“ประวิตร” เรียกประชุม สถานการณ์น้ำ สั่งเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ พร้อมเร่งวางแผนแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ รวมทั้งติดตามบริหารจัดการสถานการณ์ท่วมและน้ำแล้งในภาพรวม

โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งในภาพรวมยังสามารถควบคุม โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ระหว่าง ต.ค.- ธ.ค.64 มีแนวโน้มลดลง เว้นภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากฤดูฝนที่กำลังมาถึง โดยมีโอกาสสูงในการเกิดพายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 725 ตำบล 43,495 หมู่บ้านใน 16 จว. ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำพนังกั้นน้ำและก่อสร้างทางระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 

สำหรับการบริหารจัดการนำ้ฤดูแล้ง ได้พิจารณาวางแผนจากการคาดการณ์นำ้ต้นทุน ปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน 5 จว. 9 อำเภอ 25 ตำบล มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำแล้งด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน  11 จว. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งกำหนดมาตรการรองรับ ทั้งการเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง การเติมน้ำ การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง การวางแผนเพาะปลูกพืช การเตรียมน้ำสำรองในพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ได้กล่าวแสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับ สทนช.บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศที่อาจพัฒนาก่อตัวเป็นพายุซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมทั้งให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลำน้ำสายหลักตามแผนและสถานการณ์  ทั้งนี้ให้นำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ท่วมขังนานและเกิดการเน่าเสียหวั่นกระทบสร้างปัญหาโรคระบาด  โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ขอให้ทบทวนปรับปรุงและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกัน และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงนำ้ท่วมที่เคยเกิดปัญหา เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ส่วนการบริหารจัดการน้ำแล้ง  ขอให้ สทนช.กำหนดมาตรการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค น้ำการเกษตร และด้านคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะความเค็มปนเปื้อนสูงในบางช่วงเวลา  รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมการประหยัดน้ำทุกภาคส่วน และให้ประสาน กษ.และ GIDTDA จัดให้มีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกแบบแผนที่และลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกล่วงหน้า พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน