Saturday, 20 April 2024
ประธานสภา

‘ชวน’ ปลื้ม!! สภาอยู่ครบ 4 ปี ผ่าน กม. หลายฉบับ แต่เสียดาย เริ่มทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

‘ชวน’ แถลงขอบคุณสื่อสภา นำเสนอพฤติกรรมนักการเมือง ชี้มีส่วนช่วยตัดสินใจวันกาบัตร ปลื้มผ่าน กม.หลายฉบับ เสียดายแผ่วปลายช่วงท้าย เหตุองค์ประชุมไม่ครบ เผยเริ่มต้นทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

(20 มี.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตลอดการทำงานร่วมกัน 4 ปีที่ผ่านมาว่า วันนี้คาดหมายว่าน่าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภา ดังนั้น จึงถือโอกาสนี้รายงานสถานภาพของสภาผู้แทนราษฎรให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย

นายชวนกล่าวว่า ความจริงตัวเลขของผู้แทนราษฎรชุดนี้เริ่มต้น 500 คน แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบทำให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพไป 11 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องเสียบบัตรแทนกัน 3 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 คนกรณีขอสร้างสนามฟุตซอล, มี ส.ส.พรรคต่าง ๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อมและไม่มีการเลื่อนลำดับทดแทน 4 คน, และมี ส.ส.ลาออกในช่วง 180 วัน ทำให้สมาชิกลดลงไปอีก 84 คน และเสียชีวิตในช่วงเวลานั้นอีก 1 คน ดังนั้น ในวันนี้จึงเหลือ ส.ส.อยู่ 393 คน

นายชวนกล่าวว่า ถ้าเราทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาชุดนี้ก็จะเห็นว่าเป็นชุดพิเศษที่หลังว่างเว้นให้มีการเลือกตั้งมา 5 ปี จึงเป็นเหมือนชุดที่เริ่มใหม่ สมาชิกที่เข้ามาใหม่ 500 คน ตอนเริ่มแรกนั้นจึงเป็นสมาชิกใหม่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรม ทั้งนี้ สภาชุดนี้ได้เริ่มใช้ที่ในการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นย้ายไปห้องประชุมของ TOT ต่อมาย้ายมาที่ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา และห้องประชุมสุริยันของสภา จึงไม่มีเคยมีสภาชุดไหนที่เปลี่ยนที่ประชุมมากเท่านี้ ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

“โชคดีว่าสภาขยันทำงานในช่วงต้น ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายในช่วงต้นไม่มากนักจึงไม่มีอะไรค้าง จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 เราก็หยุดการประชุมไป 1 เดือน ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีสมาชิกบางฝ่ายเสนอให้หยุดต่อเนื่องจนกว่าจะหายจากโรคระบาด แต่เราก็เชื่อว่าถ้าจะรอให้หมดการระบาดคงเป็นไปไม่ได้ เราจึงประชุมต่อเนื่องตลอดมา และชดเชยการประชุมในวันศุกร์” ประธานสภากล่าว

นายชวนกล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือเครื่องมือของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้ ดังนั้น กฎหมายของรัฐบาลจึงไม่มีฉบับใดค้างอยู่ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา แต่ในช่วงท้ายที่รัฐบาลส่งกฎหมายมาอีกหลายฉบับ แล้วก็ไม่นำองค์ประชุมมาด้วย จนตนต้องทำหนังสือถึงนายกฯ และเจ้ากระทรวงผู้เสนอกฎหมายนั้น แต่สุดท้ายองค์ประชุมก็ยังไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่สภาอยู่ได้มาจนครบ 4 ปี ซึ่งไม่ได้มีอย่างนี้ทุกครั้งไป ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่จนเกือบครบถ้วน ถ้าไม่มองช่วงปลายที่มีกฎหมายค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง และร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีการพิจารณา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เกือบจะพูดได้ว่ากฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านไปเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นช่วงปลายซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอเข้ามาใหม่และองค์ประชุมไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า ส่วนตนที่ได้นั่งเป็นประธานสภาตลอด 4 ปี ตั้งใจจะคุมสภานี้ให้ถึงที่สุด และคิดว่าสมาชิกใหม่ต้องการคำแนะนำหลายเรื่อง ซึ่งสมาชิกเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีปรากฏการณ์ใหม่ก็คือ  เรื่องการรักษาเวลาการอภิปราย ทำให้ทุกคนที่ได้อภิปราย แต่มีบางเรื่องคือพรรคที่มีเสียงมากอภิปรายไม่กี่คน ส่วนพรรคที่เสียงน้อยกลับอภิปรายมาก ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ของพรรคนั้นๆ

‘เพื่อไทย’ ยัน ไม่สร้างเงื่อนไขให้การขับเคลื่อน รบ.ติดขัด ลั่น!! ไม่คิดใช้ตำแหน่งประธานสภาฯ ต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย

 (27 พ.ค. 2566) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ออกมาระบุตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นเกมที่พรรคเพื่อไทยต้องการใช้ต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย ว่า ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยไม่คิดเอาตำแหน่งประธานสภาฯ มาเป็นเงื่อนไขต่อรองเก้าอี้ รมว.มหาดไทย เพราะเป็นคนละส่วนกัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหารที่พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคต้องมาหารือตกลงร่วมกัน โดยมีธรรมเนียมเรื่องการนำเก้าอี้ ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้มาเกลี่ยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของตัวบุคคลในภารกิจนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่จะเอาแค่เก้าอี้มาเป็นตัวชี้วัดอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคร่วมคงต้องมีการหารือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลเดินหน้าอย่างราบรื่น

“พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ ไม่คิดจะเอาตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติมาเป็นเงื่อนไขในการต่อรอง จนกระทบการทำงานของฝ่ายบริหารแน่ เพราะบ้านเมืองประสบปัญหามานาน เราต้องได้รัฐบาลที่กลมเกลียวไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ยืนยันเราไม่คิดที่จะเป็นคนสร้างเงื่อนไขให้การขับเคลื่อนรัฐบาลติดขัดแน่นอน” นายประเสริฐ กล่าว

‘สว.สมชาย’ คิดหนัก หลังเห็นรายชื่อว่าที่ประธานสภาฯ เย้ย ไร้ฝีมือ-ด้อยคุณภาพ ลั่น!! ไม่ขอเรียกท่านประธานที่เคารพ

(27 พ.ค. 66) จากกรณีกระแสข่าวการชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมนั้น ล่าสุด นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์รูปภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“555ว่าที่ท่านประธานสภาที่เคารพไม่ลง”

โดยภาพที่นายสมชายโพสต์ ระบุข้อความว่า “#คิดหนักมาก เปิดประชุมร่วมรัฐสภาฯ ดูหน้ารายชื่อว่าที่ประธานสภาที่พรรคกร้าวเสนอ ไร้ฝีมือ ด้อยคุณภาพ ไม่ขอเรียกท่านประธานสภาที่เคารพแน่นอน #กระดากปาก”

‘รศ.หริรักษ์’โพสต์ข้อความ ชวนให้คิด พรรคก้าวไกล มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr

เกี่ยวกับประเด็นที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่าประเทศสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล โดยมีใจความว่า ...

5 ปีที่แล้วหากบอกว่า สหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเมืองไทยด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จะไม่มีใครเชื่อ นอกจากไม่เชื่อแล้วยังมองว่าคนที่พูดบ้าไปแล้ว ดูหนังมากไปหรือไม่ แต่วันนี้ มีคนที่เชื่อเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน มากจนกระทั่งคุณรังสิมันต์ โรม มีความวิตก ออกมาชี้แจงและปฏิเสธว่า เป็น fake news เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะยอมให้ต่างชาติมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย คุณวิโรจน์ ลักณาอดิศรก็ตอบโต้ว่า เป็นนิทานหลอกเด็ก เป็นอุปทานหมู่

ระยะนี้ จึงมีคนถามกันมากว่า การแทรกแซงประเทศไทยโดยชาติมหาอำนาจด้วยการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งก็หมายถึงพรรคก้าวไกลให้ชนะการเลือกตั้งเพื่อได้เป็นรัฐบาล เป็นความจริงหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่

คำตอบคือ ไม่มีใครที่เป็นคนนอกบอกได้ 100% หลักฐานมีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าหลักฐานแบบจับให้มั่นคั้นให้ตายคงไม่มี แต่มีเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้นเ จนทำให้มีความน่าเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่นี้จึงจะลองรวบรวมเหตุการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆเท่าที่ทำได้ โดยจะเลือกเฉพาะที่เป็นจริงเท่านั้นมาให้ลองพิจารณากัน

1. คุณธนาธรได้ว่าจ้าง APCO Worldwide ซึ่งเป็นบริษัทลอบบี้ยิสต์ ตั้งแต่วันที่ 1 กค ถึง 31 ธค 2562 เป็นเงินประมาณ 1.8 ล้านบาท โดยบอกว่าใช้เงินส่วนตัว เพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและให้บริการด้านกลยุทธ์การสื่อสารในประเทศสหรัฐอเมริกาให้กับผู้ว่าจ้าง เพื่อให้ผู้คนในสหรัฐฯได้ตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยดียิ่งขึ้น และให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และให้บริการด้านการสื่อสารในฐานะตัวแทนของผู้ว่าจ้าง ประสานงานกับสื่อมวลชนและองค์กรในสหรัฐฯเพื่อสร้างความตระหนักมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทย

คุณธนาธร เมื่อไปสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่สำนักข่าว NBC ยกย่องสหรัฐอเมริกาและแสดง ความต้องการให้สหรัฐอเมริกาช่วยสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น และเมื่อก่อนการเลือกตั้ง 2562 คุณธนาธรเสนอความคิดเรื่องการใช้ hyperloop แทนรถไฟความเร็วสูงซึ่งขณะนั้นรัฐบาลกำลังเจรจากับจีน คุณธนาธรให้ข่าวว่าจะออกเงินเองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้(feasibility study)ของ hyperloop แต่ไม่มีใครเคยได้เห็นรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ฉบับนั้นแต่อย่างใด เมื่อมีการจัดแถลงข่าวเรื่อง hyperloop คุณธนาธรตอบคำถามนักข่าวต่างชาติว่า รัฐบาลไทยเอนเอียงไปทางจีนมากเกินไป จึงต้องการให้มีการปรับความสัมพันธ์กับต่างประเทศใหม่ ใช้คำว่า "realign"โดยให้หันไปทางประเทศอื่นเช่น สหรัฐอมเริกาและญี่ปุ่นให้มากขึ้น

2. เมื่อคุณธนาธรต้องไปรับทราบข้อกล่าวหากรณียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ที่สน.ปทุมวัน มีเจ้าหน้าที่สถานทูตจากประเทศตะวันตกหลายประเทศ ต่างไปร่วมสังเกตการณ์กันอย่างเนืองแน่น ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต

3. นาย Robert F. Godec ก่อนเดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐก่อนเดินทางมารับตำแหน่งว่า จะช่วยให้ประเทศไทยปรับปรุงในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และจะให้ไทยร่วมกดดันเมียนมาร์ด้วย เมื่อมีวุฒิสมาชิกตั้งกระทู้ถามเรื่องมาตรา 112 ที่ส่งผลถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีผู้ถูกจับกุมคุมขังมากมาย นาย Godec กล่าวว่า

"สหรัฐให้ความเคารพต่อราชวงศ์ไทย และเข้าใจในความจงรักภักดีของคนไทยต่อราชวงศ์ แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเขาเคยเน้นย้ำต่อสาธารณะและโดยส่วนตัวว่า ที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวการถูกจับกุม และจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" และยังกล่าวต่อไปว่า

" ผมขอย้ำว่า คนที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ในระหว่างการดำเนินคดี"

นอกจากนี้นาย Godec ยังกล่าวว่า จะกดดันให้ไทยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำม้นจากพม่า และจะพยายามให้ไทยเพิ่มแรงกดดันต่อพม่า เพื่อหยุดการกระทำอันเหี้ยมโหดของรัฐบาลเมียนมาร์ อีกด้วย

4. คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีช่วงท้ายที่ว่า นายกรัฐมนตรีทำลายศักยภาพของประเทศไทยในต่างประเทศเพราะไม่เข้าไปกดดันรัฐบาลเมียนมาร์ และทำลายศักยภาพของประชาชน เนื่องจากใช้มาตรา 112 ดำเนินการจับกุมคุมขังผู้ที่แสดงออกทางความคิด อันเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีของประชาชนเหล่านั้น เนื้อหาในการอภิปราย 2 ข้อนี้ตรงกับที่ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแสดงความคิดเห็นก่อนเดินทางมารับตำแหน่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน

5. เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อในประเทศไทยที่อยู่ข้างม็อบ 3 นิ้ว ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรจากต่างประเทศโดยเปิดเผย เช่น จาก NED หรือ National Endowment for Democracy, Open Society Foundation, USAID, Freedom House เป็นต้น องค์กรต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น Open Society foundation มี George Soros เป็นผู้ก่อตั้ง NED เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่เดิมการให้การสนับสนุนทั้งเงิน และการสนับสนุนแบบอื่นๆให้แก่กลุ่มต่างๆในต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ national interest ของสหรัฐอเมริกา จะกระทำอย่างลับๆโดย Central Intelligent Agency หรือ CIA แต่ในสมัยประธานาธิบดี Lyndon B Johnson ต้องการให้เป็นการสนับสนุนอย่างเปิดเผย จึงให้จัดตั้ง NED ขึ้นให้เป็นองค์กรเอกชนเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและการเติบโตของสถาบันทางประชาธิปไตยทั่วโลก

6. คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเชิญไปพูดในการประชุมที่เรียกว่า Oslo Freedom Forum ที่ไต้หวัน ซึ่งคุณธนาธรได้เลือกที่จะพูดในหัวข้อ

"Why we must defend democracy" หรือทำไมเราต้องปกป้องประชาธิปไตย

Oslo Freedom Forum คือที่ประชุมที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่ Oslo เพื่อเป็นที่รวมตัวกันของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และนักประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้กับเผด็จการ หลังจากนั้นก็ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ไต้หวัน

ผู้จัดการประชุม Oslo Freedom Forum คือมูลนิธิสิทธิมนุษยชน( Human Rights Foundation) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ New York สหรัฐอเมริกา

แหล่งเงินทุนที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิสิทธิมนุษยชน มาจากทั้งภาคเอกชน เช่น Twitter และ Amazon เป็นต้น และยังมาจากองค์กรที่เรียกว่า Freedom Fund ซึ่งหากค้นลึกลงไปก็จะพบว่าองค์กรแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลอังกฤษ นั่นเอง

Oslo Freedom Forum ไม่ใช่เพียงจัดประชุมปีละครั้ง แต่ยังจัดกิจกรรมต่างๆระหว่างปีด้วย หนึ่งในกิจกรรมก็คือ จัดอบรมวิธีการทำปฏิวัติ(ไม่ใช่รัฐประหาร) และการจัดการชุมนุม หรือจัดม็อบ การรับมือกับตำรวจควบคุมฝูงชนให้กับนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลจากประเทศต่างๆ นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงที่ชื่อนาย โจชัว หว่อง ก็เคยเข้ารับอบรมดังกล่าวนี้

การประชุมครั้งนี้ที่ไต้หวัน ยังได้มีการนำภาพของผู้นำของประเทศที่ถูกคนกลุ่มนี้ตราหน้าว่าเป็นเผด็จการมาติดผนังไว้ให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมเขียนอะไรก็ได้บนภาพของผู้นำเหล่านี้

7. เมื่อมีการชุมประท้วงรัฐบาลประเทศอิหร่าน คุณธนาธรออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนผู้ประท้วง จนสถานทูตอิหร่านต้องโพสต์ข้อความเตือนคุณธนาธร แต่คุณธนาธรไม่เคยออกมาแสดงความเห็นต่อต้านอิสราเอล กรณีปาเลสไตน์เลยสักครั้ง

8. ม็อบชานม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของม็อบ 3 นิ้ว เชียร์ไต้หวัน ฮ่องกง และอุยกูร์ ชัดแจ้งว่าต่อต้านจีน แต่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา

9. Dr. Agnes Callamard เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากลหรือ Amnesty International ชาวฝรั่งเศสมาเมืองไทย ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และได้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับประเทศไทย เนื้อความที่สำคัญที่ Dr. Callamard กล่าวคือ

"ช่วงสำคัญของการมาเมืองไทยครั้งนี้ คือการพบกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง พวกเขาต้องการสร้างประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นธรรม แต่เมื่อได้ถามว่า พวกเขาได้มองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร เขาตอบว่า 'ไม่มีอนาคคสำหรับเราที่นี่' นั่นทำให้ดิฉันมีความกังวลอย่างมาก และคิดว่า ผู้นำประเทศควรมีความห่วงใยอย่างมาก เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีความรู้สึกว่า พวกเขาไม่มีอนาคตก็เพราะการถูกปราบปราม ความไม่เท่าเทียมกัน การทุจริตคอรัปชั่นและความไม่ยุติธรรม และสิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง"

"เด็กๆและเยาวชนเป็นร้อยๆ รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กำลังเผชิญกับการถูกดำเนินคดีทางอาญาในประเทศไทย เพียงเพราะการใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติ จำนวนมากถูกลลิดรอนสิทธิเสรีภาพและอาจต้องเผชิญกับการถูกบันทึกลงประวัติอาชญากร รวมถึงเด็กอายุ 15 ปี ที่ยังคงถูกคุมตัวอยู่ในสถานพินิจมาเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์แล้ว"

เนื้อความเหล่านี้ล้วนสอดคล้องและเป็นชุดความคิดเดียวกันกับม็อบ 3 นิ้ว และพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น

10. สว.สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เชิญเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริการประจำประเทศไทย นาย Robert F. Godec และคณะเข้าหารือที่วุฒิสภา กรณีมีคนไทยกลุ่มหนึ่งส่งเอกสารถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งเป็นผลให้วุฒิสมาชิกกลุ่มนี้เคลื่อนไหวเพื่อยื่นเรื่องให้วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาออกมติที่ 114 ซึ่งมีเนื้อหาข่มขู่ กล่าวหา สถาบันพระมหากษัตริย์ว่า แทรกแซงการเลือกตั้งทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ตลอดจนเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 หากไม่ทำตามก็จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา สว.สมชายพยายามชี้แจงให้ นาย Godec ว่าข้อมูลทั้งหมดที่คนไทยกลุ่มนั้นส่งไปไม่เป็นความจริง

กรณีนี้ ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่คนไทยกลุ่มหนึ่ง อยู่ดีๆก็ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา และวุฒิสมาชิกกลุ่มนี้ก็รับลูกไปดำเนินการต่อ โดยไม่มีการนัดแนะประสานกันล่วงหน้ามาก่อน

11. คุณพรรณิการ์ วาณิช กล่าวถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ว่า มีที่มาเป็นเผด็จการ ไม่สามารถเข้าคลับของประเทศตะวันตกได้ ได้แต่คบกับรัสเซีย จีน และซาอุดิอเรเบีย ที่มีที่มาคล้ายๆกัน รัฐบาลไทยจะต้องสร้างสมดุล โดยหันไปทางประเทศประชาธิปไตยให้มากขึ้น

12. นาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แสดงความสนใจ และความกระตือรือล้นต่อผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างออกนอกหน้า โดยไม่มีสถานทูตประเทศอื่นๆแม้แต่แห่งเดียวที่แสดงออกเช่นนาย Godec

13. ทันทีที่ทราบผลการเลือกตั้ง คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โพสต์ข้อความใน social media เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข และให้สัมภาษณ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ว่า ไม่มีจุดยืน เป็นไผ่ลู่ลม ทำให้ไม่มีที่ยืนในเวทีโลก หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะทวงคืนศักดิ์ศรีการต่างประเทศไทย และยืนยันว่าตนเองกดดันให้ประเทศเมียนม่าร์กลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องการ ทั้งที่หลักการสำคัญของอาเซียนคือ การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน

14. คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบจาก John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งสอนทางด้าน Public Policy, Public Administration เป็นสถาบันที่ปลูกฝังความเชื่ออย่างที่สหรัฐอเมริกาต้องการ ผู้ที่จบจากที่นี่ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก และในระบอบทุนนิยม เสรีนิยม

โรงเรียนนี้มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับ World Economic Forum ซึ่งเป็น elite group ก่อตั้งโดยนาย Klaus Schwab มีสมาชิกประกอบด้วย นักการเมือง กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศต่างๆ ว่ากันว่าองค์กรนี้มีความพยายามที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของโลก คำว่า "New World Order" ก็เกิดขึ้นจากกล่ม elite กลุ่มนี้ และหลังจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย ยังมีคำว่า " The Great Reset" ออกมาอีกซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะ reset อย่างไร

นาย Schwab ยังได้ก่อตั้งหลักสูตรอบรมที่เรียกว่า Young Global Leaders ผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้จำนวนมาก ได้ไปมีบทบาทเป็นผู้นำรัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลก นาย Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของ Canada และอีกหลายคนในคณะรัฐมนตรี ก็ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรนี้ และจาก John F. Kennedy School of Government ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะดำเนินนโยบายเอนเอียงไปทางสหรัฐอเมริกาอย่างมาก

จะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งไม่กี่วัน พรรคก้าวไกลยังไม่ทันได้เป็นรัฐบาล World Economic Forum ก็ส่งคณะผู้แทนเข้าพบคุณพิธา และเป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อตะวันตก เช่น BBC Bloomberg Insider ต่างเผยแพร่ข่าวเชียร์คุณพิธาอย่างออกหน้าออกตา เห็นแล้วทำให้รู้สึกว่า ประเทศตะวันตกมึความพอใจที่จะได้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย มากกว่าคุณธนาธรเสียอีก ทำให้ขณะนี้คุณพิธามีความเจิดจรัสบดบังรัศมีของคุณธนาธร และอ.ปิยบุตรไปเกือบหมด

ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงต่างที่พอรวบรวมได้ ที่ทำให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า ประเทศตะวันตก ไม่เพียงแต่สหรัฐอเมริกา กำลังแทรกแซงการเมืองไทย

เรื่องนี้หากไปถาม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่คร่ำหวอด ติดตาม และทำข่าวต่างประเทศมาอย่าวยาวนาน เขาจะตอบว่า ไม่น่าแปลกใจ และมีความเป็นไปได้สูง เพราะเขาทราบดีว่า สหรัฐอเมริกาแทรกแซงประเทศต่างๆในโลกมาแล้วมากมาย เช่น นิคารากัว อิรัก อัฟกานิสถาน ลิเบีย ซีเรีย และอีกหลายประเทศในอาฟริกา

ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับประเทศจีนอย่างเปิดเผย และในทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างยิ่ง ทำให้สหรัฐอยากได้ไทยเป็นพวก ความจริงข้อนี้สามารถไปหาอ่านได้ในเอกสาร Indo-pacific Strategy ได้

การสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ที่ใช้เงินเกือบหมื่นล้านบาท มีชั้นที่อยู่ใต้ดินอีก 10 ชั้นต้องมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่เกี่ยวกับเมียนม่าร์และจีนที่เปิดเผยไม่ได้อย่างแน่นอน

ที่เมียนม่าร์ มีข่าวและรูปถ่ายเล็ดรอดออกมาว่า สหรัฐส่งอาวุธและคนไปฝึกอาวุธให้ชนกลุ่มน้อยและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนม่าร์อย่างลับๆ เพื่อรบกับฝ่ายรัฐบาล เมื่อมีข่าวนี้ออกมา สหรัฐชี้แจงว่าผู้ที่ไปฝึกอาวุธเป็นอดีตนาวิกโยธิน จึงไม่เกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐแต่อย่างใด แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราก็คงคาดเดาได้ ดังนั้นจึงเชื่อได้อย่างยิ่ง ที่สหรัฐจะมีความต้องการที่จะเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเช่นเดียวกับที่ประเทศ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์

คำถามคือ หากคุณพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 2 เดือนข้างหน้า คุณพิธาจะทำตัวเป็นลูกรักของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ และจะยินยอมให้สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยหรือไม่

เราต้องติดตามดูต่อไป

เกมยากของ ‘พิธา’ – ‘ก้าวไกล’  เมื่อเจอกับด่านความมั่นคงสูง เขาจะค้ำถ่อพ้นไปหรือเปล่า

ก้าวไกล-พิธา ต้องฝ่า 3 ด่าน ที่เป็นปราการใหญ่ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-จุดยืนในการแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่าด้วยการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดทางให้วิจารณ์สถาบันได้มากขึ้น ลดโทษจำคุก-ปรับ ให้สถาบันฟ้องเอง ก้าวไกลมีจุดยืนชัดว่า จะแก้ไข ม.112 แต่พรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย จึงไม่มีข้อตกใน mou ก้าวไกลก็ยืนยันจะแก้ผ่านกลไกของสภา
-การขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา ที่พรรคก้าวไกลดิ้นรนจะปิดสวิทต์เขามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ต้องขอรับการสนับสนุนผ่านการเจรจา-พูดคุย-แลกเปลี่ยน ไม่ใช่ใช้มวลชนไปกดดันเหมือนที่ผ่านมา เวลานี้สมาชิกวุฒิสภาบางคนท่าทีชัดว่า จะไม่ยกมือสนับสนุน บางคนก็จะยกมือให้ บางคนจะยกมือสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข

-การถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42000 หุ้น ไอทีวียังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ในการจดตั้งอยู่ ต้องแยกให้ออกนะครับระหว่างบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับสถานีข่าวไอทีวี สถานีข่าวไอทีวี หยุดเผยแพร่ภาพไปแล้ว แต่บริษัทไอทีวี ยังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์อยู่ มีกำไรด้วย พิธาอ้างว่า เป็นหุ้นในมรดก เขาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้รู้ก็โต้แย้งว่า ถ้าเป็นหุ้นในกองมรดก ในใบหุ้นต้องสลักหลังชื่อไว้ด้วย “มรดก” แต่ใบหุ้นไอทีวีของพิธา ไม่มีการใส่วงเล็บไว้หลังชื่อ

นี้เป็นปราการ 3 ด่านที่พิธาจะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ส่วนตำแหน่งประธานสภาจะเป็นของใครพิธาส่งสัญญาณมาแล้วว่า เป็นเรื่องเล็ก ให้ไปคุยกันในวงคณะทำงาน จะเป็นของก้าวไกล หรือเพื่อไทยให้จบในวงคณะทำงาน

ด่านต่อไปคือ การจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายบริหาร คือตำแหน่งรัฐมนตรี ทีมีการคำนวณออกมาแล้วว่า 8.6 ส.ส.ต่อรัฐมนตรี 1 คน แล้วอย่างนี้แสดงว่าพรรคเล็ก 1-2 เก้าอี้จะไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ หรือมีตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆให้ เป็นประจำสำนักนายกฯ หรือไปกินตำแหน่งในสัดส่วนของสภา เป็นตำแหน่งในกรรมาธิการคณะต่างๆ 

ด่านต่อไป คือการยกร่างนโยบายรัฐบาลที่จะต้องแถลงต่อสภา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะทำงานจะต้องไปนั่งถกแถลงกันให้ตกผลึก นโยบายของแต่ละพรรคที่จะใส่เข้าไปมีอะไรบ้าง พรรคร่วมฯว่าอย่างไร แล้วเขียนมาเป็นนโยบายรัฐบาล

จะเห็นว่า”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมีอีกหลายด่าน หลายปราการในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก้าวไกลไม่ได้ชนะขาดพรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องอาศัยแรงจากพรรคอื่นๆด้วย และแรงจากพรรคอื่นกลับเป็นพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงรองเป็นอันดับสอง จึงทำให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองสูงมาก ยิ่งสูงมากขึ้น เมื่อพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพราะพรรคก้าวไกลประกาศเอง “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” เท่ากับปปฏิเสธสองพรรคนี้ตั้งแต่ก่อนลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง 25 เสียง เป็นแค่ตัวแปรเล็กๆที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก เว้นแต่นักแสวงหาบางคน อาจจะดิ้นรนนำพาไปสู่การแสวงหาอำนาจ แต่ก็ยากจำสำเร็จ เว้นแต่ดีลระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยเดินต่อไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ค่อยมาพูดกัน เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง ถ้ารับรองได้ครบ 95% ก็สามารถเปิดประชุมสภา เลือกประธานสภาได้ ส่วนใน 60 วันจะพิจารณา และรับรองผลการเลือกตั้งได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนในการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครที่มีคะแนนนำมาอันดับ 1 รวมถึงความยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวน พยานหลักฐานในการร้องเรียน จะมี “ใบแดง-ใบเหลือง-ใบส้ม” ก็มากน้อย
ใบส้ม-ใบเหลือง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใบส้มจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ผู้สมัครคนเดิม ไม่ต้องเปิดสมัครใหม่ แต่คนที่โดนใบส้มจะหมดสิทธิ์ลงสมัครแล้ว ส่วนใบเหลือง ก็ไม่ต้องเปิดรับสมัครใหม่เช่นกัน แต่ผู้สมัครที่โดนใบเหลือง ยังมีสิทธ์เป็นผู้สมัครอยู่

ส่วนใบแดง เป็นการตัดสิทธิ์ของผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมาย ผ่านการพิจารณาตัดสินของศาล ถ้าเขตเลือกตั้งใดโดยใบแดง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเปิดรับสมัครใหม่ แต่คนเก่าที่โดยใบแดงหมดสิทธิ์ลงสมัครแล้ว

เวลานี้การพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆอยู่ในขั้นการสอบสวนของชุดสอบสวนของ กกต.จังหวัด จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนมีมากน้อยแค่ไหน พยานหลักฐานเป็นอย่างไร ข้อร้องเรียนยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ และ 60 วันจะทันต่อการรับรองให้ครบ 95% หรือไม่
ถึงเวลานี้ยังไม่มีอะไรแพลมออกมาจาก กกต.ถึงข้อร้องเรียน ผลการพิจารณา แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่ามีข้อร้องเรียนมาก เช่น จัดเลี้ยง สัญญาว่าจะให้ ซื้อเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับคอการเมืองติดตามกระชั้นชิดสำหรับการเมืองในช่วงนี้ กระพริบตาเกมเปลี่ยน ตามไม่ทัน

นายหัวไทร

‘วันนอร์’ เผย ไม่กังวลหากประธานสภาอายุน้อย-อ่อนพรรษา เชื่อ!! ‘ก้าวไกล-พท.’ คัดคนมีความสามารถนั่ง ปธ.สภา ได้

วันที่ (20 มิ.ย. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ เข้ารับหนังสือรับรอง ส.ส.จาก กกต. พร้อมกล่าวว่า ขอบคุณ กกต.ที่เร่งประกาศรับรอง ส.ส.ก่อน 60 วัน สำหรับการทำงานของ 8 พรรคร่วม ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการต่างๆ นั้น ได้เตรียมการในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปมากแล้ว เพื่อเตรียมกำหนดนโยบายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหลายด้าน ส่วนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภานั้น เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่จะต้องไปตกลงกัน หลังจากนั้น จึงจะต้องพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อรับทราบต่อไป

ส่วนพรรคไหนจะได้เป็นประธานสภาและรองประธานสภานั้น ทั้ง 2 พรรคคงมีตัวบุคคลแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะคัดคนที่เข้ามาทำงานเป็นอย่างดี เพราะประธานสภาต้องเป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งประธานสภาเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้งานของสภาคืบหน้าไปด้วยดี ซึ่งมีงานอีกมากมายในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานสภาที่เป็นผู้นำ จะดำเนินการให้รวดเร็วได้อย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นประชาธิปไตยตามที่ประชาชนต้องการ เชื่อว่าทั้งสองพรรคคงจะคุยเพื่อหาคนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่จะนำฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้าคนที่จะเป็นประธานสภาอ่อนพรรษาจะเป็นปัญหาในการควบคุมที่ประชุมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อ่อนพรรษาหรือแก่พรรษา ประธานสภาคงจะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก เพราะอยู่ที่บุคลิกของคนนั้นๆ ที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งคนที่จะเป็นประธานสภาทุกคนจะต้องศึกษาข้อบังคับกฎหมายอย่างแม่นยำ และตัดสินบนพื้นฐานในการให้โอกาสสมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันจะต้องรักษาข้อบังคับของสภาฯ ด้วย โดยครั้งหนึ่งนายอุทัย พิมพ์ใจชน เคยเป็นประธานที่มีอายุแค่ 30 กว่าปี ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงโผคณะรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คงจะต้องพูดกันเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากที่พูดเรื่องประธานสภาจบแล้ว ซึ่งจะต้องจัดตำแหน่งให้ลงตัวเหมาะสมกับกระทรวง และเหมาะสมกับนโยบายที่ 8 พรรคจะมีเพื่อให้ตำแหน่งนั้นทำงานได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อถามอีกว่า พรรคประชาชาติมองกระทรวงไหนไว้แล้วบ้าง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็ก จะต้องหารือกัน ทั้งนี้ เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่เราสามารถขับเคลื่อน ในสิ่งที่เราเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งเราเข้าไปทำงานไม่ได้ไปหาผลประโยชน์แต่อย่างใด
 

‘บิ๊กป้อม’ ใจบันดาลแรงแซงโค้ง นับถอยหลัง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ แยกทาง!!?

ไทม์ไลน์การเมืองหลังการรายงานตัวของ ส.ส. 500 คนจะเรียบร้อยในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ จากนั้นนับไปอีก 15 วัน เป็นรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา คือวันที่ 3 หรือ 4 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ถัดไปก็จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาฯ ซึ่งประธานสภาฯจะเป็นประธานรัฐสภา แบบเดียวกับท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนล่าสุดนั่นแล…

วันสองวันก่อนดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยยอมหมอบยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกลไปแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นขอเก้าอี้รองประธานสภา 2 ตัว…

แต่ล่าสุดของล่าสุด กระแสข่าวที่ว่า ‘พ่อมดดำ’ นายสุชาติ ตันเจริญ จากค่ายเพื่อไทยจะถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐก็มาแรงหาทางแซงทางโค้งอยู่เหมือนกัน ไม่สามารถมองข้ามได้…

เรียนท่านผู้อ่าน คุณผู้ฟังว่าพรรคเพื่อไทยในยามนี้นั้น ความคิดแตกเป็นสองสามแนวทางประสาพรรคการเมืองขาลง แต่กระนั้นที่ทุกคนในพรรคเห็นเหมือนกันก็คือ ต้องหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกฯ พรรคก้าวไกลให้สุดทาง เพราะแทบทุกคนเชื่อว่าโอกาสที่นายพิธาจะผ่านโหวตได้เป็นนายกฯ นั้นมีน้อยนิด ประมาณ 0.035 เปอร์เซ็นต์ เท่าหุ้นไอทีวีที่นายพิธาเคยถือเท่านั้น…

แต่สำหรับเก้าอี้ประธานสภาฯ คนเพื่อไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า ต้องเล่นบท ‘นักเลง’ เอาใจ ‘ด้อมส้ม’ รักษามวลชนหน่อย… ให้ก้าวไกลเอาไป แต่อีกพวกหนึ่งยืนยันว่า ปล่อยไม่ได้ เพราะเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติสำคัญ ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับฝ่ายบริหาร ซึ่งในที่สุดพรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกลอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาขาใหญ่เก๋าเกมในพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า เมื่อนายพิธาวืดเก้าอี้นายกฯ ไปแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันว่า ‘อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร’ หรือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ เพราะตราบใดที่ยังกอดคอกับ 8 พรรค ก็มีอยู่แค่ 312 เสียง… โอกาสที่เกมการเมืองจะไถลไปเข้าทางพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ ‘ลุงป้อม’ มีสูงมาก ดังที่เล็ก เลียบด่วน ได้เคยรายงานไว้แล้วหลายครั้ง ซึ่งถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังเป็นเช่นนั้น…

สรุปว่า เก้าอี้ประธานสภาโอกาสที่จะพลิกเป็นของ ‘พ่อมดดำ’ แห่งพรรคเพื่อไทยมีสูงยิ่ง และถ้า ‘บิ๊กป้อม’ ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ขณะที่นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภา อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยก็ไม่เสียฟอร์มพรรค 141 เสียง เพราะยังมีเก้าอี้ใหญ่ติดพรรค แต่หากยกเก้าอี้ประธานสภาให้ก้าวไกล โอกาสที่เพื่อไทยจะวืดเก้าอี้ใหญ่ทั้งสองตัวก็มีสูง…

ด้วยเหตุผลดังว่ามา… การเมืองจากนี้ไป พรรคเพื่อไทยก็ต้องฟังเสียงรอบทิศจากมวลสมาชิกมากขึ้น แม้กระทั่งกรณีเก้าอี้นายกฯ วันไหนที่นายพิธาสอบไม่ผ่าน พรรคเพื่อไทยจะเดินเกมอย่างไร? จะผูกขากับพรรคก้าวไกลต่อไป หรือเปิดทางให้พรรคพลังประชารัฐของ ‘ลุงป้อม’ เข้ามาทันทีทันใด หรือจะต่อรองเดินเกมอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจับตายิ่ง…

ประมาณกันว่าแถวๆ วันที่ 5 หรือ 6 ก.ค.นี้ บรรดา ส.ส. 500 คน จะโหวตเลือกประธานสภา ซึ่งจะเป็นการโหวตลับ จากนั้นประมาณวันที่ 13 ก.ค. สมาชิกรัฐสภา 750 คนจะโหวตเลือกนายกฯ ไม่ผิดที่กล่าวกันว่า พลันที่รู้ตัวประธานสภา ก็จะเห็นโฉมหน้านายกฯและรัฐบาลชุดต่อไป…

เพื่อให้เกิดอรรถรส… เล็ก เลียบด่วน เขียน 3 สูตร รัฐบาลแปะข้างฝาไว้ให้เม้าท์มอยกัน

สูตรแรก : พรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วย เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา… ‘บิ๊กป้อม’ หรือ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ

สูตรที่สอง : 8 พรรคที่กำลังฟอร์มทีม บวกพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์… สูตรนี้ไม่มี ‘ภูมิใจไทย’ บิ๊กป้อมเป็นนายกฯ… สูตรนี้ก้าวไกลต้องยอมเสียสัตย์เพื่ออยู่กับลุง

สูตรที่สาม : พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ เป็นแกนนำผสมกับอีกหลายพรรค โดยพรรคก้าวไกลแยกทางกับเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้าน… สูตรนี้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นนายกฯ

ทั้งสามสูตรจะเห็นชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ มีลุ้น… ถ้าสุขภาพไม่ไหวก็อาจจะใช้นโยบาย ‘นายกฯ คนละครึ่ง’ แต่ถ้าไหวก็ตีตั๋วยาว สังเกตดีๆ วันที่ไปรายงานตัวเป็น ส.ส.ป้ายแดง จะเห็นลุงป้อมเดินปร๋อแบบ ‘ใจบันดาลแรง’ อีกครั้ง… ก่อนที่จะบินไปอังกฤษ พักผ่อน ดูแลสุขภาพ

ส่วนจะไปพูดคุยกันเรื่อง ‘ดีลลับ’ กับใครหรือไม่… เสาร์นี้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะมารายงานครับ

‘ป้อม-สุชาติ’ เต็งหามสองผู้นำ ‘อภิสิทธิ์’ รอสัญญาณฉันทามติ คัมแบ็ค ปชป..

เลียบการเมือง สุดสัปดาห์..”เล็ก  เลียบด่วน”  รายงานตัว ณ วันที่ 24 มิ.ย.2566  ตรงกับวันครบรอบ 91 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...จริงๆแล้วคณะราษฎรอยู่ในอำนาจในห้วงปี 2475 -2500 รวม 25 ปี..ข้อดีก็มีไม่น้อย แต่ข้อด้อยข้อผิดพลาดก็มีมาก..อย่างน้อยก็เป็นต้นตำรับของการรัฐประหารชิงอำนาจ...แต่ข้อไม่ดีของคณะราษฎรไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักในยุคนี้เพราะกลัวรถทัวร์สามนิ้วมาจอดหน้าบ้าน...

เลี้ยวมาสู่การเมืองเรื่อง...ไทม์ไลน์การชิงอำนาจผ่านตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี..คาดว่าวันที่ 3 ก.ค.จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา  จากนั้นวันที่ 4หรือ5ไม่เกินวันที่ 6 ก.ค.ก็จะโหวตลับเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร  ก่อนที่ประมาณวันที่ 13 ก.ค.ก็จะประฃุมรัฐสภา  โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี...

ตำแหน่งประธานสภาหากว่ากันในนาทีนี้ก็พอจะเห็นเค้าชัดเจนว่า...ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็คว้าไปครอง โดยชื่อของสุชาติ  ตันเจริญ   ยังเป็นเต็งหนึ่ง...การหักเหลี่ยมโหดตำแหน่งประธานสภา จะ เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ทางแยกของพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล...แม้หลังจากเลือกประธานสภาแล้วพรรคเพื่อไทยจะทนุถนอมประคับประคองโหวตหนุนพิธาเป็นนายกฯแบบเต็มแม็กซ์  แต่เชื่อว่า”พิธา”ก็ไม่ผ่านโหวตอยู่ดี...

ถึงนาทีนั้นพรรคก้าวไกลเจอกับโจทย์ใหญ่ว่าจะเดินหน้ายังไงต่อไป  เกาะขาพรรคเพื่อไทยขอเข้าร่วมรัฐบาล  หรือประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน...ถ้าให้”เล็ก เลียบด่วน” ฟันธงก็ต้องเปรี้ยงว่า คงเลือกหนทางเป็นฝ่ายค้าน...บางกระแสข่าวบอกว่าดีไม่ดีพรรคก้าวไกลอาจประกาศแยกทางชักธงรบเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ถูกหักเหลี่ยมเก้าอี้ประธานสภาสภาฯแล้วก็ได้...

สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...นาทีนี้เต็งจ๋ายังเป็น “บิ๊กป้อม”  พล.อ.ประวิตร  วงศ์สุวรรณ    ที่จะมากอบกู้เผชิญหน้าสถานการณ์การชุมนุมการต่อต้านรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่แล้วเสร็จ

โดยรัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทยในฐานะมีเสียงสูงสุดก็คงจะได้กระทรวงสำคัญไปบริหารสร้างผลงานเพื่อขับเคี่ยวกับพรรคก้าวไกลในสมัยหน้า...ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า..พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะเจรจาต่อรองขอ “นายกฯคนละครึ่ง” หรือคนละ2ปีกับพล.อ.ประวิตรด้วย...

ปืดท้ายกันที่พรรคเก่าแก่ที่สุด อายุ 77 ปี 2เดือนเศษ อย่างประชาธิปัตย์..นับถอยหลังวันที่ 9 ก.ค.ก็จะเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดรักษาการที่ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   แสดงสปิริตลาออกหลังนำทัพพ่ายศึกเลือกตั้ง  จาก 52 เสียงเหลือ 25 เสียง...สาละวันเตี้ยลง สาละวันตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ....ซึ่งเมื่อไปดูกติกามารยาทการเลือกหัวหน้าพรรคของพรรคนี้แล้ว  จากบรรดาโหวตเตอร์10กว่ากลุ่มนั้น  พบว่ากลุ่มส.ส.ในปัจจุบัน 25 คนมีน้ำหนักโหวตสูงสุด  70 %  อีกสิบกว่ากลุ่มโหวตยังไงก็ได้ไม่เกิน 30 %...แน่ชัดตามกติกานี้อิทธิพลและอำนาจชี้เป็นชี้ตายอยู่ที่สองผู้ยิ่งใหญ่ เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รักษาการเลขาธิการพรรคที่จะไม่รับตำแหน่งอะไรอีกนอกจากผู้มีบารมีในพรรค  กับอีกคนคือ เดชอิศม์  ขาวทอง   หรือ”นายกฯชาย” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้  ที่หุ้นกำลังพุ่งกระฉูดเป็นหนึ่งในตัวเต็งหัวหน้าพรรค และเป็นคนประกาศว่า..ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเปลี่ยนแปลง 360 องศา..

ต้องบอกว่านาทีนี้เป็นยุคที่ประชาธิปัตย์หาวีรบุรุษหรือวีรสตรียากมากถึงยากที่สุด...”ดร.เอ้” หรือ “มาดามเดียร์” ที่พูดๆถึงกันนั้นก็ยังขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค  ถึงจะมีข้อยกเว้นแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่า สองคนนี้ต้องเป็นคิวต่อไป...ดังนั้น...กระแสในพรรคประชาธิปัตย์อีกด้านหนึ่งขณะนี้เรียกร้องให้ อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี  ออกมากอบกู้พรรค  แต่อภิสิทธิ์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ  กระนั้นก็เดาได้ไม่ยากว่า..อภิสิทธิ์คงพร้อมมาช่วยพรรคแต่ต้องเป็นแบบกึ่งฉันทามติ...ไม่ต้องมาแข่งกันแบบเลือดเดือดเหมือนครั้งก่อนๆ..ซึ่งหลายฝ่ายก็น่าจะเห็นด้วยกับสูตรนี้...
0 ถ้าที่สุดหวยงวดวันที่ 9 ก.ค.ออกมาว่า..อภิสิทธิ์ –หัวหน้า , เดชอิศม์ –เลขาฯ  ก็น่าจะทำให้ลูกพระแม่ธรณีสดชื่นขึ้นมาไม่น้อย..!!

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

‘พรเพชร’ เชื่อ ไม่เลื่อนวันโหวตประธานสภาฯ 4 ก.ค. คาดใช้เวลาไม่นาน ชี้ลงมติเลือกนายกฯ เสียง ส.ว. ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

วันที่ 26 มิ.ย. 2566 – ที่วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 3 ก.ค. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เวลา 17.00 น. โดยมี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ส.ส. และ ส.ว. สำหรับความพร้อมตนได้ลงพื้นที่ตรวจดูความเรียบร้อยแล้ว จะเป็นห่วงแค่แม้จะเป็นห้องโถงใหญ่ แต่เนื่องจากจะมีผู้เข้ามาร่วมจำนวนมาก เกรงว่าที่จะคับแคบ แต่คิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และกำชับส่วนต่างๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ส่วนการรายงานตัว ส.ส. ทราบใกล้จะครบแล้ว และจะประสานไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะในวันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เวลา 09.00 – 09.30 น. สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตประธานสภาฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยจะเป็นการประชุมลับและลงมติลับ ส่วนวิธีการโหวตทำได้ 2 แบบ โดยแบบแรก คือการกดปุ่มแสดงตน แต่วิธีนี้สามารถค้นหาย้อนหลังได้ว่าใครเลือกใคร ส่วนวิธีที่ 2 เป็นการหย่อนบัตร ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ต้องดูว่าเขาจะใช้วิธีไหน

เมื่อถามว่า วันโหวตเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี จะมีการเลื่อนวันอีกหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ดุลพินิจของตน ตนไม่มีดุลพินิจที่จะไปสั่งการอะไรทั้งสิ้น ถ้าสภาฯ พร้อมเมื่อไหร่ก็จะมีการแจ้งมา และก็จะดำเนินการ ทั้งนี้ การโหวตเลือกประธานสภาฯ ยังเป็นวันที่ 4 ก.ค. ยกเว้นหัวหน้าพรรคต่างๆ ไปตกลงกันใหม่ร่วมกัน อาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่ขณะนี้เชื่อว่าจะไม่เปลี่ยน และวันนั้นจะมีการโหวตเลือกรองประธานสภาฯ 2 คนด้วย

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คุณสมบัติของประธานสภาฯ ตนไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้ว่า เป็นคนอายุน้อยหรือเป็นคนอายุมากที่มีประสบการณ์ เพราะการเลือกประธานสภาแต่ละครั้งมีเหตุผลต่างกัน แต่หลักที่ปฏิบัติกันมาตามปกติประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่บางครั้งก็ไม่เป็น แต่มันก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งเขาก็ต้องอธิบายได้

เมื่อถามว่า ทิศทางการโหวตนายกฯ ของ ส.ว. เสียงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า พูดได้เลยว่าไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรอก ตนไม่ทราบว่าใครคิดยังไง เขามีความคิดของเขา แต่ละคนมีเหตุผลและวุฒิภาวะ เลือกที่จะตอบได้ว่าทำไมถึงเลือกและทำไมถึงไม่เลือกในการออกเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มาพูดคุยด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ได้มาพูดคุย เพราะท่านทราบดีว่าตนต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ซึ่งไม่มีพรรคไหนมาคุยกับตน เพราะพวกเขาทราบว่าตนต้องทำหน้าที่อย่างไร

ส่วนวันโหวตนายกฯจะเรียบร้อยหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไรไม่เรียบร้อย แต่อาจจะมีความวุ่นวายในช่วงการอภิปราย ก็คิดว่าทุกท่านก็คงเข้าใจว่าต้องใช้สิทธิ์อยู่ในกรอบในการอภิปรายหรือการชี้แจงตามขอบเขต ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรวุ่นวาย

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทาง ส.ว. จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นายพรเพชร กล่าวว่า ไปทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ตนคิดเอาเองอาจจะมีการซักถาม หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯที่จะดูแลเรื่องความเรียบร้อย
สำหรับคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นนายกฯ นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า เลือกคนดีคนเก่ง นี่เป็นหลักอย่างหนึ่ง ดีและเก่งสามารถนำพาประเทศชาติ ให้มีความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ตนย้ำมาโดยตลอดขอให้ ส.ว. ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญต้องคำนึงถึงประเทศชาติ

เมื่อถามว่า สังคมกดดันให้เลือกนายกฯ จากฝั่งรัฐบาลเสียงข้างมาก นายพรเพชร ถามกลับว่า สังคมหมายถึงใคร ผู้สื่อข่าวบอกว่า พรรคที่มีประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 นายพรเพชร กล่าวว่า ก็คงเป็นธรรมดาที่ประชาชนอยากให้พรรคที่เลือกได้สมประสงค์ แต่ก็ขอให้อยู่ในขอบเขต

‘ชวน’ เตือนสติ ปมขัดแย้งชิง ประธานสภาฯ ยึดตามอำเภอใจ ปัญหาไม่จบ แนะ ก้าวไกล-เพื่อไทย ให้หารือกันใกล้ชิด

28 มิ.ย. 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปีก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภา จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีกรณีประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ที่ผ่านมาพบว่าพรรคที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน ตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภา

เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรค ขณะที่มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่เที่ยวนี้ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

ต่อข้อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภา ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้

ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภา ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ประธานสภาจะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหานั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภา

“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรองกัน เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว

สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่าประธานสภาบันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน เขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก

“ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจทุกอย่าง ที่ผ่านมาการตั้งประธานสภา ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงสเปกประธานสภาว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภา ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้

พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค เพราะเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภา ดังนั้น พฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top