราชของไทย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ระบบยุติธรรมในสยามมีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้แก่ประชาชนทั่วไปในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 โดยมีการรวบรวมศาลต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเข้ามาในระบบภายใต้การควบคุมของกระทรวงยุติธรรม และกำหนดรูปแบบวิธีพิจารณาและพิพากษาคดีขึ้นใหม่อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top