'เอนก' ยันสารซีเซียม-137 ที่พบ 2 จุด ยังไม่น่าวิตก เล็งเรียกถกคณบดีแพทย์ ร่วมวางแผนเฝ้าระวัง

‘เอนก’ ขอ ปชช.สบายใจ ยังไม่พบซีเซียม-137 เกินค่ามาตรฐาน เรียกถกคณบดีแพทย์กว่า 20 สถาบัน วางแผนเฝ้าระวัง ย้ำปิดพื้นที่ห้ามเข้า-ออก ชี้ต้องทำงานด้วยหลักการ ไม่ใช่สามัญ เผย "นายกฯ" ย้ำเอาข้อมูลความจริงมาทำความเข้าใจปชช. ต้องสอบทานได้ ยันไม่มีงุบงิบ-ฮั้วโรงงาน 

เมื่อเวลา 09.20 วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่า จากการรายงานสรุปข้อมูล เบื้องต้นจากการสอบทานและตรวจสอบ ดิน น้ำอากาศ ในบริเวณ 2 จุด คือ ที่ซีเซียมหาย และบริเวณที่พบซีเซียม ไม่มีค่ากัมมันตรังสีที่มากกว่าค่าปกติ ในระดับที่เป็นอันตราย ยังไม่มีอะไรที่น่าวิตกมากนัก แต่ยังต้องระวัง โดยมีการตั้งจุดตรวจทั่วประเทศ 18 จุด และตรวจในน้ำในทะเลอีก 5 จุด ทั้งหมดรายงานมาว่ายังไม่พบซีเซียมอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานปกติ ในตอนนี้ให้เบาใจได้

นอกจากนั้น จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีวิชาและคณะสาขาที่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องปรมาณูและกัมมันตรังสี เข้าไปตรวจสอบ และจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังรับรู้ในการตรวจวัดปริมาณซีเซียมในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ที่เป็นอันตราย เราต้องติดตามอย่างจริงจัง ไม่ใช่รับฟังรายงานอย่างเดียว

นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนั้นจะประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีกัมมันตรังสีแพร่กระจายหรือไม่ และขอให้รายงานมาที่ประเทศไทย และรายงานต่อองค์การระดับโลก ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมกัมมันตรังสีได้รับทราบด้วยว่าปริมาณซีเซียมในดิน น้ำ อากาศ ในประเทศรอบบ้านเรา ยังไม่มีระดับที่ผิดปกติอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะมั่นใจขึ้น และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีคนที่บาดเจ็บ หรือสุขภาพได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสี จึงเบาใจได้เพิ่ม แต่ย้ำว่าไม่ละเลยเรื่องนี้ โดยเวลา 12.00 น.วันเดียวกัน ตนจะเชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด กว่า 20 แห่ง มาประชุมเพื่อสั่งการว่าจะเตรียมการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีการควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้ก่อนหรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า ใช่ ในพื้นที่มีการก่ออิฐ มีการใช้วิทยาการระดับสูงเข้าไปดำเนินการ ไม่ใช่ทำตามสามัญสำนึก ส่วนการกำจัดกากที่เหลือ ได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าไปดำเนินการ และมีวิธีทำงานให้เกิดความปลอดภัย

เมื่อถามว่า จะต้องมีระยะเวลาติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบ ไปนานแค่ไหน นายเอนก กล่าวว่า ให้ใช้เวลาทำงานให้เต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ โดยจะสอบทานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่พบกัมมันตรังสี และจากไอเออีเอ ที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีทั่วโลก ว่าพบมีรายงานสั่งไปพบที่ประเทศใด เพื่อให้สบายใจ เพราะดูแล้วว่าประชาชนสนใจเรื่องนี้มากกว่าการยุบสภา และเวลานี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนเต็มที่หลายหน่วยงานลงไปช่วยกัน และจะเพิ่มมากขึ้นโดยสำนักงานได้ลงไปตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าที่จุดเกิดเหตุมีนักนิวเคลียร์ นักฟิสิกส์ ลงไปช่วย และรายงานว่าสถานการณ์ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าวิตก

เมื่อถามถึงกรณีภาพที่เผยแพร่การปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลป้องกันสุขภาพและสารกัมมันตรังสีได้มากน้อยแค่ไหน ว่ามั่นใจได้ทำตามหลักวิชาและเรื่องกัมมันตรังสีอยากเรียนให้พี่น้องได้เข้าใจด้วยว่าเป็นเรื่องสากลด้วยมาตรการต่างๆ ที่เราใช้จะต้องถูกกำหนดโดยองค์การระดับประเทศทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เข้ามาตรวจสอบเราเป็นระยะๆ อยู่เสมอ ถ้าบอกว่าล้อมเอาไว้เพื่อไม่ให้กัมมันตรังสีเผยแพร่ออกไป มันถูกกำหนดไว้หมดว่าจะต้องทำอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องวิตกเฉพาะเมืองไทยหรือประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่กัมมันตรังสีสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆ ก็เข้ามาตรวจสอบของเราด้วย

"เรื่องนี้ถ้าถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไร ผมกราบเรียนได้เลยว่า ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ วันนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งมีหน้าที่ทางวิชาการส่วนเรื่องการกันพื้นที่เป็นเรื่องของทางจังหวัด นายกฯ บอกว่าให้เอาความจริงออกมาให้พูดข้อมูลตามที่เป็นจริงและให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ซึ่งจะเข้าใจได้ก็ต้องรับรู้รับทราบในข้อมูลและสอบถามได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเราจะฮั้วกับโรงงานนั้น บอกได้เลยว่ารัฐบาลโดยเฉพาะระดับสูงระดับนายกระดับกระทรวงระดับกรมเราทำจริงจังแน่ และเรื่องนี้เป็นนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย ดังนั้น เราจะมาทำแบบงุบงิบไม่ได้" นายเอนก กล่าว

ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพที่เก็บสิ่งปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการกักเก็บไม่มิดชิด ว่าภาพดังกล่าวเราเปิดเพื่อถ่ายรูป พอถ่ายเสร็จก็ปิด ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจที่โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อตรวจวัดโรงงานและบริเวณรัศมีรอบๆ เป็นชั้นๆ ต่อเนื่อง รวมถึงการวัดดิน น้ำ อากาศ อาหารที่อยู่ในตลาด จะมีการเก็บมาตรวจสอบทั้งหมด เพื่อความมั่นใจในการทำมาหากินของประชาชน

เมื่อถามว่า ท่อวัสดุบรรจุสารซีเซียม-137 ที่พบ ไม่ได้ติดสัญลักษณ์วัตถุอันตราย นายเพิ่มสุข กล่าวว่า สัญลักษณ์มีหลายแบบ ซึ่งเพลทที่เขาปั๊ม จะเป็นรอยรูปใบพัด จะไม่มีสี หากไปสังเกตที่วัสดุก็จะเห็นชัดเจน เมื่อถามว่า ขณะนี้ทราบหรือยังว่าสารซีเซียม-137 ถูกทำลายไปแล้วหรือยังอยู่ นายเพิ่มสุข กล่าวว่า อยู่ในกระบวนการที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างใกล้ชิด

เมื่อถามว่า ยังมีสารลักษณะดังกล่าวที่ต้องเฝ้าระวังอีกหรือไม่ นายเพิ่มสุข กล่าวว่า มีอยู่ สารซีเซียม-137 ใช้กันทั่วไป ถูกใช้กันในโรงงานอุตสาหกรรม ในทางการแพทย์ก็ใช้

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก นายเพิ่มสุข กล่าวว่า กฎหมายปรมาณูมีความแรงมากและเฉียบขาด และโรงงานทุกโรงอยู่ในระเบียบวินัย กรณีดังกล่าว เราก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเราจะขอแผนการดำเนินการของโรงงานไฟฟ้าเจ้าของสารซีเซียม-137 มาดู และจะยกระดับแผนเพิ่มเติมให้มากขึ้น ทั้งการติดกล้องวงจรปิด มีพนักงานรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ตรวจเช็ก ทั้งนี้ถ้ายังครอบครองวัสดุบรรจุสารซีเซียม จะต้องมีการลงทะเบียนเหมือนอาวุธปืน จะนำไปใช้โดยไม่ลงทะเบียนไม่ได้ มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 20 ล้านบาท

ด้าน นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับรายงานการตรวจสอบทุกจุด ทั้งที่จุดเกิดเหตุ และบริเวณในโรงงานและรอบโรงงาน ภายในอำเภอและจังหวัดปราจีน รวมทั้งจุดตรวจภายในประเทศทั้งในอากาศในน้ำและในดิน พบปริมาณสารอยู่ในระดับปกติไม่ได้ทำให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติ และมีการตรวจทานข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาไม่ปรากฏว่ามีการหลุดรอดของสารรังสีซีเซียมออกนอกบริเวณ ที่ได้ระบุไว้ และการติดตามข้อมูลทางสาธารณสุข ทั้งในโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งผู้ป่วยทางคณะกรรมการได้มอบให้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบจุดต่างๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้