‘ชวน’ ปลื้ม!! สภาอยู่ครบ 4 ปี ผ่าน กม. หลายฉบับ แต่เสียดาย เริ่มทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

‘ชวน’ แถลงขอบคุณสื่อสภา นำเสนอพฤติกรรมนักการเมือง ชี้มีส่วนช่วยตัดสินใจวันกาบัตร ปลื้มผ่าน กม.หลายฉบับ เสียดายแผ่วปลายช่วงท้าย เหตุองค์ประชุมไม่ครบ เผยเริ่มต้นทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

(20 มี.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตลอดการทำงานร่วมกัน 4 ปีที่ผ่านมาว่า วันนี้คาดหมายว่าน่าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภา ดังนั้น จึงถือโอกาสนี้รายงานสถานภาพของสภาผู้แทนราษฎรให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย

นายชวนกล่าวว่า ความจริงตัวเลขของผู้แทนราษฎรชุดนี้เริ่มต้น 500 คน แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบทำให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพไป 11 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องเสียบบัตรแทนกัน 3 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 คนกรณีขอสร้างสนามฟุตซอล, มี ส.ส.พรรคต่าง ๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อมและไม่มีการเลื่อนลำดับทดแทน 4 คน, และมี ส.ส.ลาออกในช่วง 180 วัน ทำให้สมาชิกลดลงไปอีก 84 คน และเสียชีวิตในช่วงเวลานั้นอีก 1 คน ดังนั้น ในวันนี้จึงเหลือ ส.ส.อยู่ 393 คน

นายชวนกล่าวว่า ถ้าเราทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาชุดนี้ก็จะเห็นว่าเป็นชุดพิเศษที่หลังว่างเว้นให้มีการเลือกตั้งมา 5 ปี จึงเป็นเหมือนชุดที่เริ่มใหม่ สมาชิกที่เข้ามาใหม่ 500 คน ตอนเริ่มแรกนั้นจึงเป็นสมาชิกใหม่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรม ทั้งนี้ สภาชุดนี้ได้เริ่มใช้ที่ในการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นย้ายไปห้องประชุมของ TOT ต่อมาย้ายมาที่ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา และห้องประชุมสุริยันของสภา จึงไม่มีเคยมีสภาชุดไหนที่เปลี่ยนที่ประชุมมากเท่านี้ ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

“โชคดีว่าสภาขยันทำงานในช่วงต้น ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายในช่วงต้นไม่มากนักจึงไม่มีอะไรค้าง จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 เราก็หยุดการประชุมไป 1 เดือน ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีสมาชิกบางฝ่ายเสนอให้หยุดต่อเนื่องจนกว่าจะหายจากโรคระบาด แต่เราก็เชื่อว่าถ้าจะรอให้หมดการระบาดคงเป็นไปไม่ได้ เราจึงประชุมต่อเนื่องตลอดมา และชดเชยการประชุมในวันศุกร์” ประธานสภากล่าว

นายชวนกล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือเครื่องมือของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้ ดังนั้น กฎหมายของรัฐบาลจึงไม่มีฉบับใดค้างอยู่ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา แต่ในช่วงท้ายที่รัฐบาลส่งกฎหมายมาอีกหลายฉบับ แล้วก็ไม่นำองค์ประชุมมาด้วย จนตนต้องทำหนังสือถึงนายกฯ และเจ้ากระทรวงผู้เสนอกฎหมายนั้น แต่สุดท้ายองค์ประชุมก็ยังไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่สภาอยู่ได้มาจนครบ 4 ปี ซึ่งไม่ได้มีอย่างนี้ทุกครั้งไป ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่จนเกือบครบถ้วน ถ้าไม่มองช่วงปลายที่มีกฎหมายค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง และร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีการพิจารณา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เกือบจะพูดได้ว่ากฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านไปเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นช่วงปลายซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอเข้ามาใหม่และองค์ประชุมไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า ส่วนตนที่ได้นั่งเป็นประธานสภาตลอด 4 ปี ตั้งใจจะคุมสภานี้ให้ถึงที่สุด และคิดว่าสมาชิกใหม่ต้องการคำแนะนำหลายเรื่อง ซึ่งสมาชิกเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีปรากฏการณ์ใหม่ก็คือ  เรื่องการรักษาเวลาการอภิปราย ทำให้ทุกคนที่ได้อภิปราย แต่มีบางเรื่องคือพรรคที่มีเสียงมากอภิปรายไม่กี่คน ส่วนพรรคที่เสียงน้อยกลับอภิปรายมาก ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ของพรรคนั้นๆ

นายชวนกล่าวว่า ในการประชุมสถาบันพระปกเกล้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิได้อภิปรายเรื่องบทบาทของผู้แทนราษฎรว่ามีวัฒนธรรมที่แปลกออกไปคือ เรื่องการแต่งกาย จึงเรียนว่าทางสภาได้แจ้งไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่าสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ แม้จะอยากแสดงความสมัยใหม่ด้วยการแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่ข้อบังคับยังมีอยู่ ถ้าคุณไม่เคารพกฎเกณฑ์และกติกา สังคมประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ เราจึงให้สถาบันพระปกเกล้ากำหนดหลักสูตรสั้นๆ สำหรับสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อให้ ส.ส.ได้เข้าใจภารกิจชัดเจน นอกจากนี้ สมาชิก ส.ส.ได้ท้วงติงว่าใช้เวลาในกระทู้ถามมากเกินไป และสมาชิกส่วนใหญ่ใช้วิธีอภิปรายจนหมดเวลา จนไม่ได้ถามคำถาม เพราะไม่สามารถย่อความได้ และมีความรู้มากเกินไป ทั้งที่เวลาเป็นของมีค่า

นายชวนกล่าวด้วยว่า อนาคตคือการทำให้สิ่งที่ทำอยู่ 4 ปีนี้เป็นบทเรียนทั้งในทางบวกและทางลบ ในทางบวกคือการดำรงไว้ซึ่งหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งการออกกฎหมาย และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส่วนทางลบคือพฤติกรรมใดก็ตามที่เข้ามาหาผลประโยชน์ และการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมมาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อมาหาผลประโยชน์

“ถ้าพี่น้องสื่อมวลชนไม่ช่วยดำรงข่าวสารที่ให้ประโยชน์กับประชาชน ประชาชนก็จะไม่รู้ข้อเท็จจริง
เช่น ความไม่รับผิดชอบของนักการเมือง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตัดสินใจในการเลือกตั้งว่าถ้าเลือกคนซื้อเสียงมาก็จะได้รับรัฐบาลที่ซื้อเสียง ถ้าเลือกคนดีเข้ามาก็จะได้รัฐบาลที่ดี เพราะรัฐบาลมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ” นายชวนกล่าว


ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_3882341