Friday, 3 May 2024
ประธานสภา

‘วันนอร์’ นั่งประธานสภาฯ ใต้แรงกดดันรอบทิศ หนุนแยกดินแดน-ไม่เคยมีพรรค 9 เสียงได้นั่งบัลลังก์

ทันทีที่กรณีมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

แน่นอนว่า ในมุมของนายวันนอร์ฯ เอง แม้จะระบุว่า ยังไม่ได้ยินซุ่มเสียงที่เพื่อไทยเสนอเป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าให้รัฐบาลประชาธิปไตยเดินต่อได้ ก็จำเป็นต้องรับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากไปตกอยู่ที่ นายวันนอร์ฯ ก็อาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากพรรคประชาชาติเองก็มีเสียง ส.ส.เพียง 9 เสียงเท่านั้น การจะยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรยกให้กับพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่มีเสียงที่พอฟัดพอเหวี่ยง

นั่นหมายความว่า หากพิจารณาโดยนำกรณีดังกล่าวนี้ไปเปรียบกับ ปี 2562 สมัยพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเสนอชื่อ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งถือเป็นคนละกรณีกัน เพราะตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงกว่า 50 เสียง 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองแคนดิเดตโดยเนื้อแท้ เช่น ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลกจากพรรคก้าวไกล , นายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ล้วนแต่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น เพราะนายณัฐวุฒิ ถือเป็นคนมีเหตุผล ทำการบ้าน และเป็น ส.ส.ที่อภิปรายได้ดี เช่นเดียวกับ นพ. ชลน่าน ก็เคยเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้าน มีฝีมือ เป็นดาวสภามาก่อน แต่หากทั้ง2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ก็คงต้องลุ้นในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ว่าจะมีการเสนอเชื่อประธานสภาฯ มากกว่า 1 รายชื่อหรือไม่

ฉะนั้น เมื่อวันนี้แคนดิเดตยังไม่ชัด และพร้อมเป็นปมซัดให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเกิดภาพความขัดแย้งกระจายไปถึงเหล่าด้อมประชาธิปไตย การดันชื่อของ ‘นายวันนอร์’ ผุดขึ้นมา ที่ว่ากันโดยคุณสมบัติ และพรรษาการเมืองสูง ก็ดูเหมือนจะเป็นไป ‘ทางออก’ เพื่อยุติปัญหาระหว่าง ‘ก้าวไกล’ กับ ‘เพื่อไทย’ ที่ว่ากันว่าต้องมีการเอาตำแหน่งรัฐมนตรีไปต่อรองกัน ถ้าก้าวไกลหรือเพื่อไทยจะได้เป็นประธานสภาฯ อีกด้วย และหมากนี้ ‘เพื่อไทย’ อาจมีแต้มต่อ จากการที่เป็นอดีตคนคุ้นเคยกับก๊วนโทนี่

อย่างไรก็ตาม วิบากกรรมแห่งผู้นั่งบัลลังก์สูงสุดในสภาฯ ในเชิงของภาคประชาสังคม ก็น่าจะยังคงตั้งคำถามกับ นายวันนอร์ฯ หนักพอตัว หลังจากถูกกล่าวหาว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนของนักศึกษา แม้นายวันนอร์ฯ เองจะชี้แจงว่าตนเพียงแค่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการทำประชามติเป็นเรื่องกิจกรรมของนักศึกษา และตนก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ก็ตาม...เพียงแต่แรงกระเพื่อมนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมต่อคุณสมบัติของนายวันนอร์ 

ทว่าเรื่องนี้จะจบลงเช่นไร ใครจะได้นั่งแท่นบัลลังก์ผู้นำสภาฯ เชื่อว่าอีกไม่กี่วันก็คงจะรู้ผล!!

'สุริยะใส' ฟันธง!! วันนอร์ฯ ไม่ใช่ตัวกลางยุติปัญหา แต่เป็นเกม 'เพื่อไทย' บีบการตัดสินใจของ 'พรรคส้ม'

หลังจากที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่งประธานสภา เพื่อเป็นทางออกและแก้ปัญหาข้อยุติทั้งหมด

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส.ส. รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่าจะมีมติยืนตามนี้หรือไม่

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีประสบการณ์ เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และไม่มีความด่างพร้อย น่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพจากบรรดา ส.ส.

จริงหรือ??? ที่วันนอร์ฯ จะมาเป็นตัวกลางยุติปัญหาเก้าอี้ประธานสภาในครั้งนี้ หรือจะเป็นเกมส์การเมืองของพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นพรรคก้าวไกล จะเเก้เกมนี้อย่างไร 

ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับ THE STATES TIMES ในประเด็นนี้ว่า น่าจะเป็นการเสนอเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งแตกแยกของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า และเป็นการชิงไหว ชิงพริบ ที่เรียกว่า "เซียนเหยียบเมฆ" ของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะทำให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง 

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอคนของพรรค แต่ไปเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยอ้างว่าเป็นคนกลางของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็รู้กันดีว่านายวันนอร์ฯ เป็นอดีต ส.ส. ของพรรคไทยรักไทยมาก่อน ก่อนจะมาตั้งพรรคประชาชาติ ก็เปรียบเสมือนเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น หมากเกมนี้ต้องกลับไปถามก้าวไกล ว่าจะยอมเล่นตามเกมเพื่อไทยหรือจะส่งคนสู้ แต่ถ้าส่งคนสู้ต้องมองว่าใครจะชนะ อาจจะไปหวยออกที่คนที่ 3 ต้องจับตามอง โดยส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะเป็นวันนอร์ฯ หรือนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ของพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะมีใครชนะใคร จริง ๆ ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก แต่ทางการเมืองก็จะมีจังหวะที่ทำให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองได้อยู่ไม่น้อย 

การที่เพื่อไทยเสนอแบบนี้ นั่นหมายความว่า เพื่อไทยไม่ได้ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันก้าวไกลก็อาจจะไม่ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เกมนี้อาจจะลามไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องติดตามกันต่อ

ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดนายวันนอร์ฯ ได้เป็นประธานสภาจริง ๆ พรรคก้าวไกลต้องตอบตัวเองว่า ตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ได้แล้วจะอย่างไรต่อ จะอธิบายประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคอย่างไร  อีกประเด็นจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าในอนาคตว่า MOU ที่ลงนามกันด้วยความชื่นมื่นเป็นเกมลวงทางการเมืองหรือไม่!!!

หลังจากนี้ตนมองว่า ก้าวไกลคงต้องเดินหน้าสู้ อยู่ ๆ จะไปยกตำแหน่งประธานสภาให้คุณวันนอร์ฯ ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มันก็จะดูเป็นยอมง่ายไป จะไปอธิบายประชาชนที่เลือกตนเข้ามาทั้ง 14 ล้านเสียงอย่างไร สู้แล้วแพ้ยังพอตอบประชาชนได้ ครั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องตอบโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยโยนมาให้แล้วว่า จะเดินเกมยังไงต่อ แต่ที่แน่ ๆ พรรคก้าวไกลไม่น่าจะพร้อมเป็นฝ่ายค้าน เพราะเดินสายขอบคุณในนามพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องมองว่าพรรคก้าวไกลจะไปร่วมรัฐบาลในบริบทไหน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องน่าจับตามอง

เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ Content Manager

โฉมหน้า ประธาน-รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566

🔍การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) มีวาระสำคัญคือการโหวตเลือกประธานสภา - รองประธานฯ ซึ่งผลโหวตปรากฏว่า 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เป็น ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ โดยมีผู้รับรอง 20 คน ครบตามข้อบังคับและไม่มีการเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งขันด้วย ถือว่าที่ประชุมลงมติให้นายวันนอร์เป็นประธานสภาโดยไม่ต้องมีการลงคะแนนแข่ง

หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้เป็น ‘รองประธานสภาฯ คนที่ 1’ ด้วยคะแนนโหวต 312 ต่อ 105 งดออกเสียง 77 

และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้เป็น ‘รองประธานสภาฯ คนที่ 2’ โดยไม่มีการเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งขัน

'สมศักดิ์ เจียม' เผยเหตุ 'จตุพร' พลาด!! หลังฟันธงผิดเรื่อง 'สุชาติ' เป็นปธ.สภาฯ

(5 ก.ค. 66) นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ปัจจุบันลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า

ทำไมคนจึงเชื่อว่าจตุพร ‘ผิด’ เรื่องสุชาติเป็นประธานรัฐสภา? ผมแปลกใจที่คนเชื่อว่าจตุพรทาย ‘ผิด’

ครับ ในแง่ที่คนที่ออกมากลายเป็นวันนอร์ ก็อาจจะเรียกว่า ‘ผิด’ แต่การ ‘ผิด’ นี้ เกิดจากการที่ทักษิณเปลี่ยนใจ ไม่เอาสุชาติในนาทีสุดท้าย และต้องโทรศัพท์ไปปลอบใจสุชาติ

นี่คือหลักฐานว่าสุชาติยอม ‘เปลี่ยนใจ’ นาทีสุดท้าย โพสต์ของลูกชาย https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7744705 และ https://www.youtube.com/watch?v=ty-1l-J1iS8

นี่เป็นข้อมูลที่ว่าทักษิณโทรศัพท์ติดต่อผู้คนให้ยอมเปลี่ยนแผน https://www.facebook.com/insidethailand/videos/6469081976464422/ 

"พูดกันตรงๆ พรรคประชาชาติเป็นสาขาของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ"

".....ในพรรคก้าวไกลรู้ว่า พิธาไม่ได้หรอกตำแหน่งนายกฯ..."

‘วันนอร์’ ยัน โหวตนายกฯ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 13 ก.ค.นี้ เชื่อ ‘ส.ว.’ ใช้ดุลยพินิจ-คุณวุฒิเพื่อประโยชน์ของชาติ

(7 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 แถลงภายหลังเข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานผู้แทนราษฎร และรองประธานผู้แทนราษฎร

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า วันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้พวกเราทั้ง 3 คน ดำรงตำแหน่งประธานผู้แทนราษฎรและรองประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งพวกเราจะขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับสมาชิกรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ในพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 26 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า “เรื่องนี้เราต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภาปี 2563 ส่วนกรอบเวลาของการประชุม ตลอดจนเรื่องจะโหวตอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ตนคิดว่าถ้าเราพูดก่อนล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.ค. และหวังว่าจะดำเนินการด้วยความเรียบร้อย”

“แต่หากไม่เสร็จสิ้นในวันที่ 13 ก.ค.เราก็ได้หารือกับประธานวุฒิสภาแล้วว่า เราก็อาจจะต้องมาประชุมกันในวันที่ 19 ก.ค. เพราะดูแล้วว่าน่าจะเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เพราะเว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้เลขาธิการสภาฯ ได้ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้งในเวลาเช่นเดิม ส่วนการประชุมในวันที่ 19 ก.ค.นั้น จะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ทั้งนี้ หน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อไปบริหารประเทศต่อไป โดยเราต้องทำหน้าที่นี้เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่ประชาชน และปัญหาของประเทศชาติกำลังรอคอยรัฐบาลใหม่อยู่มากข้างหน้า ดังนั้น หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ ต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ในเวลาที่เหมาะสม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวต่อว่า “ส่วนข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในเรื่องการโหวตนายกฯ นั้น ตนเห็นว่า ส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นอิสระของแต่ละคนที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราคงไม่สามารถคาดได้ว่าสมาชิกจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องใช้ดุลพินิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะทุกคนก็มีคุณวุฒิวัยวุฒิมีประสบการณ์ และทุกคนก็ต้องมีหัวใจตรงกัน คือ บ้านเมือง ประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องทำให้ดีที่สุด และตนขอฝากกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ว่ารัฐสภาของเราจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดตามที่ท่านได้คาดหวัง”

นายวันมูหะมัดนอร์ เสริมอีกว่า “ในฐานะที่ผมเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประธานรัฐสภา ต้องขอความสนับสนุนความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เพราะต้องการความสมัครสมานสามัคคีจากทุกฝ่าย เพราะเรามาทำงานตรงนี้เพื่อประเทศชาติกันทุกคนรวมทั้งประชาชนด้วย ขอให้ท่านสนับสนุนให้มีนายกฯ คือ ผู้นำของประเทศอย่างเรียบร้อย ในเวลาที่ท่านรอคอยและจะทำให้ดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งสภาพรรคการเมืองและประชาชน เพื่องานที่เราจะมีในวันที่ 13 ก.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สำหรับความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นบริเวณรัฐสภานั้น ในเรื่องนี้ไม่มีความกังวลใดๆ ในวันที่ 10 ก.ค. ประธานสภาฯ จะมีการแบ่งงานให้กับรองประธานทั้ง 2 คน ในส่วนของการชุมนุมการรักษาความปลอดภัยกับการให้บริการประชาชนในพื้นที่สภาฯ ซึ่งประชาชนมีสิทธิชุมนุมแน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่และ พ.ร.บ.การชุมนุม

‘เพื่อไทย’ จวก!! ‘รองอ๋อง’ แต่งชุดไม่สุภาพ ใส่เสื้อคอจีน-ไม่ผูกเน็กไท ด้านเจ้าตัวแจง เป็นไปตามระเบียบ หากไม่สบายใจจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

(24 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา ระหว่างที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณารับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น

นายนิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นตำหนิการแต่งกายของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม ที่แต่งกายใส่เสื้อคอจีนและใส่เสื้อสูททับ โดยไม่ติดเน็กไท เป็นการแต่งกายไม่สุภาพ

นายนิคมกล่าวว่า ข้อบังคับการประชุมสภาฯ สส.ต้องแต่งกายเครื่องแบบรัฐสภา ชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดตามระเบียบที่สภาฯ กำหนด แต่ชุดที่ประธานฯ แต่ง เห็นแล้วไม่สบายใจ ไม่เรียบร้อย เกรงจะเป็นบรรทัดฐานให้ที่ประชุม นี่คือรัฐสภา ขอให้เป็นตัวอย่างแก่สมาชิก

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า การแต่งกายของประธานฯ ไม่ใช่สากลนิยม ควรตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องการแต่งกายของ สส.ให้เป็นสากลนิยม ให้ทุกคนปฏิบัติโดยพร้อมเพรียง ไม่อยากให้ประธานฯ โดนอะไรไปมากกว่านี้ มองยังไงก็ไม่ใช่ชุดสากล

ทำให้นายปดิพัทธ์ ชี้แจงว่า การแต่งกายชุดสากลนิยมเคยหารือแล้วว่า การใส่เสื้อคอจีน แล้วใส่สูททับ โดยไม่ใส่เน็กไท เป็นชุดสุภาพ ตามระเบียบสภาฯ ตนเคารพทุกคน ถ้าไม่สบายใจก็จะแต่งตัวให้ดีขึ้น แต่ยืนยันว่า แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ วันนี้ถ้าจะยึดแบบสากลนิยมจริงๆ การแต่งกายหลายคนคงไม่ผ่าน ขอให้เดินหน้าประชุมก่อน เรื่องระเบียบต่างๆ จะนำกลับไปพิจารณา ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top