‘บิ๊กตู่’ สั่ง ผบ.ตร. ลุยสอบสวนปม ‘ซีเซียม-137’ พร้อมย้ำ!! ดูแลความปลอดภัย-สุขภาพ ปชช.

(24 มี.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีที่สารซีเซียม-137 หลุดหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ต่อมาซึ่งพบว่าอยู่ที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ประสานงานพร้อมกับติดตามข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งได้มอบหมาย นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายพงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯ ได้ให้ความสำคัญกับการสอบสวนเรื่องนี้ในทุกมิติ อาทิ วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายได้อย่างไร สถานที่ที่รับซื้อวัสดุดังกล่าว ตลอดจนต้องมีผู้รับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีด้วยหรือไม่ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายกฯ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงพื้นที่สอบสวนหาหลักฐาน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการออกมารองรับ โดยเฉพาะในเรื่องสารกัมมันตรังสี อีกทั้งนายกฯ ให้ความสำคัญกับประสิ่งแวดล้อม จึงยกมาเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ขณะที่รัฐบาลจะนำข้อมูลและผลการประชุมมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป

ด้าน นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุมร่วมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีขึ้นเพื่อประสานงานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตนได้รายงานในที่ประชุมว่าช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา มีสิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดอันดับแรก คือเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในโรงงงานหลอมเหล็กที่มีประมาณ 70 คน โดยการตรวจครั้งแรกเป็นการตรวจภายในและนอกโรงงาน รวมถึงตรวจพนักงานแต่ละคนด้วย ก็ไม่พบว่ามีการปนเปื้อนสารดังกล่าว จากนั้นได้มีการตรวจครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการตรวจภายในร่างกายของพนักงาน โดยตรวจเลือดและปัสสาวะ ผลออกมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีสารนี้ปนเปื้อนในร่างกาย จึงขอให้มั่นใจว่าร่างกายพนักงานของโรงงานแห่งนี้ทั้ง 70 คน ไม่พบสารดังกล่าว แต่ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่อยู่ข้างใกล้เคียงโรงงานว่าจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เราจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตระเวนออกตรวจสอบสถานที่ ดิน น้ำ อากาศ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ระยะวงรอบ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร โดยตรวจวัดหลายครั้งก็ไม่พบการปนเปื้อนสารดังกล่าว

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ประชุมร่วมกับตัวแทนประชาชนในหลายหมู่บ้านที่อยู่ข้าง โดยตนได้เล่าถึงสถานการณ์การดูแล การป้องกันตัว การขอรับความช่วยเหลือต่างๆ ขณะเดียวกัน เราส่งแถบฟิล์มวัดปริมาณรังสีเคลื่อนที่ประจำตัวบุคคลไปให้จิตอาสาของแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชน นำไปติดบนตัว โดยใช้เวลาตรวจวัดประมาณ 15 - 30 วัน แล้วกลับมาตรวจอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่มีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนพืชผลผลิตทางการเกษตร ตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ไปตรวจสอบทั่วพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ และพื้นที่เกษตรว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ พร้อมกับสอบถามข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย โดยมีสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์อยู่ตลอด ทั้งนี้ เมื่อผลออกมาว่าไม่พบสารซีเซียมปนเปื้อน ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ ปส., นายอำเภอ และบรรดาผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันรับประทานผักและผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อการันตีว่ามีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนกลับมาท่องเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ของ จ.ปราจีนบุรี

ขณะที่ ปลัดกระทรวง อว.กล่าวว่า นายกฯ ให้บูรณาการข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติการนิวเคลียร์เพื่อสันติ ที่มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวัน โดยนายกฯ ย้ำเรื่องความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในโรงงานที่เกิดเหตุได้มีการตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว ไม่พบการปนเปื้อนรังสีในพนักงานทุกราย ส่วนการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะของพนักงาน ตรวจไปแล้วครึ่งหนึ่งพบว่ามีความปกติ และคาดว่าจะมีความปกติทั้งหมด

ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติส่วนหน้า ที่ตรวจสอบการปนเปื้อนในดิน น้ำ ที่เกี่ยวข้องในบริเวณรอบโรงงาน จำนวน 23 ถุง และมีการตรวจสอบสภาพอากาศรอบโรงงานรัศมี 3 - 15 กิโลเมตร อย่างต่อเนื่อง พบว่าระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติทุกจุด ไม่พบว่ามีการปนเปื้อน ขณะที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้รายงานระดับรังสีแกมมาประจำวันที่จุดตรวจทั้ง 6 จุดทุกภาคในประเทศ พบว่าอยู่ในระดับปกติทุกจุด ซึ่งนายกฯได้สั่งการให้ทำการตรวจไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ นี่คือสถานการณ์ที่คณะผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการได้รายงาน แสดงข้อมูลตรงกันว่าบริเวณตรงกลางโรงงานที่ตรวจพบรังสี และรัศมีถัดออกไปไม่พบรังสี สุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งบริเวณโรงงานและรอบ ๆ มีสภาวะเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอว.ได้แจ้งโรงพยาบาลในสังกัดติดตามผู้ที่สงสัย หรือไม่สบายใจว่าจะได้รับสารรังสีหรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบในโรงพยาบาลได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ปลัดกระทรวง อว.กล่าวอีกว่า ในการติดตามเชิงวิชาการ ได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณกรณีที่แย่ที่สุดของการกระจายตัว โดยคำนวณจากสภาวะที่เกิดขึ้น ทั้งสภาพอากาศ และทิศทางลม พบว่าการกระจายตัวสูงสุดหากจะเกิดขึ้น จะอยู่ในพื้นที่โรงงานเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์สูงสุดทางสุขภาพ พบว่าปริมาณรังสีในถุงที่พบหากสัมผัสโดยตรงใช้เวลา 30 ชั่วโมง จะเท่ากับการเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง สรุปว่าปริมาณรังสีที่ตรวจพบนั้นมีอยู่ แต่มีไม่มากระบมีรังสีอยู่แต่ปริมาณไม่มากนัก และอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้

ด้าน นายพงษ์แพทย์ กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ฯ ได้ทำการประเมินปริมาณรังสีที่จะมีผลต่อได้ โดยใช้หลักวิชาการในการคำนวณและประเมินปริมาณ รวมถึงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการกระจายตัวของสารดังกล่าว พร้อมกับได้นำเครื่องมือวัดรังสีเข้าไปตรวจสอบปริมาณรังสีในพื้นที่เก็บสาร พบว่าปริมาณรังสีบริเวณโรงงานหรือห่างออกมาจากจุดเก็บนั้นไม่สูงกว่าปริมาณรังสีในธรรมชาติ


ที่มา: https://www.naewna.com/politic/719599