Thursday, 28 March 2024
สภา

'คนก้าวไกล' ใส่เนกไทแดง ยืนอภิปรายหน้าป้าย พท. หลังถูกอดีตการ์ดวีโว่เสียบเลือกตั้งส.ส. สมัยหน้า

สีสันสภา 'สมเกียรติ ถนอมสินธุ์' ใส่เนกไทแดง ยืนอภิปราย หน้าป้ายพรรคเพื่อไทย กลางสภาฯ คาดย้ายเข้าพท. หลังก้าวไกล ไม่ส่งลงสมัครเลือกตั้งส.ส. สมัยหน้า 

ที่รัฐสภา วันนี้ (24 พ.ย. 65) นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส. กทม. เขตบางนา-พระโขนง พรรคก้าวไกล ได้รับทราบรายงาน กสทช. แต่ไปยื่นอภิปราย ถ่ายทอดปัญหาสายสื่อสารในพื้นที่ ทั้งซอยลาซาล, ซอยสุขุมวิท 97/1 และรถไฟฟ้าสีเหลือง สถานีศรีลาซาล ในป้ายพรรคเพื่อไทย พร้อมสวมเนคไทสีแดงสด หลังจากที่ พรรคก้าวไกล ไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งต่อสมัยหน้า และมีอดีตการ์ดวีโว่ มาลงแทนในพื้นที่เขตบางนา-พระโขนง

เสื่อมเสียต่อสภาฯ!! สภาฯ สั่งลุย! ตั้งคณะกรรมการฯ สอบข้อเท็จจริง ปม ส.ส.เล่นพนัน ลั่น! หากผิดจริง ฟันตามกฎหมาย

(3 มี.ค.2566) ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ชี้แจงกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ ส.ส. กรณีพบการเล่นการพนันในพื้นที่อาคารรัฐสภาบริเวณห้องทำงานของ ส.ส. ว่า ในการเข้าใช้ห้องทำงานของ ส.ส. ยังมีระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่และอาคารรัฐสภา พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทั่วไปในการใช้พื้นที่และอาคารรัฐสภา ข้อ 8 (2) ที่ห้ามมิให้มีการกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี

 

ดังนั้น เมื่อปรากฏตามข้อร้องเรียนว่า มี ส.ส. เล่นการพนันภายในพื้นที่รัฐสภา ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ส. และกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้สมาชิกฯ ต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่กระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและสภาฯ

‘ชวน’ ปลื้ม!! สภาอยู่ครบ 4 ปี ผ่าน กม. หลายฉบับ แต่เสียดาย เริ่มทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

‘ชวน’ แถลงขอบคุณสื่อสภา นำเสนอพฤติกรรมนักการเมือง ชี้มีส่วนช่วยตัดสินใจวันกาบัตร ปลื้มผ่าน กม.หลายฉบับ เสียดายแผ่วปลายช่วงท้าย เหตุองค์ประชุมไม่ครบ เผยเริ่มต้นทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน

(20 มี.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตลอดการทำงานร่วมกัน 4 ปีที่ผ่านมาว่า วันนี้คาดหมายว่าน่าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภา ดังนั้น จึงถือโอกาสนี้รายงานสถานภาพของสภาผู้แทนราษฎรให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย

นายชวนกล่าวว่า ความจริงตัวเลขของผู้แทนราษฎรชุดนี้เริ่มต้น 500 คน แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบทำให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพไป 11 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องเสียบบัตรแทนกัน 3 คน, มี ส.ส.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 คนกรณีขอสร้างสนามฟุตซอล, มี ส.ส.พรรคต่าง ๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อมและไม่มีการเลื่อนลำดับทดแทน 4 คน, และมี ส.ส.ลาออกในช่วง 180 วัน ทำให้สมาชิกลดลงไปอีก 84 คน และเสียชีวิตในช่วงเวลานั้นอีก 1 คน ดังนั้น ในวันนี้จึงเหลือ ส.ส.อยู่ 393 คน

นายชวนกล่าวว่า ถ้าเราทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาชุดนี้ก็จะเห็นว่าเป็นชุดพิเศษที่หลังว่างเว้นให้มีการเลือกตั้งมา 5 ปี จึงเป็นเหมือนชุดที่เริ่มใหม่ สมาชิกที่เข้ามาใหม่ 500 คน ตอนเริ่มแรกนั้นจึงเป็นสมาชิกใหม่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรม ทั้งนี้ สภาชุดนี้ได้เริ่มใช้ที่ในการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นย้ายไปห้องประชุมของ TOT ต่อมาย้ายมาที่ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา และห้องประชุมสุริยันของสภา จึงไม่มีเคยมีสภาชุดไหนที่เปลี่ยนที่ประชุมมากเท่านี้ ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

“โชคดีว่าสภาขยันทำงานในช่วงต้น ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายในช่วงต้นไม่มากนักจึงไม่มีอะไรค้าง จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 เราก็หยุดการประชุมไป 1 เดือน ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แม้จะมีสมาชิกบางฝ่ายเสนอให้หยุดต่อเนื่องจนกว่าจะหายจากโรคระบาด แต่เราก็เชื่อว่าถ้าจะรอให้หมดการระบาดคงเป็นไปไม่ได้ เราจึงประชุมต่อเนื่องตลอดมา และชดเชยการประชุมในวันศุกร์” ประธานสภากล่าว

นายชวนกล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือเครื่องมือของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้ ดังนั้น กฎหมายของรัฐบาลจึงไม่มีฉบับใดค้างอยู่ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา แต่ในช่วงท้ายที่รัฐบาลส่งกฎหมายมาอีกหลายฉบับ แล้วก็ไม่นำองค์ประชุมมาด้วย จนตนต้องทำหนังสือถึงนายกฯ และเจ้ากระทรวงผู้เสนอกฎหมายนั้น แต่สุดท้ายองค์ประชุมก็ยังไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่สภาอยู่ได้มาจนครบ 4 ปี ซึ่งไม่ได้มีอย่างนี้ทุกครั้งไป ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่จนเกือบครบถ้วน ถ้าไม่มองช่วงปลายที่มีกฎหมายค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง และร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีการพิจารณา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เกือบจะพูดได้ว่ากฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านไปเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นช่วงปลายซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอเข้ามาใหม่และองค์ประชุมไม่ครบ

นายชวนกล่าวว่า ส่วนตนที่ได้นั่งเป็นประธานสภาตลอด 4 ปี ตั้งใจจะคุมสภานี้ให้ถึงที่สุด และคิดว่าสมาชิกใหม่ต้องการคำแนะนำหลายเรื่อง ซึ่งสมาชิกเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีปรากฏการณ์ใหม่ก็คือ  เรื่องการรักษาเวลาการอภิปราย ทำให้ทุกคนที่ได้อภิปราย แต่มีบางเรื่องคือพรรคที่มีเสียงมากอภิปรายไม่กี่คน ส่วนพรรคที่เสียงน้อยกลับอภิปรายมาก ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ของพรรคนั้นๆ

'กรณ์ จาติกวณิช' ประกาศลาออก จากการเป็น ‘หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า’

นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการลาออก จากการเป็น ‘หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า’ โดยมีใจความว่า ...
.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมได้เข้าพบ และยื่นจดหมายถึงประธานพรรค คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เพื่อขอบคุณในความไว้วางใจที่ท่านได้มอบให้ผม พร้อมกับแจ้งลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกคะแนนเสียงที่ได้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของพวกเรา ผมจะสนับสนุนนโยบายทั้งหมดที่เราได้นำเสนอในสถานะประชาชนคนหนึ่งต่อไป 

ตลอดช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนและประเทศที่ผมรักในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้ง 

ผมขอขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยผมทำภารกิจนี้มานับแต่ปี 48 

บ้านเมืองเรายังมีปัญหาอีกมากมายรอการแก้ไข ผมขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนนักการเมืองจากทุกพรรค และขอให้กำลังใจเป็นพิเศษแก่นักการเมืองที่กำลังจะเริ่มทำงานในสภาเป็นครั้งแรก อย่าให้ความต้องการเอาชนะครอบงำจิตใจและการแสดงออกของท่านจนเกินไป ทำงานด้วยการสร้างพลังบวกร่วมกันในสังคมให้ได้ ผมจะคอยเป็นกำลังใจ 

ช่วงนี้ผมขอพาครอบครัวไปพักผ่อน ติดหนี้ที่บ้านไว้เยอะครับ

ขอบคุณทุก ๆ คนจากใจ
 

‘เพนกวิน’ เดือด!! เห็น ส.ส.ร้องเพลงสรรเสริญฯ ในรัฐสภา ยก 'อังกฤษ' ไม่เคยมีธรรมเนียมแบบนี้ในวันเปิดพิธี

ภายหลังพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 เสร็จสิ้น นายเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า...

ว่าด้วยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา

ไม่เคยมีธรรมเนียมว่าผู้แทนปวงชนจะต้องร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภามาก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นการ 'ประจบเจ้า' ออกหน้าออกตาจนเกินงาม ไม่มีความสง่าสมกับความเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติที่ประชาชนเลือกมา

ในธรรมเนียมฝั่งอังกฤษซึ่งมีพิธีเสด็จ ฯ เปิดรัฐสภามาจนเป็นแบบฉบับของระบบรัฐสภานั้น เขาจะมีธรรมเนียมเล็ก ๆ คือพิธีเปิดสภานั้นให้กระทำในห้องประชุมสภาขุนนาง (คล้าย ๆ ส.ว.) เพราะถือว่าห้องประชุมสภาสามัญชน (คล้าย ๆ ส.ส.) เป็นพื้นที่หวงห้ามเฉพาะสำหรับคนที่ได้รับการเลือกตั้งมา 

และเคยมีครั้งหนึ่งที่กษัตริย์อังกฤษ (พระเจ้าชาร์ลที่ 1) บุกเข้ามาในห้องประชุมสภาสามัญชนเพื่อจะจับกุมตัวแกนนำสมาชิกสภาที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพระองค์ จนถือเป็นการละเมิดอำนาจของสภาและเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว เขาเลยถือเป็นเคล็ดว่าห้ามกษัตริย์เข้าสภาสามัญชน เพราะเดี๋ยวจะมีการใช้พระราชอำนาจละเมิดสภาสามัญชนและจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีก

จากเหตุการณ์เดียวกันนี้ ยังก่อให้เกิดธรรมเนียมรัฐสภาอีกประการหนึ่ง นั่นคือว่าเมื่อกษัตริย์เสด็จมาถึงห้องประชุมสภาขุนนางซึ่งจะใช้ประกอบพิธีเปิดรัฐสภาแล้ว ก็จะมีการส่งผู้แทนพระองค์ถือคฑาดำ (Black Rod) ไปเรียกบรรดา ส.ส. ที่รวมตัวอยู่ที่ห้องประชุมสภาสามัญชนมาร่วมพิธี 

เมื่อผู้แทนพระองค์เดินไปถึงหน้าห้องประชุมสภาสามัญชนแล้ว บรรดา ส.ส. จะ 'ปิดประตูใส่หน้า' ผู้แทนพระองค์ที่ว่าดังเปรี้ยงพอเป็นพิธี เพราะในคราวที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 บุกสภานั้น บรรดา ส.ส. ก็พร้อมใจกันพยายามดันประตูปิดไม่ให้กษัตริย์เข้ามา ธรรมเนียมปิดประตูนี้เป็นเคล็ดว่าผู้แทนประชาชนสามารถ 'ดื้อ' กับพระราชอำนาจของกษัตริย์ได้

ประเทศที่มีประชาธิปไตยเจริญรุ่งเรืองมั่นคงมายาวนานจะมีธรรมเนียมประชาธิปไตยไว้เป็นสัญลักษณ์แสดงแนวคิดทางกสรเมืองและประชาธิปไตย ส่วนประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้น ก็จะมีสภาพดังที่เพิ่งปรากฏมา

(ทั้งนี้ เพนกวิน ยังได้โพสต์ภาพการเคาะประตูเรียก ส.ส.ของผู้แทนพระองค์ที่ถือ 'คฑาดำ' อีกด้วย)

โฉมหน้า ประธาน-รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566

🔍การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) มีวาระสำคัญคือการโหวตเลือกประธานสภา - รองประธานฯ ซึ่งผลโหวตปรากฏว่า 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เป็น ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ โดยมีผู้รับรอง 20 คน ครบตามข้อบังคับและไม่มีการเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งขันด้วย ถือว่าที่ประชุมลงมติให้นายวันนอร์เป็นประธานสภาโดยไม่ต้องมีการลงคะแนนแข่ง

หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้เป็น ‘รองประธานสภาฯ คนที่ 1’ ด้วยคะแนนโหวต 312 ต่อ 105 งดออกเสียง 77 

และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้เป็น ‘รองประธานสภาฯ คนที่ 2’ โดยไม่มีการเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งขัน

‘อนุชา’ ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ พร้อมกราบลา ‘บิ๊กตู่’ ไปทำหน้าที่ ส.ส. ในสภาฯ

(10 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ (10 ก.ค.66) ตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และได้กราบลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา

ทั้งนี้ นายกฯ อวยพรให้มีกำลังกาย กำลังใจที่ดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้อย่างเต็มความสามารถ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน ตนขอขอบคุณนายกฯ ที่กรุณาให้ความไว้วางใจตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมาให้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง และมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กำกับดูแลงานสำคัญ ทั้งเรื่องต่างประเทศ เรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ การประสานงานการเมือง และภารกิจของนายกฯ ในด้านต่าง ๆ รวมถึงกำกับดูแลสำนักโฆษกฯ

“ขอบคุณนายกฯ ที่ไว้วางใจให้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ทำงานมากว่า 3 ปีในสำนักนายกฯ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ปฏิบัติภารกิจร่วมกันมา และขอบคุณสื่อมวลชน ที่กรุณานำเสนอข่าวเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนตลอดเวลาที่ผ่านมา ส่วนภารกิจโฆษกฯ นายกฯ ได้มอบหมายให้รองโฆษกฯ ที่เหลืออยู่สามคนทำงานไปอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอเอกสารจากสภาฯที่จะส่งไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในวันเดียวกันนี้ เพื่อเตรียมนำไปรายงานตัวต่อสภาฯในวันที่ 12 ก.ค.และจะได้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมพรรค รทสช.ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ จะมีทิศทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายอนุชา กล่าวว่า ยังไม่ทราบวาระการประชุม ที่ผ่านมาไปตนไปร่วมในฐานะผู้ติดตามของนายกฯ จึงไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องใดบ้าง ต้องรอดูว่าในพรรคจะเสนอความเห็นอย่างไร จากนั้นโฆษกพรรคจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดเพื่อให้ ส.ส.ทุกคนเข้าใจก่อนประชุมสภาฯ

‘ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ย้ำ!! บทบาท ส.ว. ใต้รัฐธรรมนูญ 60  อย่าละเลย 'ตรรกะ' ที่ถูกต้อง บนอำนาจที่พึงมี

(10 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ออกอากาศทางช่อง NBT ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว. ระบุว่า...

เรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นตัวยืนในการโหวตครั้งนี้ หลังมีพรรคร่วม 8 พรรคเป็นผู้เสนอชื่อนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากประเด็นที่ว่า พรรคก้าวไกลจะหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดคุณไหม ศิริกัญญา ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้เสียงจาก ส.ว. ครบถ้วนแล้ว ตอนนี้ก็กำลังหาเสียงสำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้อีกจำนวนเล็กน้อย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหาเสียงได้ครบแล้วจริงๆ ทำไมพรรคก้าวไกลนั้นดูร้อนรนเหลือเกิน มีการเปิดเวที เพื่อขอบคุณประชาชน ในหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็นในนครราชสีมา หรือที่จังหวัดสุพรรณบุรี ล่าสุดก็เป็นที่เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

สื่อหลายสำนักก็ยังได้วิเคราะห์ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นั้น ยังไม่สามารถหาเสียงจาก ส.ว. ได้ครบ แต่ก็มี ส.ว.อีกบางส่วนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนนายพิธา

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ได้ให้อำนาจ ส.ว.ไว้ว่า มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะพูดกัน และจะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าที่ ส.ว.จะเลือกหรือไม่เลือก พิธา หากแต่คุณจะใช้เหตุผลหรือตรรกะใดในการที่จะยกมือหรือไม่ยกมือให้นายพิธา เป็นนายกฯ ตรงนี้มากกว่าที่น่าสนใจ

แน่นอนว่า ส.ว.บางท่านที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะ สนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะว่าพิธาได้รับเสียงส่วนใหญ่เสียงข้างมาก จากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเท่ากับว่าเป็นเสียงแห่งฉันทามติของพี่น้องประชาชน ส.ว.ก็จะโหวตให้กับนายพิธา เพราะถือว่าทำตามฉันทามติของประชาชน...นี่คือเหตุผลของส.ว.คนที่มีจุดยืนในการเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า การที่ ส.ว. ใช้เรื่องฉันทางมติมาเพื่อจะโหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็อยากจะขอถามไปยังท่าน ส.ว. ด้วยว่า ทำไมท่านใช้ตรรกะนี้ในการเลือกโดยไม่พิจารณาคุณสมบัติอื่น โดยเฉพาะคุณสมบัติส่วนบุคคล ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาในการทำงาน 

ที่ถามเช่นนี้ เพราะถ้าใช้ตรรกะนี้ในการทำงานอีกหน่อย ส.ส. พิจารณากฎหมายขึ้นมา จนมาถึงชั้นส.ว. ทาง ส.ว. ก็ต้องให้ผ่านไปเลย โดยไม่ต้องพิจารณาอะไรอีก เพราะว่าเสียงข้างมากของสภาฯ ผู้แทนราษฎรเขาผ่านเขาเห็นชอบกฎหมายฉบับนั้นๆมาแล้ว จะใช้ตรรกะเดียวกันแบบนี้จริงๆ หรือ?

แล้ว ถ้าท่าน ส.ว. อ้างเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นฉันทามติมาจากประชาชน แล้ว ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 นี้มีที่มาอย่างไร ส.ว.ก็มาจากรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญปี 60 มาจากไหน รัฐธรรมนูญปี 60 ก็มาจากประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ประชาชนไปลงรับร่างประมาณ 16,800,000 คน คิดเป็นประมาณ 61% ของผู้มาใช้สิทธิ์ ในขณะที่คำถามพ่วงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ก็ได้รับคะแนนเสียงประมาณ 15,100,000 คิดเป็น 58% ของผู้ที่เดินทางมาใช้สิทธิ์ 

คำถาม คือ เจตจำนงของคนที่ไปลงคะแนนเมื่อปี 2560 คืออะไร? ประชาชนเหล่านี้เขาได้ให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจ ส.ว. ในการกลั่นกรองนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งหลังจากที่ผ่าน ส.ส.มาแล้ว ซึ่งก็กระทำการกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนใช่หรือไม่?

ถ้าใช่!! ที่มาของท่าน ส.ว.นั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านจะทำ เพราะเมื่อท่าน ส.ว.ได้ถูกเลือกมาแล้วโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ระบุอำนาจหน้าที่ของท่าน ส.ว.ไว้อย่างชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และที่สำคัญก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คุณพิธา และพรรคก้าวไกลใช้ในการเลือกตั้งด้วย

แต่หากพวกท่าน ส.ว.ไม่คิดจะทำการอันใด รอฟังแต่เสียงจาก ส.ส.ส่วนใหญ่...ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรที่จะทำหน้าที่ ส.ว. อีกต่อไป

‘จาตุรนต์’ ชี้!! ไม่ควรยึดหลักเสียงส่วนใหญ่จากในสภาฯ เพราะบางเสียงไม่ได้มาจากการเลือกของ ปชช.

(19 ก.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวในรัฐสภาฯ ระบุว่า…

“เราไม่อาจตีความในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจตีความในทางที่จะเอาเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่อาจจะประกอบไปด้วยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top