‘ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ย้ำ!! บทบาท ส.ว. ใต้รัฐธรรมนูญ 60  อย่าละเลย 'ตรรกะ' ที่ถูกต้อง บนอำนาจที่พึงมี

(10 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ออกอากาศทางช่อง NBT ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว. ระบุว่า...

เรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นตัวยืนในการโหวตครั้งนี้ หลังมีพรรคร่วม 8 พรรคเป็นผู้เสนอชื่อนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ นอกจากประเด็นที่ว่า พรรคก้าวไกลจะหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดคุณไหม ศิริกัญญา ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้เสียงจาก ส.ว. ครบถ้วนแล้ว ตอนนี้ก็กำลังหาเสียงสำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้อีกจำนวนเล็กน้อย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหาเสียงได้ครบแล้วจริงๆ ทำไมพรรคก้าวไกลนั้นดูร้อนรนเหลือเกิน มีการเปิดเวที เพื่อขอบคุณประชาชน ในหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็นในนครราชสีมา หรือที่จังหวัดสุพรรณบุรี ล่าสุดก็เป็นที่เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

สื่อหลายสำนักก็ยังได้วิเคราะห์ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นั้น ยังไม่สามารถหาเสียงจาก ส.ว. ได้ครบ แต่ก็มี ส.ว.อีกบางส่วนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนนายพิธา

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ได้ให้อำนาจ ส.ว.ไว้ว่า มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะพูดกัน และจะเป็นประเด็นสำคัญมากกว่าที่ ส.ว.จะเลือกหรือไม่เลือก พิธา หากแต่คุณจะใช้เหตุผลหรือตรรกะใดในการที่จะยกมือหรือไม่ยกมือให้นายพิธา เป็นนายกฯ ตรงนี้มากกว่าที่น่าสนใจ

แน่นอนว่า ส.ว.บางท่านที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะ สนับสนุนให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะว่าพิธาได้รับเสียงส่วนใหญ่เสียงข้างมาก จากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเท่ากับว่าเป็นเสียงแห่งฉันทามติของพี่น้องประชาชน ส.ว.ก็จะโหวตให้กับนายพิธา เพราะถือว่าทำตามฉันทามติของประชาชน...นี่คือเหตุผลของส.ว.คนที่มีจุดยืนในการเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า การที่ ส.ว. ใช้เรื่องฉันทางมติมาเพื่อจะโหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็อยากจะขอถามไปยังท่าน ส.ว. ด้วยว่า ทำไมท่านใช้ตรรกะนี้ในการเลือกโดยไม่พิจารณาคุณสมบัติอื่น โดยเฉพาะคุณสมบัติส่วนบุคคล ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ จะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาในการทำงาน 

ที่ถามเช่นนี้ เพราะถ้าใช้ตรรกะนี้ในการทำงานอีกหน่อย ส.ส. พิจารณากฎหมายขึ้นมา จนมาถึงชั้นส.ว. ทาง ส.ว. ก็ต้องให้ผ่านไปเลย โดยไม่ต้องพิจารณาอะไรอีก เพราะว่าเสียงข้างมากของสภาฯ ผู้แทนราษฎรเขาผ่านเขาเห็นชอบกฎหมายฉบับนั้นๆมาแล้ว จะใช้ตรรกะเดียวกันแบบนี้จริงๆ หรือ?

แล้ว ถ้าท่าน ส.ว. อ้างเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นฉันทามติมาจากประชาชน แล้ว ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 นี้มีที่มาอย่างไร ส.ว.ก็มาจากรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญปี 60 มาจากไหน รัฐธรรมนูญปี 60 ก็มาจากประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ประชาชนไปลงรับร่างประมาณ 16,800,000 คน คิดเป็นประมาณ 61% ของผู้มาใช้สิทธิ์ ในขณะที่คำถามพ่วงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ก็ได้รับคะแนนเสียงประมาณ 15,100,000 คิดเป็น 58% ของผู้ที่เดินทางมาใช้สิทธิ์ 

คำถาม คือ เจตจำนงของคนที่ไปลงคะแนนเมื่อปี 2560 คืออะไร? ประชาชนเหล่านี้เขาได้ให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจ ส.ว. ในการกลั่นกรองนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งหลังจากที่ผ่าน ส.ส.มาแล้ว ซึ่งก็กระทำการกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนใช่หรือไม่?

ถ้าใช่!! ที่มาของท่าน ส.ว.นั้น ก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านจะทำ เพราะเมื่อท่าน ส.ว.ได้ถูกเลือกมาแล้วโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ระบุอำนาจหน้าที่ของท่าน ส.ว.ไว้อย่างชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และที่สำคัญก็เป็นรัฐธรรมนูญที่คุณพิธา และพรรคก้าวไกลใช้ในการเลือกตั้งด้วย

แต่หากพวกท่าน ส.ว.ไม่คิดจะทำการอันใด รอฟังแต่เสียงจาก ส.ส.ส่วนใหญ่...ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรที่จะทำหน้าที่ ส.ว. อีกต่อไป