Friday, 29 March 2024
ซีเซียม137

สธ.เผยยังไม่พบ ‘ซีเซียม-137’ หลุดกำบัง  สั่งเตรียมผู้เชี่ยวชาญ - โรงพยาบาลรองรับ

ปลัด สธ.เผยยังไม่พบข้อมูล สารซีเซียม-137 หลุดจากเครื่องกำบัง สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉินเตรียมผู้เชี่ยวชาญและ รพ.รองรับเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำให้เกิดความกังวลอาจมีผู้ที่ไม่ทราบเป็นวัตถุอันตรายและสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ รวบรวมรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี อาทิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี , ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณปริมาณรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีภายในร่างกาย การป้องกันอันตรายจากรังสี และรังสีกับสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตราย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งเตรียมประสาน รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.รามาธิบดี กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี

ชวนรู้จัก ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสีสุดอันตราย ชี้ ถ้าได้รับปริมาณมาก ‘ก่อมะเร็ง-พันธุกรรมผิดปกติ-ส่งผลถึงชีวิต’

ชวนรู้จัก ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสี สุดอันตรายที่หายออกจากโรงไฟฟ้า ใช้ทำอะไร-คร่าชีวิตคนได้จริงหรือ ทำไมต้องตามหากันวุ่น

เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ สำหรับกรณีท่อบรรจุสาร 'ซีเซียม-137' หรือ 'Cs-137' หายเป็นปริศนาจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี โดยเกรงว่าหากมีผู้สัมผัสอาจเกิดอันตรายได้ พร้อมตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 กลับคืนมาได้ วันนี้ทีมข่าวสดขอพาทุกคนมาทำความรู้จักซีเซียม-137กัน

ซีเซียม-137 (Caesium-137) คืออะไร

ซีเซียม-137 คือ สารไอโซโทปของซีเซียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี จาก 300 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา เป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส นอกจากนี้ซีเซียม-137 ยังเป็นสารก่อมะเร็ง

ประโยชน์ของซีเซียม-137

ซีเซียม-137 มีประโยชน์อย่างมากในด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความแรงรังสีสูง มีเครื่องมือมากมายที่ใช้ซีเซียม-137 อาทิ

-เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
-เครื่องวัดระดับ เพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อและแทงก์
-เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ
-เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้บำบัดมะเร็ง ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา

ซีเซียม-137 เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

ซีเซียม-137 ในสิ่งแวดล้อมมาจากต้นกำเนิดหลายชนิด แต่ที่ใหญ่ที่สุดและมาจากต้นกำเนิดเดียวคือ ฝุ่นกัมมันตรังสี (Fallout) จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศ ในช่วงปี พ.ศ. 2490 และ 2500 ทำให้มีการกระจายและการสะสมของซีเซียม-137ไปทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามซีเซียม-137จำนวนดังกล่าวได้สลายตัวไปมากกว่า 1 ครึ่งชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ กากและอุบัติเหตุจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถปล่อยซีเซียม-137 ได้เช่นกัน เช่น อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง

สำหรับประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ซีเซียม-137หาย ย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 มีคนเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถเก่าไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งแท่งนี้ถูกนำมาแยกชิ้นส่วนจนทำให้กัมมันตรังสีข้างในแผ่ออกมา มีผู้บาดเจ็บรุนแรงถึง 12 คน

ซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายคนเราได้อย่างไร

เราอาจได้รับซีเซียม-137 จากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือสูดดมฝุ่น ถ้าซีเซียม-137เข้าสู่ร่างกายจะกระจายตัวไปทั่วร่างกาย เมื่อเทียบเวลาตกค้างของซีเซียม-137 กับสารกัมมันตรังสีตัวอื่น ซีเซียม-137 มีเวลาสั้นมากและจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ

หากได้รับซีเซียม-137 ควรรับประทานปรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งเป็นสารให้สีน้ำเงินและไม่เป็นพิษ มีการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์คือ เป็นยาต้านพิษไอโซโทปรังสีของซีเซียมและแทลเลียม และใช้ย้อมสีเนื้อเยื่อเพื่อดูการสะสมของธาตุเหล็ก

ความเสี่ยงต่อสุขภาพ หากได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย

'ผู้เชี่ยวชาญ' ชี้!! 'ซีเซียม-137' ที่หายไม่อันตรายอย่างที่คิด พบมีค่าปริมาณกัมมันตรังสีที่ต่ำ ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

(20 มี.ค.66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพหลังมีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายออกจากโรงงานผลิตไฟฟ้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และพบว่ามีการหลอมไปตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.แล้วนั้น ในขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการระบุพื้นที่ใดบ้าง แต่เบื้องต้น ต้องมีการตรวจสุขภาพทั่วไปของพนักงานโรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว และตรวจหาสารตกค้างในปัสสาวะ 

ทั้งนี้เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นสารอันตรายพิเศษ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถตรวจได้ ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการพิเศษจึงเป็นผู้ตรวจสอบ โดยมีการตรวจพื้นที่รอบ ๆ โรงงาน ประชาชนในอำเภอนั้น ๆ และใน จ.ปราจีนบุรี

ขณะที่ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ขณะนี้ เราพบว่าวัตถุบรรจุซีเซียม-137 หายไป และพบเบาะแสที่โรงหลอมเหล็กว่า มีการหลอมเหลว ต้องเรียนว่าของต้นทางหายไปโดยมนุษย์ ที่เราจะต้องติดตามต่อว่าหายไปได้อย่างไร เหตุการนี้เป็นอุบัติการ ที่ยังไม่กระทบต่อชีวิตมนุษย์ ยังไม่ใช่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์แบบเชอร์โนบิล หรือ ฟุกุชิมะ โดยกฎหมายฉบับใหม่ หากรู้ว่าอุปกรณ์รังสีสูญหายต้องแจ้งโดยพลัน แต่เมื่อไม่แจ้งโดยพลันจึงเกิดเหตุการณ์นี้ เราจึงติดตามได้โดยเครื่องมือของปรมาณูเพื่อสันติ หลังรับแจ้งทีมเข้าตรวจสอบโรงงานในวันรุ่งขึ้น แต่ตอนนี้ทางโรงงานยังไม่รู้ว่าหายเพราะอะไร 

'เศรษฐา' ชี้!! ซีเซียม-137 ส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพ ห่วงคนปราจีนฯ-ใกล้เคียง แนะรัฐอย่าปล่อยปละ

(21 มี.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ซีเซียม-137 เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เป็นสารกัมมันตรังสีที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ

สิ่งสำคัญคือความชัดเจนของภาครัฐที่ต้องให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ชัดเจน และรวดเร็ว รวมไปถึงการบริหารจัดการหลังเกิดเหตุ การทำพื้นที่ปิดของสารอันตราย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนถึงความปลอดภัยได้ครับ

'เอนก' ยันสารซีเซียม-137 ที่พบ 2 จุด ยังไม่น่าวิตก เล็งเรียกถกคณบดีแพทย์ ร่วมวางแผนเฝ้าระวัง

‘เอนก’ ขอ ปชช.สบายใจ ยังไม่พบซีเซียม-137 เกินค่ามาตรฐาน เรียกถกคณบดีแพทย์กว่า 20 สถาบัน วางแผนเฝ้าระวัง ย้ำปิดพื้นที่ห้ามเข้า-ออก ชี้ต้องทำงานด้วยหลักการ ไม่ใช่สามัญ เผย "นายกฯ" ย้ำเอาข้อมูลความจริงมาทำความเข้าใจปชช. ต้องสอบทานได้ ยันไม่มีงุบงิบ-ฮั้วโรงงาน 

เมื่อเวลา 09.20 วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่า จากการรายงานสรุปข้อมูล เบื้องต้นจากการสอบทานและตรวจสอบ ดิน น้ำอากาศ ในบริเวณ 2 จุด คือ ที่ซีเซียมหาย และบริเวณที่พบซีเซียม ไม่มีค่ากัมมันตรังสีที่มากกว่าค่าปกติ ในระดับที่เป็นอันตราย ยังไม่มีอะไรที่น่าวิตกมากนัก แต่ยังต้องระวัง โดยมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศ 18 จุด และตรวจในน้ำในทะเลอีก 5 จุด ทั้งหมดรายงานมาว่ายังไม่พบซีเซียมอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานปกติ ในตอนนี้ให้เบาใจได้

นอกจากนั้น จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีวิชาและคณะสาขาที่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องปรมาณูและกัมมันตรังสี เข้าไปตรวจสอบ และจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังรับรู้ในการตรวจวัดปริมาณซีเซียมในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ที่เป็นอันตราย เราต้องติดตามอย่างจริงจัง ไม่ใช่รับฟังรายงานอย่างเดียว

นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนั้นจะประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีกัมมันตรังสีแพร่กระจายหรือไม่ และขอให้รายงานมาที่ประเทศไทย และรายงานต่อองค์การระดับโลก ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมกัมมันตรังสีได้รับทราบด้วยว่าปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ในประเทศรอบบ้านเรา ยังไม่มีระดับที่ผิดปกติอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมั่นใจขึ้น และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีคนที่บาดเจ็บ หรือสุขภาพได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสี จึงเบาใจได้เพิ่ม แต่ย้ำว่าไม่ละเลยเรื่องนี้ โดยเวลา 12.00 น.วันเดียวกัน ตนจะเชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด กว่า 20 แห่ง มาประชุมเพื่อสั่งการว่าจะเตรียมการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้ก่อนหรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า ใช่ ในพื้นที่มีการก่ออิฐ มีการใช้วิทยาการระดับสูงเข้าไปดำเนินการ ไม่ใช่ทำตามสามัญสำนึก ส่วนการกำจัดกากที่เหลือ ได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าไปดำเนินการ และมีวิธีทำงานให้เกิดความปลอดภัย

เมื่อถามว่า จะต้องมีระยะเวลาติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ไปนานแค่ไหน นายเอนก กล่าวว่า ให้ใช้เวลาทำงานให้เต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ โดยจะสอบทานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่พบกัมมันตรังสี และจากไอเออีเอ ที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีทั่วโลก ว่าพบมีรายงานสั่งไปพบที่ประเทศใด เพื่อให้สบายใจ เพราะดูแล้วว่าประชาชนสนใจเรื่องนี้มากกว่าการยุบสภา และเวลานี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนเต็มที่หลายหน่วยงานลงไปช่วยกัน และจะเพิ่มมากขึ้นโดยสำนักงานได้ลงไปตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าที่จุดเกิดเหตุมีนักนิวเคลียร์ นักฟิสิกส์ ลงไปช่วย และรายงานว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าวิตก

เมื่อถามถึงกรณีภาพที่เผยแพร่การปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลป้องกันสุขภาพและสารกัมมันตรังสีได้มากน้อยแค่ไหน ว่ามั่นใจได้ทำตามหลักวิชาและเรื่องกัมมันตรังสีอยากเรียนให้พี่น้องได้เข้าใจด้วยว่าเป็นเรื่องสากลด้วยมาตรการต่างๆ ที่เราใช้จะต้องถูกกำหนดโดยองค์การระดับประเทศทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เข้ามาตรวจสอบเราเป็นระยะๆ อยู่เสมอ ถ้าบอกว่าล้อมเอาไว้เพื่อไม่ให้กัมมันตรังสีเผยแพร่ออกไป มันถูกกำหนดไว้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องวิตกเฉพาะเมืองไทยหรือประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่กัมมันตรังสีสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆ ก็เข้ามาตรวจสอบของเราด้วย

"เรื่องนี้ถ้าถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไร ผมกราบเรียนได้เลยว่า ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ วันนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งมีหน้าที่ทางวิชาการส่วนเรื่องการกันพื้นที่เป็นเรื่องของทางจังหวัด นายกฯ บอกว่าให้เอาความจริงออกมาให้พูดข้อมูลตามที่เป็นจริงและให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ซึ่งจะเข้าใจได้ก็ต้องรับรู้รับทราบในข้อมูลและสอบถามได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเราจะฮั้วกับโรงงานนั้น บอกได้เลยว่ารัฐบาลโดยเฉพาะระดับสูงระดับนายกระดับกระทรวงระดับกรมเราทำจริงจังแน่ และเรื่องนี้เป็นนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย ดังนั้น เราจะมาทำแบบงุบงิบไม่ได้" นายเอนก กล่าว

ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพที่เก็บสิ่งปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกักเก็บไม่มิดชิด ว่าภาพดังกล่าวเราเปิดเพื่อถ่ายรูป พอถ่ายเสร็จก็ปิด ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจที่โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อตรวจวัดโรงงานและบริเวณรัศมีรอบๆ เป็นชั้นๆ ต่อเนื่อง รวมถึงการวัดดิน น้ำ อากาศ อาหารที่อยู่ในตลาด จะมีการเก็บมาตรวจสอบทั้งหมด เพื่อความมั่นใจในการทำมาหากินของประชาชน

‘แพทย์’ ห่วง ปชช. กังวล เหตุซีเซียม-137 แนะใช้สมุนไพรไทย สร้างเกราะป้องกันสารพิษ

หลังจากมีข่าวว่าซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าไอน้ำ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีรายงานจากภาครัฐว่า วัตถุดังกล่าวถูกหลอมจนกลายเป็นฝุ่นเล็กปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปแล้ว สร้างความกังวลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และหลายคนเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ทางทีมข่าว THE STATES TIMES ได้เข้าสัมภาษณ์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยระบุว่า…ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะอุบัติเหตุในลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทย เคยเกิดเหตุเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการดูแลสุขภาพเมื่อมีความจำเป็น

ดังนั้นการสัมผัสสารอันตราย จำเป็นต้องรู้ว่าเราสัมผัสที่ตัวสารกัมมันตรังสี หรือสัมผัสรังสี ซึ่งผลจะต่างกัน หากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อาการที่พบ อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว  ส่วนผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง กรณีได้รับในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ 

‘ศธ.’ สั่ง เฝ้าสังเกตอาการนักเรียน-ครู ในพื้นที่เสี่ยง หวั่น ‘สารซีเซียม-137’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

(22 มี.ค. 66) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า  ได้เสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี และได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ โดยมีความเป็นห่วงอย่างมากและต้องการให้เกิดมาตราการที่เข้มงวด ชัดเจน และเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การควบคุมสารกัมมันตรังสีจะต้องมีการตรวจเช็กอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่มีการสูญหาย หรือกรณีที่เกิดสูญหายขึ้นมา ระหว่างทางต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน สถานที่ไหน และบุคคลไหนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงบ้าง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขบวนการทำงานของภาครัฐไปมุ่งเน้นที่ปลายเหตุ เช่น ไปตรวจสอบซีเซียมยังไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ยังไม่พบปริมาณรังสีในคนงาน เป็นต้น

รวมไปถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้สารกัมมันตรังสี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจตราสารกัมมันตรังสีที่ใช้ไม่ให้เกิดการสูญหาย และหากตรวจพบว่าสูญหาย ต้องมีมาตรการหรือแผนเผชิญเหตุ ว่าจะกระจายไปที่ไหน อย่างไร จากการเคลื่อนย้าย และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน เพื่อให้เขาได้รู้เข้าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติของสารกัมมันตรังสี คือ มีครึ่งชีวิต (Half Life) ที่ยาวนานเป็นเวลา 30 ปี และอยู่ได้นับ 100 ปี เพราะฉะนั้น มีอันตรายมากหากไม่สามารถตรวจสอบได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ทุกคนไปมองที่ปลายเหตุหมด เพราะฉะนั้น ภาครัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตราการที่เข้มงวดไม่เฉพาะกรณีซีเซียม-137 แต่รวมถึงสารกัมมันตรังสีที่มีอันตรายทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่รับใบอนุญาตมา และวันนี้ที่ซีเซียม-137 สูญหายระหว่างทางจนไปถึงโรงหลอม ระหว่างทางไปตรงไหนบ้าง ต้องตรวจสอบให้หมด ไม่ใช่ไปดูแค่ปลายทางว่าพบแล้ว และยังไม่มีผู้ได้รับอันตราย ดังนั้นย้ำ ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต้องให้ความสำคัญกับต้นเหตุ และต้นตอให้มากที่สุด” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กรณี 'ซีเซียม-137' หลุด ลั่น!! บริษัทต้นเหตุ ต้องรับผิดชอบ

(23 มี.ค.66) ประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา จากกรณี ซีเซียม-137 ซึ่งหลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี อย่างเร่งด่วน โดยมีนายสมภาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องแทนนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ข้อความในหนังสือของประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า กรณีวัสดุกัมมันตรังสี 'ซีเซียม-137' สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนปราจีนเป็นอย่างมาก จากการที่มีข้อมูลมากมาย จากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย จนไม่รู้จะเชื่อใครดี และหน่วยราชการที่ออกมาแถลงข่าวไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส

ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี เห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบโดยลำพัง ทั้งในเรื่องการสื่อสาร การบริหารจัดการ องค์ความรู้ เทคโนโลยี จึงใคร่ขอเสนอดังนี้...

1. มีกรรมการในระดับชาติ โดยมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการ ภายใน 1 อาทิตย์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ต้องเร่งตรวจสอบการปนเปื้อน หาปริมาณรังสีและการกระจายตัว ระดมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยและสรุปผลให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสับสนของสังคม พร้อมมาตรการการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น มีมาตรการจัดการ ฝุ่นเหล็กและวัสดุต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ให้ปลอดภัยอย่างชัดเจน ว่าไปอยู่ไหน จนขั้นตอนสุดท้าย มีการติดตาม มีการรายงานอย่างโปร่งใส ทำให้ประชาชนมั่นใจ และต้องมีการสื่อสาร การให้ข้อมูลที่เป็นมืออาชีพ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน บนพื้นฐานของความจริง ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นและสาเหตุของการสูญหายโดย มีการระบุเวลาและเหตุการณ์ตลอดเส้นทางที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ส่วนในระยะยาว ต้องมีการติดตามผลกระทบในระยะยาว ทั้งทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟู มีการเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูล ชนิด จำนวน ความรุนแรง มาตรการการรับมือของวัสดุกัมมันตรังสี ที่มีในพื้นที่ทั้งหมดและมีมาตรการ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกำกับดูแลและการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกินขึ้นซ้ำ 

2. มีมาตรการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น การยกเลิกการรับซื้อสินค้าทางการเกษตร รายได้ที่หายไปของภาคการบริการและท่องเที่ยว โดยผู้ก่อปัญหาต้องรับผิดชอบกับความเสียหายนี้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา

และ 3. เพื่อลดผลกระทบในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ขอให้หน่วยงานออกหนังสือรับรองความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสีฟรี

'ปลอดประสพ' จี้!! รัฐจัดการปมซีเซียม-137 รั่วไหล พร้อมแนะ 6 แนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

(24 มี.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงแผนปฏิบัติการสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ประเด็นซีเซียม-137 รั่วไหล 

นายปลอดประสพ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่านับตั้งแต่หน่วยงานของรัฐรับทราบข่าวการสูญหายของซีเซียม-137 ได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าได้ให้ใบอนุญาตซีเซียม-137 ในปริมาณมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันสารซีเซียม-137 อยู่ที่ไหน และได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ไปตรวจสอบหรือไม่ 

‘บิ๊กตู่’ สั่ง ผบ.ตร. ลุยสอบสวนปม ‘ซีเซียม-137’ พร้อมย้ำ!! ดูแลความปลอดภัย-สุขภาพ ปชช.

(24 มี.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีที่สารซีเซียม-137 หลุดหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ต่อมาซึ่งพบว่าอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ประสานงานพร้อมกับติดตามข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งได้มอบหมาย นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายพงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับการสอบสวนเรื่องนี้ในทุกมิติ อาทิ วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายได้อย่างไร สถานที่ที่รับซื้อวัสดุดังกล่าว ตลอดจนต้องมีผู้รับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีด้วยหรือไม่ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายกฯ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงพื้นที่สอบสวนหาหลักฐาน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการออกมารองรับ โดยเฉพาะในเรื่องสารกัมมันตรังสี อีกทั้งนายกฯ ให้ความสำคัญกับประสิ่งแวดล้อม จึงยกมาเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่รัฐบาลจะนำข้อมูลและผลการประชุมมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ด้าน นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุมร่วมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีขึ้นเพื่อประสานงานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตนได้รายงานในที่ประชุมว่าช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา มีสิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดอันดับแรก คือเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในโรงงงานหลอมเหล็กที่มีประมาณ 70 คน โดยการตรวจครั้งแรกเป็นการตรวจภายในและนอกโรงงาน รวมถึงตรวจพนักงานแต่ละคนด้วย ก็ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนสารดังกล่าว จากนั้นได้มีการตรวจครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการตรวจภายในร่างกายของพนักงาน โดยตรวจเลือดและปัสสาวะ ผลออกมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีสารนี้ปนเปื้อนในร่างกาย จึงขอให้มั่นใจว่าร่างกายพนักงานของโรงงานแห่งนี้ทั้ง 70 คน ไม่พบสารดังกล่าว แต่ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่อยู่ข้างใกล้เคียงโรงงานว่าจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เราจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตระเวนออกตรวจสอบสถานที่ ดิน น้ำ อากาศ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ระยะวงรอบ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร โดยตรวจวัดหลายครั้งก็ไม่พบการปนเปื้อนสารดังกล่าว

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมร่วมกับตัวแทนประชาชนในหลายหมู่บ้านที่อยู่ข้าง โดยตนได้เล่าถึงสถานการณ์การดูแล การป้องกันตัว การขอรับความช่วยเหลือต่างๆ ขณะเดียวกัน เราส่งแถบฟิล์มวัดปริมาณรังสีเคลื่อนที่ประจำตัวบุคคลไปให้จิตอาสาของแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน นำไปติดบนตัว โดยใช้เวลาตรวจวัดประมาณ 15 - 30 วัน แล้วกลับมาตรวจอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่มีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนพืชผลผลิตทางการเกษตร ตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ไปตรวจสอบทั่วพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ และพื้นที่เกษตรว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ พร้อมกับสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย โดยมีสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์อยู่ตลอด ทั้งนี้ เมื่อผลออกมาว่าไม่พบสารซีเซียมปนเปื้อน ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ ปส., นายอำเภอ และบรรดาผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันรับประทานผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อการันตีว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลับมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของ จ.ปราจีนบุรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top