‘ชวน’ เตือนสติ ปมขัดแย้งชิง ประธานสภาฯ ยึดตามอำเภอใจ ปัญหาไม่จบ แนะ ก้าวไกล-เพื่อไทย ให้หารือกันใกล้ชิด

28 มิ.ย. 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปีก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภา จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ที่ผ่านมาเคยมีกรณีประธานสภา ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม ที่ผ่านมาพบว่าพรรคที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน ตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภา

เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรค ขณะที่มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง แต่เที่ยวนี้ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ

ต่อข้อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภา ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้

ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภา จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภา ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ ประธานสภาจะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหานั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภา

“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรองกัน เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว

สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่าประธานสภาบันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่าน เขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก

“ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจทุกอย่าง ที่ผ่านมาการตั้งประธานสภา ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงสเปกประธานสภาว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภา ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรค เพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้

พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค เพราะเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภา ดังนั้น พฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ