Thursday, 2 May 2024
ประวิตร

“ประวิตร” สั่งหน่วยมั่นคง กวาดล้างใหญ่ขบวนการค้ามนุษย์ และจับตาเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว เพิกเฉย รับส่วย สั่งปลดออก สอบวินัยดำเนินคดีตามกม.ถึงที่สุด

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ ยังไม่พอใจการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา โดยพบรายงานการทุจริตและการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์  รวมทั้งมีแรงงานภาคบังคับอยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในหลายอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งไม่ระบุแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  อันเป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่สำคัญ 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำสั่งการไปยังหน่วยงานข่าว ให้ติดตามเชิงลึกความเชื่อมโยงขบวนการลักลอบนำพาคนต่างด้าวเข้าไทยกับขบวนการค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้รายงานให้ทราบในทุกสัปดาห์  พร้อมทั้งขอให้ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงแรงงานฯ ประสานกับ ตำรวจและทหาร เปิดรับแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชน เข้าพิสูจน์ทราบและเปิดปฏิบัติการกวาดล้างใหญ่ขบวนการเครือข่ายค้ามนุษย์ ทั้งพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นในต่อเนื่องกันไป โดยให้ขยายผลสู่การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ร่วมขบวนการทุกรายไม่มียกเว้น  ทั้งนี้ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง รับประโยชน์ ละเลย และเพิกเฉย ให้สอบสวนเอาผิดทั้งวินัยและอาญา ยึดทรัพย์และปลดออกจากราชการทุกราย 

“ประวิตร” สั่ง ทุกหน่วย จับตาพายุ “หมาเหล่า” และน้ำทะเลหนุน หวั่นกระทบแม่นำ้สายหลัก สั่ง สทนช.ปรับการระบายน้ำช่วย 15 จว.อุทกภัย

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นาบกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ 15 จว.ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย และกังวลพายุลูก ใหม่ซ้ำเติม ขณะที่ฝนยังมากต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวัน ออกและภาคใต้ และน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่าง 23-27 ต.ค.

โดยพล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช.ติดตามพยากรณ์สภาพอากาศและพายุ “หมาเหล่า”โดยให้ประเมินสถานการณ์น้ำเข้าเขื่อน และพิจารณาปรับการระบาย น้ำลงแม่น้ำสายหลัก ไม่ให้น้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่โดยรอบ สำหรับการบริหารจัดการ อุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน ขอให้ประสานกรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยาช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำใน แม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ จว.สุพรรณบุรีและนครปฐม

ทั้งนี้ภาพรวม การช่วยเหลือน้ำท่วมของ กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพปัจจุบัน ยังคง สนับสนุนส่วนราชการต่างๆและทำงานร่วมกับจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องมา โดยยังคงหมุนเวียนกำลังทหารกว่า 15,000 นาย รวมทั้งเครื่องมือช่างและยานพาหนะกว่า 900 คัน กระจายลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งการอพยพประชาชน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก การขนย้ายสัตว์เลี้ยงจำนวนมากออกจากพื้นที่น้ำท่วมเข้าพื้นที่ปลอดภัย  และได้เร่งติดตั้งสะพานทางทหารและซ่อมแซมสะพานในเส้นทางที่ถูกตัดขาดกว่า 10 แห่งในพื้นที่ จว.พะเยา เพชรบูรณ์และ นครราชสีมา  ร่วมไปกับการจัดยานพาหนะอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้สามารถสัญจรได้ปกติ

“ประวิตร” ถก กก. กกท.เร่งแก้ พ.ร.บ."ควบคุมการใช้สารต้องห้าม" หวั่น กระทบมหกรรมกีฬา  สั่งเร่ง บรรจุ"มวยไทย"ทันโอลิมปิกสมัยหน้า

การเมือง / ทำเนียบ / 27 ต.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.)ครั้งที่ 9/2564 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วม

โดยที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก และรับทราบรายงาน ผลการประเมินการบริหารจัดการ อย่างมีมาตรฐาน ของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยตามเงื่อนไข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประจำปี64 ซึ่งในภาพรวมสมาคมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 ที่มีความรุนแรงในทุกพื้นที่ ประกอบกับมาตรการการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากภาครัฐ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมต่างที่กำหนดไว้ในแผนของแต่ละสมาคม ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้เต็มที่  

นอกจากนั้นที่ประชุมรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนกีฬามวยไทยสู่โอลิมปิก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ในการบรรจุกีฬามวยไทย ให้มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ สมัยหน้า

'บิ๊กป้อม' นั่งหัวโต๊ะ วางรากฐานขยายพื้นที่เศรษฐกิจ-พัฒนาเมืองต้นแบบ ในพื้นที่ จชต. มุ่งเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตลดเงื่อนไขความรุนแรง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่ จชต.ในทุกมิติ 

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า โดยที่ประชุมรับทราบ การถ่ายโอนภารกิจจัดจ้างวิทยากรผู้สอนภาษาไทยจาก ศอ.บต.ให้กับ บก.ตชด.ตั้งแต่ปี 66 หลังพบเด็กๆในวัยเรียนจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือและมีปัญหาอ่านเขียนไม่ได้  และเห็นชอบแนวทางมอบอำนาจให้เลขา ศอ.บต. 

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ การช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่ จชต.ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้วกว่า 10,000 คน และจะเร่งพัฒนาอีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จใน มี.ค. 65 แยก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสากรรมนอกพื้นที่และผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในมาเลเซีย  สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารารวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาท เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และพัฒนาอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบในการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันไป

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กรอบการบูรณาการเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ภายใต้ระบบ “ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ พร้อมทั้งอนุมัติหลักการโครงการขยายพื้นที่ปลูกไม้และไม้ผลเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จชต. เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเริ่มจากจัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ “หนึ่งตำบล หนึ่งพื้นที่สาธารณะ” และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไป  

 พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการและกรอบวงเงิน โครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จว.ยะลา “Amazean Jungle Trial” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาไปสู่ระดับนานาชาติ  และ เห็นชอบหลักการและกรอบงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินเรือและลดปัญหาผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมต่อเนื่องที่ผ่านมา รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุน โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบระยะเร่งด่วน เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.เป็นกรณีเร่งด่วน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย - มาเลเซีย ( 9 ด่าน ) เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ

 พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้ขอบคุณ ศอ.บต. และทุกส่วนราชการที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ จชต. คืบหน้าอย่างมากต่อเนื่องมา ขอย้ำเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยเป็นนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญ โดยขอให้ ศอ.บต.ขยายผลเร่งด่วนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กและโรงเรียนตาดีกา เพื่อโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาไทยและการนำไปใช้ดำเนินชีวิตในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างเหมาะสม และได้กำชับให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต. ใช้โอกาสนี้เข้าไปจัดระบบ ปรับปรุงระเบียบด้านแรงงานและอำนวยความสะดวกการทำงานในมาเลเซีย รองรับการเปิดประเทศในต้น พ.ย. 

“ประวิตร” เรียกประชุม สถานการณ์น้ำ สั่งเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ พร้อมเร่งวางแผนแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ รวมทั้งติดตามบริหารจัดการสถานการณ์ท่วมและน้ำแล้งในภาพรวม

โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งในภาพรวมยังสามารถควบคุม โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ระหว่าง ต.ค.- ธ.ค.64 มีแนวโน้มลดลง เว้นภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากฤดูฝนที่กำลังมาถึง โดยมีโอกาสสูงในการเกิดพายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 725 ตำบล 43,495 หมู่บ้านใน 16 จว. ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำพนังกั้นน้ำและก่อสร้างทางระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 

สำหรับการบริหารจัดการนำ้ฤดูแล้ง ได้พิจารณาวางแผนจากการคาดการณ์นำ้ต้นทุน ปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน 5 จว. 9 อำเภอ 25 ตำบล มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำแล้งด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน  11 จว. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งกำหนดมาตรการรองรับ ทั้งการเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง การเติมน้ำ การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง การวางแผนเพาะปลูกพืช การเตรียมน้ำสำรองในพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ได้กล่าวแสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับ สทนช.บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศที่อาจพัฒนาก่อตัวเป็นพายุซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมทั้งให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลำน้ำสายหลักตามแผนและสถานการณ์  ทั้งนี้ให้นำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ท่วมขังนานและเกิดการเน่าเสียหวั่นกระทบสร้างปัญหาโรคระบาด  โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ขอให้ทบทวนปรับปรุงและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกัน และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงนำ้ท่วมที่เคยเกิดปัญหา เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น 

“บิ๊กป้อม”  สั่งกรมประมงเร่งเยียวยาเรือประมงออกนอกระบบ เข้มข้นมุ่งความยั่งยืนแก้ปัญหา IUU อย่างเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ( IUU ) และผลกระทบสภาพแวดล้อมทางทะเล 

ที่ประชุมรับทราบและติดตามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และการแก้ปัญหานำเรือประมงออกนอกระบบ โดยเฉพาะการเยียวยา กลุ่มเรือประมงสีขาว (ไม่เคยทำผิดกฎหมาย ) จำนวน 75 ลำ วงเงินช่วยเหลือ  490.8 ล้านบาท 

รวมทั้งการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะ มาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีตามกฏหมายว่าด้วยการประมง และการอุดหนุนประมง ( Fisheries subsidies ) ภายใต้องค์การการค้าโลก ( WTO ) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐ แก่ผู้ประกอบการ ธุรกิจ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรม กับกลุ่มที่ทำประมงถูกกฎหมาย โดยร่วมกันกำหนดท่าทีการเจรจาของไทยที่เหมาะสมกับการอุดหนุนประมงดังกล่าว ต่อจากนั้นได้เห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อติดตามเร่งรัดแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายรวมทั้งความเดือดร้อนของผู้ปกครองการประมงในทุกภาคส่วน

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำนโยบายด้านการประมงของไทย มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนแก่ภาคการประมง ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคการประมงโดยมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประมงภายใต้แผนบริหารจัดการประมงทะเลไทย โดยไม่สนับสนุนและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย 

“ประวิตร” ประชุม รมว.กห.อาเซียนประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ  ( ADMM Retreat ) จับตาการแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาค กระทบความเป็นหนึ่งเดียวกันและสมดุลอาเซียน

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้แทน รมว.กลาโหม  เข้าร่วมประชุม รมว.กลาโหม อาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ ( ADMM Retreat ) ผ่านระบบ VTC โดยมี กระทรวงกลาโหมบรูไน เป็นเจ้าภาพ

โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 15 ปีของความร่วมมือ รมว.กลาโหมอาเซียน (ADMM) ต่อจากนั้นได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงต่อทิศทางของ ADMM ร่วมกัน ในการรับมือกับแนวโน้มความท้าทายในอนาคต ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ การรวมกลุ่มความร่วมมือใหม่ในภูมิภาค อินโด - แปซิฟิก ที่กระทบต่อสมดุลอาเซียน ตลอดจน ความท้าทายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เป็นต้น  ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดความร่วมมือและแนวทางให้ชัดเจนในการดำรงความเป็นหนึ่งเดียวกัน แสวงโอกาสและกระชับความร่วมมือกันมากขึ้น โดยยึดมั่นความเป็นแกนกลางอาเซียน ตลอดจนใช้ทรัพยากรทางทหารร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวถึง ความตระหนักต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติ จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์การใช้ชีวิต เพื่อสร้างความสมดุล ฟื้นฟูและพัฒนาอาเซียนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของ “ความปกติถัดไป” ( Next Normal )  โดยย้ำ สนับสนุนให้อาเซียนแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันและสร้างบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในกลไกของภูมิภาคให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ ADMM สำหรับเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาขาและเสาความร่วมมืออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 

“บิ๊กป้อม” ขึ้นเหนือ แก้น้ำแล้ง โครงการพัฒนา "เวียงหนองหล่ม-หนองมโนราห์" จ.เชียงราย

ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติหนองมโนราห์ อ.แม่จัน จ.เชียงรายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ปฎิบัติราชการที่จ.เชียงราย เพื่อติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค และติดตามการบริหารจัดการน้ำภาคเหนือ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เวียงหนองหล่ม และโครงการขุดลอกหนองมโนราห์ 

โดยรับฟังรายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของจังหวัด และภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศและภาคเหนือ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)และการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำ เวียงหนองหล่ม และพื้นที่บริเวณโดยรอบ จาก ผอ.สทนช.ภาค1 และผอ.โครงการชลประทานเชียงราย 

พล.อ.ประวิตร กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ให้สทนช. เร่งจัดทำและศึกษาแผนแม่บท พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟู เวียงหนองหล่ม ให้เสร็จโดยเร็ว และให้จังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งปฏิบัติตามแผนงานให้เสร็จทันเวลา เพื่อแก้ปัญหาด้านแหล่งน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงราย อย่างทั่วถึงต่อไป 

จากนั้นพล.อ.ประวิตร และคณะ เดินทางติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขุดลอกหนองมโนราห์ ในพื้นที่และพบปะประชาชน ที่ขอบคุณ พล.อ.ประวิตร และรัฐบาลที่สนับสนุนโครงการดังกล่าวและชาวบ้านได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งนี้ ได้เป็นอย่างดี ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค และการประมง จากนั้นได้มอบ เครื่องตรวจ ATK จำนวน 500ชุด ให้กับรพ.แม่จัน เพื่อใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้เวียงหนองหล่ม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ ประมาณ 14,000 ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำฝน 187 ตร.กม. มีน้ำท่าเฉลี่ย 72 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีความจุเก็บกัก 8 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ 20 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภค 10,008 ครัวเรือน จากนั้นได้รับฟังผลการดำเนินงาน การขุดลอกหนองมโนราห์ จาก นพค.35 และมีความคืบหน้าเกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างน่าพอใจ  สำหรับ หนองมโนราห์ เป็นแหล่งน้ำสภาพปิด รับน้ำจากน้ำฝนเป็นหลัก มีพื้นที่ 139 ไร่ เดิมกักเก็บน้ำได้ไม่เกิน 300,000 ลบ.ม. และได้รับการสนับสนุน งป.กลาง ปี64 เมื่อครั้ง พล.อ.ประวิตร  ลงพื้นที่ เมื่อ23ธ.ค.63 ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเพิ่มการกักเก็บ ต้ังเป้าไม่เกิน 400,000 ลบ.ม. หากดำเนินการเสร็จสิ้น จะสามารถใช้ประโยชน์ อย่างเพียงพอ ครอบคลุม 8หมู่บ้าน 5,457 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร กว่า 500ไร่ ต่อไป

“ประวิตร” ถก “คกก.กองทุนดิจิทัลฯ”ไฟเขียว 8โครงการพัฒนาศักยภาพ-ขยายเวลาผู้ประกอบการดิจิทัลฯ-เครื่องแรงดันลบฯช่วยโควิด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่เศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง 

โดยที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล ภาคกลาง เพิ่มอีก180 วัน โครงการเครื่องปรับแรงดันอากาศเป็นลบ ขนาดใหญ่ สำหรับหอผู้ป่วยและหออภิบาลผู้ป่วยหนักทางเดินหายใจ เพิ่มอีก 62 วัน เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

จากนั้นที่ประชุมอนุมัติโครงการพัฒนาตามหลักเกณฑ์ รวมถึงการขอขยายระยะเวลาที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและประชาชน มาตรา 26 (4) จำนวน 8โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย 2.โครงการแพลตฟอร์ม "Connexion" 3.ขยายผลดำเนินโครงการTransform ตลาดยุควิถีใหม่ 4.โครงการเมล็ดพันธุ์นักรบดิจิทัลรุ่นใหม่ 5.โครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ 6.โครงการพัฒนาทักษะและยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกมไทยต่อยอดสู่ระดับสากล 7.โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรม e-Sports และ8.โครงการเปิดเมืองเปิดท่องเที่ยวไทย ด้วยดิจิทัล 

“ประวิตร” ตรวจสถานการณ์น้ำ เมืองแปดริ้ว สั่ง ปรับปรุงเขื่อนทดน้ำบางปะกง ป้องน้ำเค็มรุก 

ที่ศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กนช.)พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามและประเมินผล มาตรการรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูฝนปี2564/2565ในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออก และแนวทางการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง 

โดยลุ่มน้ำบางปะกง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 1,571 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำปัจจุบัน 699 ล้าน ลบ.ม.ยังเพียงพอต่อการใช้ในพื้นที่ สำหรับปัญหาน้ำที่ผ่านมา มีทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง  ซึ่งกำลังได้รับการแก้ไขแล้วตามแผนงาน อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันมีปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน และภาคการเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข ต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่ง ว่า เร่งรัดการดำเนินงาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จากปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำจืดมากขึ้น ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับภาคการลงทุนอีอีซี โดยบูรณาการร่วมกับทุกส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว อย่างเป็นระบบให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเร่งรัดซ่อมแซมเขื่อนทดน้ำบางประกง ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นกลไกหลักควบคุม การป้องกันน้ำเค็มรุกให้เต็มประสิทธิภาพ และพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำและจากวิกฤตโควิด-19 ด้วย และพร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top